×

Method of Loci ปลดล็อกสมองให้จำแบบรูปภาพ เพื่อจำให้แม่นขึ้น

26.11.2022
  • LOADING...

อยากจำแม่นต้องทำอย่างไร ระหว่างจำเป็นภาพหรือจำเป็นตัวหนังสือ แบบไหนที่ทำให้เราบันทึกลงสมองง่ายกว่า แล้วรู้หรือไม่ว่าจริงๆ แล้วมันมีเทคนิคที่เราสามารถฝึกฝนด้วยตัวเองได้ด้วย!

 

หลังจากที่เคยชวนคุยเรื่องกระบวนการการจดจำของสมองกันไปแล้ว แต่ก็ยังมีคำถามต่อมาว่า จะทำอย่างไรให้เราสามารถจดจำเรื่องราวหรือสิ่งของได้ในเวลาอันรวดเร็ว แม่นยำ และยาวนานขึ้นได้บ้าง เราจะมาแชร์เคล็ดลับให้ฟังกันในเอพิโสดนี้ 

 

สมองจดจำสิ่งต่างๆ ได้อย่างไร

 

เพราะสมองไม่ได้เก็บความทรงจำรวมกันเป็นก้อนเดียว แต่จะหั่นแบ่งความทรงจำเหล่านั้นออกเป็นส่วนเล็กๆ แล้วแยกไปเก็บยังจุดต่างๆ ของสมอง เปรียบเทียบเหมือนเป็นโกดังเก็บภาพ โกดังเก็บเสียง โกดังเก็บอารมณ์ 

 

แต่การจะจดจำได้แม่นยำมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับว่าถนนที่นำพาความทรงจำเดินทางจากศูนย์บัญชาการไปยังโกดังเหล่านั้นแข็งแรงขนาดไหน ถ้าหากเป็นถนนลูกรัง ความทรงจำพวกนั้นก็อาจจะหล่นหายไปบ้างบางส่วน แต่ถ้าเป็นถนนคอนกรีตอย่างดีที่แข็งแรงและมีการบำรุงรักษาอยู่เสมอ ความทรงจำเหล่านั้นก็จะถูกบันทึกอย่างครบถ้วน และเก็บได้ยาวนาน  

 

อ่านเพิ่มเติม: อยากจำกลับลืม อยากลืมกลับจำ เจาะกลไกสมองทำงานอย่างไร

 

รูปแบบการจดจำของสมอง

 

เวลาได้รับข้อมูลใหม่ๆ เข้ามา สมองของเราจะมีวิธีเก็บความทรงจำอยู่ 2 รูปแบบ ได้แก่ จำเป็นตัวหนังสือ (Verbal Memory) และ จำเป็นภาพ (Visual Memory) ซึ่งการจดจำทั้งสองรูปแบบนี้ กระบวนการที่เกิดขึ้นในสมองนั้นแตกต่างกันมาก และประสิทธิภาพของการจดจำก็แตกต่างกันด้วย  

 

โดยถ้าหากเรามีเวลาจำกัด หากเลือกจำเป็นตัวหนังสือ ค่าเฉลี่ยที่คนทั่วไปสามารถจำได้คือประมาณ 50-70% แต่หากจำเป็นภาพ ค่าเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 70-100% เลยทีเดียว นั่นอาจหมายความว่าการจำเป็นภาพให้ประสิทธิภาพที่ดีกว่าการจำเป็นตัวหนังสือ 

 

Method of Loci เทคนิคเพื่อช่วยเพิ่มทักษะการจดจำ

 

Method of Loci เป็นเทคนิครูปแบบหนึ่งของการจำเป็นภาพ โดยนักกีฬาที่แข่งขันกันเกี่ยวกับเรื่องความทรงจำมักจะนิยมนำไปใช้ เพราะมันถูกพิสูจน์มาแล้วว่าถ้าฝึกฝนอย่างต่อเนื่องจะประสิทธิภาพเหนือกว่าการจำเป็นตัวหนังสืออย่างมาก

 

รากศัพท์ของ Loci มาจากคำว่า Location ที่แปลว่า สถานที่ เพราะฉะนั้นเทคนิคนี้คือการนำเอาข้อมูลที่เราต้องการจดจำไปผูกไว้กับสถานที่ใดสถานที่หนึ่งที่เราคุ้นเคย ยกตัวอย่างสถานการณ์ เช่น เวลาไปปาร์ตี้บ้านเพื่อนที่เราเพิ่งรู้จักไม่นาน เราขับรถไป จอด เดินเข้าบ้าน วางกระเป๋าไว้จุดหนึ่ง ถอดแจ็กเก็ตไว้อีกจุดหนึ่ง แล้วไปทำกิจกรรมต่อ เมื่อถึงเวลากลับบ้าน เรามักจะยังจำได้อยู่ว่าวางของไว้ตรงไหนบ้าง และจอดรถไว้ตรงไหน ซึ่งความจริงแล้วหลายคนก็ทำสิ่งนี้อยู่เป็นประจำโดยไม่รู้ตัว 

 

โดย Method of Loci เป็นหลักการตามหลักวิทยาศาสตร์ มันคือนำสิ่งที่เราต้องการจดจำ (Short-term Memory) ไปผูกไว้กับสิ่งที่เราจำได้แม่นอยู่แล้ว (Long-term Memory) เปรียบเหมือนถนนคอนกรีตอย่างดีที่นำพาก้อนความทรงจำไปสู่โกดัง ซึ่งทำให้เราจดจำได้แม่น ยิ่งเมื่อมีการหยิบเอาข้อมูลใหม่ไปผูกไว้กับความจำระยะยาว เราก็จะจำข้อมูลใหม่นั้นได้แม่นยำ ถาวร รวดเร็วมากยิ่งขึ้น

 

5 ขั้นตอนของการฝึกฝนด้วยเทคนิค Method of Loci

  

1. เลือกสถานที่ที่ใช้เป็นเครื่องมือในการจดจำ โดยจะต้องเป็นสถานที่ที่คุ้นเคย และเห็นภาพถึงขนาดที่เราจำได้แม่นว่าอะไรอยู่ตรงไหน โดยที่ไม่ต้องใช้เวลานึกนาน เช่น บ้าน ที่ทำงาน ห้าง หรือโรงเรียน  

 

2. กำหนดว่าสถานที่นั้นมีเฟอร์นิเจอร์อะไรอยู่บ้าง แต่มีกฎอยู่เล็กน้อยว่าแต่ละห้องในสถานที่นั้นจะมีของได้ไม่เกิน 4-5 ชิ้น และควรจะเป็นของที่หน้าตาแตกต่างกันชัดเจน เพื่อป้องกันการสับสน เช่น ทีวี โซฟา กรอบรูป กระถางต้นไม้

 

3. กำหนดเส้นทางในการเดิน วิธีการที่ดีและง่ายที่สุดคือการทำทุกอย่างให้เป็นแพตเทิร์น เช่น เดินเป็นทิศทวนเข็มนาฬิกาในทุกห้อง และอย่าลืมกำหนดหมายเลขให้กับสิ่งของในห้องนั้น เรียงลำดับตามทิศเป็น 1 2 3 4 5

 

โดยขั้นตอนที่ 1-3 จะเป็นเหมือนการตั้งค่าเริ่มต้นของสถานที่ เพื่อเป็นเครื่องมือให้เราจดจำข้อมูลที่ฝังลงไปตามจุดต่างๆ เมื่อผ่าน 3 ขั้นตอนนี้อาจจะลองทดสอบความทรงจำของตัวเองดูก็ได้ว่าความทรงจำระยะยาว (Long-term Memory) ของเราพร้อมหรือยัง ด้วยการลองคิดเป็นภาพว่า เฟอร์นิเจอร์ชิ้นที่ 2 ของห้องที่ 1 คืออะไร เป็นต้น ถ้าจำได้แล้วก็แปลว่า Long-term Memory ของเราพร้อมแล้วสำหรับการใส่ข้อมูลใหม่เพิ่มเข้าไป

 

4. วางข้อมูลตามจุดต่างๆ ของบ้าน ขั้นตอนนี้จะเป็นการนำความทรงจำระยะสั้น (Short-term Memory) มาฝังลงในความทรงจำระยะยาวที่พร้อมแล้ว วิธีการคือให้นำของไปเติมเพิ่ม เช่น วางหมอนสีเหลืองไว้บนโซฟา หรือเอาก้อนหินมาวางไว้ที่กระถางต้นไม้

 

หลังจากนั้นให้ลองทำซ้ำกระบวนการนี้ไปเรื่อยๆ อาจจะฟังดูเหมือนเป็นกิจกรรมที่เสียเวลา แต่เชื่อเถอะว่าถ้าฝึกฝนบ่อยๆ ต่อให้เวลาผ่านไปอีก 1-2 เดือน คุณก็จะยังจดจำมันได้อยู่ เพราะข้อมูลมันฝังแน่นในหัวไปแล้ว และเทคนิคเพิ่มเติมที่แอดวานซ์กว่านั้นก็คือ ยิ่งคุณแปลงข้อมูลสิ่งของให้ประหลาดหรือซับซ้อนได้มากเท่าไร ก็จะยิ่งเป็นการกระตุ้นต่อมความทรงจำในสมองให้แม่นยำมากขึ้นเท่านั้น

 

5. สร้างฉากใหม่ขึ้นมา ขั้นตอนนี้เป็นเหมือนการอัปเกรดความทรงจำให้หลากหลายมากขึ้น เพราะเมื่อฝึกฝนขั้นตอนก่อนหน้าบ่อยๆ เราอาจจะจำทุกห้องของบ้านได้จนหมดแล้ว จึงแนะนำว่าให้ลองเพิ่มสถานที่ใหม่ๆ แล้วแบ่งประเภทข้อมูลที่ต้องการจดจำให้ละเอียดขึ้น เช่น ถ้าเราอยากจำสิ่งที่เกี่ยวกับตัวเลขอาจจะเลือกใช้บ้าน แต่ถ้าอยากจดจำเหตุการณ์ก็เลือกใช้ที่ทำงาน เป็นต้น

 


 

Credits

 

The Host ดร.ข้าว ต้นสมบูรณ์

Episode Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Creative Care Label

Video Editor จุฑาภัทร มนตรีศาสตร์

Sound Director กฤตพล จียะเกียรติ

Sound Designer เดชาณัฏฐ์ ธีรดุริยสฤษฏ์

Sound Recording Engineer ขจีพรรณ วิจิตรรัตน์

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Graphic Designer ธนิดา โตวิวัฒน์

Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Channel Admin นิพพิชฌน์ ชุลีนวน, พฤกษา แซ่เต็ง

Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

Webmaster พงศกร เพ่งพิศ

Social Media Admins วนัชพร ดวงนิล, สุทธกิตติ์​ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, วิมลณัฐ พรศิริอนันต์

Archive Officer ชริน ธนอุดมกรณ์, อาทิตยา อิสสรานุสรณ์

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising