×

เช็กอาการเกาต์ ข้อเข่าเสื่อม โรคยอดฮิตของคนปวดเข่า

29.10.2022
  • LOADING...

ปวดเข่า ปวดกระดูก ปวดกล้ามเนื้อ ไม่ได้เป็นแค่อาการที่เกิดขึ้นในผู้สูงอายุอีกต่อไป เพราะด้วยไลฟ์สไตล์และปัจจัยการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน ทำให้อาการเหล่านี้เกิดได้ไวขึ้น แม้กระทั่งวัยรุ่น หรือผู้ใหญ่วัยกลางคน อาการปวดแปลบๆ เวลาขยับร่างกายก็เริ่มเป็นกันบ่อยขึ้นแล้ว

 

เอพิโสดนี้ ดร.ข้าว ต้นสมบูรณ์ ชวน หมอนิก-กนกพล ธนกิจรุ่งทวี แพทย์เฉพาะทางกระดูกและข้อ ชำนาญการด้านข้อเข่าและสะโพก มาให้ความรู้ว่าอาการปวดเข่าเหล่านี้มีสาเหตุจากอะไรบ้าง และเราจะดูแลข้อเข่าให้ดีได้อย่างไร

 

ปวดเข่า มีสาเหตุจากอะไรได้บ้าง

 

ปวดเข่า เป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุดในภาวะด้านกระดูกและข้อ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยในเบื้องต้นจะต้องรู้ก่อนว่าที่ปวดบ่อยๆ นั้นมีสาเหตุมาจากอะไร เช่น เกิดจากการใช้งานเยอะ มีการอักเสบฟกช้ำของเส้นเอ็น หรือที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งของคนไทยคือภาวะเข่าเสื่อม

 

ซึ่งภาวะเข่าเสื่อมก็ต้องมีการเช็กให้ลึกลงไปอีกว่าเป็นความเสื่อมจากอายุที่มากขึ้น เสื่อมจากการใช้งานแบบผิดๆ หรือเสื่อมเพราะมีสาเหตุเฉพาะ เช่น มีภาวะโรคเกาต์ โรครูมาตอยด์ มีการบาดเจ็บของเส้นเอ็น มีการฟกช้ำของกระดูกอ่อนผิวข้อ ซึ่งอาการทั้งหมดที่กล่าวมาจะส่งผลให้โครงสร้างและการทำงานของกระดูกในบริเวณนั้นเสียไป โดยจะแบ่งได้เป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ ความเสื่อมภายในข้อเข่า และความเสื่อมจากนอกข้อเข่า

 

ความเสื่อมภายในข้อเข่า เกิดจากตัวกระดูกอ่อนผิวข้อที่สึกเพราะถูกใช้งานเยอะมาเป็นเวลานาน จนเกิดการบาดเจ็บซ้ำๆ ส่วนความเสื่อมจากนอกข้อเข่า คือการอักเสบของเนื้อเยื่อบริเวณรอบๆ ข้อเข่า โดยจะมีอาการบวม หรือมีกล้ามเนื้อที่ฝ่อลง 

 

และเหตุผลที่เรามักจะพบภาวะข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุ ก็เป็นเพราะเวลาที่อายุมากขึ้น กระดูกอ่อนที่คอยรับแรงกระแทกเวลาเดิน วิ่ง กระโดด มันจะสึกไปเรื่อยๆ ตามกาลเวลา และเมื่อสึกมากจนไม่มีกระดูกอ่อนมารับน้ำหนัก ก็จะกลายเป็นเนื้อกระดูกชนเนื้อกระดูก ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เรามีอาการปวดเข่านั่นเอง

 

กลุ่มเสี่ยงที่อาจมีภาวะข้อเข่าเสื่อมง่าย

 

  • ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเยอะ กระดูกอ่อนบริเวณเข่าจะต้องรับน้ำหนักมากกว่าปกติ
  • พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ด้วยเหตุผลเรื่องสรีระที่ผู้หญิงมักจะมีมวลกล้ามเนื้อน้อยกว่า เพราะมวลกล้ามเนื้อจะทำหน้าที่ช่วยรับน้ำหนักบางส่วน แทนที่จะมาลงที่กระดูกอ่อนผิวข้อโดยตรง
  • ผู้ที่เป็นโรคเกาต์หรือรูมาตอยด์ ซึ่งจะมีการอักเสบของข้อเรื้อรัง ทำให้ข้อสึกได้ง่ายกว่า
  • ผู้ที่เคยบาดเจ็บจนทำให้กระดูกอ่อนมีแผลเป็นมาก่อน ก็มีโอกาสที่ข้อเข่าจะพังง่ายกว่าคนทั่วไป

 

สังเกตตัวเอง เพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงโรคข้อเข่า

 

  • มีอาการเสียวหรือเจ็บแปลบที่หน้าเข่าขณะลุกจากเก้าอี้ หรือทำกิจกรรมที่ต้องมีการเกร็งข้อเข่า เช่น สควอต 
  • มีเสียงกรอบแกรบในเข่าเวลาขยับขาหรือเปลี่ยนอิริยาบถ
  • งอเข่าได้น้อยลง เหยียดเข่าได้ไม่สุดเท่าเดิม นั่งพับเพียบลำบาก
  • ในกลุ่มที่อาการเริ่มรุนแรง เส้นเอ็นบริเวณหัวเข่าจะหย่อน ทำให้ลักษณะการเดินจะโยกไปโยกมา 
  • กล้ามเนื้อหัวเข่าที่ฝ่อลีบลง อ่อนแรง

 

ถ้าสังเกตอาการตนเองแล้วพบว่าเริ่มมีอาการดังกล่าว แนะนำให้มาพบแพทย์เพื่อตรวจป้องกันไม่ให้เป็นมากขึ้น โดยแพทย์จะเริ่มจากการตรวจร่างกายเบื้องต้นก่อน จากนั้นจะเอ็กซเรย์เพื่อดูว่ามีความเสื่อมในระยะไหน แล้วตามด้วยการวางแผนการรักษา ซึ่งการรักษาแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือการใช้ยาแก้ปวด และการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

 

การใช้ยาแก้ปวด

เหมาะกับผู้ที่มีอาการปวดเข่าในระยะแรก ยังปวดไม่เยอะ ซึ่งแพทย์จะเลือกจ่ายยาแก้ปวดให้เพื่อบรรเทาอาการ โดยยาที่ใช้ก็มีตั้งแต่กลุ่ม NSAIDs เช่น Tramadol และสเตียรอยด์

 

สำหรับยาแก้ปวดประเภทสเตียรอยด์ หากเป็นชนิดกิน การใช้มากๆ อาจทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุนได้ ส่วนสเตียรอยด์ชนิดฉีด สามารถบรรเทาอาการปวดได้ดี ฉีดแล้วหายเลยทันที แต่ข้อเสียคือทำลายผิวข้อจนอาจทำให้โรคที่เป็นอยู่แย่ลง และอีกวิธีคือการฉีดน้ำไขข้อเทียมเพื่อหล่อลื่นผิวข้อ แต่ก็จะมีอายุอยู่ประมาณ 6 เดือน ซึ่งต้องกลับมาฉีดซ้ำ

 

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

วิธีนี้จะเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการข้อเข่าเสื่อมระยะสุดท้าย คือเข่าโก่งผิดรูปไปแล้ว มีกระดูกอ่อนที่ผิวข้อสึกไปเยอะ หรือมีกระดูกงอก โดยวิธีการคือแพทย์จะตัดผิวข้อและกระดูกส่วนที่เสีย ทั้งบริเวณกระดูกหน้าแข้งและกระดูกต้นขาทั้งหมดทิ้ง หลังจากนั้นจะใส่ข้อเทียมเข้าไปครอบไว้เพื่อทดแทนผิวข้อเดิม

 

หลังจากผ่าตัด คนไข้ส่วนใหญ่สามารถลุกขึ้นมาฝึกเดินได้เลยตั้งแต่วันแรก แต่อาจจะยังมีอาการปวดอยู่บ้าง แต่ปัจจุบันจะมีเทคนิคใหม่คือการผ่าตัดข้อเข่าเทียมโดยไม่มีอาการปวด (Painless Total Knee Replacement) ซึ่งสามารถทำได้แล้วในบางโรงพยาบาล แต่อย่างไรก็ตามการผ่าตัดยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนทั้งระหว่างผ่าตัด และหลังผ่าตัด ไม่ว่าจะเป็นการเสียเลือด การติดเชื้อ หรือภาวะที่รุนแรง คือเส้นเลือดอุดตันที่ปอดจากไขมันในกระดูกหลุดเข้าเส้นเลือดระหว่างผ่าตัด

 

ข้อจำกัดในการผ่าตัดข้อเข่าเทียม 

โดยทั่วไปข้อเข่าเทียมจะมีอายุการใช้งานอยู่ที่ประมาณ 10-15 ปี ฉะนั้นในกลุ่มคนไข้ที่ยังอายุน้อย แพทย์จะไม่แนะนำให้ผ่าตัด เพราะมีโอกาสที่ข้อเข่าเทียมจะเสื่อมสภาพและต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมรอบสอง ซึ่งกระบวนการจะยากและมีความเสี่ยงมากกว่าเดิม โดยกลุ่มอายุที่เหมาะสมคือ 65 ปีขึ้นไป เพื่อที่จะได้ผ่าตัดเพียงครั้งเดียวแล้วใช้งานได้ตลอดชีวิต 

 

นอกจากนี้ ในกลุ่มคนไข้ที่แอ็กทีฟ ชอบทำกิจกรรม และยังต้องใช้งานเข่าเยอะๆ เช่น นักวิ่ง หรือคนที่ชอบออกกำลังกาย แพทย์อาจยังไม่แนะนำให้ผ่าตัด หรือหากตัดสินใจผ่าตัดแล้วก็จำเป็นต้องระมัดระวังและลดกิจกรรมเหล่านี้ลง เพื่อชะลอให้ข้อเข่าเทียมใช้งานได้นานที่สุด เนื่องจากวัสดุของข้อเทียมจะเป็นเหล็กที่ครอบหัวเข่าด้านบนและล่าง ส่วนพื้นที่รับน้ำหนักตรงกลางจะทำจากพลาสติก ฉะนั้นยิ่งใช้งานมาก พลาสติกก็จะสึกเร็วขึ้น แต่สำหรับการเคลื่อนไหวทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น ยืน นั่ง นอน เดิน ยังสามารถทำได้ตามปกติ หรือกรณีที่อายุและโรคประจำตัวเยอะจนไม่สามารถผ่าตัดได้

 

PRP นวัตกรรมใหม่เพื่อการรักษาข้อเข่าโดยไม่ต้องผ่าตัด

PRP หรือ Platelet Rich Plasma เป็นการรักษารูปแบบใหม่ที่เหมาะสำหรับคนไข้ที่ยังไม่ได้มีการผ่าตัด โดยเป็นการใช้สารมวลชีวโมเลกุลเพื่อรักษาในระดับเซลล์ของกระดูกอ่อน เปรียบเสมือนการคืนความอ่อนวัยให้ผิวเข่า ทำให้ข้อเข่าที่เสื่อมหรืออักเสบไปแล้วสามารถฟื้นฟูตัวเองจนกลับมาเกือบปกติได้ดังเดิม 

 

ก่อนจะอธิบายขั้นตอนการรักษาแบบ PRP จำเป็นต้องเข้าใจกลไกในการเกิดของภาวะข้อเข่าเสื่อมก่อน โดยปกติเซลล์กระดูกอ่อนของคนเราจะมีโปรตีนที่ชื่อว่า Proteoglycan ทำหน้าที่อุ้มน้ำเอาไว้เพื่อให้เซลล์เต่งตึง สามารถรับน้ำหนักขณะทำกิจกรรมต่างๆ ได้ แต่เมื่อมีภาวะเข่าเสื่อม เซลล์กระดูกอ่อนจะฝ่อและเหี่ยวลง น้ำที่เคยมีจะไหลออกไปนอกเซลล์จนทำให้เข่าบวมและอักเสบ ทำให้การสร้างคอลลาเจนที่ผิวข้อแย่ลงไปด้วย และเนื้อเยื่อรอบๆ เข่าก็จะบวมเช่นกัน 

 

ขั้นตอนการรักษาคือแพทย์จะเจาะเลือดของคนไข้ไปปั่นแล้วสกัดเอาเฉพาะเกล็ดเลือดเข้มข้นออกมา แล้วฉีดกลับเข้าไปในบริเวณหัวเข่า โดยภายในเกล็ดเลือดนั้นจะมี Growth Factor ซึ่งเป็นสารสำคัญที่ช่วยซ่อมแซมเซลล์ต่างๆ ซึ่งจะเข้าไปลดการฝ่อเหี่ยวของเซลล์กระดูกอ่อน และกระตุ้นให้เส้นเลือดถูกสร้างไปเลี้ยงที่กระดูกอ่อนได้ดีขึ้น เกิดการซ่อมแซมกระดูกอ่อนผิวข้อ และลดการอักเสบบริเวณรอบๆ ข้อเข่า 

 

ตามหลักแล้ว การรักษาแบบ PRP จะแนะนำให้ฉีดต่อเนื่องประมาณ 3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 1-4 สัปดาห์ ซึ่งจำนวนครั้งที่ฉีดจะแตกต่างกันไปตามระยะอาการของแต่ละบุคคล โดยหลังจากฉีดครบคอร์สแล้ว ข้อเข่าจะค่อยๆ ฟื้นฟูตัวเองให้กลับมาดีขึ้นเป็นปกติได้ภายใน 2 เดือน

อาการบาดเจ็บจากข้อเข่ายังมีอีกหลายรูปแบบ โดยเฉพาะสายแอดเวนเจอร์และเหล่านักกีฬาที่น่าจะเจอปัญหาแนวนี้กันบ่อย ซึ่ง Top to Toe จะคัดสรรประเด็นที่น่าสนใจมานำเสนอกันในเอพิโสดต่อๆ ไป แต่ถ้าใครอยากศึกษาหาข้อมูลเรื่องเข่าให้มากขึ้น ก็สามารถติดตามได้ที่เพจเฟซบุ๊กและ TikTok ฝากเข่ากับหมอนิก ที่จะอัปเดตเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการปรับพฤติกรรมและการปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมเพื่อให้ข้อเข่าเสื่อมช้าลง และสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้เต็มที่ไปนานๆ

 


 

Credits

 

The Host ดร.ข้าว ต้นสมบูรณ์

The Guest นพ.กนกพล ธนกิจรุ่งทวี 

Episode Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Creative Care Label

Video Editor จุฑาภัทร มนตรีศาสตร์

Sound Director กฤตพล จียะเกียรติ

Sound Designer เดชาณัฏฐ์ ธีรดุริยสฤษฏ์

Sound Recording Engineer ขจีพรรณ วิจิตรรัตน์

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Graphic Designer ธนิดา โตวิวัฒน์

Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Channel Admin นิพพิชฌน์ ชุลีนวน, พฤกษา แซ่เต็ง

Proofreader ณัชชยา เมธากิตติพร

Webmaster พงศกร เพ่งพิศ

Social Media Admins วนัชพร ดวงนิล, สุทธกิตติ์​ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, วิมลณัฐ พรศิริอนันต์

Archive Officer ชริน ธนอุดมกรณ์, อาทิตยา อิสสรานุสรณ์

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising