×

ถอดบทเรียนจีนสู้ฝุ่น PM2.5 ในมุมการบริหารจัดการ ไทยเรียนรู้อะไร

20.01.2020
  • LOADING...

ในปี 2012 รัฐบาลจีนได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อมที่เป็นระบบ เพื่อนำมาเป็นมาตรการในการต่อสู้กับมลพิษ ที่มีต้นเหตุหลักมาจากยานพาหนะ โรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้าถ่านหิน การเผาไหม้ ฯลฯ

 

จีนมีวิธีบริหารจัดการอย่างไร และไทยควรเรียนรู้อะไรจากจุดนี้

 

เคน นครินทร์ ถอดบทเรียนในรายการ The Secret Sauce: Executive Espresso

 


 

1. เป้าหมายชัดเจน วัดผลได้

กรุงปักกิ่งตั้งเป้าลดค่าฝุ่น PM2.5 ให้ได้ 33% จากระดับ 89.5 ให้เหลือ 60 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ภายในช่วงเวลา 5 ปีตั้งแต่ 2013-2017 ส่วนเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง ตั้งเป้าไว้ที่ 15% ผลลัพธ์ที่ได้คือปักกิ่งลดได้เหลือเพียง 58 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือลดไป 35% ซึ่งมากกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ แม้ว่าหลายเมืองจะทำได้ตามเป้า แต่กลับยังไม่มีเมืองไหนผ่านเกณฑ์คุณภาพที่ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด

 

วิธีคิดเช่นนี้คล้ายกับการทำงานบริษัท การตั้งเป้าหมายให้ทุกภาคส่วนเห็นตรงกันและมีตัวเลขที่ชัดเจนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากไม่ทำ ทีมงานอาจไม่รู้ว่าตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนไหน และมีปลายทางอย่างไร

ยกตัวอย่างในเชิงธุรกิจ บริษัทควรมีเป้าหมายชัดเจน เช่น ปีหน้าจะได้กำไรเท่าไร เติบโตกี่เปอร์เซ็นต์ รายได้และต้นทุนเท่าไร เพื่อให้ได้กำไรตามที่ตั้งไว้ หรือแม้กระทั่ง GDP ก็ควรมีเป้าหมายที่ตั้งไว้เช่นกัน ข้อดีของการทำเช่นนี้ ทำให้ผู้นำสามารถวิเคราะห์เป้าหมายในระหว่างทางได้ 

 

ย้อนกลับมาที่รัฐบาลไทย หลังจากที่ได้ประกาศให้ ‘ฝุ่น’ เป็นวาระแห่งชาติ ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 ก็ได้คลอดแผนปฏิบัติการแก้ปัญหาฝุ่นควัน ที่เน้นการปฏิบัติงานเชิงรุกสามด้าน 1.) การจัดการเชิงพื้นที่ 2.) การจัดการแหล่งกำเนิดฝุ่น 3.) การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ โดยรัฐบาลยังเสริมอีกว่า ต้องการเพิ่มจำนวนวันที่ปริมาณฝุ่นอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานร้อยละ 5 ต่อปี

ทั้งหมดนี้เป็นเป้าหมายที่ไม่สามารถวัดผลได้ชัดเจน ไม่สามารถสร้างแรงกดดัน หรือแรงกระตุ้นในการสร้างผลงานได้ รวมถึงไม่สร้างแรงบันดาลใจกลับไปที่คนในสังคมว่าการลดฝุ่นมีนัยสำคัญอย่างไร แม้อาจเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก แต่สามารถทำได้ถ้าเกิดความร่วมมือ เช่น ในแผนปฏิบัติการทำสงครามเพื่อท้องฟ้าที่สดใสของรัฐบาลจีน มีข้อบังคับว่าเมืองขนาดใหญ่หรือเขตพื้นที่ที่อากาศไม่ได้มาตรฐานจะต้องลดค่าฝุ่นลงอย่างน้อย 18% เมื่อเทียบกับระดับมลพิษในปี 2015 เป็นเป้าหมายที่ดี แต่รัฐบาลจีนก็ยังโดนวิพากษ์วิจารณ์ ทำให้เห็นชัดเจนว่า แม้จะยังไม่ได้นำมาสู่ความสำเร็จ แต่ผู้คนก็เห็นภาพตรงกัน และมีกำลังใจในการไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง

 

2. วิธีการเข้มงวด เป็นรูปธรรม

มาตรการของประเทศจีนมีวิธีการที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง เช่ นการสั่งปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วกรุงปักกิ่ง ห้ามประชาชนที่อยู่ในเมืองหลวงและพื้นที่รอบข้างเผาถ่านหินเพื่อความอบอุ่น ทำให้กรุงปักกิ่งลดการใช้ถ่านหินลง 50% ภายในปี 2013 -2018 เมืองเทียนจิน 19% และอีก 26 หัวเมืองให้คำสัญญาว่าจะเปลี่ยนระบบทำความร้อนจากถ่านหินมาเป็นไฟฟ้าหรือก๊าซใน 4 ล้านครัวเรือน 

 

ถึงแม้บริบทบ้านเมืองอาจแตกต่างจากไทย เพราะต้นเหตุกว่าครึ่งของจีน มาจากรัฐวิสาหกิจหรือโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ควบคุมและจัดการได้ง่ายกว่า แต่ก็แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของการออกมาตรการที่เข้มงวด ชัดเจน และวัดผลได้ เช่นเดียวกับกรณีของรถยนต์ ในปี 2013 ปักกิ่งเป็นเมืองแรกที่นำค่ามาตรฐานการปล่อยควันในยุโรปมาบังคับใช้ โดยไม่แจกทะเบียนรถที่ไม่เป็นไปตามค่ามาตรฐาน ผู้ขับรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเกินค่ามาตรฐานจะถูกปรับเป็นเงินจำนวน 100 หยวนในกรณีที่ตรวจพบ มีการสลับรถที่ลงวิ่งบนท้องถนนเป็นวันคู่วันคี่ตามเลขทะเบียนที่ลงท้าย ทางการจีนเผยว่าในปี 2018 มีผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนปล่อยมลพิษจำนวน 656 ราย พวกเขาถูกสั่งให้ย้ายสถานที่ตั้ง และถูกปรับเงินรวมกว่า 230 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 22.5%

 

จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีแนวคิดกำหนดห้ามรถบรรทุกสิบล้อขึ้นไป เดินรถในเส้นทางถนนวงแหวนกาญจนาภิเษกในวันคี่ และอนุญาตให้เดินรถในวันคู่ระหว่างเวลา 10.00-15.00 น. ตามมาตรา 144 แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ส่วนมาตรการการบังคับใช้กฎหมายห้ามใช้รถและเรือที่มีควันดำ การนำน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีปริมาณกำมะถันไม่เกิน 10 PPM มาจำหน่ายในกรุงเทพฯ และปริมณฑลให้ได้มากที่สุด และจะขยายไปทั่วประเทศภายในวันที่ 1 มกราคม 2567 รวมถึงการออกกฎฯ ห้ามเผาในที่โล่ง ห้ามเผาขยะโดยเด็ดขาด และห้ามเผาในไร่อ้อยร้อยละ 100 และบังคับใช้มาตรฐานการระบายจากรถยนต์ใหม่ยูโร 6/VI ภายในปี 2565 

 

3. ผู้รับผิดชอบมีอำนาจตัดสินใจได้

เห็นได้ชัดว่าวิธีการบริหารจัดการฝุ่นของกระทรวงต่างๆ ค่อนข้างไม่รวมเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่แค่เพียงกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงคมนาคม และกระทรวงมหาดไทย ที่ต่างมีส่วนช่วยเหลือ โดยทางประเทศจีนได้สังเกตเห็นปัญหาดังกล่าว จึงจัดตั้งกระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมหรือ (Ministry of Ecology and Environment หรือ MEE) เพื่อปรับโครงสร้างของหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมและนิวเคลียร์ ให้มีการขยายอำนาจการทำงาน โดยมีการดำรงตำแหน่งของรัฐมนตรีที่ยาวขึ้น เพื่อรับผิดชอบปัญหาดังกล่าวได้อย่างรอบด้าน ลงลึก และมีประสิทธิภาพ อาจเปรียบเทียบได้กับเหตุการณ์ถ้ำหลวงที่ผู้ว่าเป็นผู้ตัดสินใจเพียงคนเดียว มีทั้งข้อดีข้อเสีย เพราะต้องกระจายอำนาจและรับฟังให้มากขึ้น

 

บทความ Reform of China’s Environmental Governance, The Creation of a Ministry of Ecology and Environment เล่าถึงปัญหาการเกี่ยงความรับผิดชอบที่ค้างคามาหลายปี ได้พูดถึงจุดประสงค์และเป้าหมายของกระทรวง MEE โดยมีบทสรุปคือการกระจายอำนาจบางส่วนออกไปยังกระทรวงที่รับผิดชอบ บนพื้นฐานของการรับฟังซึ่งกันและกัน ส่งผลให้การทำงานรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

4. ไม่ได้แค่ทำเฉพาะหน้า แต่มีแผนอนาคตระยะยาว

ประเด็นข้างต้นล้วนถือเป็นการแก้ไขปัญหาในอดีตที่ส่งผลกระทบในปัจจุบัน แต่ข้อสำคัญของการแก้ไขปัญหา คือการมองไปข้างหน้าถึงการป้องกัน หรือเรียกว่า ‘การแก้ไขปัญหาเชิงรุก’ โดยรู้ว่าการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ารายวันเป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน อีกตัวอย่างที่ดีของรัฐบาลจีน คือการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งตั้งเป้าหมายไปถึงปี 2035 โดยส่งเสริมประชาชนให้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทนรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล 

 

ในปี 2019 นิตยสาร Forbes ได้เขียนบทวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ประเทศจีนจะกลายเป็นประเทศแรกของโลก ที่มีระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันพวกเขามีสัดส่วนใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นอันดับหนึ่งอยู่แล้ว ปี 2017 จีนผลิตรถประเภทต่างๆ ที่เป็นระบบไฟฟ้าจำนวน 680,000 คัน และประสบความสำเร็จอย่างมากในการนำยานยนต์ไฟฟ้าและ Hybrid มาใช้เป็นรถบัสโดยสาร มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทะลุ 800,000 คัน จากเพียง 100,000 คัน เคล็ดลับความสำเร็จของเคสนี้อยู่ที่ Charging Station หรือสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเปรียบเทียบได้กับปั๊มน้ำมันของรถยนต์ปกติ และมีเป้าหมายจะเพิ่มเป็น 500,000 จุดในปีนี้ การที่รัฐบาลจีนกล้าสนับสนุนเรื่องนี้ เปรียบเหมือนเป็นการแก้ปัญหา ‘ไก่กับไข่’ ที่ไม่รู้ว่าอะไรเกิดก่อน โดยรัฐบาลได้สร้างไก่ตัวแรกไว้ให้ และมีวิสัยทัศน์ว่า ผู้ประกอบการรายอื่นจะตามมาในที่สุด เช่นเดียวกับอธิบดีกรมควบคุมมลพิษของประเทศไทย ก็ได้มีการออกมาพูดถึงการสร้างรถไฟฟ้า ที่จะมีผลในการช่วยแก้ปัญหานี้ในระยะยาวต่อไป

 


 

สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย


 

Credits

The Host นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

Show Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Show Co-producer เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Episode Editor เดชาณัฏฐ์ ธีรดุริยสฤษฏ์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์

Show note ภัทร จารุอริยานนท์

Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า

Webmaster ไชยพร ศิริกลการ

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X