×

Mindset 2020 สิ่งที่ต้องเลิกทำและเริ่มทำได้แล้ว

30.12.2019
  • LOADING...

ถอดบทเรียนตลอดทั้งปีในรายการ The Secret Sauce จากผู้บริหารองค์กรใหญ่ยักษ์ในประเทศไทย และบุคคลระดับโลกหลากหลายวงการ ว่าเราจะผ่านปีที่วิกฤตที่สุดปีหนึ่งในประวัติศาสตร์ไปสู่ทศวรรษใหม่กันอย่างไร ท่ามกลาง Perfect Storm ที่พัดกระหน่ำตลอดเวลา แต่ไม่ว่าเรือลำเล็กหรือใหญ่ก็ต้องออกจากฝั่ง

 

เคน นครินทร์ คุยกับ นัท-ปวริศา ตั้งตุลานนท์ Show Producer ของ THE STANDARD Podcast ชวนคุณผู้ฟังย้อนมองเรื่องราวที่ผ่านมา สรุปความคิดทั้งหมดในรอบปี 2019 เพื่อต่อยอดไปสู่ปีหน้า ค้นหาว่าอะไรคือ Mindset 2020 ที่ต้องเลิกทำบางสิ่ง และเริ่มทำบางอย่างเพื่อให้เท่าทันความปกติใหม่ (New Normal) ของโลกใบนี้ที่ความเปลี่ยนแปลงปรับอัตราเร่งจนคาดการณ์อนาคตแทบไม่ได้  

 

 

ตลอดทั้งปี The Secret Sauce นำฟีดแบ็กจากผู้ฟัง การสำรวจสถิติ พฤติกรรมการฟังพอดแคสต์มาพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เพื่อให้ทันสถานการณ์และตอบรับความต้องการของผู้ฟังให้ได้มากที่สุด รวมถึงมีซีรีส์ย่อยออกมาเป็น Executive Espresso ที่ได้รับผลตอบรับในทางบวกมาก มีผู้บริหารระดับสูงจากหลากหลายองค์กรมาแลกเปลี่ยนแนวคิด วิธีการทำงาน ไม่ว่าจะเป็น อนุพงษ์ อัศวโภคิน ซีอีโอของ AP, อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี, เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งเจริญโภคภัณฑ์ และอีกหลายแบรนด์ ไปจนถึงบุคคลระดับโลกอย่าง Philip Kotler บิดาแห่งการตลาดสมัยใหม่, Arie van Bennekum ผู้คิดค้นทฤษฎี Agile หรือ Tom Kelly ผู้สร้างนวัตกรรมอย่าง Design Thinking เป็นต้น ทำให้ได้เห็นว่าบุคคลเหล่านี้ก็ไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเองเช่นเดียวกัน

 

Top 3 ของ The Secret Sauce

สังเกตได้อย่างชัดเจนว่าผู้ฟังในแต่ละช่องทางการรับฟังพอคแคสต์ The Secret Sauce นั้นมีความต้องการ ความสนใจแตกต่างกันไป

 

YouTube ผู้ฟังส่วนใหญ่จะเลือกฟังเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาตัวเองเป็นหลัก

อันดับ 1: ถอดรหัส Sapiens ประวัติย่อมนุษยชาติ กับ 5 ข้อคิดที่มนุษย์เงินเดือนเอาไปปรับใช้ได้

อันดับ 2: รู้จักตัวเอง ค้นหาความหมายในงานและความสุขในชีวิตให้เจอด้วย Design Thinking

อันดับ 3: Emotional Intelligence ความฉลาดทางอารมณ์ ทักษะสำคัญที่สุดของผู้นำในศตวรรษที่ 21

 

PodBean เรื่องราวของวงการกีฬาที่นำมาปรับใช้ได้จริงกับชีวิตรั้งอันดับต้นๆ ของช่องทางนี้ แต่ก็ยังมีเรื่องของวิกฤตเศรษฐกิจที่หลายคนกังวลได้รับความสนใจเช่นกัน

อันดับ 1: 5 สิ่งที่ผู้นำควรเรียนรู้จาก เจอร์เกน คลอปป์ ผู้ทำให้ลิเวอร์พูลยิ่งใหญ่อีกครั้ง

อันดับ 2: ถอดรหัสแนวคิด เป๊ป กวาร์ดิโอลา ‘สตีฟ จ็อบส์ แห่งวงการลูกหนัง’

อันดับ 3: วิกฤตเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นจริงไหม แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2020 เป็นอย่างไร

 

SoundCloud ช่องทางนี้ก็ตอกย้ำให้เห็นว่าแฟนๆ ของ THE STANDARD Podcast ให้ความสำคัญกับการทำงานที่มีประสิทธิภาพและการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ

อันดับ 1: รู้จักตัวเอง ค้นหาความหมายในงานและความสุขในชีวิตให้เจอด้วย Design Thinking

อันดับ 2: 5 วิธีคิด เปลี่ยนงานที่ทำไปวันๆ ให้กลายเป็นงานในฝันที่มีความหมายกับชีวิต

อันดับ 3: วิธีสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เป็นและใช้ได้จริง โดยเพจ HR The Next Gen

 

4C ทักษะสำคัญสำหรับการทำงานในอนาคต

จากการได้พูดคุยกับผู้บริหารหลายวงการ ทำให้พบว่าสิ่งสำคัญที่จะทำให้การทำงานในอนาคตประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี คนทำงานจำเป็นต้องมีทักษะเหล่านี้ เพราะเป็น Value ที่ไม่ว่าบริษัทใหญ่หรือเล็กก็ล้วนอยากได้ทักษะเหล่านี้มาเสริมทัพกันทั้งนั้น

1)     Communication – การสื่อสาร เป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดในองค์กร ทั้งการสื่อสารกันเองภายใน และเรื่องของ Branding ซึ่งสื่อสารกับคนอื่นๆ ก็ล้วนแต่เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน

2)     Collaboration – การทำงานร่วมกัน โลกอนาคตเราไม่สามารถทำงานคนเดียวได้อีกต่อไปที่ ในเมื่อเราต่างอยากสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ต้องนำความถนัดของแต่ละคนมาเจอกัน

3)     Creativity – ความคิดสร้างสรรค์ โลกที่รอเราอยู่ข้างหน้าคือโลกของ Creative Economy เราจึงต้องให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เพิ่มมูลค่า เพิ่มคุณค่าไปด้วยกัน

4)    Complex Problem Solving – การแก้ปัญหาที่ซับซ้อน ปัญหาของโลกยุคใหม่จะยิ่งยาก ลึกซึ้ง รวดเร็ว และรุนแรง ทำให้เราจำเป็นต้องมีทักษะแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนให้เก่งขึ้น

 

วงโคจรของเทรนด์โลกปี 2019

ตลอดทั้งปีเราได้เห็นเมกะเทรนด์สำคัญซึ่งส่งผลต่อมินิเทรนด์อีกมากมาย ทำให้เราต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลงตามจังหวะของโลก อันดับแรก เทคโนโลยี หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เคยคาดการณ์กันว่าจะเข้ามาแย่งงานมนุษย์นั้นเริ่มลามไปทุกวงการ อันดับต่อมาคือ Geo-Politics หรือรัฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับภูมิศาสตร์ สงครามการค้าที่รุนแรงขึ้น ในระยะยาวอีก 10 ปีข้างหน้า โลกจะแบ่งเป็นแกนตะวันตกกับตะวันออก นั่นก็คือสหรัฐอเมริกากับจีน สิ่งใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่าง RCEP (การประชุมสุดยอดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค) การค้าเสรี เส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 (One Belt One Road) จะส่งผลให้ Supply Chain เปลี่ยนไป จีนจะกลายเป็นประเทศที่มี GDP สูงที่สุดในโลก ตำราที่เราเคยร่ำเรียนกันมาอาจจะใช้ไม่ได้อีกต่อไป และอันดับที่สาม คือเรื่องโครงสร้างประชากรเปลี่ยน สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์แบบจะเกิดขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่มีประชากรอายุเกิน 60 ปีมากขึ้น พฤติกรรมผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็เปลี่ยน ตลาดแรงงานก็เปลี่ยน

 

Mindset 2020

เมื่ออนาคตยากจะคาดเดา วิธีคิดของเราทุกคนก็ต้องเปลี่ยน จึงจำเป็นจะต้องมาทบทวนกันว่าอะไรคือสิ่งที่เราต้องเลิกทำเสียที และอะไรคือสิ่งที่ต้องเริ่มทำได้แล้ว

 

  1. เลิกสั่ง เริ่มฟัง

คนแรกที่ควรจะพูดในห้องประชุมไม่ใช่หัวหน้าอีกต่อไป แต่คือพนักงานที่อยู่หน้างาน ผู้ที่อยู่ใกล้ปัญหา ใกล้ผู้บริโภคที่สุดควรจะได้พูดก่อน หัวหน้าควรฟังทั้งหมดแล้วกลั่นกรองความคิดก่อนจะพูดเป็นคนสุดท้าย ตลอดปีที่ผ่านมาแขกรับเชิญของ The Secret Sauce ทุกคนพูดตรงกันว่า ผู้นำยิ่งเก่งเท่าไร ยิ่งต้องฟังคนอื่นมากเท่านั้น เลิกสั่งจากความคิดของตัวเอง เริ่มฟังความคิดเห็นของคนอื่นมากขึ้น ไม่ใช่คุณไม่เก่ง ไม่ดี แต่โลกมันเปลี่ยนเร็ว การฟังความหลากหลาย ฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทำให้เราได้พัฒนาตัวเอง

 

  1. เลิกทำคนเดียว เริ่มทำด้วยกัน

เพราะโลกซับซ้อนมากขึ้น มีทั้งคู่แข่งที่มองเห็นชัดเจน และคู่แข่งที่มองไม่เห็นเต็มไปหมด ทีมงานข้างในก็ต้องทำงานข้ามแผนกกันมากขึ้น การทำอะไรเดิมๆ เป็นไซโลจะหมดไป เพราะไม่มีทางที่เราจะแก้ปัญหาด้วยการคิดคนเดียว ทำอยู่คนเดียว เพราะฉะนั้น Social Skill จึงสำคัญ เพราะ Collaboration จะนำมาซึ่งการต่อรอง การทำงานร่วมกันที่หลายคนไม่คิดว่าจะได้ก็เกิดขึ้นแล้วอย่าง PlayStation ของ Sony กับ Xbox ของ Microsoft ที่เป็นคู่แข่งกัน แต่ก็มาร่วมมือกันได้ อาจเพราะมี Value ตรงกัน หรือมีบางสิ่งที่ช่วยเสริมส่งกัน เกิดเป็นมูลค่าใหม่ๆ 1+1 ไม่เท่ากับ 2 แต่กลายเป็น 5 6 7 และไม่ต้องกลัวว่าวันหนึ่งอาจจะไม่เวิร์กแล้วจะเกิดปัญหา เพราะเมื่อแต่ละคนไปถึงเป้าหมายก็สามารถแยกย้ายไปตามทางของตัวเอง อย่างน้อยต่างฝ่ายก็ต่างได้เรียนรู้กัน สร้างสิ่งดีๆ ร่วมกันในช่วงเวลาหนึ่งแล้ว  

 

  1. เลิกรู้ทุกสิ่ง เริ่มเรียนทุกอย่าง (Lifelong Learning)

นี่คือสิ่งที่ เคน นครินทร์ ออกปากว่าที่สำคัญที่สุด “ถ้าให้เลือกได้ 1 ข้อผมจะเลือกข้อนี้เสมอ” เพราะการเรียนรู้ทำให้เราไม่เคยหยุดนิ่ง เมื่อไรที่คิดว่าตัวเองรู้ทุกอย่าง นั่นคือจุดจบ ถ้าไม่เรียนรู้ตลอดเวลาเท่ากับเสียเปรียบ เพราะทุกคนทำกันเป็นเรื่องปกติ เหมือนการหายใจ เหมือนการดื่มน้ำ หากหยุดเรียนรู้จะไม่ใช่แค่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง แต่จะหายไปจากเกมการแข่งขัน เพราะโลกที่รออยู่ข้างหน้าจะดุเดือดมากขึ้น โดยการเรียนรู้เราสามารถทำได้ตลอดเวลา ทั้งจากการคุยกับคน ฟังพอดแคสต์ ลงมือทำด้วยตัวเอง ฯลฯ

 

  1. เลิกกลัวความล้มเหลว เริ่มกล้าลองผิดลองถูก

การเรียนรู้มีหลายวิธี แต่การเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือการลงมือทำ เพราะต่อให้รู้ทฤษฎีแค่ไหน แต่ไม่เคยลงมือทำ ไม่มีทางเข้าใจปัญหา ไม่มีทางเข้าใจผู้บริโภค งานที่ต้องสร้างนวัตกรรม ใช้ความคิดสร้างสสรค์ ความล้มเหลวจะเป็นเรื่องปกติมาก เป็นหนทางสู่ความสำเร็จ ต่อไปนี้จะไม่ใช่การเรียนแล้วค่อยทำ แต่เป็นการทำไปเรียนรู้ไป ล้มเหลว ฟีดแบ็กกัน เรียนใหม่ ทำใหม่ กลับไปกลับมา เพราะเราไม่รู้ว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไร การลงมือทำจึงดีที่สุด ก้าวแรกควรจะเริ่มจาก Fail Fast, Fail Cheap, Fail Forward ทำให้ถูก ทำให้เล็ก ทำไปเลย พอลงมือทำสิ่งที่คิดทั้งหมดจะเกิดขึ้นจริง แล้วบางทีมันตรงกับที่คิดเลย ยกตัวอย่าง Executive Espresso เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในหนึ่งคืน เพราะหากรอให้ทุกอย่างพร้อม บางทีอาจจะช้าเกินไป ถ้ามีไฟทำเลยครับ ทำให้เล็ก ทำให้เร็ว ทำเสร็จแล้วเอามาคุยกัน ให้เป็นเรื่องปกติ ล้มเหลวมาเจอกัน แล้วทำต่อไป

 

  1. เลิกทำสิ่งเดิม เริ่มทำสิ่งใหม่

สำหรับโลกอนาคตแล้ว เมื่อไรที่คิดแบบเดิม ทำแบบเดิม ก็จะได้ผลลัพธ์แบบเดิมเสมอ เราจึงต้องกล้าทดลองทำใส่ใหม่ๆ สิ่งเดิมที่ดีอยู่แล้วก็รักษาไว้ แต่อย่าลืมว่าต้องทำสิ่งใหม่อย่างสม่ำเสมอด้วย อาจจะยากลำบาก แต่หากไม่ลองสิ่งใหม่ๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น

 

  1. เลิกยึดติด เริ่มยืดหยุ่น (Resilience)

การวางแผนสำคัญ แต่การมัวแต่ยึดติดกับแผนจะทำให้ล้มเหลว จึงต้องยืดหยุ่นสม่ำเสมอ ยืดหยุ่นกับภัยที่ไม่แน่นอน ยืดหยุ่นกับเวลาทำงาน ยืดหยุ่นกับพนักงาน คำนี้มันก็คือ Agile เป็นความคล่องแคล่วว่องไว ปรับตัวได้เร็ว อย่างที่ ชาร์ลส์ ดาร์วินบอกไว้ว่า ไม่ใช่สัตว์ที่แข็งแรงที่สุดที่จะอยู่รอดในภัยพิบัติ แต่คือสัตว์ที่ปรับตัวได้เร็ว Responsive to Change อะไรเข้ามาก็ปรับตัว เปลี่ยนแปลงได้เร็วเป็น Mindset ที่สำคัญมาก

 

  1. เลิกทำทุกอย่าง เริ่มทำบางอย่าง

ยุคนี้การจะเป็นแมสได้มันยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะตลาดแข่งขันสูงมาก ผู้ประกอบการตัวเล็กๆ คนที่เพิ่งเริ่มทำธุรกิจ คนที่พยายามต่อสู้ในการแข่งขันสูงๆ ส่วนใหญ่จะเลือกโฟกัสกลุ่มลูกค้าที่มีโอกาสเติบโตขยายมากขึ้น เพราะคนที่ฉลาดคือคนที่รู้ว่าอะไรไม่ควรทำ บางโอกาสอาจจะไม่เหมาะกับเรา บางโอกาสอาจจะไม่ได้พร้อมที่สุดในเวลานั้น เราต้องกล้าที่จะไม่ทำ กล้าปฏิเสธ​เพราะไม่มีทางทำทุกอย่างแล้วจะดีไปหมด ต้องโฟกัสบางสิ่งบางอย่าง หาจุดเด่นที่แตกต่างของตัวเอง สร้างจุดขายที่ชัดเจนที่สุด อาจจะยากในช่วงแรก มองไปทางไหนก็เห็นโอกาสดีไปหมดเลย แต่ถ้าโฟกัสให้ชัดเจนไปเรื่อยๆ จะส่งผลดีกับองค์กรในระยะยาวมากกว่า

 

  1. เลิกเก่งอย่างเดียว เริ่มแกร่งหลายทาง

จากที่ในอดีตโลกต้องการคนที่เก่งอย่างเดียว ลงลึกในแต่ละสายงานที่สุด เปรียบเหมือนรูปตัว I แต่ยุคนี้ต้องมี MultiSkills มีทักษะด้านอื่นๆ มากขึ้น เช่นต้องรู้การตลาด จิตวิทยา เข้าใจข้อมูล เข้าใจเทคโนโลยี ไม่ต้องเก่งไปหมด แต่ต้องแกร่งหลายทาง เปรียบเหมือนรูปตัว T รู้ลึกด้านหนึ่ง และรู้กว้างในหลายๆ ด้าน เทคโนโลยีมาใหม่ เราต้องรู้ว่ามันคืออะไร ใช้เพื่ออะไร เข้าใจมัน เพื่อที่จะได้ส่งต่องานให้คนอื่นๆ ได้ จะเห็นว่าเชื่อมโยงกลับไปเรื่อง 4C ที่เป็นการสื่อสารซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานสำคัญ และเรื่องอื่นๆ ก็ต้องรู้ด้วย เพื่อที่จะเข้าใจโลกมากยิ่งขึ้นด้วย

 

  1. เลิกคิดถึงแต่ปัญหา เริ่มหาทางแก้ปัญหา

ในอนาคต คำว่า ‘ปัญหา’ จะเป็นเรื่องปกติ ปัญหาคือเพื่อน คือมิตรแท้ของเรา ที่ไหนไม่มีปัญหา ไม่มีโอกาสทางธุรกิจ ผู้นำที่ดีจะต้องมองให้ออกว่าปัญหาไหนแก้ได้ ปัญหาไหนแก้ไม่ได้ ปัญหาที่แก้ไม่ได้ก็ปล่อยวางมัน ปัญหาที่แก้ได้รีบแก้ทันที โดยต้องจัดลำดับความสำคัญ (Prioritize) ว่าอะไรคือเรื่องใหญ่ที่สุดที่ต้องแก้ไข เพราะถ้าไม่แก้ปัญหานี้ก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาอื่นๆ ได้เลย ส่วนใหญ่จะแก้ปัญหาที่คนก่อน เมื่อแก้เรื่องคนได้ กลยุทธ์ ผลกำไรก็จะตามมา เพราะ ‘คน’ เป็นเรื่องใหญ่สุดในการบริหารงาน

 

  1. เลิกเอาตัวเองเป็นใหญ่ เริ่มให้ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง

ยุคนี้ไม่ได้แข่งกันแล้วว่าใครทำเก่งไม่เก่ง แข่งกันว่าตอบสนองความต้องการลูกค้าได้เร็ว ตรงจุดแค่ไหน เจฟฟ์ เบโซส์ ซีอีโอของ Amazon บอกว่าวิสัยทัศน์ของเขาคือจะเป็นบริษัทที่ Customer Centric ที่สุดในโลก เขาเอาลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ด้วยการตั้งคำถามต่างจากคนอื่นว่า ‘อะไรที่จะไม่เปลี่ยนแปลง’ ซึ่งสิ่งที่จะไม่เปลี่ยนแปลงก็คือ คนเราต้องการสินค้าที่ราคาถูก มีความหลากหลาย แล้วก็ได้รับสินค้านั้นเร็วที่สุด เมื่อทำได้ก็ชนะทันที ไม่ว่าจะเป็นแนวคิด แคมเปญ บริการหรืออะไรก็ตาม ต้องมีคำว่า Empathize เกิดขึ้น คิดถึงลูกค้าอยู่เสมอ หากเราตอบสนองลูกค้าได้ ไม่ว่าจะพ่ายแพ้ในสนามแบบไหน นี่คือที่มั่นสุดท้ายที่จะทำให้เราไม่แพ้ ถ้าลูกค้าเห็นเราเป็น Top of Mind ถึงอย่างไรก็รับรองว่ามีทางไปต่อ คิดเพื่อลูกค้าก่อน แต่ลูกค้าไม่ใช่พระเจ้า เขาจึงไม่ต้องจำเป็นได้ทุกอย่างก็ได้

 

  1. เลิกคิดแต่กำไร เริ่มใส่ใจโลก

นี่คือความเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ที่สุดในโลกธุรกิจ การลงทุน Branding 4.0 จะต้องลงทุนเรื่องความยั่งยืนไม่ว่าจะตัวไหนก็ตาม Phillips Cotler บิดาการตลาดสมัยใหม่ยังเสนอเรื่อง Better World Index ขึ้นมา จึงเป็นสัญญาณที่นักการตลาดต้องมองว่าไม่ใช่แค่ Profit แต่ยังต้องมีอีก 2P คือ People และ Planet ทุกเวทีการประชุมด้านสิ่งแวดล้อมเห็นตรงกันว่าโลกกำลังไฟไหม้ เราอยู่ในจุดที่ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส การทำธุรกิจให้ไม่เกิดผลเสียต่อโลก ควรมองเป็น Value Chain ทั้งหมด สร้างคุณค่าใหม่ อย่างคำที่หลายคนใช้กันว่า Circular Economy ตั้งแต่เริ่มต้นจนปลายทาง จะต้องนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ได้ทั้งหมด ธุรกิจที่ทำแบบนี้ได้ก็มีโอกาสชนะใจผู้บริโภค เพราะปัจจุบันคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมาก จนกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว THE STANDARD เองในฐานะสื่อ ปีหน้าจะมีแคมเปญเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น และจะทดลองทำให้ออฟฟิศเป็น Zero-Waste ให้ได้เช่นกัน

 

  1. เลิกทำเสร็จแล้วจบ เริ่มทำต่อเนื่อง

การทำงานในอนาคต งานที่ทำแล้วจบไปจะน้อยลง มีแต่งานที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง มี Feedback Loop ผู้นำที่เก่งต้องทำต่อเนื่อง จะไม่ทำเป็นจุดๆ แต่เชื่อมจุด พัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ วางแผน ลงมือทำ เรียนรู้ กลับมาวางแผนใหม่ ยุคนี้เราทำงานกันต่อเนื่อง ไม่มีวันจบ เพราะโลกมันหมุนเร็ว ต่อให้เป็นงานที่ทำแล้วจบไปก็ต้องนำทักษะ ประสบการณ์ที่ได้มาพัฒนาต่อ ทุกครั้งที่จบงานต้องมี Feedback ให้เป็นเหมือนขั้นบันไดต่อยอด เหมือนที่ทีม Glow ใช้เครื่องมืออย่าง I Wish, I Learned, I Wonder การกลับมาถามหลังจากที่งานผ่านไปแล้ว ซึ่งเป็นคำที่เข้าใจง่ายและให้ความรู้สึก Positive กับคนทำงาน

 

  1. เลิกมองโลกขาวดำ เริ่มเปิดรับความหลากหลาย

ยุคนี้ความหลากหลายคือสิ่งที่สวยงามที่สุด เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดนวัตกรรม เกิดการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ไปจนถึงสร้างผลกำไรให้บริษัทได้ด้วย เพราะความหลากหลายนำมาซึ่งความคิดที่หลากหลาย นำมาซึ่งไอเดียที่ดีที่สุดเสมอ องค์กรอย่าง Google จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เพราะความหลากหลายทำให้มีตัวเลือกมากขึ้น งานประชุมระดับโลกจะมีคำว่า Lifelong Learning, Collaboration และ Diversity เสมอ แจ็ค หม่า ถึงขั้นพูดเลยว่า อนาคตควรเปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้ Global Vision เลิกยึดติดกับสิ่งที่ตัวเองเป็น เพราะการเรียนรู้ความแตกต่างมากยิ่งขึ้น ไม่เพียงให้ผลลัพธ์เชิงจิตใจอย่างเดียว แต่ยิ่งเข้าใจผู้บริโภคมากขึ้น ผลลัพธ์เชิงธุรกิจก็มากขึ้น ยิ่งเราเข้าใจคนในออฟฟิศมากขึ้น เขาก็ยิ่งมีเอ็นเกจเมนต์ที่ดีกับบริษัทมากขึ้น เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกันหมด

 

  1. เลิกแบ่งเวลางานกับชีวิต เริ่มเต้นรำไปกับมัน (Work-Life Flow) 

แนวคิดนี้มาจากตอนหนึ่งของ The Secret Sauce ที่เคยนำเสนอไป เป็นวิธีการที่ไม่แบ่งเวลาทำงานกับเวลาพักผ่อนออกจากกันอย่างสิ้นเชิง แต่แบ่งว่าในแต่ละช่วงเวลาจะให้ความสำคัญกับอะไรมากกว่ากัน ช่วงเวลานี้ต้องให้ความสำคัญกับพ่อแม่ที่ป่วยไข้ ช่วงนี้ต้องให้ความสำคัญกับการปิดงบประจำปี อีกช่วงเราอาจจะให้ความสำคัญกับการนอนขี้เกียจก็ได้ หากไปยึดติดกับ Work-Life Balance มันอาจจะทำให้เป็นทุกข์ด้วยซ้ำ เพราะเป็นกรอบที่ทำให้ไม่ยืดหยุ่น ช่วงไหนควรเครียดก็เครียดให้เต็มที่ ช่วงไหนพักผ่อนก็เต็มที่ เราไม่อาจควบคุมเสียงเพลงได้ แต่เราสามารถออกแรงเต้นรำอย่างผ่อนหนักผ่อนเบาไปตามจังหวะได้ เพียงหาไดนามิกที่เหมาะสมกับตัวเองให้เจอ

 

  1.   เลิกรักที่จะเรียนรู้อย่างเดียว เริ่มเรียนรู้ที่จะรัก

คงไม่มีใครอยากเป็นนักดนตรีที่เล่นได้อย่างเก่งกาจแต่เมื่อเพลงจบลงกลับไม่มีสักคนปรบมือให้ หากมุ่งแต่จะเรียนรู้ มุ่งไปความสำเร็จอย่างเดียว เราอาจจะกลายเป็นผู้นำที่ไม่มีใครอยากตามเรามา เวทิต โชควัฒนา แห่งเครือสหพัฒนพิบูล เคยกล่าวว่า ผู้นำที่ดีคือผู้นำที่ให้ใจ ใจกว้าง คิดถึงใจคนอื่นด้วย เพราะความรัก อ่อนน้อม เอื้อเฟื้อ การนึกถึงใจคนอื่นอย่างสม่ำเสมอคือสิ่งที่หุ่นยนต์ยังทำแทนเราไม่ได้ แจ็ค หม่า เองก็กล่าวไว้ว่า IQ และ EQ นั้นสำคัญมาก แต่ที่ไม่แพ้กันก็คือ LQ – Q of Love ที่ทำให้เราทำงานได้อย่างมีความสุข คนรอบข้างก็มีความสุขที่จะอยู่กับเรา

 

THE STANDARD เชื่อว่าปี 2020 จะเป็นปีที่สนุกยิ่งขึ้น นอกจากวิธีคิดแบบธุรกิจใหญ่ๆ ที่คัดสรรมาเล่าให้ทุกคนฟังอย่างที่เป็นมาแล้ว ก็จะมีเรื่องราวของ SME ที่น่าสนใจมากขึ้น รวมถึงอีเวนต์สนุกๆ ที่น่าติดตาม Thailand Podcast Expo มหกรรมพอดแคสต์ครั้งแรกในประเทศไทย ที่จะทำให้ Content Creator ได้มาเจอผู้ฟัง ชวนทุกคนมาร่วมมือกันเป็นคอมมูนิตี้ที่หลากหลาย และอีกสารพัดเรื่องราวที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่สังคม ให้ผู้ฟังได้สนุกไปกับการพัฒนาตัวเอง สนุกไปกับการทำงาน สนุกไปกับชีวิต และเรียนรู้ที่จะรักคนรอบข้างมากขึ้นไปด้วยกัน

 


 

สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย

 


 

Credits

The Host นครินทร์ วนกิจไพบลูย์

Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
Show Producers เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์, ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Episode Editor เดชาณัฏฐ์ ธีรดุริยสฤษฏ์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Marketing & Coordinator อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Show note สุวิชา พิทักษ์กาญจนกุล
Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า

Webmaster รพีพรรณ เกตุสมพงษ์

 

 

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X