×

บริหาร Cash Flow อย่างมืออาชีพให้ธุรกิจเติบโตไม่ตกยุค

21.10.2021
  • LOADING...

ผู้ประกอบการ SMEs ควรบริหารจัดการกระแสเงินสดในช่วงเติบโตอย่างไร ให้ธุรกิจพร้อมคว้าโอกาสใหม่ และเดินหน้าได้อย่างยั่งยืน

เฟิร์น ศิรัถยา คุยกับ สุวภา เจริญยิ่ง อุปนายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ที่ปรึกษาด้านการเงินกว่า 80 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ครบทุกเรื่องบริหารเงินที่ควรรู้ ใน THE SME HANDBOOK by UOB 

 


 

Key Success ของบริษัทขนาดกลางที่เติบโตจนสามารถเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ 

สิ่งสำคัญที่สุดคือ Business Model หรือแผนธุรกิจที่ทำค่ะ โดยเราจะวิเคราะห์ปัจจัยการทำธุรกิจ 2 วิธี นั่นก็คือ Top Down กับ Bottom Up

 

Top Down คือการวิเคราะห์แบบบนลงล่าง เริ่มจากดูว่าธุรกิจที่เราทำมันเป็นเทรนด์อยู่หรือเปล่า อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีการเติบโต หรืออยู่ในกลุ่มที่เป็นความต้องการของลูกค้าหรือไม่ ถ้าหากว่าใช่ มันก็เหมือนคุณกำลังบินไปพร้อมกับลมที่หนุนอยู่ใต้ปีกแล้ว

 

เมื่อธุรกิจใช่แล้ว ต่อมาคือการดูผู้คนในบริษัทที่คุณมี ว่าพวกเขาใช่คนที่จะเดินไปข้างหน้าด้วยกันหรือเปล่า มีเป้าหมายไปในทางเดียวกันไหม เช่น บางคนบอกว่าตอนนี้เทรนด์ธุรกิจร้านอาหารกำลังมา แต่ปรากฏว่าร้านของคุณเอาแต่ย่ำอยู่กับที่มาหลายปี เมนูไม่เคยเปลี่ยนเลย กับอีกร้านหนึ่งที่ทำออนไลน์ได้ แล้วเขายังมีอาหารคลีนหรือวีแกนซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ในอนาคต แบบนี้ถึงจะเรียกว่าการมีคนที่ใช่ และตัวล่างสุดคือการดูว่าธุรกิจมีอัตราทำกำไรเท่าไร ซึ่งตรงนี้เป็นการเช็กลิสต์จากภาพใหญ่ข้างบนลงมาข้างล่าง 

 

ส่วน Bottom Up คือการวิเคราะห์แบบล่างขึ้นบน เริ่มจากมองตัวเองก่อนว่าคุณเก่งตรงไหน แล้วในสิ่งที่คุณเก่งนั้น ทางข้างหน้าที่กำลังวิ่งไปมันเป็นทางเก่าที่เคยผ่านมาแล้ว หรือว่าเป็นทางที่คุณต้องบุกป่าฝ่าดงเอง อย่าลืมว่าเวลาของคนเรามีแค่ 8 ชั่วโมง คุณต้องคิดให้ดีว่าจะใช้ความเก่งกับเวลาที่มีอยู่จำกัดนั้นมุ่งสู่ทิศทางไหน ถ้าสำรวจว่าทางนี้ใช่แล้ว ลำดับต่อไปคือการเช็กลิสต์ทรัพยากร 3 อย่าง ได้แก่ งาน เงิน คน ดูว่าสิ่งที่คุณมีอยู่เป็นส่วนสนับสนุนให้คุณวิ่งได้เร็วขึ้นจริงหรือเปล่า 

 

อีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ Operating Cash Flow กระแสเงินสดจากการทำธุรกิจมันควรเป็นบวก เพราะถ้าคุณสามารถทำตรงนี้ให้เป็นบวกได้แล้ว จากนี้ค่อยไปคิดเรื่องการเติบโตว่าเราจะมีกี่สาขา จะขยายร้านจากหนึ่งคูหาเป็นสามคูหาดีไหม หรือจะเริ่มไปกู้เงินธนาคารมาทำร้านดีหรือเปล่า สำรวจตัวเอง สำรวจความพร้อม สำรวจความอยากที่จะไป และให้เวลากับธุรกิจเพื่อทำให้กระแสเงินสดเป็นบวกเร็วที่สุด อย่างน้อยไม่ควรเกิน 3 ปี 

 

สุดท้ายแล้ว เมื่ออุตสาหกรรมที่ใช่กับความเก่งของคุณวิ่งมาเจอกันตรงกลางพอดี คุณจะหาสิ่งที่เหมาะกับคุณเจอเอง ตรงนั้นจะเป็นพื้นที่ที่คุณสู้ได้ เป็นพื้นที่ที่คุณต้องใส่พละกำลังลงไป ซึ่งถ้าคุณตอบคำถามตรงนี้ได้แม่นแล้ว บนหน้าตักมีเท่าไรก็ต้องใส่หมดค่ะ

 

ทางข้างหน้าที่กำลังวิ่งไปมันเป็นทางเก่าที่เคยผ่านมาแล้ว หรือว่าเป็นทางที่คุณต้องบุกป่าฝ่าดงเอง อย่าลืมว่าเวลาของคนเรามีแค่ 8 ชั่วโมง คุณต้องคิดให้ดีว่าจะใช้ความเก่งกับเวลาที่มีอยู่จำกัดนั้นมุ่งสู่ทิศทางไหน

 

หัวใจสำคัญของการบริหารเงินสดในช่วงที่ธุรกิจกำลังโต 

ถ้าใครคุ้นเคยกับงบการเงินนะคะ มันจะมีตัวหนึ่งเรียกว่างบกระแสเงินสด ซึ่งประกอบด้วย 3 กล่องด้วยกัน

 

กล่องที่ 1 Operating Cash Flow

กระแสเงินสดจากการทำธุรกิจควรเป็นบวก คือขายวันนี้ เก็บเงินวันนี้ ยังไม่นับว่าจ่ายค่าเซ้งร้านหรือต้องจ้างคนงานเท่าไร เช่น เมื่อเช้าซื้อวัตถุดิบมา 500 บาท ขายทั้งวันได้ 1,000 บาท แปลว่าเรามีกระแสเงินสดที่ 500 บาท  

 

กล่องที่ 2 Investing Cash Flow

กระแสเงินสดจากเงินลงทุน ในแง่ธุรกิจ ต่อให้ทำมาดีแล้วก็จริง แต่ถ้าเรายืนอยู่เฉยๆ วันหนึ่งคนที่ตามมาข้างหลังก็จะก้าวผ่านหน้าเราไป เพราะฉะนั้นการลงทุนก็สำคัญ ซึ่งอาจจะเป็นการขยายสาขา หรือนำเงินไปลงทุนในที่ต่างๆ 

 

กล่องที่ 3 Financing Cash Flow

กระแสเงินสดทางด้านการเงิน หมายความว่าถ้าเราใช้ Operating Cash Flow หรือ Investing Cash Flow ติดลบไป ก็ยังสามารถเอาเงินจากกล่องนี้มาเป็นตัวปิดได้ ถ้าเงินในกล่องนี้เหลือเยอะมากก็สามารถนำมาจ่ายเงินปันผลได้ แต่ถ้าเงินเหลือน้อยก็อาจจะต้องมีการเพิ่มทุนหรือไปกู้ยืมจากธนาคาร

 

เพราะฉะนั้น 3 กล่องนี้มันเหมือน Juggling ค่ะ คือเจ้าของธุรกิจก็ต้องคอยเลี้ยงให้เกิดความสมดุล บางช่วงไม่ควรต้องทำอะไรก็อย่าเพิ่งลงทุนเลย อยู่เงียบๆ รอระยะเวลาสักพักหนึ่ง หลังจากเศรษฐกิจกลับมาแล้วค่อยไปลงทุนก็ได้ หรือบางคนบอกว่าสถานการณ์แบบนี้สิที่ต้องลงทุน เพราะว่าทุกอย่างราคาถูกหมด อย่างที่เรามักจะเห็นว่ามีบริษัทที่ขยายงานในช่วงโควิดเยอะแยะไปหมด แต่บางบริษัทก็อยู่นิ่งๆ นั่นเพราะสถานะทางการเงินของเขาไม่เท่ากัน มองเห็นเทรนด์และจังหวะในการลงทุนต่างกัน

 

