×

เมื่อความอยากรู้สำคัญกว่าความรู้ เราจะสร้างกระบวนการเรียนรู้แห่งอนาคตได้อย่างไร

21.04.2020
  • LOADING...

กระบวนการเรียนรู้ในอนาคตควรจะเป็นอย่างไร เพื่อตอบรับกับอนาคตที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาจนยากจะคาดเดา 

 

เคน นครินทร์ ชวนพูดคุยกับนักการศึกษาตัวยงอย่างศาสตราจารย์พิเศษ ด็อกเตอร์สาคร สุขศรีวงศ์ ประธานบริหารโรงเรียนนานาชาติคิงส์คอลเลจกรุงเทพ ที่กำลังจะเปิดดำเนินการในประเทศไทย

 


 

ด็อกเตอร์สาครเองนั้นมีประสบการณ์เกี่ยวกับการบริหารจัดการมากมาย ทั้งเป็นอาจารย์พิเศษประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้านการจัดการและองค์กรมากว่า 30 ปี เป็นกรรมการสถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ แบบไม่รับค่าตอบแทนใดๆ เป็นเวลากว่า 10 ปี นอกจากนี้ประสบการณ์ด้านธุรกิจก็ไม่น้อย เพราะยังได้บริหารโรงแรม Ritz-Carlton กับ JW Marriott ที่ปักกิ่ง และโรงงานไฟฟ้าอีกด้วย เป็นโอกาสดีที่เราจะได้สกัดเอาวิธีคิดจากเขามาใช้สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับพนักงานในองค์กรของเรา หรือตัวเราเองในปัจจุบันและอนาคต

 

เสาเข็มแห่งความสำเร็จ

สองสิ่งที่สำคัญและจำเป็นสำหรับการก่อตั้งโรงเรียน อย่างแรกคือโลเคชันต้องดี เพราะต่อให้เป็นโรงเรียนที่ดีที่สุดในโลก แต่อยู่ห่างไกลเกินไปผู้ปกครองก็เดินทางมาส่งลูกไม่ไหว เรื่องที่สองคือ ความร่วมมือกับต่างประเทศ เพื่อย่นระยะเวลาในการพัฒนาระบบการบริหารงาน พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน แบรนด์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกของคิงส์คอลเลจช่วยทำให้การคัดเลือกครูที่มีคุณภาพระดับสากลเป็นไปได้จริง ด้วยเหตุนี้โรงเรียนนานาชาติคิงส์คอลเลจกรุงเทพ จึงได้ครูที่เป็นบุคลากร Tier One ทางด้านการศึกษาของโลกมารวมตัวกัน

 

มิสเตอร์แอนดรูว์ ฮอลส์ ซึ่งเป็นครูใหญ่คิงส์คอลเลจสคูลวิมเบิลดัน กล่าวว่า ความตั้งใจของเขาคือ เขาจะไม่ให้โรงเรียนนานาชาติคิงส์คอลเลจกรุงเทพ เป็น Just Another Franchise School แต่ต้องการให้หลักสูตร ระบบ และบุคลากรที่นำมาใช้มีการควบคุม มีกระบวนการติดตามการประเมินผลการทำงานอย่างเต็มที่ ทุกคณะทำงานจึงมีทีมงานต่างประเทศอยู่ด้วยเสมอ เป็นความร่วมมือซึ่งเกิดขึ้นจริงแล้วทำงานด้วยจริง เพราะเป้าหมายคือการเป็นโรงเรียนที่ดีที่สุด 

 

คำว่า ดีที่สุด ถ้าในมุมมองของคนที่ดูทางด้านงานวิชาการทั่วไปจะดูว่าเด็กที่เรียนจบจากที่นี่ได้เข้ามหาวิทยาลัยชื่อดังที่ไหนบ้าง กี่เปอร์เซ็นต์ แต่สำหรับคิงส์คอลเลจกรุงเทพ เท่านั้นยังไม่พอ เด็กต้องมีความรู้รอบและรอบรู้ ดังนั้น หลักสูตรจะต้องเน้นถึงคำว่า Co-Curricular Program ผสานดนตรี ศิลปะเข้าไปด้วย เพื่อทำให้เด็กพัฒนาได้อย่างครบถ้วนรอบด้าน แต่ไม่ได้บอกว่าเด็กจะต้องเก่งทุกด้าน เพราะเขาจะได้เรียนรู้ว่าในที่สุดเขาชอบอะไร เขาเลือกที่จะเดินทางไหนต่อไปในอนาคตที่จะเป็นตัวของตัวเองได้มากที่สุด กิจกรรมเหล่านี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร ในตอนเช้าเรียนวิชาการในห้องเรียน ตอนเที่ยงอาจจะไปอยู่ตามคลับต่างๆ ที่แต่ละคนเลือกเอง ตอนบ่ายกลับมาเรียนต่ออีกนิด บ่ายแก่ๆ ไปเล่นกีฬา โดยแบ่งสัดส่วนให้ผสมผสานอย่างลงตัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็มาจากครูผู้พร้อมจะส่งต่อและถ่ายทอดสิ่งต่างๆ ให้นักเรียนได้

 

เตรียมตัวครู

การคัดเลือกครูของโรงเรียนนานาชาติคิงส์คอลเลจกรุงเทพไม่เพียงแค่อ่านจาก CV หรือคัดจากประวัติการศึกษาจากสถาบันที่มีชื่อเสียง แต่จะมองหาประสบการณ์การพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องด้วย รวมถึงการสร้างจิตวิญญาณความเป็นคิงส์ ด้วย Induction Program ชวนพูดคุย ปรับความคิด ความเข้าใจ ทัศนคติวิธีการสอนวิธีการเรียนรู้ให้เป็นในรูปแบบเดียวกัน ปรับชีวิตความเป็นอยู่ด้วยกัน เพื่อให้ความรู้ สติปัญญาของคุณครูทุกคนหลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียว

 

สถาบันทางการศึกษายังจำเป็นอยู่ไหม

ในระดับของมหาวิทยาลัย เป็นการเรียนนำไปใช้ในประกอบอาชีพทำมาหากินได้ ทักษะชีวิตจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งหลายคนเริ่มตั้งคำถามว่าปริญญาโทมีความจำเป็นกับชีวิตจริงหรือเปล่า บางคนมองว่าฉันแสวงหาความรู้ในรูปแบบของฉันก็ประสบความสำเร็จดีมากด้วย แต่คนอีกจำนวนมากยังไม่สามารถทำได้ มหาวิทยาลัยจึงกลายเป็นสูตรสำเร็จในอีกแบบหนึ่ง แต่การเรียนปริญญาโทนั้นควรเป็น Asset ที่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร เอาไปใช้ทำอะไร ไม่ใช่ Liability หมายถึงเรียนมาแล้วไม่ได้ใช้ ไม่สามารถไปตามเส้นทางที่อยากไปได้ หรือยังสงสัยในตัวเองตลอด เสียเวลาเรียนปริญญาโทหลายใบแล้ว ในที่สุดก็ยังค้นหาตัวเองไม่เจอ 

 

ส่วนของโรงเรียนนานาชาติ แน่นอนว่าตอบโจทย์ความต้องการของพ่อแม่ที่อยากให้ลูกได้ภาษา ความสุข และสังคมที่ดี เพราะโรงเรียนชั้นนำในอังกฤษสอนภาษาที่ 3 สอนกันมานานมากแล้ว มีวิชาเลือกทางภาษา เป็นหมวด Modern Foreign Languages เต็มไปหมด ถ้าเป็นโฮมสคูลก็ทำได้ แต่ค่อนข้างมีข้อจำกัดมาก เรื่องของความสุข การที่ไปโรงเรียน เด็กได้เจอเพื่อน ไปเล่นกับเพื่อน ทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่นๆ นี่เป็นสิ่งที่ยังจำเป็นอยู่ เพราะว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม นำมาสู่เหตุผลข้อที่สามก็คือ การมีสังคมที่ดี พากันไปได้ดี

 

 

การเรียนปริญญาโทนั้นควรเป็น Asset ที่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร เอาไปใช้ทำอะไร ไม่ใช่ Liability หมายถึงเรียนมาแล้วไม่ได้ใช้ ไม่สามารถไปตามเส้นทางที่อยากไปได้ หรือยังสงสัยในตัวเองตลอด เสียเวลาเรียนปริญญาโทหลายใบแล้ว ในที่สุดก็ยังค้นหาตัวเองไม่เจอ

 

เป้าหมายของคิงส์คอลเลจ 

เป้าหมายต่อสังคม ประเทศชาติ คือการที่คิงส์คอลเลจจะเป็นทางเลือกหนึ่ง และพัฒนาไปเป็นต้นแบบของโรงเรียนในสังคม ช่วยกระจาย Best Practice หรือแนวทางปฏิบัติที่เราคิดว่าดีที่สุด ก่อให้เกิดประโยชน์กับสังคมได้มากที่สุด เพื่อก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาคนี้ให้ได้ เพราะฉะนั้นการที่มีสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลกเข้ามาเปิดอยู่ในเมืองไทยจึงถือว่าเป็นโอกาสดี 

 

เป้าหมายต่อตัวนักเรียน คือการที่พวกเขาเติบโตอย่างครบถ้วนรอบด้าน ได้รับการดูแลทั้งร่างกายและจิตใจ เด็กสามารถเลือกเรียนในสิ่งที่ตัวเองเรียนแล้วไปให้ดีที่สุดตามเส้นทางที่เขาเลือก โดยมีครู มีระบบที่สามารถส่งเสริม ผลักดันให้เขาไปถึงจุดนั้น

 

การศึกษาไทย อะไรที่ต้องเปลี่ยน

ข้อที่หนึ่ง การศึกษาปัจจุบันจำเป็นต้องมีความคล่องตัว แล้วก็มี Agility สูง แต่ระบบในเมืองไทยยังทำไม่ได้ เพราะยึดคำว่ามาตรฐานเป็นหลัก โดยไม่ได้คำนึงถึงผลสัมฤทธิ์ การดำเนินการใดๆ จะต้องมีกฎมีระเบียบมีขั้นตอนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ ถ้าคนอยู่ต่ำกว่ามาตรฐานเยอะๆ แล้วเราต้องการที่จะดึงขึ้นมาให้เป็นมาตรฐานเดียวกันเป็นสิ่งที่ดี แต่คนที่ทำดีกว่าอยู่แล้ว ดันไปทำให้ลงมาเท่ากับมาตรฐาน นี่เป็นความยากและเป็นความท้าทาย ของทั้งหน่วยงานภาครัฐแล้วก็ของเอกชนที่หลายคนต้องการเพียงแค่คำว่ามาตรฐาน กฎระเบียบจึงเป็นสิ่งที่ควรแก้ไขอันดับแรก

 

ข้อที่สอง การศึกษาบ้านเรา เดิมเน้นแต่คำว่า ความรู้ แต่ตอนนี้ความรู้มันมีอยู่บนอินเทอร์เน็ต กดสองทีเราก็รู้แล้ว แต่ที่ไม่ได้พูดถึงก็คือ ทำอย่างไรคนถึงจะมี Inquisitive Mind ซึ่งเป็นคำที่คิงส์คอลเลจใช้เป็นประจำเลยว่า ทำอย่างไรจึงจะมีจิตใจใคร่ใฝ่รู้ แทนที่จะบอกว่าเรื่องนี้สรุปมี 7 ขั้นตอน ต้องบอกให้ได้ว่า 7 ขั้นตอนนี้จะนำไปใช้อย่างไร หรือจะตัดสินใจเลือก 7 ขั้นตอนนี้ มันมีความท้าทายอะไรอยู่ มันมี Ecosystem Platform อะไรที่เราจำเป็นที่จะต้องพิจารณา มันเป็นเรื่องที่ท้าทายและสำคัญกว่ามัวแต่มานั่งบอกว่ามันคืออะไร 

 

ข้อที่สาม คือ การเข้าถึง ระบบแบบเดิมก็คือ Classroom Teaching แต่วันนี้จะทำแค่นั้นไม่ได้แล้ว มอบหมายให้เขาไปหาความรู้มาก่อน แล้วถึงเวลาให้เขามาทำอย่างอื่น ใช้เวลาในคลาสรูมให้เป็นประโยชน์ ไม่ใช่เพื่อการเลกเชอร์อย่างเดียว เหมือนแนวคิดของการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ที่ให้ครูอาจารย์ที่เก่งๆ สอนออกอากาศเมื่อได้ให้ความรู้เท่ากัน พร้อมกัน ในเวลาเดียวกัน แล้วจึงใช้เวลาของครูในโรงเรียนไปเสริมสร้างในจุดอื่นที่ยังขาด ซึ่งเป็นความสำคัญและจำเป็น 

 

ข้อที่สี่ เป้าหมาย บางคนมองว่าเราต้องการสร้างความพร้อมไประดับโลก แต่บางคนบอกว่าต้องยกระดับให้ทุกคนเท่าเทียมกัน ให้ทุกคนมีระดับการศึกษาที่เพียงพอต่อการใช้ชีวิต การใช้เป้าหมายหลักและเป้าหมายเดียวเหมือนกันสำหรับทั้งประเทศ ก็เหมือนเราตัดเสื้อตัวเดียวแล้วบอกว่า One Size Fits All ซึ่งเป็นไปไม่ได้ วันนี้เราควรจะเปิดโอกาสในการกระจายให้ทุกคนช่วยคิด แล้วสร้างระบบการมีส่วนร่วมการตรวจสอบ 

 

ถ้าเราแก้ในเรื่องพื้นฐานสี่เรื่องที่ว่านี้ได้ ทิศทางการศึกษาของประเทศไทยจะเปลี่ยนไปแน่นอน

 

 

การศึกษาบ้านเรา เดิมเน้นแต่คำว่า ความรู้ แต่ตอนนี้ความรู้มันมีอยู่บนอินเทอร์เน็ต กดสองทีเราก็รู้แล้ว แต่ที่ไม่ได้พูดถึงก็คือ ทำอย่างไรคนถึงจะมี Inquisitive Mind ซึ่งเป็นคำที่คิงส์คอลเลจใช้เป็นประจำเลยว่า ทำอย่างไรจึงจะมีจิตใจใคร่ใฝ่รู้

 

กระบวนการการเรียนรู้ที่จำเป็นในอนาคต 

ด็อกเตอร์สาครเล่าว่าหลักกระบวนการเรียนรู้ที่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่เขายึดถือนั้น มาจากหลักคิดทางพุทธศาสนา สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ได้แปลเป็นภาษาอังกฤษไว้ มีด้วยกันสามข้อ ดังนี้

 

Study And Learn | สุตมยปัญญา

การสร้างสติปัญญา ที่ทุกคนคุ้นเคยก็หนีไม่พ้นการฟังมาก อ่านมาก เข้าร่วมสัมมนาที่เราจะได้มีโอกาสรับทราบข้อมูลข่าวสารความรู้ใหม่ๆ การใช้เวลาหาข้อมูล หาความรู้ใหม่ในแต่ละวันจึงเป็นปัจจัยสำคัญด้วยเช่นกัน ถ้าไม่มีการหาความรู้ใหม่ๆ แสดงว่าคนนั้นพร่องโอกาสในการได้รับความรู้และสติปัญญาใหม่ๆ 

 

ความสนใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา เป็นหลักเกณฑ์สำคัญในการคัดเลือกครูเข้ามาทำงานในโรงเรียนนานาชาติคิงส์คอลเลจกรุงเทพ ครูจำเป็นต้องมีประสบการณ์ที่หลากหลายและความสามารถที่จะถ่ายทอดด้วย กิจกรรมที่เคยทำไม่ใช่เพียงแค่ทำเอาสนุก แต่ต้องทำจนกระทั่งมีความโดดเด่น เช่น บอกว่าว่ายน้ำเป็น คุณว่ายน้ำได้ระดับพื้นฐาน หรือว่ายน้ำจนกระทั่งได้ Certificate รับรองการเป็นโค้ชระดับนานาชาติ 

 

Reflection And Thought Out | จินตามยปัญญา

การพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การได้สะท้อนมุมมองกับคนอื่นก็เป็นหนึ่งในวิธีการเรียนรู้ที่สำคัญ เพราะช่วยสร้างโอกาสให้ตัวเองได้คิด ได้ตั้งคำถามกับคนที่เก่งกว่า คนที่มีประสบการณ์มากกว่าตัวเอง เหมือนการที่อาจารย์ทำ Mentoring หรือ Coaching จะคอยช่วยตั้งคำถามที่มีความหมาย ให้นักเรียนไปค้นหาคำตอบต่อด้วยตัวเอง นับเป็นอีกกระบวนการหนึ่งที่หลายองค์กร หลายสถาบันการศึกษานำมาใช้มากขึ้น ไม่ใช่แค่ Training แต่ต้อง Mentoring และต้อง Coaching ไปพร้อมกันด้วย

 

Practice And Development | ภาวนามยปัญญา

เรียนรู้แล้ว สะท้อนมุมมองใหม่ๆ แล้ว ถ้าไม่เคยลงมือปฏิบัติจริงและเกิดการพัฒนาอยู่เสมอ ก็ย่อมไม่เรียกว่าเป็นการเรียนรู้อย่างแน่นอน การพัฒนาเปลี่ยนแปลงปรับปรุงตลอดเวลา ทำให้เกิดความเข้าใจทะลุปรุโปร่ง เมื่อนำทั้ง 3 ข้อรวมกัน จะเป็นโอกาสที่ทำให้เป็น Lifelong Learning ของจริง ซึ่งทั้ง 3 สิ่งนี้ ผู้บริหารองค์กรต้องตั้งสติระลึกอยู่เสมอว่า เราทำมันในส่วนผสมที่ถูกต้องเหมาะควรหรือเปล่า ถ้าเกิดเราทำขาดด้านใดด้านหนึ่งก็จะไม่สมดุล

 


 

สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย

 


 

Credits

Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
Show Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Show Co-Producer เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Creative ภัทร จารุอริยานนท์

Sound Editor ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Marketing & Coordinator อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Show note สุวิชา พิทักษ์กาญจนกุล
Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

Webmaster ไชยพร ศิริกลการ

Music westonemusic.com

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising