×

เทคนิคการฟังเชิงรุก เพื่อธุรกิจและเข้าใจผู้อื่น

16.08.2019
  • LOADING...

ฟังอย่างไรให้เกิดบทสนทนาที่ดี รู้ความต้องการที่แท้จริงของคนพูด รวมถึงต่อยอดธุรกิจของคุณได้

 

เคน-นครินทร์ แชร์เทคนิคการฟังแบบเชิงรุก หรือ Active Listening จากประสบการณ์จริงที่ได้ฝึกฝนและเรียนรู้จากการสัมภาษณ์คนมาไม่ต่ำกว่าหนึ่งพันคน

 


 

1. หาข้อมูลของคนที่จะคุยด้วยให้ได้มากที่สุด 

พื้นหลังและประสบการณ์ก่อนหน้านี้ของเขาเป็นอย่างไร ชอบไม่ชอบอะไร มีสิ่งไหนที่ติดในใจเขาหรือเปล่า การมีข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้เราต่อยอดบทสนทนาได้มากขึ้น 

 

2. ฟังเพื่อทำความเข้าใจ 

อย่าคิดว่าฟังเพื่อจะตอบโต้อย่างเดียว คนสัมภาษณ์หลายคนน่าจะเคยเป็น คือฟังก็จริง แต่ในใจกลับคิดว่าจะถามอะไรต่อ ให้ฟังเพื่อต่อยอดประเด็น แล้วใช้ความอดทน รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง แม้มีสิ่งที่อยากพูดก็ต้องเก็บไว้ก่อน

 

3. มีความรู้พื้นฐานรอบด้าน

นอกจากข้อมูลส่วนตัวของคนที่คุยด้วย ควรมีความรู้พื้นฐานในแวดวงของเขาด้วย เช่น ถ้าไปคุยกับคนที่ทำงานด้านอสังหาริมทรัพย์ แล้วไม่มีความรู้ด้านอสังหาริมทรัพย์เลย เจอศัพท์เฉพาะในวงการเยอะๆ คุณจะต่อยอดประเด็นและบทสนทนาได้ไม่ดี 

 

4. ใช้เทคนิคทวนคำพูด (Placement)

เวลาเราจับคีย์เวิร์ดบางคำได้ ลองทวนกลับให้คนพูดขยายความอีกครั้ง เทคนิคที่ผมใช้บ่อยคือ “ถ้าต้องอธิบายคำนี้ให้คนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในวงการ พี่จะพูดว่าอย่างไร” ที่สำคัญต้องทวนคำให้ถูกที่ถูกเวลา ดูจังหวะของคนพูดให้ดี และแทรกให้ถูกช่วง

 

5. ใช้เทคนิคแจกแจงให้กระจ่าง (Clarify)

ถ้าอะไรฟังแล้วยังไม่เคลียร์ ให้ลองทวนด้วยการตีความตามที่เราคิด แล้วถามต่อ ขุดลงไปให้ลึกจนกระจ่าง รู้ความต้องการที่แท้จริง เป็นเทคนิคที่คุณหมอหรือจิตแพทย์ใช้กันเยอะ เพื่อหาเบื้องลึกเบื้องหลังหรือต้นตอของความคิด

 

6. ตั้งคำถามที่ถูกต้อง 

ควรเป็นคำถามที่กระตุ้นให้คนอยากจะตอบ สนุกที่จะตอบ เป็นคำถามที่ทำให้เขาได้คิดในมุมที่อาจไม่เคยคิดมาก่อน หรืออาจเป็นคำถามที่ยากและท้าทาย แต่ถ้าเขาตอบได้จะเป็นผลดีกับธุรกิจ วิธีทดสอบง่ายๆ ว่าคำถามนั้นดีไหม ให้ลองถามคำถามนั้นกับตัวเองว่า ถ้าเป็นเราเราอยากตอบหรือเปล่า 

 

7. ทำความเข้าอกเข้าใจคนพูดให้ได้มากที่สุด  

รวมเทคนิคจากตั้งแต่ข้อแรก ตั้งแต่รู้จักคนที่พูดด้วยให้มากที่สุด รู้ไปถึงลักษณะนิสัย บุคลิก ความฝัน ความต้องการ ตั้งคำถามที่ถูกต้อง ตั้งคำถามไปเรื่อยๆ จนเจอบางสิ่งที่ทำให้เราเข้าอกเข้าใจเขา

 

8. มีเป้าหมายว่าอยากจะรู้อะไรจากคนพูด

การมีเป้าหมายมีทั้งข้อดีและข้อเสีย พอได้สิ่งที่ต้องการคุณอาจไม่อยากคุยกับเขาต่อแล้ว เพราะฉะนั้นต้องมีศิลปะในการบาลานซ์ บางครั้งคุณอาจได้สิ่งที่ไม่ได้อยู่ในเป้าหมาย แต่อาจเป็นสิ่งสำคัญที่สุดก็ได้ 

 

9. ฝึกเรื่อง Eye Contact  

การสบตาคนพูดเป็นสิ่งสำคัญ แสดงให้เห็นถึงความตั้งอกตั้งใจฟัง ช่วยให้คนที่พูดอยากพูดต่อ เป็นทักษะที่ต้องฝึก ไม่ต้องถึงขั้นจ้องตา อาจใช้การพยักหน้า หรือจดบันทึกร่วมด้วยก็ได้ 

 

10. อย่าตัดสิน

เรามักจะเอาประสบการณ์ส่วนตัวและความคิดของเราเองไปตัดสินสิ่งที่เขาพูด เมื่อไรก็ตามที่คุณเริ่มตัดสิน บทสนทนานั้นจะจบทันที อย่าตัดสินว่าถูกหรือผิด แต่ให้คิดว่าทำไมเขาถึงคิดแบบนั้น แล้วคุณจะได้เรียนรู้อะไรมากขึ้นจากการไม่ตัดสินใจ

 


 

สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย

 


 

Credits

 

The Host นครินทร์ วนกิจไพบลูย์

Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

Show Producers เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์, ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Marketing & Coordinator อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์

Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising