×

From Finances to Success เฟรมเวิร์กการเงิน ทรานส์ฟอร์ม SMEs สู่ระบบมืออาชีพ

18.10.2023
  • LOADING...

การเงินกับธุรกิจครอบครัว เรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบการหลายคนมักปวดหัว เมื่อต้องทำให้ทุกอย่างดำเนินไปอย่างมืออาชีพ โดยไม่ละทิ้งความสัมพันธ์อันดีของสมาชิกครอบครัวไปพร้อมกัน

 

THE SME HANDBOOK by UOB เอพิโสดนี้ เฟิร์น-ศิรัถยา อิศรภักดี ชวน สุวภา เจริญยิ่ง อุปนายกสมาคมนักวางแผนทางการเงินไทย ผู้มีประสบการณ์ช่วยหลายบริษัทชั้นนำในไทยเข้าตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงเคยให้คำปรึกษาธุรกิจครอบครัวมามากมาย แชร์หัวใจการบริหารเงินธุรกิจ SMEs สู่ระบบมืออาชีพให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน

 


 

‘ธุรกิจ’ กับ ‘ครอบครัว’ อะไรสำคัญกว่ากัน

 

เป็นสิ่งที่หลายคนมักจะสับสน และคำตอบส่วนใหญ่มักจะพูดว่าครอบครัวสำคัญที่สุด แต่ในฐานะที่มีประสบการณ์มาพอสมควร สิ่งที่อยากจะบอกคือธุรกิจสำคัญมาก เพราะถ้าธุรกิจยังอยู่ได้ ครอบครัวก็จะรักใคร่สามัคคีและเป็นปึกแผ่น เปรียบเทียบง่ายๆ คือธุรกิจเป็นเหมือนตู้กับข้าว ถ้ากลับมาเปิดตู้กับข้าวแล้วมีอาหารให้รับประทาน ทุกคนก็ดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข แต่ถ้าเปิดมาแล้วไม่มีกับข้าว ก็อาจจะมีความระแวงสงสัยว่ามีใครปกปิดอะไรอยู่หรือเปล่า

 

ฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดเลยคือธุรกิจ คนในครอบครัวทุกคนต้องอุทิศและทุ่มเทเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดก่อน แล้วหลังจากกระบวนการตรงนี้ สิ่งที่ตามมาคือการปันผลหรือแบ่งสันปันส่วนให้กับคนในครอบครัว ทั้งนี้ เวลาที่พูดถึงคำว่า ‘ธุรกิจครอบครัว’ จะหมายถึง 3 สิ่งที่พัวพันกันอยู่ ได้แก่ ครอบครัว ผู้ถือหุ้น และการบริหารจัดการ

 

ทุกธุรกิจครอบครัวมักจะเริ่มจาก First Generation ที่เหมารวมทุกตำแหน่งอยู่ในคนคนเดียว คือเป็นทั้งคนในครอบครัว เป็นผู้ถือหุ้น 100% เป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กร เห็นภาพชัดเจนมาก แต่พอมาถึงเจเนอเรชันที่ 2 ทำไมภาพเริ่มไม่ชัด นั่นเพราะคนในครอบครัวทุกคนเริ่มจะไม่ใช่คนที่เป็นผู้ถือหุ้นบริษัท อย่างในกลุ่มพี่น้องก็อาจจะมีแค่พี่ชายคนโตที่เข้ามาบริหาร จังหวะนี้จะเริ่มเห็นรอยปริเกิดขึ้น

 

พอผ่านช่วงเวลามาถึงเจเนอเรชันที่ 3 คราวนี้ยิ่งห่างเข้าไปอีก จากคนในครอบครัวก็เริ่มมีเขย สะใภ้ ลูกหลาน นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่หลายธุรกิจเริ่มสั่นคลอนในเจเนอเรชันที่ 3 จนถึงขั้นไปต่อไม่ได้ คือถ้าเปรียบเทียบว่าธุรกิจครอบครัวเป็นขนมเค้ก 1 ชิ้น ยุคก่อตั้งได้กินคนเดียว 100% มันก็ง่าย เจเนอเรชันที่ 2 สมมติว่ามีลูก 5 คน แบ่งเค้ก 5 ก็ยังถือว่าชิ้นใหญ่อยู่ แต่ถ้า 5 คนนี้มีลูกอีกคนละ 5 คนล่ะ มันจะถูกแบ่งเป็น 25 ชิ้น นึกภาพไม่ออกเลยว่าการโดนตัดแบ่งอย่างนั้น เค้กจะเละขนาดไหน กลายเป็นการดำเนินธุรกิจในช่วงหลังๆ จึงต้องมีคำว่า Governance มีเรื่อง Succession Plan เข้ามาในธุรกิจครอบครัว หรือเอาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อให้ได้ประโยชน์ทั้งเรื่อง Governance การแบ่งสันปันส่วนในธุรกิจ เปลี่ยนทรัพย์สินให้เป็นหุ้น และใช้กระบวนการโหวตในการทำงาน และยังได้เรื่อง Wealth Distribution คือการแบ่งสัดส่วนความมั่งคั่งในครอบครัวออกมาให้มันชัดเจน

 

เพราะฉะนั้นถ้าเป็นเรื่องการเงินกับธุรกิจครอบครัว ต้องคุยกันตั้งแต่แรกให้ชัดเจนเลยว่าธุรกิจครอบครัวเกิดจากตรงนี้ ทำอยู่วันนี้ แล้วอนาคตจะไปต่ออย่างไร ส่วนใหญ่ SMEs เกือบจะ 80% เริ่มจากธุรกิจครอบครัวจริงๆ ที่เก่งเรื่องการค้าขาย เห็นช่องทางการผลิตสินค้าหรือบริการให้กับลูกค้า แต่สิ่งที่ไม่ค่อยได้แตะคือสายการเงิน คือแค่รู้ว่าขายของแล้วมีกำไร เช่น ซื้อน็อตมาตัวละ 1 บาท ขายได้ 2 บาท กำไร 50% ก็ดีใจมากแล้ว แต่ลืมคิดไปว่าการขายได้ 2 บาทนั้นเราขายได้ภายใน 7 วันหรือ 3 วัน เพราะถ้ายิ่งทอดเวลาไป มันจะกลายเป็นของค้างสต็อกบ้าง ของล้นคลังบ้าง แต่ถ้าเข้าใจเรื่องงบการเงิน คุณก็จะเห็นภาพเลยว่าควรจัดการธุรกิจอย่างไร

 

เงิน 3 กองสำหรับธุรกิจครอบครัว แบ่งเงินเป็น ธุรกิจยั่งยืน

 

กองที่ 1 เงินที่ใช้ซัปพอร์ตธุรกิจ เป็นกองที่สำคัญที่สุด วันที่ธุรกิจดีก็ควรกันเงินส่วนนี้เก็บไว้เพื่อเอามาซัปพอร์ตในวันที่แย่ เพราะถ้าถึงช่วงเวลาวิกฤต การถามหาเงินจากคนในครอบครัวอาจจะเป็นเรื่องยาก เพราะคงไม่มีใครอยากจะลงเงิน และทำให้ธุรกิจไปต่อได้ยากยิ่งขึ้น 

 

กองที่ 2 เงินที่ใช้ดูแลครอบครัว ส่วนใหญ่จะมี 2 เรื่องคือ การศึกษา และการรักษาพยาบาลแบบไม่จำกัดวงเงิน 

 

กองที่ 3 Wealth Management ซึ่งทุกวันนี้กำลังเป็นที่นิยมมาก เพราะเราไม่มีทางรู้ว่าธุรกิจที่ทำอยู่นี้ วันหนึ่งมันจะเปลี่ยนไปอย่างไร แนะนำว่าให้นำเงินส่วนนี้มอบให้คนในครอบครัวไปลองลงทุนในสิ่งที่เขาสนใจ เหมือนเป็นการให้ทุนประเดิมกับเขา วิธีนี้นับว่าเป็นโครงสร้างที่ดีมากๆ ในการส่งเสริมให้ทุกคนมีที่ทางของตัวเอง แทนที่ทุกคนจะต้องมามุ่งหวังกับตำแหน่งบริหารในบริษัท ทำไมไม่ลองผลักดันบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์แทนเพื่อให้ถูกตัดสินและให้คุณค่าโดยสายตาคนอื่นบ้าง ซึ่งนั่นอาจจะทำให้บริษัทของเราเป็นหนุ่มสาวตลอดกาล

 

ถ้าเข้าใจเรื่องงบการเงิน คุณก็จะเห็นภาพเลยว่าควรจัดการธุรกิจอย่างไร 

 

ถ้าปลายทางของธุรกิจคือการเข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่สำหรับคนที่วันนี้ยังไม่ได้อยู่ในจุดนับหนึ่งด้วยซ้ำ เขาควรตั้งต้นจากอะไร 

 

ตอนเริ่มต้นทำธุรกิจไม่ว่าจะเป็นแขนงใดก็ตาม เชื่อว่าทุกคนจะเริ่มเห็นช่องทางของตัวเองอยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญคือคุณต้องตอบตัวเองได้ว่า 5 ปีข้างหน้าคุณเห็นตัวเองอยู่ที่ไหน แล้วธุรกิจที่ทำอยู่นี้ 10 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร

 

สำหรับบางคนอาจจะบอกว่าอยากมีร้านกาแฟเล็กๆ แล้วจบตรงนั้น ถ้าเป็นแบบนี้ก็ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาคิดมาก แค่ทำงานของเราให้ดีที่สุด เช่น ในรัศมี 3 กิโลเมตรนี้ต้องเป็นลูกค้าของเรา วันหนึ่งขายได้กี่แก้ว เริ่มต้นจากเท่านี้ก่อน เหมือนทำ Data Analytics แบบง่ายๆ ของตัวเอง แล้วก็อย่าลืมให้เงินเดือนตัวเองด้วย แล้วพอทำไปถึงจุดหนึ่งต้องคิดต่อว่ามันควรขยับขยายอย่างไร เปิดสาขาเพิ่มดีไหม แต่สิ่งที่ยากที่สุดเลยในการทำธุรกิจครอบครัวคือการหาคนที่ไว้ใจได้มาทำงานด้วย ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่ดีมากคือเรื่อง Governance ถ้ากระบวนการทุกอย่างของเราชัด คนที่มาทำงานเขาก็ได้โอกาสจากเราด้วยเช่นกัน

 

ถ้าถามว่ากระบวนการตรงนี้จะนับหนึ่งอย่างไร แนะนำว่าให้ค่อยๆ โฟกัสในแต่ละจุด วันที่เริ่มธุรกิจคุณอยู่ใน Early Stage ให้ถามตัวเองว่า 5-10 ปีต่อจากนี้คู่แข่งจะเป็นอย่างไร แล้วในชีวิตจริงๆ คนเรามีแต่จะแก่ลงทุกวัน วันที่เราสู้ตอนอายุ 20 กับ 30 ปีก็ว่าไม่เท่ากันแล้ว แต่พออายุ 30 กับ 40 ปียิ่งไม่เท่ากันเข้าไปอีก ฉะนั้นในแต่ละช่วงชีวิตมันไม่มีสูตรสำเร็จ โลกแห่งความเป็นจริงไม่เคยมีคำตอบใดเป็นคำตอบเดียว ดังนั้นทุกคนจะมีคำตอบในใจของตัวเองอยู่แล้ว

 

แต่สิ่งที่มักจะเป็นความน่าเสียดายของธุรกิจครอบครัวคือไม่มีวันเกษียณ ตามวัฏจักรแล้ว สิ่งที่ขึ้นสูงสุดมันไม่มีทางอยู่สูงได้ตลอดกาล ต้นไม้หนึ่งต้นไม่สามารถสูงขึ้นไปจนทะลุดวงจันทร์ได้ ธุรกิจครอบครัวก็เช่นเดียวกัน วันหนึ่งที่เจ้าของธุรกิจมีอายุพอสมควรแล้ว มีผู้สืบทอดซึ่งอาจจะเป็นทายาทหรือคนนอกเรียบร้อยแล้ว มันก็ถึงเวลาที่คุณจะลุกออกมา แต่ยิ่งคุณดึงดันจะทำต่อ หลายๆ ครั้งต้องยอมรับความจริง ยิ่งอายุเยอะขึ้น คนเราจะไม่ค่อยชอบการเปลี่ยนแปลง ทั้งๆ ที่ธุรกิจอาจต้องการการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตรงนี้จึงเป็นเรื่องราวที่ต้องคิดและวางแผนให้ดี 

 

ในการทำธุรกิจ คุณต้องพยายามใส่หมุดไมล์ ใส่ไดเรกชัน ใส่ทาร์เก็ตที่คุณจะไป ถ้าพูดเป็นภาษาอังกฤษคือ Set up objective แล้วต้อง Set up goal เพื่อให้เห็นภาพว่าคุณจะเดินในเส้นทางแบบไหน ถ้าคุณอยากไปถึงเลข 5 ไม่จำเป็นต้อง 1+4 แต่อาจจะเป็น 2+3 ก็ได้ ดังนั้นจังหวะชีวิตแต่ละคนไม่เหมือนกัน

 

ต้องตอบตัวเองได้ว่า 5 ปีข้างหน้าคุณเห็นตัวเองอยู่ที่ไหน แล้วธุรกิจที่ทำอยู่นี้ 10 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร

 

คำแนะนำสำหรับ SMEs หรือธุรกิจครอบครัวที่อยากเติบโตด้วยการจัดการงบการเงินและบัญชีอย่างถูกต้อง 


จริงๆ แล้วงบการเงินที่สำคัญมีอยู่แค่ 3 งบเท่านั้นเอง นั่นก็คือ กระแสเงินสด, กำไร-ขาดทุน และงบดุล

 

กระแสเงินสด หรือ Cash Flow คืองบที่ทุกคนรู้จักกันดี แต่ค่อนข้างจะถูกละเลย โดยเรื่องของกระแสเงินสดจะแยกย่อยออกเป็น 3 ตัว ได้แก่

 

  • Operation Cash Flow คือกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ตรงนี้จะทำให้เห็นชัดเลยว่าเงินเข้าออกจากธุรกิจเป็นอย่างไร ถ้าจะให้ดูงบแล้วเข้าใจง่ายๆ คือตัวนี้ต้องเป็นบวก
  • Financing Cash Flow คือกระแสเงินสดจากการเงิน ถ้าตรงนี้ไม่เป็นบวก คุณก็ต้องมีการกู้ยืมหรือเพิ่มเงินทุนเข้าไป
  • Investing Cash Flow คือกระแสเงินสดจากการลงทุน ในการทำธุรกิจเราจะต้องมีการลงทุนตลอดเวลา อาจจะเป็นด้าน R&D, Fixed Asset หรือการลงทุนเรื่องคน เพราะถ้าคุณยังยืนอยู่ที่เดิม สุดท้ายจะกลายเป็นถอยหลัง เพราะคู่แข่งเขาจะแซงหน้าคุณไป

 

กำไร-ขาดทุน งบข้อนี้ต่างกับกระแสเงินสดตรงที่ว่า สินค้าที่ขายออกไปไม่ได้หมายความว่าเงินสดจะเข้ามา นั่นคือคุณอาจจะขายดีมาก แต่ให้เครดิตเทอมลูกค้า 90 วัน นั่นหมายความว่าคุณขายแล้วแทบไม่ได้เงินกลับมาเลย แต่ลองมองกลับกัน ถ้าเป็นการขายที่กำไรน้อยลงนิดหน่อย แต่ได้เงินสดทันที มันอาจจะพลิกสถานการณ์ได้มหาศาล 

 

แล้วเวลาที่คุณขายสินค้าแบบมีเครดิตเทอม กว่าที่จะได้เงินสดเข้ามา อาจจะลืมคิดไป สิ่งที่ตามมาคือค่าใช้จ่ายต่างๆ คุณจ่ายเงินก้อนแต่โดนตัดค่าเสื่อมเยอะแยะ กลายเป็นมีเรื่องการค้างรับ-ค้างจ่าย แล้วทั้งหมดมันถูกนำไปคำนวณภาษีด้วย เพราะสรรพากรไม่ได้สนใจงบ เขาสนใจแค่ว่าเงินเข้าบริษัทคุณไหม ต่อให้มีเงินมัดจำเข้ามา บริษัทยังไม่ได้ขายก็ต้องจ่ายภาษีแล้ว ดังนั้นวิธีการวางแผนเรื่องงบการเงินจึงต้องการความรู้ความเข้าใจ ซึ่งทุกวันนี้หาได้ไม่ยาก ในตลาดหลักทรัพย์มีถึงกว่า 700 บริษัท คุณสามารถเข้าไปดูงบการเงินของบริษัทที่ทำธุรกิจใกล้เคียงกันได้เลย ชอบใครก็เลือกบริษัทนั้นเป็นต้นแบบ

 

งบดุล หรืองบแสดงฐานะทางการเงิน เป็นงบฝั่งการใช้เงิน (User Fund) ที่บอกว่าบริษัทมีทรัพย์สินอะไรบ้าง โดยทรัพย์สินที่มีค่าที่สุดจะอยู่บรรทัดแรก นั่นคือเงินสด แล้วบรรทัดถัดๆ ไปในฝั่งทรัพย์สินคือสิ่งที่เปลี่ยนเป็นเงินสดได้เร็วที่สุด แล้วจะถูกไล่ไปจนถึงจุดตัดคือทรัพย์สินที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ภายใน 1 ปี ซึ่งเรียกว่าเป็นทรัพย์สินหมุนเวียน เหล่านี้จะปรากฏอยู่ในหน้าแรกของงบดุลเลย

 

ส่วนทรัพย์สินอื่นๆ ที่ใช้เวลาเกิน 1 ปีในการเปลี่ยนเป็นเงินสด เช่น ที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ จะอยู่ในหมวดที่ 2 เรียกว่าเป็นทรัพย์สินถาวร (Fixed Asset) ลองดูว่าเราปล่อยให้ตัวเองมีทรัพย์สินอะไรที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือไม่ เช่น มีเงินสด แต่มีบัญชีลูกหนี้ค้างจ่ายอยู่ตลอด แสดงว่าขายแล้วไม่เคยเก็บเงินได้หรือเปล่า หรือยอดขายเท่าเดิม แต่บัญชีลูกหนี้สูงขึ้นตลอดเวลา บางเคสเห็นว่าตัวเองได้กำไร แต่ปรากฏว่าบัญชีลูกหนี้บวมมหาศาลเกือบจะ 70% ของยอดขายทั้งปี แสดงว่าเขาไม่ได้มีกระแสเงินสดจากการขายจริงๆ 

 

ส่วนด้านตรงข้ามคือฝั่งหาเงิน มันจะบอกหมดเลยว่าทุกอย่างที่คุณมีในธุรกิจวันนี้ คุณใช้เงินจากที่ไหน ส่วนทุนคือเงินของคุณเอง ส่วนหนี้สินก็คือสิ่งที่คุณกู้มา แต่หนี้สินที่ดีที่สุดคือหนี้สินที่ไม่จ่ายดอกเบี้ย จะอยู่บรรทัดแรกเหมือนกัน โดยฝั่งหนี้สินส่วนใหญ่จะเป็นบัญชีเจ้าหนี้ หมายถึงคุณเอาสินค้าของเขามาแล้ว แต่ยังไม่จ่ายเงิน อีกส่วนหนึ่งของฝั่งเจ้าหนี้คือหนี้สินที่คุณต้องคืนภายใน 1 ปี จะถูกเรียกว่าหนี้สินหมุนเวียน 

 

ดังนั้นในแง่เจ้าของธุรกิจ ดูแบบง่ายๆ เร็วๆ คือถ้าทรัพย์สินหมุนเวียนของคุณสูงกว่าหนี้สินหมุนเวียน นั่นแสดงว่าบริษัทคุณมีสภาพคล่องที่ดี แต่ถ้าคุณปล่อยให้หนี้สินหมุนเวียนเหนือทรัพย์สินหมุนเวียนเมื่อไร คุณเหนื่อยแน่นอน เพราะวันที่ต้องจ่ายหนี้ คุณจะไม่มีทรัพย์สินไปคืน แล้วสิ่งที่ต้องทำคือเปลี่ยนหนี้สินหมุนเวียนให้เป็นหนี้สินระยะยาว 

 

ถ้าทุนของคุณแข็งแรง ธุรกิจจะมีความแข็งแกร่ง ให้เริ่มจากดูว่าเราใช้ทรัพย์สินถูกที่ถูกทางหรือไม่ อย่างน้อยที่สุดถ้าทำเองไม่เป็นก็ให้หาผู้เชี่ยวชาญมาช่วยปิดงบให้ ที่สำคัญคืออย่าจ่ายออกจากกระเป๋าตัวเอง แต่ให้จ่ายจากงบบริษัท เพราะช่วงแรกๆ ในการทำธุรกิจส่วนใหญ่จะขาดทุน ทำให้แทบไม่ต้องเสียภาษีเลย ดังนั้นไม่จำเป็นต้องไปซุกซ่อนหรือทำงบหลายเล่ม เพราะถ้าไม่เห็นตัวเลขที่แท้จริง เราจะไม่รู้เลยว่าสุขภาพธุรกิจจริงๆ เป็นอย่างไร

 

ข้อควรระวังสำหรับ SMEs หรือธุรกิจครอบครัวที่อยากจะเริ่มทำงบการเงิน แต่ยังมีความกังวลเรื่องภาษีหรือการแยกบัญชี 

 

คำแนะนำคือทำงบเล่มเดียวดีที่สุด อย่าไปคิดซับซ้อนว่าจะเอาบิลต่างๆ มาเบิกเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อลดภาระทางภาษี เพราะเราจะไม่รู้เลยว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่จริงๆ คืออะไร แล้วเวลาที่เกิดวิกฤตมันจะแก้ไขไม่ทัน อย่างเช่นที่เห็นหลายครั้งคือธุรกิจได้กำไรก็เอาเงินนั้นไปซื้อที่ดิน แต่พอเกิดวิกฤตแล้วไม่มีกระแสเงินสดมาซัปพอร์ตก็วุ่นวายไปหมด 

 

เวลาจะปรับปรุงแก้ไข ถ้าเป็นตัวเลขจะแก้ได้ง่ายกว่า สมมติว่าตอนนี้เป็นเลข 10 อยากจะเป็น 12 เราจะรู้ว่าต้องทำอะไรเพื่อให้ได้มา แต่ถ้าไม่รู้งบที่แท้จริงก็อาจจะไม่รู้ว่าลูกน้องที่อยู่กับเราซื่อสัตย์หรือไม่ ต้องอย่าปล่อยให้เกิดโอกาสอย่างนี้ เพราะถ้าระบบมันเข้าที่ ทุกคนก็จะทำหน้าที่ก็ทำของตัวเองอย่างถูกต้อง เอาตัวเลขมาชี้วัดกันได้เลย 

 

ในการทำธุรกิจ คุณต้อง Set up objective และ Set up goal เพื่อให้เห็นภาพว่าจะเดินในเส้นทางแบบไหน 

 

Key Success Factor ในการทำงบการเงินให้ถูกต้อง โปร่งใส จนธุรกิจต่อยอดได้อย่างยั่งยืน 

 

ไม่ว่าจะเป็น SMEs หรือธุรกิจครอบครัวก็ตาม ความยากของมันคือคุณกำลังอยู่ตรงกลาง คือคุณจะวิ่งขึ้นไปอย่างไร คุณเล็กเกินกว่าที่จะใหญ่ แล้วบางทีก็ใหญ่เกินกว่าที่จะเล็ก การอยู่ตรงกลางนั้นยากหมดไม่ว่าจะอยู่ในทุกธุรกิจไหน ดังนั้นความอดทนในช่วงนี้สำคัญมากๆ แต่ตัวเลขจะตอบคุณได้ว่าไดเรกชันที่เดินไปนั้นถูกต้องไหม ในวันนี้ตัวเลขมันจะตอบคุณได้เลยว่าลูกค้าในวันนี้อาจจะไม่ใช่ลูกค้าในอนาคตของคุณก็ได้ เช่น หลายธุรกิจมีกลุ่มเป้าหมายอายุ 17-35 ปี วันนี้คุณดูแลคนกลุ่มนี้ แต่ในอีก 10 ปีข้างหน้าพวกเขาจะหน้าตาเป็นอย่างไร เขายังชอบใช้โปรดักต์ของคุณจริงไหม ยังเอ็นจอยกับการใช้งานหรือเปล่า หรือจริงๆ แล้วโปรดักต์ของคุณควรจะโตตามลูกค้า อาจจะต้องขยับกลุ่มเป้าหมายให้เป็นอายุ 25-40 ปีแทนไหม นี่ล่ะคือสิ่งที่มันเอื้อให้เรา Think Forward สมัยก่อนผู้ใหญ่มักจะบอกว่าทางข้างหน้าน่ากลัวอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ถึงวันนี้พวกเราก็รอดกันมาได้ ดังนั้นอย่ากลัวจนเกินไป แต่ก็อย่าประมาทจนเกินไปจะดีที่สุด

 


 

Credits 

 

Host ศิรัถยา อิศรภักดี

Show Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Co-Producer เจนจิรา เกิดมีเงิน

Creative สกุลชัย เก่งอนันตานนท์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Sound Recording Engineer ธภัทร ตั้งวงษ์ไชย

Graphic Designer อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Channel Admin นิพพิชฌน์ ชุลีนวน

Proofreader Team

THE STANDARD Webmaster Team

THE STANDARD Archive Team

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising