×

สุทธิชัย หยุ่น ตำนานสื่อสารมวลชนไทย กับการเกิดใหม่ในโลก Live!

12.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index

01:49 Chapter ใหม่ของ สุทธิชัย หยุ่น

05:20 โอกาสจากความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี

15:06 วิธีคิดที่สำคัญที่สุดในการทำข่าว

22:25 ทางรอดของคนทำสื่อในยุคนี้

32:33 เบื้องหลังการทำ Suthichai Live

46:14 ความรู้สึกตั้งแต่ออกจากเนชั่น

50:52 คิดจะเกษียณไหม

53:20 ความภาคภูมิใจของคนบ้าข่าว

59:11 อะไรคือ The Secret Sauce ของ สุทธิชัย หยุ่น   

อะไรคือเคล็ดลับความสำเร็จของ สุทธิชัย หยุ่น คนข่าวระดับตำนานในรอบ 40 ปีของไทย เป็นผู้ก่อตั้งเครือ The Nation ซึ่งถือเป็นสถาบันการทำข่าวและสื่อสารมวลชนที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ

 

แต่เมื่อช่วงต้นปี 2561 คุณสุทธิชัย หยุ่น ได้ลาออกจากเครือเนชั่นที่ก่อตั้งเองมากับมือเพื่อเริ่มบทใหม่ของชีวิตในวัย 72 ปี กับการทำ Suthichai Live อะไรทำให้เขายังไม่ยอมเกษียณตัวเองและยังรักอาชีพสื่อสารมวลชน และทำไมเขาถึงมองว่าการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีในยุคนี้คือโอกาสครั้งสำคัญ

 

เคน นครินทร์ คุยกับ สุทธิชัย หยุ่น ในพอดแคสต์ The Secret Sauce     

 


 

 

ตอนนี้คุณสุทธิชัยทำอะไรอยู่

สถานภาพปัจจุบันคือบทใหม่ของชีวิต ถ้ายุคสมัยไม่เปลี่ยนแปลงเร็วขนาดนี้ ผมอาจเกษียณเต็มตัวมาอยู่บ้านเฉยๆ แต่เพราะปัจจุบันมีโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ทำให้คนทำสื่อตั้งแต่ยุคโบราณอย่างผม ที่เคยใช้พิมพ์ดีดเขียนข่าว ส่งหนังสือพิมพ์ไปตามบ้าน เกิดความรู้สึกตื่นเต้นและกระตือรือร้นที่จะทำข่าวเป็นอย่างมาก ผมจึงเปิดเป็นบริษัท กาแฟดำ จำกัด สร้างคอนเทนต์ของตัวเองกับทีมงานเล็กๆ ขึ้นมา

 

ทำไมถึงสนุกกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี

เพราะผมคือคนทำคอนเทนต์ แต่ก่อนการทำสื่อเป็นไปด้วยความยากลำบาก เปรียบเหมือนถนนลูกรังที่มีแต่ความขรุขระ ต่อมาจึงค่อยๆ มีถนนลาดยางมะตอย ตามมาด้วยถนนคอนกรีต จนถึงยุคนี้ที่เป็นทางซูเปอร์ไฮเวย์ ทุกอย่างรวดเร็ว อยากไปไหนเมื่อไรก็ได้ หลายคนอาจมองว่านี่คืออุปสรรค แต่สำหรับผมมันคือสิ่งที่สวรรค์ส่งมาให้ สมัยก่อนมีปัญหาเยอะมาก ต้องรับโทรศัพท์ตอนดึกตลอด เจอปัญหาเรื่องแท่นพิมพ์เสีย ต้องตัดสินใจตัดบางหน้าออก ฝนตกก็ต้องออกไปส่งหนังสือพิมพ์ บางครั้งมีคนโทรมาบ่น เพราะคนไม่ได้รับหนังสือพิมพ์ หรือรับแล้วเปียกแฉะ

 

ผมได้เรียนรู้อะไรมากมายเวลารับโทรศัพท์ มีอยู่วันหนึ่ง มีคนโทรมาบอกว่า “ผมบอกสายส่งของคุณกี่ครั้งแล้วว่า อย่าโยนหนังสือพิมพ์เข้ามา เพราะหมามันคาบเอาไป” เขาไม่รู้ว่าผมเป็นใคร ผมก็ได้แต่ “ครับๆ ล่าสุดเป็นยังไงครับ” เขาบอก “เช้านี้เอง หมามันก็ยังคาบหนังสือพิมพ์ไปอยู่เลย” ผมเลยแก้ปัญหาให้เขาไปว่า “ถ้าคุณตื่นก่อนหมา คุณจะไม่โดนคาบไปนะครับ” (หัวเราะ)

 

ได้ไอเดียสร้างสรรค์สิ่งใหม่จากการรับโทรศัพท์

การรับโทรศัพท์ในห้องข่าวทำให้ผมได้ไอเดียใหม่ๆ เยอะเลย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เกิดจากปลายสายที่อยากรู้ข้อมูลตลาดหุ้นที่นิวยอร์ก เพื่อจะได้มาซื้อหุ้นในประเทศไทยถูก ผมรับสายประเภทนี้บ่อยๆ ทำให้รู้ว่าคนอ่านอยากรู้ข้อมูลพวกนี้ มันแฟร์กับพวกเขาถ้าได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ จึงเกิดเป็นหนังสือพิมพ์รายวันที่ชื่อว่า กรุงเทพธุรกิจขึ้นมา ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากทุกคน

ถามว่าทำไมพวกเขาถึงคัดค้านผม เพราะคนอื่นเชื่อว่ามีข่าวธุรกิจแค่สัปดาห์ละครั้งก็เพียงพอแล้ว แต่ผมเห็นว่าต่างประเทศมีไฟแนนเชียลไทมส์ หรือวอลล์สตรีท ที่เป็นหนังสือพิมพ์รายวัน บ้านเราเองก็น่าจะมีบ้าง แถมตอนนั้นคนส่วนใหญ่ในทีมงานคือกองบรรณาธิการ The Nation เขากลัวเปิดหนังสือพิมพ์อีกหัวแล้วมันเจ๊ง จะไปดึงทุนตัวอื่นๆ แต่ผมก็ไม่สน ตัดสินใจเปิดตัวในที่สุด

 

วิธีคิดที่สำคัญที่สุดในการทำข่าว

สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงคือหลักในการทำข่าว ต้องถูกต้อง ยุติธรรม และไร้อคติ ผมไม่เคยใช้คำว่า เป็นกลาง เพราะมันไม่มีอยู่จริง เป็นกลาง คือคนเขียนต้องไม่ใส่อารมณ์ความรู้สึกอะไรเลย ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ เพราะทุกคนเป็นมนุษย์ แต่สิ่งสำคัญคือคุณต้องนำเสนอครบทุกมุม ให้โอกาสทุกฝ่ายได้พูดในมุมตัวเอง ดังนั้นผมเลยเป็นคนที่เล่นโซเชียลมีเดียด้วยความระมัดระวังมาก ไม่ไลก์หรือแชร์ไปเรื่อยๆ แต่จะเป็นคนทำข่าวให้คนอื่นแชร์ต่อมากกว่า

สมัยทำโทรทัศน์ก็เหมือนกัน ถึงแม้ว่าเวลามีคนตอบในสิ่งที่ผมรู้อยู่แล้วว่ามันไม่ใช่ ไม่จริง ไม่ถูกต้อง แต่ผมจะไม่แสดงออก และเปลี่ยนวิธีเป็นการตั้งคำถามต่อไปเพื่อให้ความจริงประจักษ์ โดยไม่เป็นคนพูดเองว่าเขากำลังโกหกหรือลำเอียง การทำแบบนี้คนดูจะรู้เองว่าอะไรเป็นอะไร ฉะนั้นไม่ว่ารูปแบบสื่อจะเปลี่ยนไปแค่ไหน แต่ความถูกต้องต้องไม่เปลี่ยน

 

 

ความล่มสลายของมาตรฐานวิชาชีพสื่อ

การที่ผู้ประกาศข่าวยุคนี้พยายามทำสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับเนื้อหา แต่ใช้ลีลาเพื่อเรียกเรตติ้ง ผมว่ามันเป็นความล่มสลายของมาตรฐานวิชาชีพสื่อ ผมมักพยายามบอกเสมอว่ามันเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ เพราะทำให้คนดูเห็นว่าคนทำสื่อไม่รับผิดชอบอีกต่อไปแล้ว

สมัยก่อนเวลาผมสัมภาษณ์คนที่เข้ามาทำสื่อ ผมมักถามว่าเพราะอะไรถึงอยากทำงานนี้ ถ้ามีคนตอบว่า “ผมอยากทำสื่อเพราะอยากเปลี่ยนแปลงสังคมครับ” สำหรับผมนั่นคือสิ่งสุดยอดเลย เพราะงานนี้เป็นงานที่เงินเดือนน้อย งานหนัก ไม่มีเวลาให้ตัวเอง แต่ต้องมีแพสชันแรงกล้า มีความรักที่จะทำข่าว เอาความจริงเข้ามาเปลี่ยนแปลงสังคม ยกย่องคนดี เปิดโปงคนชั่ว ถ้าหากบรรยากาศเป็นเช่นนี้ คนทำข่าวจะมีคุณภาพ ไม่ได้ต้องการเข้ามาเพื่อความฮือฮาหวือหวาแต่อย่างใด เป็นคนแบบที่เราอยากได้มาเป็นกระบอกเสียงให้คนด้อยโอกาส และคอยตรวจสอบคนที่เอาเปรียบสังคม เหมือนเป็นหมาเฝ้าบ้านให้ประชาชน

แต่ปัจจุบันเจ้าของสื่อคือกลุ่มทุน เข้ามาเพื่อเหตุผลทางธุรกิจ พวกเขาไม่ได้เข้ามาเพื่อยกระดับมาตรฐานวิชาชีพแน่นอน ฉะนั้นคนที่ยังอยู่ในวงการก็ต้องยอม หลายคนอาจอึดอัด หรือเริ่มตั้งคำถามกับตัวเอง แต่จริงๆ แล้วผมว่าทางแก้ของเรื่องนี้คือเปลี่ยนวิธีคิด จากแต่ก่อนที่สื่อต้องทำทุกอย่างครบวงจร ตอนนี้สื่อควรรวมกลุ่มทำเฉพาะสิ่งที่เชี่ยวชาญ เปรียบเหมือนสตาร์ทอัพสื่อ เพราะสูตรมันชัดเจนแล้วว่าถ้าคุณยังทำสิ่งทั่วไปที่ใครๆ ก็มี มันอยู่ไม่รอด

 

ทางเลือกเพื่อความอยู่รอดของคนทำสื่อ

ผมว่าคนทำข่าวควรรวมกลุ่มกัน ทำเฉพาะเรื่องอย่างเจาะลึกที่มีกลุ่มคนพร้อมสนับสนุน วิเคราะห์เข้มข้นไปเลย สมมติว่าเป็นข่าวกีฬา คุณต้องทำมากกว่าแค่รายงานผล วิเคราะห์เกมเน้นๆ ให้คนเห็นหลายมิติ หรืออย่างเพจ ลงทุนแมน เขาเขียนข่าวทั่วไปแต่เล่าให้เข้าใจง่าย อ่านสนุก ก็อยู่ได้ บางบทความได้เงินเป็นแสนด้วยซ้ำ

คนยุคนี้ที่ยังอยู่ในสื่อแบบเดิม ผมเปรียบเหมือนเรือเอี้ยมจุ๊น ผู้โดยสารแน่นไปหมด แถมยังเจอพายุหนัก ซ้าย ขวา หน้า หลัง ยังไงก็ไม่รอด แต่ผู้โดยสารกลับเชื่อว่ารอดน่า กัปตันยังอยู่ ยังไงก็รอด เอาจริงๆ มันไม่รอดแล้ว ทางออกคือคุณต้องหาทางโดดลงมาอยู่ในเรือชูชีพลำเล็กๆ ใครชอบแบบไหนไปด้วยกัน และรอเจอกันใหม่ข้างหน้าถ้าโชคดี

Suthichai Live

ผมทำเฟซบุ๊กไลฟ์วันละ 2 ครั้ง คล้ายการเขียนคอลัมน์ทุกวันสมัยทำหนังสือพิมพ์ เรื่องที่ผมนำมาเล่ามีความเจาะลึกเฉพาะเรื่องที่ผมสนใจและถนัด ไม่ต้องทำทุกอย่าง แต่ถ้าเป็นเรื่องข่าวต่างประเทศที่กำลังร้อน อย่างเกาหลีเหนือ โดนัลด์ ทรัมป์ สงคราม เรื่องพวกนี้ ผมพร้อมติดตามและรายงานให้ตลอด โดยไม่เคยคิดว่าคนดูเยอะหรือน้อย เพราะถ้ามัวแต่สนใจตัวเลขเหล่านั้น ผมจะไม่กล้าทำบางอย่าง กลัวตัวเองเสียความรู้สึก ดังนั้นคนที่ติดตามผม เชื่อได้เลยไม่ว่ากี่โมงกี่ยาม ผมจะตามให้ รวมถึงเรื่องในประเทศ ผมทำเฉพาะข่าวที่ผมเชื่อว่าจะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ เน้นนำเสนอความคิดเห็นของผม มากกว่ารายงานว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะเจ้าอื่นทำเรื่องพวกนั้นได้ดีกว่าผมอยู่แล้ว

 

 

การเตรียมข้อมูลก่อนไลฟ์

ข้อมูลต่างๆ ที่ผมหยิบมาเล่าเกิดจากการอ่านหนังสือและประสบการณ์ที่สะสมมา ผมอาจได้เปรียบในแง่ของความรู้ที่เป็นสีสัน จริงๆ เรื่องนี้ใครๆ ก็ทำได้ เพราะโลกอินเทอร์เน็ตมีทุกอย่าง แต่ถ้าคนยังมัวแต่คิดว่าแล้วคนจะดูไหม หนักไปหรือเปล่า ต้องทำทุกวันเลยเหรอ มันก็ไม่ได้เริ่มต้นสักที

สำหรับตัวผม ถ้าไม่ได้ทำสิ่งนี้ ชีวิตคงจะโหวงเหวง ไม่รู้จะทำอะไรในแต่ละวัน ดังนั้นคนทำสื่อต้องมีแพสชัน แล้วเงินจากโฆษณาย่อยๆ จะมาเอง คนยุคนี้โชคดีที่ต้นทุนน้อยลงกว่าเดิมเยอะ รายได้ไม่ต้องสูงมากก็ได้ ขอแค่คุณยอมอดทน เปลี่ยนวิธีคิดในการทำงาน ไม่มีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เข้านอน 3 ทุ่ม

สิ่งที่คุณสุทธิชัยเพิ่งเรียนรู้ในการทำงานยุคนี้

ช่องทางที่ทำให้ผมได้รู้จักตัวตนของคนดู และเห็นผลตอบรับที่เกิดขึ้นได้ทันที จากอินบ็อกซ์หรือคอมเมนต์ ถ้าเป็นสื่อสมัยก่อนอย่างพวกหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์ มันเห็นผลตอบรับยากมาก แต่ตอนนี้ด้วยความใกล้ชิดของเทคโนโลยี ทำให้ผมสามารถชวนคนไทยเก่งๆ ที่ไปทำงานต่างประเทศมาไลฟ์ให้แรงบันดาลใจกับเยาวชนคนไทยรุ่นใหม่ได้เห็นเป็นตัวอย่าง

 

มองอนาคตของตัวเองอย่างไร ไม่อยากเกษียณจริงหรือ

คำว่าเกษียณคงอยู่ที่คนจะตีความ แต่ผมคงไม่สามารถละทิ้งความเป็นคนบ้าข่าวได้ สุดแล้วแต่ว่าเทคโนโลยีในอนาคตจะอำนวยความสะดวกให้ผมทำงานต่อไปอย่างไร ถ้าให้ผมกลายเป็นคนที่อยู่เฉยๆ หรือเดินทางเพื่อเที่ยวเฉยๆ มันคงโหวงเหวงมาก ผมยังคงต้องเดินทางเพื่อคุยกับชาวบ้าน ทำรายงาน วิเคราะห์ความเป็นไปตามสไตล์ของเรา การทำงานทุกวันแบบนี้ทำให้สุขภาพผมดีขึ้น ผมออกกำลังกาย เล่นบาสฯ วิ่งทุกวัน เป็นกิจกรรมที่ทำไปพร้อมฟังข่าว (หัวเราะ)

ความสุขในการทำงานของผมทุกวันนี้ คือการที่ผมได้ทำหน้าที่ เพื่อให้คนติดตามได้รู้เท่าทันและมีความรู้มากขึ้น เท่านี้เลย เพราะมันไม่มีเรื่องของเงินทองหรือตำแหน่งเข้ามาเกี่ยวข้องอีกแล้ว


ฟังรายการ The Secret Sauce พอดแคสต์ โดยแอปฯ Podcasts (สำหรับผู้ใช้ iOS), Podbean และแอปฯ ประเภท Podcast Player ยี่ห้อใดก็ได้ (สำหรับผู้ใช้ Android) หรือฟังทาง SoundCloud และ YouTube ก็ได้เช่นกัน

 

 


 

Credits

 

The Host นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

The Guest สุทธิชัย หยุ่น


Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

Episode Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

Music Westonemusic

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X