×

ทำไมนโยบายเลิกแจกถุงพลาสติกอาจไม่ได้ผล รู้จัก Nudge แนวคิดเศรษฐศาสตร์ดัดพฤติกรรม

13.01.2020
  • LOADING...

ทำไมนโยบายเลิกแจกถุงพลาสติกอาจจะใช้ไม่ได้ผลในมุมของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

เคน นครินทร์ พาไปรู้จักกับ Nudge Theory หรือการสะกิดให้คนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ในพอดแคสต์ The Secret Sauce

ตั้งแต่เริ่มปี 2020 มา ประเทศไทยมีกระแสเซย์โนพลาสติกเยอะมาก ร้านค้าหลายแห่งร่วมมือกับรัฐบาลในการเลิกแจกถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use Plastic) นโยบายนี้ดีในแง่ความตั้งใจ เพราะประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่สร้างขยะพลาสติกสูงมาก และสิ่งแวดล้อมถือเป็นเรื่องสำคัญในโลกยุคปัจจุบัน 

 

ไม่นานมานี้ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับ ดร.ณัฐวุฒิ เผ่าทวี ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ผู้เขียนบทความเกี่ยวกับนโยบายการห้ามใช้ถุงพลาสติก โดย ดร.ณัฐวุฒิ อธิบายว่าในทัศนคติของนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม นโยบายเชิงบังคับซึ่งอาจออกมาในรูปแบบของการบังคับให้ทำตาม การบอกกล่าว หรือการขอความร่วมมือ ยกตัวอย่างเช่น การงดจำหน่ายแอลกอฮอล์ในวันพระ หรือในช่วงระยะเวลาที่กำหนด หรือนโยบายบังคับเลิกแจกถุงพลาสติกมักใช้ไม่ค่อยได้ผล เพราะเป็นการบังคับให้คนทำตามในสิ่งที่ตนเองไม่ได้อยากทำ การห้ามจะทำให้คนเราเกิดความรู้สึกต่อต้านขึ้นมาทันที

 

งานวิจัยของ รีเบกกา เทย์เลอร์ นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ เกี่ยวกับนโยบายการห้ามใช้ถุงพลาสติกในรัฐแคลิฟอเนียในปี 2016 พบว่าหลังรัฐบาลออกนโยบายนี้มา จำนวนถุงพลาสติกในการหมุนเวียนลดลงทันที แต่ในทางตรงกันข้าม จำนวนคนที่ใช้ถุงดำหรือถุงขยะที่ทำออกมาขายกลับเพิ่มขึ้นกว่า 120% บ่งบอกว่าประชาชนยังคงต้องการที่จะใช้อะไรสักอย่างแทนถุงพลาสติกเพื่อเก็บขยะหรือเก็บอุจจาระของสัตว์เลี้ยงอยู่ดี ซึ่งถุงขยะหรือถุงดำมีความหนามากกว่าถุงพลาสติกธรรมดา ยิ่งกว่านั้นยังย่อยสลายยากกว่าอีกด้วย 

 

นอกจากนี้ยังมีผลวิจัยที่บอกว่าการใช้ถุงกระดาษสร้างผลกระทบในเชิงลบต่อโลกมากกว่าการใช้ถุงพลาสติกเสียอีก เพราะทรัพยากรที่ใช้ในการผลิตถุงกระดาษก็คือต้นไม้และน้ำสะอาด ผลสรุปของงานวิจัยนี้กล่าวว่าวิธีการที่ดีต่อโลกที่สุดคือการใช้ซ้ำ ถุงพลาสติกไม่ใช่ตัวร้าย เราควรมีมายด์เซตว่าจะใช้ถุงพลาสติกซ้ำๆ หลายๆ ครั้ง 

 

ในมุมมองของ ดร.ณัฐวุฒิ นโยบายที่ดีที่สุดในเชิงเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมควรออกมาในรูปแบบที่สร้างทางเลือกให้ประชาชน ยกตัวอย่างเช่น ใครเตรียมความพร้อมโดยนำถุงผ้าหรือภาชนะมาก็ดีไป ส่วนใครที่ต้องการถุงพลาสติกจริงๆ จะต้องจ่ายเงินเพิ่มเพื่อซื้อถุงในราคา 2 บาท พูดง่ายๆ คือจ่ายค่าธรรมเนียมในการซื้อถุงพลาสติกนั่นเอง นโยบายลักษณะนี้มีประสิทธิภาพในการช่วยลดถุงพลาสติก ยิ่งไปกว่านั้นยังเปิดโอกาสให้คนที่ต้องการนำถุงพลาสติกไปใส่ขยะหรือเก็บอุจจาระสัตว์เลี้ยงสามารถทำได้ด้วยการเสียเงินเพียงเล็กน้อย ที่สำคัญจะทำให้คนเกิดมายด์เซตว่าจะใช้ถุงพลาสติกที่ซื้อมานี้อย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด 

 

นโยบายที่ดีที่สุดอาจจะไม่ใช่การบังคับ ซึ่งเป็นวิธีที่ได้ผลในระยะสั้นหรือได้ผลในเชิงตัวเลขบางอย่างเท่านั้น แต่จะไม่ได้ผลจริงๆ ในเชิงการเปลี่ยนพฤติกรรมของคน การดัดพฤติกรรมมนุษย์ด้วยวิธีการ Nudge ต่างหากที่จะช่วยให้พฤติกรรมของคนเปลี่ยนได้ในระยะยาว อ้างอิงจากงานเขียนของ อ.วรากรณ์ สามโกเศศ ที่บอกว่า Nudge หมายถึงการสัมผัสเบาๆ เพื่อให้ได้รับความสนใจ ค่อยๆ ดุนไปทีละน้อยในทิศทางที่ต้องการ เป็นเครื่องมือสำคัญในด้านบวก เป็นการแนะนำทางอ้อมเพื่อให้เกิดแรงจูงใจหรือการตัดสินใจอย่างเห็นพ้องโดยไม่มีการบังคับ ทั้งหมดกระทำอย่างแนบเนียนและนิ่มนวลเพื่อให้พฤติกรรมถูกปรับไปในทิศทางที่ต้องการ Nudge ถูกประยุกต์ใช้ในหลายเรื่อง ทั้งในภาครัฐ เอกชน และส่วนบุคคล วิธีการ Nudge ตั้งอยู่บนหลักพื้นฐานที่ว่ามนุษย์ขาดเหตุผลในการตัดสินใจ 

 

ในงานวิจัยพบว่ามนุษย์มี 2 ตัวละครในคนคนเดียวกัน

ระบบคิดแรกคือการคิดแบบอัตโนมัติ ซึ่งง่ายที่สุด เพราะเป็นสัญชาตญาณที่กระทำไปตามแรงผลักดันตามธรรมชาติ

ระบบคิดที่สองคือการขบคิดอย่างตั้งใจ คาดหวังผล หรือมีตรรกะ เป็นการใช้เหตุและผล ความเชื่อ มีการควบคุมตนเอง โดยมีการเพ่งพินิจและการให้ความสนใจ

ทั้งสองระบบนี้จะอยู่ในคนคนเดียวกันและต่อสู้กันตลอดเวลา ผลจากการต่อสู้จะเป็นตัวกำหนดว่าคนคนนั้นจะมีวิจารณญาณในการตัดสินใจหรือการกระทำอย่างไร หลายๆ ครั้งมนุษย์มักจะไม่ใช้ส่วนที่เป็นเหตุเป็นผล เพราะมนุษย์มีแนวโน้มที่จะใช้พลังน้อยที่สุดในงานแต่ละชิ้น เพราะฉะนั้นการตัดสินใจของมนุษย์จึงอาจจะเกิดจากระบบแรกที่ใช้สัญชาตญาณเป็นหลัก 

 

สุดท้ายผมมีแนวทางการ Nudge ง่ายๆ 6 ขั้นตอนมาแนะนำ ดังนี้
1. Define นิยามให้ชัดว่าปัญหาที่แท้จริงของคุณคืออะไร และคุณต้องการแก้ไขอะไรกันแน่ ส่วนนี้ต้องอาศัย Design Thinking มาประกอบ
2. Explore การเข้าไปสังเกตการณ์หรือใกล้ชิดเพื่อให้เห็นพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายจริงๆ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ใช่ปัญหาที่แท้จริงที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนั้นก็เป็นได้ ส่วนนี้ต้องอาศัย Design Thinking มาประกอบเช่นกัน
3. Design การออกแบบ ซึ่งเป็นไปได้ในหลายรูปแบบ
4. Pre-select การเลือกว่า Nudge แบบไหนที่เหมาะสมที่จะนำมาใช้และน่าจะเกิดผลดีมากที่สุด
5. Evaluate การทดลองประเมินดูก่อนว่าวิธีการที่เลือกมาใช้ได้จริงหรือไม่ โดยนำมาทดลองใช้กับกลุ่มเล็กๆ ก่อน
6. Implement และ Measure การนำมาลองใช้จริงในจำนวนที่ใหญ่ขึ้น และหาวิธีการวัดผลที่ได้ผลที่สุด

Nudge Theory เป็นเครื่องมือที่ผมมองว่าน่าสนใจที่จะนำมาใช้ในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตนเองในชีวิตประจำวันหรือบุคลากรในองค์กร เพราะสามารถช่วยให้เราใช้งบประมาณได้อย่างคุ้มค่าและใช้เวลาน้อยที่สุด แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับคืนมามหาศาล ที่สำคัญคือบุคคลที่ถูกโน้มน้าวพฤติกรรมหรือถูกจูงใจจะไม่รู้สึกว่าถูกบังคับ และสามารถแก้ไขปัญหานั้นได้

“Nudge คือการเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมรอบตัวเล็กน้อย แต่สามารถดึงดูดความสนใจและเปลี่ยนพฤติกรรมของคุณได้” – ริชาร์ด เธเลอร์

 


สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย

 

 

 

 


Credits

 

The Host นครินทร์ วนกิจไพบลูย์

Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
Show Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Show Co-producer เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Episode Editor เดชาณัฏฐ์ ธีรดุริยสฤษฏ์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Marketing & Coordinator อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

Webmaster รพีพรรณ เกตุสมพงษ์
Show note หนึ่งฤดี ธนสารวิสุทธิ์

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



X
Close Advertising