เชื่อว่าช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา หลายคนคงเคยกดเครื่องดื่มสารพัดชนิดจาก ‘ตู้เต่าบิน’ เทคโนโลยี Robotic Vending Machine ที่สามารถชงเครื่องดื่มได้อัตโนมัติผ่านระบบสั่งการอัจฉริยะ สร้างความแปลกใหม่จนกลายเป็นกระแสไวรัล เกิดเป็นภาพการต่อคิวรอหน้าตู้แถวยาวเหยียดแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
THE SME HANDBOOK by UOB เอพิโสดนี้ ชวนถอดรหัสความสำเร็จและเทคโนโลยีการทำงานของเต่าบิน ผ่านคำตอบของ ตอง-วทันยา อมตานนท์ Business Development Executive, Chief Product Officer ผู้อยู่เบื้องหลังการคิดค้นเต่าบินตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงวันนี้
จุดเริ่มต้นของตู้เต่าบิน หุ่นยนต์บาริสต้าที่ตอนนี้ไม่มีใครไม่รู้จัก
ก่อนที่จะมาเป็นตู้เต่าบินอย่างที่เห็นกันในวันนี้ ความจริงเราผ่านความล้มเหลวมาพอสมควร เริ่มตั้งแต่ธุรกิจแรกคือการทำตู้กดเครื่องดื่มประเภทน้ำกระป๋อง แล้วก็ค้นพบปัญหาหลายอย่าง คือกำไรมันน้อย คืนทุนช้า แล้วต้องคอยเข้าไปเติมของบ่อยมาก หลังจากนั้นเลยเปลี่ยนมาทำตู้กดกาแฟแบบชงอัตโนมัติ โดยเริ่มการนำเข้าตู้จากต่างประเทศมาลองขายดูก่อน ปรากฏว่าเจอปัญหาอีกคือตู้ที่เขาทำมามันไม่ตอบโจทย์และเสียบ่อย แล้วตู้ประเภทนี้คือเขาขายขาดให้เราแล้วจบ ไม่มีบริการหลังการขาย จึงกลายเป็นการจุดประกายความคิดให้เราอยากลองทำตู้ขายน้ำชงขึ้นมาเอง
แต่ทุกๆ ความล้มเหลวมักจะได้มาซึ่งบทเรียนเสมอ สิ่งหนึ่งที่เรามองเห็นจากธุรกิจนี้คือไม่ใช่ว่าออโตเมชันมันไปต่อไม่ได้ เพราะอย่างตู้ขายน้ำที่นำเข้ามา จริงๆ แล้วมันก็พอขายได้เหมือนกัน ปัญหาคือประสิทธิภาพและความหลากหลายของเมนูที่ยังไม่ตอบโจทย์ แต่เราเริ่มมองเห็นทางว่าสามารถนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยให้เราไปได้ไกลกว่าคนที่อยู่ในตลาดทั่วๆ ไปได้
กว่าจะมาเป็นตู้เต่าบินอย่างในวันนี้ก็เรียกว่าลองผิดลองถูกมาเยอะเหมือนกัน เราเริ่มจากลองเอาตู้เขามาแกะดูกลไกข้างใน เพราะอยากจะรู้ว่าทำไมถึงทำรสชาติให้เข้มข้นขึ้นกว่านี้ไม่ได้ ทำไมถึงชอบตันบ่อยๆ ต้องแก้ที่ตรงไหน แต่เมื่อลองหาวิธีแล้วก็พบว่ามันผิดที่ดีไซน์ เราเลยต้องเริ่มใหม่ตั้งแต่แรก วนไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเจอคำตอบ โชคดีมากๆ ที่เรามีทีมงานที่ดี มีทีมที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอยู่ ซึ่งถึงแม้พวกเขาจะไม่เคยทำเกี่ยวกับ Food & Beverage มาก่อน แต่พื้นความรู้ด้านเทคโนโลยีมันพอไปด้วยกันได้ ทุกคนก็เริ่มลองผิดลองถูกมาจากตรงนั้น
โมเดลธุรกิจที่ทำให้เต่าบินประสบความสำเร็จ: เห็นจุดอ่อน หาวิธีแก้ แล้วลงมือทำทันที
หลักๆ คือลองมองแล้วหาให้เจอว่าความทรมานในการทำธุรกิจของตัวเองคืออะไร อะไรคือเพนพอยต์ของเรา และเมื่อเจอเพนพอยต์แล้วต้องคิดเลยว่าสิ่งที่เราอยากแก้เป็นอย่างแรกคืออะไร อย่างเช่นตู้เครื่องดื่มที่เรานำเข้ามา เริ่มจากเรื่องรสชาติก่อน เราอยากได้เมนูที่หลากหลายและรสชาติดีกว่านี้ เพราะตู้ทั่วไปมันจะเป็นผงทรีอินวันที่สำเร็จรูปมาแล้ว แต่ลูกค้าของเราไม่ได้มีแค่ประเภทเดียว แต่ละคนชอบดื่มรสชาติไม่เหมือนกัน แล้วการเป็นทรีอินวันมันทำให้เข้มข้นไม่ได้ เพราะจะหวานเกินไป เลยมาจบที่ว่าถ้าอย่างนั้นเราลองทำเครื่องประเภทใหม่ที่มันชงสดได้ในตู้เลยโดยไม่ต้องใช้ผงสำเร็จรูปกันดีกว่า
จากนั้นมาแก้ต่อในจุดที่สอง คือจะทำอย่างไรให้สามารถขายเครื่องดื่มคุณภาพดีในราคาถูกได้ ทำอย่างไรให้เราใส่น้ำได้เยอะๆ ใส่แก้วได้เยอะๆ โดยไม่ต้องเข้าไปคอยเติมวัตถุดิบทุกวันแบบตู้กดน้ำกระป๋องอย่างที่เคยทำมา
ข้อสำคัญในการทำธุรกิจคือต้องคิดเยอะๆ คิดให้ต่าง และสังเกตดูว่าสิ่งที่เราคิดมันต่างจากคนอื่นหรือเปล่า หรือเราแค่เดินตามคนอื่นเฉยๆ ต้องมองตรงนี้ให้ออกก่อนเป็นอย่างแรก จากนั้นพอได้เริ่มคิดแล้วก็ขอให้ทำด้วย เพราะถ้าได้ลอง เราจะรู้ว่าตัวเองทำอะไรผิดพลาดไปบ้าง มันไม่มีคำว่าเฟล แต่เป็นการได้บทเรียนและข้อคิดว่าเราจะเดินไปทางไหนต่อ อย่ามัวแต่กลัว ให้ลองลงมือทำดู
ข้อสำคัญในการทำธุรกิจคือต้องคิดเยอะๆ คิดให้ต่าง อย่าแค่เดินตามคนอื่นเฉยๆ
กว่าจะเป็นโมเดลสุดท้ายของตู้เต่าบิน ไม่ใช่แค่เครื่องจักร แต่มีเรื่องของ Food Science เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
โมเดลสุดท้ายต้องบอกเลยว่ามันไม่มีอยู่จริงนะคะ ปัจจุบันเราก็ยังปรับให้มันดีขึ้นอยู่เรื่อยๆ สิ่งสำคัญคือเราต้องทบทวนโปรดักต์อยู่เสมอว่าจะพัฒนาขึ้นได้อย่างไรบ้าง เช่น ยูนิตที่เราใช้ในการทำเครื่องดื่มหนึ่งแก้ว ตรงไหนใช้เวลานานที่สุด คือถ้าใครได้ลองกดเครื่องดื่มเต่าบินช่วงแรกจะรู้ว่ามันนานขนาดไหน เมื่อก่อนการกดโกโก้เย็นสักแก้วอาจจะใช้เวลา 2 นาทีครึ่ง ตอนนี้เหลือแค่ 1 นาทีนิดๆ ซึ่งความจริงผลลัพธ์ไม่ใช่ได้มาง่ายๆ มันมีความละเอียดอ่อนของการค่อยๆ ปรับแก้เยอะมาก
นอกจากนั้นก็มีเรื่องการจัดการวัตถุดิบบางชนิด ซึ่งถ้าให้ตอบเป็นรายละเอียดคงจะเยอะมากๆ เพราะในเครื่องนี้ไม่ใช่เอาอะไรมาใส่ก็ได้ แต่จะต้องมีความละลายที่เหมาะสม ไม่ดูดความชื้น มีอายุการใช้งานที่พอดี และยังต้องมีระบบที่คอยควบคุมด้วยว่าควรจะเอาวัตถุดิบชนิดใดไปใส่แค่ไหน เมื่อไร เพื่อไม่ให้วัตถุดิบค้างอยู่ในตู้นานเกินไป ซึ่งตอนนี้เราเริ่มลองนำเทคโนโลยี Machine Learning มาใช้ เพื่อที่จะเอาข้อมูลทุกอย่างมาวิเคราะห์ต่อทั้งในเรื่องปริมาณวัตถุดิบและความนิยมของลูกค้า
เฟรมเวิร์กสำคัญจากการพัฒนาตู้เต่าบินตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้
ตอนนี้มันไม่ได้อยู่ในยุคสมัยของปลาใหญ่กินปลาเล็กอีกต่อไป แต่เป็นปลาเร็วกินปลาช้า ตราบใดที่ทุกคนคิดหนักๆ ให้ความสำคัญกับการคิดที่ต่างออกไป ไม่ใช่เป็นผู้ตามตลอดเวลา แต่เป็นผู้นำ แล้วเริ่มลงมือทำให้เร็ว เราจะได้เปรียบมากๆ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีเงินทุนเท่ากับเจ้าใหญ่ๆ ก็ตาม
อย่างเต่าบินเองที่เห็นว่าเป็นไวรัลขนาดนี้ ความจริงตั้งแต่เริ่มทำมาเราแทบไม่มีการสปอนเซอร์ใดๆ เลย เป็นออร์แกนิกทั้งหมด ซึ่งตรงนี้น่าจะเป็นเรื่องของความแปลกใหม่และความคาดหวังที่คนอาจจะไม่เคยคิดว่ามันสามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริงๆ จากตู้กดกาแฟทั่วไปที่คนมักจะมีภาพจำว่าไม่อร่อย มีเมนูให้เลือกน้อย แต่พอได้มาลองกดจริงๆ แล้วดีกว่าที่คิดเยอะมาก มันก็เลยมีผลในการช่วยให้ลูกค้ารู้สึกว่าคุ้มค่าและอยากแชร์ต่อ
ความจริงช่วงแรกๆ ที่เอาตู้ไปวางแล้วยังไม่มีกระแส มันก็น่าหวาดเสียวเหมือนกัน ทุกคนที่อยู่ในทีมก็ลุ้นกันมากๆ จำได้ว่าพากันไปยืนรอเพื่อเฝ้าดูว่าลูกค้าจะใช้ได้หรือเปล่า แต่พอตั้งไปสักพักก็เห็นได้ชัดว่ามีคนกลับมาซื้อซ้ำและเริ่มต่อคิว และที่น่าสนใจมากที่สุดคือการที่เขายกมือถือขึ้นมาถ่าย อันนี้เป็นอะไรที่เรารู้สึกว่าประสบความสำเร็จไปอีกขั้นหนึ่งแล้ว
สิ่งสำคัญที่สุดในการทำธุรกิจ คือมองรอบๆ ตัว และปรับตัวให้ทันอยู่เสมอ
หลักคิดในการพัฒนาธุรกิจ เบื้องหลังเทคโนโลยีที่เข้าถึงทุกคนได้
อันดับแรกคือต้องเข้าใจว่าลูกค้าต้องการอะไร อย่างตู้เต่าบิน ถ้าลูกค้าจะสั่งน้ำ เราไม่ต้องไปขายประกัน แต่ต้องพยายามมากที่สุดเพื่อให้แอ็กชันของเขาน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถามเฉพาะสิ่งที่อยากถาม แล้วมันจะทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น ส่วนสิ่งที่เราอยากจะทำ ก็ต้องทำให้เห็นในหน้าจอที่ชัดที่สุด อะไรที่มันไม่จำเป็น แต่เป็นแค่ออปชันก็ย่อให้เล็กลงหน่อย เหมือนเป็นการ guide user ด้วย focus point พยายามให้ผู้ใช้งานคิดน้อยที่สุด เพราะสิ่งที่เขาต้องคิดหนักที่สุดคือการเลือกเมนู
ในวันที่การแข่งขันรุนแรงขึ้น เทคโนโลยีเป็นเรื่องที่เข้าถึงง่ายขึ้น จะทำอย่างไรให้ธุรกิจของเรายังเป็นผู้นำได้ตลอด
อะไรที่คนอื่นเขาทำได้ง่ายๆ เดี๋ยวก็มีคนทำตาม เพราะฉะนั้นถ้ารู้ตัวแล้วว่าอะไรที่เราทำได้และเป็นสิ่งที่ถนัด เราก็จะได้เปรียบคนอื่นนิดหนึ่ง เต่าบินก็เช่นกัน มันมีหลายสิ่งที่เราลองผิดลองถูกมานานมากก่อนที่จะเริ่มมีชื่อเสียง และเราก็ยังไม่หยุดพัฒนาตัวเองจนถึงทุกวันนี้
สเตปสำหรับ SMEs ในการเริ่มนำเทคโนโลยีมาปรับให้ธุรกิจเติบโตต่อได้อย่างยั่งยืน
อาจจะต้องมีการตรวจสอบตัวเองก่อนว่ามีสิ่งใดที่เราซ่อมแซมหรือปรับปรุงอยู่ตอนนี้แล้วได้ผลคืนมาสูงที่สุด เพราะถ้ามองในระยะสั้น เทคโนโลยีมันไม่ได้มีราคาถูกขนาดนั้น แต่ถ้าเราใช้เทคโนโลยีเพื่อซ่อมแซมจุดที่มัน damage สูงจริงๆ มันก็จะได้ผลตอบรับคืนกลับมาเร็วขึ้น
พอรู้แล้วว่าจุดไหนที่เราต้องการจะไป ก็ให้เริ่มมองหาว่ามันมีความเป็นไปได้อะไรบ้างในการที่เราจะซ่อมแซมตรงนี้ได้ เริ่มทำรีเสิร์ชหรือลองมองหาคนในตลาดก่อน หลังจากนั้นให้คิดใหม่ว่าเราจะทำอะไรให้ต่างออกไปได้บ้าง พอผ่านจุดนั้นไปได้ก็ต้องรีบลงมือทำและทดลองให้เร็วที่สุด เพื่อที่จะได้ฟีดแบ็กและข้อมูลมาเป็นการตัดสินใจในการก้าวเดินต่อไปว่าจะไปทางไหนต่อ
แผนต่อไปของเต่าบินนับจากนี้
ทางทีมกำลังพยายามมากๆ ที่จะพาธุรกิจไปต่างประเทศ แต่ก็ยังไม่พร้อมเสียทีเดียว เพราะตอนนี้การจะผลิตให้พอใช้ในไทยยังลำบากอยู่ ก็เลยต้องค่อยเป็นค่อยไปก่อน แต่พวกเรามีความตั้งใจมากๆ ที่จะนำเทคโนโลยีที่ผลิตและคิดค้นโดยคนไทยไปสู่ตลาดโลกให้ได้ โดยจะเริ่มจากประเทศเพื่อนบ้านก่อนแล้วค่อยขยายไปที่อื่นต่อ
ในวันนี้เต่าบินอาจจะยังเป็นเด็กน้อยอยู่ การที่จะเติบโตไปเรื่อยๆ อย่างมีคุณภาพ มันก็ต้องมีการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และปรับเปลี่ยนตัวเองให้ทันกับสถานการณ์โลก สภาพแวดล้อมของสังคม ธุรกิจอื่นๆ ก็เช่นกัน สิ่งสำคัญที่สุดคือการมองรอบๆ ตัว และปรับตัวให้ทันอยู่เสมอ
ถ้าลงมือทำแล้วผิดพลาดไปบ้าง มันไม่มีคำว่าเฟล แต่เป็นการได้บทเรียนว่าเราจะเดินไปทางไหนต่อ
Credits
Host ศิรัถยา อิศรภักดี
Show Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Sound Editor เสาวภา โตสวัสดิ์
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ
Sound Recording Engineer ธภัทร ตั้งวงษ์ไชย
Graphic Designer อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์
Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Channel Admin นิพพิชฌน์ ชุลีนวน
Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
Webmaster ไชยพร ศิริกลการ
Social Media Admins วนัชพร ดวงนิล, สุทธกิตติ์ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, วิมลณัฐ พรศิริอนันต์
Archive Officer ชริน จำปาวัน