วิธีคิดที่จะช่วยให้บริษัทโตได้ด้วยการบริหารเงินอย่างมืออาชีพ 

ข้อแรกสุดคือต้องรู้ตัวเองค่ะ คุณอยากจะโตขึ้นไปในสถานะไหน ต้องใช้เงินเท่าไร จะใหญ่ในแง่มาร์เก็ตแชร์ ใหญ่ในแง่ฐานลูกค้า ใหญ่ในแง่การเป็นผู้ผลิตอันดับต้นๆ หรือใหญ่ในสิ่งที่คุณเก่ง พี่จะพูดเสมอว่าเวลาใหญ่เนี่ย เราต้องการ Growth แต่ Growth นั้นต้องแลกกับอะไรบ้าง คุณรู้ไหมว่าตลาดที่คุณไปเป็นอย่างไร คุณจะครองตลาดได้จริงหรือเปล่า และเมื่อครองแล้วคุณจะรักษามันไว้ได้ไหม 

 

หรือพนักงานที่คุณมีอยู่พอสมควร เมื่อคุณขยายเร็ว คนเดิมเขาอาจจะทำงานไม่ไหว นั่นอาจจะทำให้คุณเสียลูกน้องดีๆ ไปเลยนะ เพราะเขาตามคุณไม่ทัน อย่างที่เรามักจะได้ยินเสมอว่าบางบริษัทซีอีโอเก่งมาก วิ่งได้ไกล เพราะคุณกำลังขับรถที่ความเร็วระดับ 160 กม./ชม. แต่ลูกน้องคุณยังขับอยู่ที่ 60 กม./ชม. อยู่เลย มันไม่มีทางทันกัน แล้วในที่สุดมันก็เกิดสถานการณ์ที่เรียกว่าหักกลาง นั่นคือไปต่อกันไม่ได้

 

คำถามในแง่สำรวจคือ คุณต้องชัดว่าจะทำอะไร ต้องการใช้เงินเท่าไร ผู้คนพร้อมไหม สิ่งที่คุณไปนั้นมีตลาดรองรับหรือเปล่า วิธีนี้เขาเรียกว่าโยนหินถามทาง ภาษาอังกฤษเรียกว่า Test The Market ทุกครั้งก่อนจะใหญ่ ทำไมไม่ลองสักนิดหนึ่งก่อน อย่างน้อยที่สุดก็ไม่เจ็บตัวมากเกินไป มองโครงสร้าง มองสถานการณ์ให้ขาดสักนิดก่อน แทนที่จะเปิดพร้อมกัน 5-6 สาขา ทำไมไม่ลองสัก 2-3 สาขาก่อน ถ้าได้แล้วค่อยไปต่อ ให้ทีมเราพอไหว 

 

เพราะฉะนั้นในแง่ของ SMEs หรือสตาร์ทอัพที่อยากจะใหญ่ขึ้นนะคะ ถ้าคุณพร้อมแล้วก็มาย้อนดูงบการเงินสัก 3 ปีย้อนหลังว่ายอดขายและต้นทุนเป็นอย่างไร โตขึ้นอย่างไร แล้วคุณพอใจกับตัวเลขนั้นหรือเปล่า พี่คิดว่าวิธีที่จะช่วยได้คือเอาเลขนี้ไปแชร์กับธนาคารแล้วขอเงินกู้ เพราะว่าเขาเป็นมืออาชีพอยู่แล้ว ให้เขาลองรีวิวตัวเลขบริษัทแล้วดูว่าเขาเชื่อคุณไหม นี่คือทางที่เราจะได้คนมีฝีมือมาคิดเลขและวิเคราะห์ความเป็นไปได้ให้เราโดยไม่ต้องเสียเงินเลย

 

คุณต้องชัดว่าจะทำอะไร ต้องการใช้เงินเท่าไร ผู้คนพร้อมไหม และสิ่งที่คุณไปนั้นมีตลาดรองรับหรือเปล่า

 

ตัวอย่างเคสที่ประสบความสำเร็จในการขยายบริษัทจากขนาดกลางไปสู่ขนาดใหญ่ได้ในท้ายที่สุด

พี่คิดว่าตัวอย่างที่ดีที่สุดน่าจะเป็น OfficeMate ของคุณหมู-วรวุฒิ อุ่นใจ จุดเริ่มต้นคือแต่เดิมบ้านคุณหมูเป็นร้านขายเครื่องเขียน แต่วันดีคืนดีก็มีถนนมาตัดผ่านหน้าบ้าน ทำให้จากที่ร้านเคยมีที่จอดรถก็ไม่มี จนยอดขายค่อยๆ ตกลงเรื่อยๆ สิ่งที่คุณหมูทำในวันนั้นคือขี่มอเตอร์ไซค์ไปแถวสีลม-สาทรกับน้องสาว พร้อมกับทำ Price List ที่เป็นกระดาษ B4 ยาวๆ ไปด้วย ไปถึงตามออฟฟิศก็เอากระดาษแผ่นนี้ไปให้ลูกค้าว่าเขาอยากสั่งปากกาดินสออะไรบ้าง พอกรอกเสร็จแล้วก็เอากลับมาแพ็กของที่บ้านต่อในตอนเย็น วันรุ่งขึ้นก็ไปส่งแล้วค่อยเก็บเงิน คือคุณหมูเขาคิดการทำออนไลน์และเดลิเวอรีโลจิสติกส์ได้ด้วยตัวเองตั้งแต่ตอนนั้น

 

เวลาผ่านไปก็มีการทำแคตตาล็อกออกมาเป็นเล่มหนาๆ เลย แล้วให้ลูกค้าติ๊กเลือกของที่จะซื้อแล้วส่งมา แต่ทำไปทำมาก็พบปัญหาว่าคนไทยแค่ติ๊กแล้วส่งไม่ได้ คุณหมูก็เลยเปิดสายทำคอลเซ็นเตอร์ ให้พนักงานคีย์ออนไลน์ให้แทน แล้วก็นำสินค้าไปส่งพร้อมกับเก็บเงินมา ซึ่งประสบความสำเร็จจนยอดขายขึ้นมาเป็น 60-70 ล้านบาท จนในที่สุดก็ตัดสินใจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ พี่จำราคาเปิดได้ว่าอยู่ที่ 4.90 บาท จนราคาหุ้นขึ้นไปสูงสุดน่าจะ 60 บาทเลยมั้งคะ Business Model รูปแบบนี้มันเป็นการเติบโตแบบทวีคูณ 10-20 เท่า คือจาก 200 ล้านสามารถขึ้นเป็น 2,000 ล้านได้ภายใน 4 ปี 

 

ต้องบอกว่าวิธีคิดในการให้ลูกค้าสั่งของผ่านทางโทรศัพท์นั้นก็เป็นเทเลมาร์เก็ตติ้งโดยแท้ คือหัวหน้างานก็สามารถย้อนกลับไปฟังเสียงได้ด้วยเพื่อติดตามการบริการของพนักงาน รวมไปถึงระบบการขนส่ง ที่คุณหมูละเอียดถึงขนาดคำนวณว่ารถ 1 คันจะวิ่งออกไปส่งกี่จุด มีการทำแผนที่แล้วก็จัดสรรเส้นทางเลย ต่อมาเกิดปัญหาอีกว่าพอขับๆ ไปแล้วคนขับไม่ได้ดูแลรถ ก็เลยคิดทำ Financing คือให้ไฟแนนซ์รถเพื่อให้พนักงานส่งของสามารถเป็นเจ้าของรถได้อีก เพื่อที่เขาจะได้ดูแลรถดีขึ้น 

 

พี่คิดว่าแต่ละช่วงในการทำธุรกิจของคุณหมูเป็นการคิดละเอียด เขาสอนพี่ว่า Retail is Detail คุณหมูเป็นตัวอย่างที่ดีในทุกๆ เรื่องนะคะ คือเริ่มต้นจากการประสบกับความลำบาก และพยายามหา Business Model ใหม่ๆ อยู่เสมอ แล้วไม่ได้นิ่งนอนใจเลย คือแก้ปัญหาทุกวัน แล้วที่เรามาเจอกันก็เพราะ OfficeMate ต้องการเข้าตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จมากจนไปสะดุดตากลุ่มเซ็นทรัลขึ้นมา และเมื่อสองบริษัทควบรวมกิจการกัน จากยอดขายระดับพันล้านก็ขึ้นไปถึง 1.8 หมื่นล้านทันที 

 

คุณต้องเก่งในสิ่งที่คุณทำ มีลูกค้าที่ชัดเจน มีสินค้าที่ชัดเจน ลูกค้ามาหาคุณแล้วเขารู้ว่าต้องการอะไร แล้วเขาก็เป็นลูกค้าที่ซื้อต่อเนื่องด้วย ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้คุณมี Growth ได้

 

เช็กลิสต์ความพร้อมของธุรกิจในการเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ 

ข้อแรกสุดคือต้องมี Growth คือบริษัทของคุณมี Growth กี่เปอร์เซ็นต์ P/E ก็จะประมาณนั้น เช่น ถ้า Growth อยู่ที่ 20% อัตราส่วน P/E คุณอาจจะอยู่ประมาณ 15-20 

 

ข้อสองคือ Market Penetration คือคุณต้องเก่งในสิ่งที่คุณทำ มีลูกค้าที่ชัดเจน มีสินค้าที่ชัดเจน ลูกค้ามาหาคุณแล้วเขารู้ว่าต้องการอะไร แล้วเขาก็เป็นลูกค้าที่ซื้อต่อเนื่องด้วย ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้คุณมี Growth ได้

 

ข้อสามคือ ทีม เพราะซีอีโอหนึ่งคนอาจจะทำเรื่องเก่งๆ ได้ยอดเยี่ยมมาก แต่ซีอีโอคนนี้ไม่มีทางทำเก่งไปหมดทุกเรื่องได้ เพราะฉะนั้นเขาต้องหาคนที่เก่งไม่แพ้เขามาช่วยกันให้เกิดความร่วมมือ

 

ข้อสี่คือ กำไร เพราะในการจะทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์มันไม่เหมือนสตาร์ทอัพ บริษัทของคุณจะต้องมีกำไรปีสุดท้ายไม่ต่ำกว่า 50 ล้าน มีส่วนทุนไม่ต่ำกว่า 300 ล้าน แต่ถ้าตัวเลขของคุณยังไม่ถึงขนาดนั้นก็อาจจะไปที่ mai (Market for Alternative Investment/ตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ) ซึ่งเป็นตลาดรองก็ได้

 

ข้อสุดท้ายคือ Governance คุณต้องมีธรรมาภิบาล มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ 

 

ความแตกต่างในระยะยาวของการเข้าหรือไม่เข้าตลาดหลักทรัพย์ 

ความแตกต่างมี 2-3 เรื่องเลยค่ะ เคสที่เห็นได้ชัดอย่างเช่นสำนักงานตรวจสอบบัญชีขนาดใหญ่ 4 เจ้าก็ไม่มีใครเข้าตลาดหลักทรัพย์สักราย เขาตรวจให้เราเข้า แต่ตัวเขากลับไม่เข้า หรืออย่างบริษัทคอนซัลต์ที่เก่งๆ สังเกตว่าเข้าตลาดหลักทรัพย์แค่ประมาณครึ่งเดียวเท่านั้น เพราะว่าพวกเขาเป็น Labor Intensive คือโตได้ด้วยคน แต่บริษัทที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ควรจะเป็นลักษณะ Capital Intensive คือต้องใช้ทุนในการโต เช่น ธนาคาร หรือบริษัทประกัน เพราะว่าเขาต้องระดมทุนให้ได้มากๆ เพราะฉะนั้นจุดตัดก็คือถ้าคุณต้องใช้ทุนหนา การเข้าตลาดหลักทรัพย์เป็นโจทย์ที่เหมือนไฟลต์บังคับ ใช้คำนี้เลยแล้วกันค่ะ

 

แต่ถ้าคู่แข่งคุณอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ก็เหมือนเป็นไฟลต์บังคับเช่นกัน เพราะว่าคู่แข่งของคุณจะได้ต้นทุนที่ถูก ได้ขยายการตลาด และได้กลุ่มลูกค้าใหม่ด้วย เพราะฉะนั้นถ้าคุณไม่เข้า คุณชกหมัดไหนก็แพ้เขาทุกหมัด มันก็เป็นการบีบบังคับทางอ้อมที่คุณอาจจะต้องเข้าตลาดหลักทรัพย์ในที่สุดค่ะ

 

แผนที่ดีคือวางแผนแล้วต้องทำ และนำมาใส่ในสเกลที่เรารับไหว ในความเสี่ยงที่เรารับได้ 

 

อยากจะให้ธุรกิจเติบโตในระยะยาว ควรจะเลือกลงทุนกับอะไรบ้าง 

จากหลายๆ เคสที่พี่เคยดูแลมา ปรากฏว่าการลงทุนเรื่องคนประสบความสำเร็จที่สุดเลยนะคะ พี่เคยเจอบริษัทหนึ่งที่ทำเรื่องไอทีจากจุดเปลี่ยนในการที่ซีอีโอตัดสินใจสะสมทีม Innovation ขึ้นมา โดยรับเด็กๆ เข้ามาทำงาน 70-80 คน บริษัทนั้นคือทานตะวัน เขาเริ่มจากธุรกิจพลาสติกฉีด แต่เด็กๆ ทีมนี้สามารถผลิตของจนชนะการประกวดของ IKEA ทุกปี ทานตะวันเขาไม่ใช่บริษัทใหญ่โต แต่เขาลงทุนเรื่องคน เพราะเห็นทิศทางของเทรนด์ว่าจะไปทางไหน 

 

หรือบางทีอาจจะเป็นการลงทุนเรื่องกระบวนการผลิต คือการจะได้มาซึ่งยอดขายมันก็ต้องแล้วแต่ความกรุณาของลูกค้า แล้วแต่สวรรค์สร้าง แต่ถ้าเราสามารถทำต้นทุนให้ถูกกว่าที่อื่นได้ หรือใช้เวลาน้อยกว่า ใช้คนน้อยกว่า มันก็จะดีกว่า 

 

เรื่องที่สามคือ Innovative ธุรกิจของคุณมีนวัตกรรมอะไรบ้าง อย่างกลุ่ม ปตท. ตอนนี้เขาก็ให้การสนับสนุนโรงเรียนกำเนิดวิทย์ เพื่อเก็บเด็กๆ ที่เก่งกาจมาทำโปรเจกต์ดีๆ ให้บริษัทในอนาคต

 

สุดท้ายคือ Expand หรือการขยายตลาด อาจจะแค่เริ่มที่ขยายจากกรุงเทพฯ ไปต่างจังหวัดก็ได้ หรือในตลาด CLMV ก็เป็นอะไรที่น่าสนใจทีเดียว สมัยก่อนเราจะค้าขายกันอยู่ในประเทศ แต่วันนี้มันไม่ได้แข่งกันแค่ในประเทศแล้ว เราจะเจอคนที่เก่งๆ หลายที่ โดยเฉพาะตลาดจีนที่เข้ามาก็เป็น Business Model ที่น่าสนใจเช่นกัน 

 

ให้กำลังใจผู้ประกอบการที่รอดพ้นจากวิกฤตมาแล้ว และอยากจะเติบโตในอนาคต ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีอย่างที่สุดนะคะที่ผ่านพ้นวิกฤตรอบนี้มาได้ แต่สิ่งที่ท้าทายคือแผนกลยุทธ์ในใจคุณเป็นอย่างไร พี่ตอบไม่ได้หรอกว่าแผนกลยุทธ์ที่ดีคืออะไร แต่มีวิธีทดสอบคือต้องเป็นกลยุทธ์ที่แม้แต่เราเองก็ยังรู้สึกตื่นเต้นกับมัน

 

ต่อมาพอลองเอามาเล่าให้เพื่อนร่วมงานฟังแล้วทุกคนก็ตื่นเต้นเหมือนกับเรา อยากทำ อยากคุยต่อ แต่ที่ดีสุดๆ คือการที่คู่แข่งของเราก็ตื่นเต้นเช่นกัน แบบนี้แปลว่าแผนนี้ชนะแล้ว จากนั้นก็ลองนำกลยุทธ์นี้ใส่ลงไปใน Business Model ดูว่ามันใช่จริงๆ หรือเปล่า แล้วถ้ามันใช่จริงๆ พี่คิดว่านั่นแหละคือบทพิสูจน์

 

แผนที่ดีคือวางแผนแล้วต้องทำ และนำมาใส่ในสเกลที่เรารับไหว ในความเสี่ยงที่เรารับได้ ถ้าทำแล้วมีความเสี่ยงแค่ 1% แต่ 1% นั้นทำให้เราล้มหายตายจากก็ห้ามทำเด็ดขาด แล้วสถานการณ์โควิดแบบนี้เหมือนตลาดมันหยุดรอเรานิดหนึ่งนะคะ เพราะฉะนั้นใช้ช่วงเวลานี้ทดลองหลายๆ กระบวนท่า แล้วปรับเปลี่ยนให้ไว ท้าทายตัวเองสักนิดหนึ่ง ถ้าวันนี้คุณตื่นขึ้นมาอย่างสดใส อยากทำงานเลย อันนี้คือถูกทางที่สุดแล้ว ให้กำลังใจตัวเองเยอะๆ แล้วออกมาสนุกกับการทำงานกันดีกว่าค่ะ

 


 

Credits

 

Host ศิรัถยา อิศรภักดี
Show Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ
Sound Recording Engineer ขจีพรรณ วิจิตรรัตน์

Art Director กริน วสุรัฐกร
Graphic Designer อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์
Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Channel Admin เอกราช มอเซอร์
Proofreader ชนเนตร ลอยครุฑ
Webmaster ไชยพร ศิริกลการ
Social Media Admins วนัชพร ดวงนิล, สุทธกิตติ์​ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, วิมลณัฐ พรศิริอนันต์

Archive Officer ชริน จำปาวัน 

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising