×

Digital Ecosystem และ 4 หัวใจสำคัญที่ทำให้แบรนด์รักและเชื่อใจ adapter

21.11.2018
  • LOADING...

adapter เอเจนซีเล็กๆ ที่เริ่มจากดูแลลูกค้าเพียง 6 แบรนด์ มีพนักงานประมาณ 30 คน ค่อยๆ เติบโตจากการที่ลูกค้าแนะนำต่อกันไปเรื่อยๆ จนปัจจุบันเติบโตเหนือตลาดเอเจนซีอยู่ถึง 20% มีลูกค้ากว่า 20 แบรนด์ และมีพนักงานเพิ่มขึ้นถึง 135 คน

 

นี่คือเอเจนซีที่เชี่ยวชาญด้านการสร้างระบบนิเวศทางดิจิทัลให้กับแบรนด์ลูกค้าอย่างครบวงจร เชื่อม Customer Journey ที่มีความซับซ้อนและหลากหลายให้มารวมกันได้ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงปลายทางเพื่อทำให้เกิด Digital Ecosystem ที่ส่งผลดีกับเป้าหมายที่แท้จริงของลูกค้า

 

เคน นครินทร์ คุยกับ เอิร์ธ-อรรถวุฒิ เวศรานุรักษ์ ประธานกรรมการบริหาร adapter Digital Group ในพอดแคสต์ The Secret Sauce

 


 

“โฆษณามันเหมือนน้ำที่ต้องเปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยๆ ตามยุคสมัย ผมมองว่าชื่อ adapter ตอบโจทย์กับสิ่งที่อยากทำ แต่​ตอนนั้นจุดยืนของเรายังคงโฟกัสการทำโฆษณาบนโลกดิจิทัลตามรูปแบบต่างๆ เช่น สร้างแบนเนอร์ ทำคลิปวิดีโอ ดูเรื่องโซเชียลมีเดีย และค่อยๆ พัฒนามาถึงยุคนี้ที่เป็นยุคของ Total Experience เราต้องทำงานให้เข้าถึงทุกย่างก้าวของชีวิตผู้บริโภค เพื่อทำให้แบรนด์ลูกค้าไปถึงเป้าหมายตามที่ตั้งใจไว้”

 

 

จุดเปลี่ยนสำคัญ

“ปี 2560 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของ adapter ตอนนั้นเราคิดว่าจะไม่โตไปมากกว่านี้ จะโฟกัสแค่ความเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลเท่านั้น ขณะเดียวกันเริ่มมีคนออกมาพูดว่าต่อไปดิจิทัลเอเจนซีจะทำแค่เรื่องดิจิทัลไม่ได้แล้วนะ ต้องผสมผสานไปกับสื่ออื่นๆ ด้วย พอได้ยินแบบนี้มันทำให้ผมเริ่มเกิดความลังเลว่าเราจะก้าวข้ามไปอีกขั้นหรือหยุดอยู่ที่การโฟกัสดีเอ็นเอที่แข็งแรงในรูปแบบเดิม

 

“ผมได้คำตอบที่แน่ชัดตอนไป Business Trip ที่ประเทศจีน ที่นั่นเขาเน้นเรื่องดิจิทัลเป็นฟันเฟืองสำคัญในการผลักดันธุรกิจทุกรูปแบบ รวมถึงเอเจนซีโฆษณา มันเหมือนโลกใหม่ที่ผมไม่เคยเจอ และทำให้ผมเปลี่ยนความคิดตัวเองว่าสิ่งที่ทำอยู่มันมาถูกทางแล้ว เพียงแต่ธุรกิจต้องใหญ่ขึ้น รองรับลูกค้าได้มากขึ้น เราจะหยุดอยู่แค่นี้ไม่ได้

 

“จากจุดนั้นผมเริ่มมองหาแม่ทัพของแต่ละสายงานมาร่วมทีมเพื่อวิ่งนำเอเจนซีอื่นๆ ที่ยังขาดสิ่งนี้อยู่”

 

Digital Ecosystem คืออะไร

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าในยุคนี้เวลาผู้บริโภคเลือกเข้าหาแบรนด์ พวกเขาไม่ได้เลือกเข้าหาจากช่องทางใดช่องทางหนึ่งแค่ครั้งเดียวแล้วจบไป แต่พวกเขามีตัวเลือกหลายช่องทางและสามารถใช้งานได้บ่อยครั้งตามต้องการ ฉะนั้นสิ่งที่ adapter กำลังทำและแตกต่างจากในอดีตคือการสร้าง Digital Ecosystem ให้กับแบรนด์ มันคือแนวคิดที่เปลี่ยนจากการทำงานเป็นชิ้นๆ กลายเป็นการวางรากฐานทั้งระบบเพื่อเชื่อมแบรนด์กับผู้บริโภคตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงจุดสุดท้าย

 

Digital Ecosystem ของแต่ละแบรนด์ก็มีความแตกต่างกันไปตามจุดยืนและกลุ่มเป้าหมาย adapter จึงเป็นเหมือนผู้เชี่ยวชาญที่เข้ามาช่วยสร้างระบบให้สมบูรณ์ โดยทั้งหมดไม่ได้คิดขึ้นเองลอยๆ แต่เกิดจากการทำงานร่วมกันของทีมครีเอทีฟ ทีมดาต้า และทีมนวัตกรรม เพื่อท้ายสุดจะได้เกิดแอ็กชันบางอย่างที่ส่งผลดีกับ Business Result ของลูกค้านั่นเอง

 

“ผมคิดว่าหน้าที่ของเอเจนซีคือการหา Solution และมันคงไม่ใช่แค่การโฆษณา แต่มันคือ Brand Solution ฉะนั้นเราควรทำอะไรที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ ซึ่งแน่นอนว่าลูกค้าแต่ละแบรนด์มีโจทย์ที่แตกต่างกัน ทุกงานที่เราทำจึงมีลูปการทำงานที่ไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นวิธีคิด เฟรมเวิร์ก หรือแม้แต่การเลือกครีเอทีฟที่เหมาะสมของแต่ละ Ecosystem”

 

4 หัวใจสำคัญที่ทำให้แบรนด์รักและเชื่อใจ adapter

 

1. การเป็นพาร์ตเนอร์กับธุรกิจ (Soul Business Partner)

“คนทำงานครีเอทีฟต้องเข้าใจโลกดิจิทัลที่เปลี่ยนไป แต่ก่อนเราทำคลิปวิดีโอขึ้นมาเพื่อเป้าหมายให้คนเข้ามาเอ็นเกจเยอะที่สุด ทำอย่างไรก็ได้ให้ได้ยอดวิวและเกิดการแชร์ต่อ แต่สมัยนี้มันไม่พอแล้ว มันต้องทำให้เกิดการตัดสินใจซื้อ เช่น เห็นโฆษณาแล้วอยากกดสั่งซื้อทางออนไลน์เดี๋ยวนั้นเลย หรือทำให้เกิดแอ็กชันบางอย่างที่ส่งผลกลับไปที่ยอดขายของแบรนด์ด้วย”

 

คุณเอิร์ธเปลี่ยนระบบการทำงานของทีมเป็นหน่วยที่เรียกว่า ‘Brand Team’ โดยคนทำงานจะต้องถือ KPI เดียวกับลูกค้า ไม่ใช่ KPI จากคอนเทนต์ตัวเอง

 

“ของเจ้าอื่นอาจตั้งเป้าหมายว่าต้องได้ยอดวิวเท่าไร และต้องทำอย่างไรให้ยอดเอ็นเกจเมนต์ถึงเป้าที่ตั้งไว้ แต่เราถือ KPI เดียวกับลูกค้าเลย ถ้าลูกค้าบอกว่าต้องการโตกี่เปอร์เซ็นต์หรือมียอดขายที่ตั้งใจไว้เท่าไร เราก็ต้องทำให้ถึงเท่านั้น แม้จะดูโหด แต่สิ่งนี้สำคัญสำหรับการผลักดัน Brand Team ให้สำเร็จ ไม่อย่างนั้นทุกคนก็จะจบที่ตัวเลขตัวเอง”

 

2. พร้อมเรียนรู้และหมุนไปข้างหน้าตลอดเวลา

“adapter เป็นองค์กรที่พยายามสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา จัดเวิร์กช็อปเดือนละไม่ต่ำกว่า 2 ครั้งกับทุกทีม เพราะโลกดิจิทัลมันเปลี่ยนเร็วมาก ทำให้ลูกค้าต้องเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับเราด้วย และสิ่งที่เราทำมันไปไกลกว่าตลาดแล้ว เพราะถ้าเราทำเหมือนตลาด สุดท้ายเราจะเป็นแค่คนที่อยู่ท้ายสุดของขบวน”

 

3. ใช้ Data มาช่วยผลักดันทุกขั้นตอนการทำงาน

“เราเก็บข้อมูลที่สามารถเรียนรู้ได้จากทุกแหล่งที่มา ไม่ว่าจะเป็นภายนอกหรือภายใน ภายนอกคือทุกอย่างที่อยู่บนโซเชียล และภายในคือสิ่งที่ลูกค้าสามารถแชร์ได้ ประกอบกับการหาแพตเทิร์นหรือสัญญาณบางอย่างในการที่จะหาข้อมูลมาสื่อสารเพื่อตอบโจทย์หรือแก้ไขปัญหาของลูกค้า ฉะนั้นเราจึงมีข้อมูลมากกว่าคนอื่นที่ไม่เห็นอะไรเลยในตลาด เราจะไม่ลอยเคว้งในทะเล แต่มีบางสิ่งให้ยึดเกาะและส่งเสริมต่อไปเรื่อยๆ”

 

4. มี Innovation เป็นตัวเสริมการสร้างคอนเทนต์

“ที่ออฟฟิศของ adapter เราใช้เทคโนโลยี Face Scan สำหรับต้อนรับพนักงานและแขกรับเชิญ จริงๆ ที่ไหนก็ใช้ แต่มันอยู่ที่เราจะ visualize มันออกมาอย่างไรให้น่าสนใจ และมากกว่าความน่าสนใจคือเราต้องดูว่าจะเก็บข้อมูลแบบไหนมาใช้งานต่อ  เทคโนโลยีพวกนี้มันมาช่วยจุดไอเดียในยุคที่คนต้องการช่องทางที่มาเชื่อมต่อกับแบรนด์ได้เร็วขึ้น สิ่งพวกนี้จะมาช่วยสร้าง mindset ของแบรนด์ที่นอกจากจะต้องเร็วแล้วยังต้องเชื่อมกันทั้งหมดอีกด้วย”

 

ฟีเจอร์ Co-working Space ในแอปพลิเคชันของ adapter สำหรับหาพื้นที่ว่างในการประชุมผ่านสมาร์ทโฟน 

 

คุณเอิร์ธสาธิตการใช้ Samsung Flip เทคโนโลยีสำหรับการเบรนสตรอมของพนักงาน

 

เทคโนโลยี Face Scan ที่ adapter ใช้สำหรับต้อนรับพนักงานและแขกที่มาเยือน

 

Interactive Chandelier ไฟแต่ละดวงที่สว่างมาจากไอเดียที่เบรนสตรอมแล้วส่งนำเสนอผ่านระบบ เมื่อไรที่ไอเดียพรั่งพรูมารวมกันเป็นจำนวนมาก ระบบจะเริ่มสแกนหาไอเดียที่เหมาะสมและค้างไฟดวงนั้นไว้ แต่หากไอเดียไหนไม่ผ่าน ไฟจะเริ่มดับทีละดวง 


 


สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย


 

Credits

 

The Host นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

The Guest อรรถวุฒิ เวศรานุรักษ์


Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

Show Producers เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์, ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์

Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

 

FYI

 

 

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising