เคยเป็นไหม? ส่องกระจกทีไร เห็นรอยย่นและรอยตีนกาบนใบหน้าแล้วปวดใจทุกที จะยิ้มกว้างถ่ายเซลฟีลงโซเชียลก็ทำเอาหมดความมั่นใจ ต้องมาคอยใช้แอปแต่งรูปลบริ้วรอยทุกที
ไม่ต้องกังวลไป เพราะนวัตกรรม ‘โบท็อกซ์’ ช่วยได้ แต่ปัญหาคือ บางคนยังกังวลเรื่องความปลอดภัย ฉีดแล้วจะหน้าแข็งเกินไปไหม แล้วต้องฉีดไปเรื่อยๆ ตลอดชีวิตเลยหรือเปล่า มาหาคำตอบกันได้ในเอพิโสดนี้
รอยย่นบนใบหน้าเกิดขึ้นได้อย่างไร
ผิวหน้าของคนเราเปรียบได้กับผ้าเช็ดหน้าตึงๆ หนึ่งผืน ซึ่งความตึงนี้มาจากคอลลาเจนและอีลาสตินที่อยู่ใต้ผิวหนัง ซึ่งจะทำหน้าที่คอยขึงให้ผิวหนังของเราเต่งตึงและมีความยืดหยุ่นตลอดเวลา
แต่เมื่ออายุมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงการเผชิญกับแสงแดดและความเครียดที่สะสมไปตามวัย จะทำให้คอลลาเจนและอีลาสตินเริ่มลดน้อยลง ทำให้เวลาที่เรายิ้ม ขมวดคิ้ว หรือเลิกหน้าผาก รอยย่นต่างๆ ก็จะเริ่มผุดขึ้นมา นั่นเป็นเพราะสมองของเราสั่งการให้กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าหดตัวเพื่อแสดงออกทางอารมณ์ จนทำให้ผิวหนังเข้าใกล้กันมากขึ้น เปรียบได้กับการขยุ้มผ้าเช็ดหน้า จากที่ตึงๆ อยู่มันก็จะค่อยๆ ขยับเข้ามารวมเป็นกระจุก จนเกิดเป็นรอยย่นที่เห็นชัดมากขึ้นนั่นเอง
แล้วสมองของเราสั่งให้กล้ามเนื้อหดตัวได้อย่างไร ต้องอธิบายว่าวิธีการที่สมองจะส่งชุดคำสั่งใดๆ ไปยังอวัยวะต่างๆ มันไม่สามารถส่งคำสั่งพุ่งตรงไปที่ปลายทางได้ทันที สิ่งที่สมองจะทำคือ การส่งข้อมูลเป็นทอดๆ ผ่านตัวกลางบางอย่าง จนเดินทางไปถึงกล้ามเนื้อบนใบหน้าของเรา และเมื่อคำสั่งเดินทางเข้าใกล้กล้ามเนื้อมากขึ้น ตัวกลางที่จัดส่งคำสั่งจะปล่อยสารสื่อประสาทที่ชื่อ Acetylcholine เพื่อสั่งให้กล้ามเนื้อหดตัวตามคำสั่งของสมอง
โบท็อกซ์ทำอะไรกับหน้าเรา ทำไมริ้วรอยถึงหายไปได้เหมือนไม่เคยเกิดขึ้น
เมื่อกล้ามเนื้อใบหน้าหดตัวจนเกิดเป็นรอยย่น โบท็อกซ์จะเข้าไปขัดขวางตัวกลางที่ปล่อยสารสื่อประสาท Acetylcholine ไม่ให้สั่งการให้กล้ามเนื้อหดตัว และทำให้กล้ามเนื้อมัดนั้นทำงานน้อยลงหรือกลายเป็นอัมพาตไปชั่วขณะ ผิวหนังจะตึงขึ้น ริ้วรอยที่เคยก็มีหายไป
แต่ถ้าฉีดมากเกินไป อาการหน้าแข็งก็อาจเกิดขึ้นได้ เพราะโบท็อกซ์จะไปกระจุกตัวอยู่บริเวณใดบริเวณหนึ่งบนใบหน้าของเรา ซึ่งตรงนี้ขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญของแพทย์ผิวหนังที่เป็นคนฉีด ว่าจะมีเทคนิคและวิธีการในการทำให้สารกระจายตัวบริเวณใบหน้าในปริมาณที่พอดีได้อย่างไร
อีกปัจจัยหนึ่งก็คือ การเลือกยี่ห้อของโบท็อกซ์ โดยหลักๆ จะนำเข้ามาจาก 4 ประเทศ ได้แก่ อเมริกา เยอรมนี อังกฤษ และเกาหลี ซึ่งผู้ผลิตแต่ละประเทศจะมีเทคโนโลยีและสูตรที่แตกต่างกัน บางเจ้าจะมีความบริสุทธิ์ค่อนข้างสูง หรือบางเจ้าก็อาจมีการใส่สารเจือปนเข้าไปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งสูตรของโบท็อกซ์ที่แตกต่างกันก็ส่งผลต่อการกระจายตัวของโบท็อกซ์เวลาที่เข้าไปอยู่บนใบหน้าของเราด้วย
เมื่อเริ่มฉีดโบท็อกซ์แล้วต้องทำไปเรื่อยๆ หรือเปล่า หากหยุดฉีดแล้วจะเป็นอย่างไร
สำหรับคนที่กังวลว่าถ้าวันหนึ่งหยุดฉีดโบท็อกซ์แล้วจะเป็นอย่างไร เราต้องคอยฉีดโบท็อกซ์ไปเรื่อยๆ จนแก่หรือเปล่า คำตอบคือ จริงๆ แล้วมันจะอยู่ในร่างกายของเราแค่ 4-6 เดือนเท่านั้น เนื่องจากโบท็อกซ์เป็นโปรตีน ทำให้เมื่อเข้าไปอยู่ในร่างกายมันก็จะย่อยสลายโปรตีนนี้ไปเรื่อยๆ จนหมดไปในที่สุด
และเมื่อโบท็อกซ์หายไปจนหมด กล้ามเนื้อมัดนั้นจะกลับมาหดตัวได้เหมือนเดิม เวลาที่เรายิ้มหรือขมวดคิ้ว รอยย่นต่างๆ ก็จะผุดขึ้นมาเหมือนก่อนที่เราจะฉีด เพราะฉะนั้นการหยุดฉีดโบท็อกซ์ไม่ได้ทำให้หน้าเหี่ยวเพิ่มขึ้น แต่มาเพื่อช่วยซ่อนรอยเหี่ยวย่นเท่านั้น
ฉีดโบท็อกซ์ให้ปลอดภัยต้องพิจารณาจากอะไรบ้าง
- จำไว้ว่าของถูกและดีไม่มีอยู่จริงในวงการการแพทย์และความสวยความงาม เพราะของที่มีคุณภาพดีย่อมต้องมีต้นทุนการผลิตสูงตามไปด้วย ฉะนั้นให้เลือกใช้ของดีไว้ก่อนจะดีที่สุด
- ตรวจสอบให้ดีว่าคนที่มาฉีดหน้าเราเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางจริงหรือไม่ ซึ่งวิธีการก็ไม่ยาก เพราะเราสามารถเช็กประวัติคุณหมอที่ได้รับการรับรองจากแพทยสภาหรือสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยผ่านเว็บไซต์ได้เลย
- เลือกคลินิกที่มีมาตรฐาน ได้รับการอนุญาตจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เพื่อเป็นการการันตีว่าคลินิกดังกล่าวมีมาตรฐาน ปลอดภัย และไว้ใจได้
เพียงพิจารณาจาก 3 ข้อนี้ คุณก็จะฉีดโบท็อกซ์ได้อย่างปลอดภัย ไร้ความกังวลเรื่องผลข้างเคียง สวยหล่อมั่นใจได้อย่างที่ต้องการ
Credits
The Host ดร.ข้าว ต้นสมบูรณ์
Episode Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Creative Care Label
Video Editor จุฑาภัทร มนตรีศาสตร์
Sound Director กฤตพล จียะเกียรติ
Sound Designer เดชาณัฏฐ์ ธีรดุริยสฤษฏ์
Sound Recording Engineer ขจีพรรณ วิจิตรรัตน์
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Graphic Designer ธนิดา โตวิวัฒน์
Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Channel Admin นิพพิชฌน์ ชุลีนวน, พฤกษา แซ่เต็ง
Proofreader ภาวิกา ขันติศรีสกุล
Webmaster อารยา ปานศรี
Social Media Admins วนัชพร ดวงนิล, สุทธกิตติ์ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, วิมลณัฐ พรศิริอนันต์
Archive Officer ชริน ธนอุดมกรณ์, อาทิตยา อิสสรานุสรณ์, ฉัฐนภา โพธิ์เงิน