×

7 วิธีคิดและตัดสินใจไม่ให้โดนตัวเลขหลอก สำหรับคนลงทุน ทำงาน สร้างธุรกิจ

01.05.2019
  • LOADING...

ถ้าพูดถึงเรื่อง Financial Sense ทุกคนคงนึกถึงเรื่องตัวเลขและการคำนวณ ซึ่งเป็นเรื่องชวนปวดหัว บางคนอาจถึงกับส่ายหน้า เพราะไม่เก่ง ไม่ชอบ ไม่เอา ไม่อยากรู้

 

แต่จริงๆ แล้ว เรื่องพวกนี้มีความสำคัญกับทุกคนในหลายแง่มุม บางคนอาจต้องใช้ในการทำงาน สร้างธุรกิจ ซื้อหุ้น ออมเงิน หรือลงทุนในกองทุนต่างๆ

 

รวิศ หาญอุตสาหะ เล่าถึง 7 วิธีคิดและตัดสินใจ เพื่อป้องกันไม่ให้เรื่องตัวเลขมาหลอกเรา ในรายการ Super Productive

 


 

1. ระวังเรื่องค่าเฉลี่ย

ตัวเลขค่าเฉลี่ยสามารถหลอกข้อมูลที่เป็นจริงทั้งหมดได้ เพราะอะไร ลองดูจากตัวอย่างต่อไปนี้ครับ

 

ถ้าลองเอาชาวบ้าน 100 คน จากทั้งหมู่บ้าน มาหาค่าเฉลี่ยความสูง เราเลือกคนที่สูงน้อยที่สุดเรียงไปจนถึงสูงที่สุด อาจได้ค่าเฉลี่ยประมาณ 1.7 เมตร แต่เมื่อเราหยิบใครคนใดคนหนึ่งออก แล้วเอาคนที่สูงที่สุดในโลกเข้าไปแทน คนคนนั้นอาจสูงสัก 2 เมตร ทำให้ค่าเฉลี่ยทั้งหมดจะต่างจากเดิมเพียงแค่เล็กน้อย

 

กลับกัน ถ้าเอาคนในหมู่บ้านเดิมมาหาค่าเฉลี่ยความมั่งคั่งร่ำรวย เรียงจากคนที่มีเงินน้อยที่สุดจนไปถึงมากที่สุด สมมติตัวเลขค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1 ล้านบาท แต่เมื่อเราหยิบใครคนใดคนหนึ่งออก แล้วเอาคนที่รวยที่สุดในโลกเข้าไปแทน เขาอาจมีทรัพย์สิน 1 ล้านล้านบาท ค่าเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นมหาศาลเลยทีเดียว

 

ฉะนั้น ปัญหาค่าเฉลี่ย ถ้ามีข้อมูลผิดปกติเพียงชุดเดียว อาจทำให้ข้อมูลทั้งหมดเปลี่ยนแปลงไปได้ทันที

 

2. Will Rogers Phenomenon

สมมติว่า คุณต้องดูแลสำนักงานขายรถยนต์ 2 แห่ง โดยมีพนักงานขาย 1, 2, 3 อยู่ในสาขาที่ 1 และพนักงานขาย 4, 5, 6 อยู่ในสาขาที่ 2 โดยแต่ละคนขายรถได้ตามหมายเลขของตัวเองเลย คือ

 

พนักงานขายหมายเลข 1 ขายได้ 1 คัน
พนักงานขายหมายเลข 2 ขายได้ 2 คัน
พนักงานขายหมายเลข 3 ขายได้ 3 คัน
พนักงานขายหมายเลข 6 ขายได้ 6 คัน

 

โดยยอดขายของแต่ละคนนั้นขึ้นอยู่กับความสามารถส่วนบุคคล ไม่ได้เกี่ยวข้องกับที่ตั้งของสาขาแต่อย่างใด ซึ่งหมายความว่า สาขาแรก พนักงานขายขายได้เฉลี่ย 2 คันต่อคน ส่วนสาขาที่ 2 ขายได้เฉลี่ย 5 คันต่อคน

 

ถ้าคุณได้รับคำสั่งมาให้เพิ่มยอดขายต่อคนให้ได้ คุณจะทำอย่างไรครับ

 

คำตอบง่ายมากครับ แค่ย้ายพนักงานหมายเลข 4 มาสาขาแรก นั่นทำให้สาขาแรกยอดขายต่อคน ก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 2.5 คัน ส่วนสาขาที่ 2 ยอดขายต่อคนก็เพิ่มเช่นกันเป็น 5.5 คัน ทั้งหมดนี้ไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรเลยให้กับบริษัท แต่ถ้าคนดูข้อมูลไม่ละเอียด อาจตกหลุมพรางนี้ได้

 

อีกตัวอย่าง ผู้จัดการกองทุนมีกองทุนให้จัดการ 3 กองทุน ได้แก่ A, B, C โดย A มีผลตอบแทนเยี่ยมมาก ส่วน B ก็กลางๆ ส่วน C นั้นผลตอบแทนแย่

 

ทำอย่างไรจะทำให้ผลตอบแทนของแต่ละกองทุนดีขึ้น

 

เลือกหุ้นบางส่วนของกองทุน A ที่ฉุดผลตอบแทนโดยเฉลี่ยของกองทุน A แต่ได้ผลตอบแทนที่ดีพอ ที่จะทำให้ค่าเฉลี่ยของกองทุน B และ C สูงขึ้นได้

 

เพียงเท่านี้ค่าเฉลี่ยของทั้งสามกองทุนก็จะดีขึ้นเลย ทั้งที่จริงๆ แล้ว กองทุนทั้งสามไม่ได้ให้ผลตอบแทนมากขึ้นสักนิดเดียว

 

3. Sunk Cost Fallacy

คนเรามักเสียดายอะไรที่ลงทุนไปแล้ว ทั้งๆ ที่รู้ว่า ไม่เคยจะเดินหน้าต่อไป ก็ยังดันทุรังไปต่อ ไม่ต่างอะไรกับความสัมพันธ์ของคนเรา ที่บางครั้งคบกับแฟนมาตั้งนานแล้ว แต่ก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้น จะเลิกก็เสียดายเวลา เพราะอยู่กันมาเนิ่นนาน

 

นี่คือตัวอย่างของ Sunk Cost Fallacy ซึ่งเป็นกับดักทางการเงินที่รุนแรงมาก

 

ยกตัวอย่างเวลาเราตัดสินใจขายหุ้น เรามักอ้างอิงจากราคาที่ซื้อมา โดยจะขายก็ต่อเมื่อราคาสูงกว่าที่ซื้อมา ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เราเห็นอาการติดดอยบ่อยครั้ง ทั้งที่ในความเป็นจริงการตัดสินใจจะซื้อเพิ่มหรือจะขายนั้นไม่ได้เกี่ยวอะไรกับราคาที่เราซื้อมา เพราะเราต้องดูอนาคตของหุ้นตัวนั้นต่างหาก

 

สิ่งที่น่าสนใจคือ ยิ่งขาดทุนเท่าไร เรายิ่งมีแนวโน้มที่จะเก็บหุ้นตัวนั้นไว้มากขึ้น

 

มีตัวอย่างเรื่องแบบนี้มากมายตั้งแต่เรื่องใหญ่ๆ จนถึงเรื่องเล็กๆ เช่น แคมเปญโฆษณาที่ดูแล้วไม่น่าจะไปต่อ แต่เราลงทุนไปตั้งเยอะแล้ว เพิ่มอีกหน่อยแล้วกัน หนังสือที่อ่านไปก็รู้ว่าห่วย แต่ขออ่านให้จบแล้วกัน เพราะอ่านมาตั้งครึ่งเล่มแล้ว ดูหนังที่ดูสักพักก็รู้อยู่แล้วว่าไม่สนุก แต่ทนดูจนจบ เพราะจ่ายค่าตั๋วมาแล้ว ทั้งที่จริงๆ ค่าตั๋วไม่ควรเป็นเหตุผลด้วยซ้ำ เพราะในความเป็นจริงเราเอาเงินคืนมาไม่ได้อยู่แล้ว แต่ถ้าไม่ดูต่อคุณจะประหยัดเวลาชีวิตไปได้

 

เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้ให้ระวังคำว่า “เรามาตั้งไกลแล้ว ต้องไปต่อสิ” ไว้ให้ดีครับ

 

4. Contrast Effect

ตอนเด็กๆ เคยเล่นมือจุ่มน้ำอุ่นน้ำเย็นไหมครับ เทน้ำอุ่นใส่ถึงใบแรก เทน้ำเย็นจัดๆ ใส่ถังใบที่ 2 จุ่มมือขวาในถังน้ำเย็นแล้วแช่ไว้ 1 นาที จากนั้นจุ่มมือทั้งสองไปในถังน้ำอุ่น คุณจะรู้สึกว่า มือซ้ายอุ่นสบาย แต่มือขวาร้อนจี๋​ นี่คือสิ่งที่เราเรียกว่า Contrast Effect ครับ

 

เคยมีการทดลองเรื่องนี้ โดยพบว่า คนเราจะยอมเดินเพิ่มอีก 10 นาที เพื่อซื้ออาหารที่ราคาถูกลง 10 เหรียญ จากราคาเต็ม 50 เหรียญ แต่เราจะไม่ยอมเดินอีก 10 นาที เพื่อซื้อเสื้อที่ถูกลง 10 เหรียญ จากเสื้อราคาเต็ม 1,000 เหรียญ

 

ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจมาก เพราะมันเป็นการประหยัดเงิน 10 เหรียญเท่ากัน เหมือนกับเวลาเราบอกว่า หุ้นตัวนี้ตอนนี้ ‘ราคาถูก’ เพราะมันราคาแค่ 5 บาท ลดจากจุดสูงสุดที่ 15 บาท ลงมาตั้งเยอะมาก แต่ในความเป็นจริง หากดูจากราคาตอนนี้ เราไม่มีทางรู้ได้ว่า เลยหุ้นตัวนี้ ‘ถูก’ หรือ ‘แพง’ เพราะที่จริงแล้ว มันขึ้นอยู่กับอนาคตต่างหาก ว่ามันจะขึ้นหรือลง

 

เวลามันมาในรูปแบบที่เห็นง่าย เราอาจจะรู้ตัว เช่น เสื้อผ้าลดราคา หรือของที่ซื้อตามโทรทัศน์ ที่ลดจาก 10,000 เหลือ 999 แต่เดี๋ยวก่อน ถ้าซื้อตอนนี้ แถมไปเลยอีกหนึ่งชิ้น (อันนี้เราเรียกว่า Fake Original Price)

 

แต่ถ้ามันมาในรูปแบบที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เช่น โอกาสในการลงทุน บางทีเราอาจมองข้ามเรื่องนี้ไปได้เฉยๆ

 

5. Simple Logic

ไม้ปิงปองและลูกปิงปองราคา 1.1 เหรียญ ไม้ปิงปองแพงกว่าลูกปิงปอง 1 เหรียญ ลูกปิงปองราคาเท่าไร

 

ถ้าเราใช้สัญชาตญาณหรือสิ่งที่เรียกว่า ‘สมองส่วนอัตโนมัติ’ ในการตอบ คนส่วนใหญ่มักตอบว่า 0.1 เหรียญ แต่คำตอบที่ถูกต้องคือ 0.05 เหรียญ ลองหยิบเครื่องคิดเลขของคุณมาเช็กได้ครับ เราถูกสัญชาตญาณหลอกง่ายๆ กันแบบนี้

 

6. มองข้ามความเป็นไปได้ (Neglect of Probability)

มีเกมเสี่ยงโชคอยู่ 2 เกม เกมแรกมีรางวัลอยู่ที่ 10 ล้านเหรียญ ซึ่งจะเปลี่ยนชีวิตคุณเลย เกมที่ 2 รางวัลอยู่ที่ 100,000 เหรียญ

 

ความเป็นไปได้ในการชนะเกมแรกอยู่ที่ 1 ใน 100 ล้าน
ความเป็นไปได้ในการชนะเกมที่ 2 อยู่ที่ 1 ใน 10,000

ถ้าเป็นคนปกติจะเลือกเล่นเกมแรก แต่ถ้าหากพิจารณาจากสถิติแล้ว เกมที่ 2 มีโอกาสชนะมากกว่าถึง 10 เท่า

 

สรุปโดยง่ายเลยก็คือว่า ไม่ว่าจะมีโอกาสชนะมากน้อยแค่ไหน คนเรามักจะเลือกเล่นเกมที่มีรางวัลใหญ่กว่าเสมอ

การมองข้ามความเป็นไปได้เกิดขึ้นในหลายเหตุการณ์ครับ ถ้าเราไม่มองเรื่องนี้ เราจะลงทุนโดยมองที่ผลตอบแทนเป็นหลัก โดยลืมมองเรื่องความเสี่ยงไปครับ

 

7. กฎว่าด้วยเรื่องจำนวนน้อย (The Law of Small Number)

สมมติว่าคุณเป็นผู้บริหารของร้านค้าปลีกที่มีสาขาถึง 1,000 สาขา และวันนี้เป็นการประชุมเรื่องเกี่ยวกับสินค้าถูกขโมยจากร้าน พอคุณดึงตัวเลขขึ้นมาคุณก็พบว่า สาขาที่มีขโมยมากที่สุด 100 สาขา มาจากชนบทท้ังสิ้น โดยดูจาก ‘ยอดของหาย ต่อ ยอดขาย’

 

แปลว่า เราควรจะติดกันขโมยเพิ่มในสาขาชนบทใช่หรือไม่

 

คำตอบคือ ไม่แน่ครับ

 

เพราะว่าถ้าเราดึง 100 สาขาที่มีการขโมยน้อยที่สุดมา ก็จะเป็น 100 สาขาที่อยู่ในชนบทเช่นกัน

 

ทำไมถึงเป็นแบบนั้น

 

เพราะว่าร้านค้าปลีกในชนบทนั้นเล็กกว่าในเมืองมาก การที่ของหายหนึ่งชิ้นจึงส่งผลต่อตัวเลขมากกว่า และในทางกลับกันก็เป็นจริงเช่นเดียวกัน

 

นี่คือสิ่งที่เรียกว่า กฎว่าด้วยจำนวนน้อย หรือ The Law of Small Number ครับ

 

ดังนั้น เวลามีสถิติทำนองนี้มาต้องระวังถูกหลอกด้วยกฎว่าด้วยจำนวนน้อยนะครับ

 


 

สามารถฟังพอดแคสต์ SUPER PRODUCTIVE
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย

 


 

Credits

 

The Host รวิศ หาญอุตสาหะ

Show Creator รวิศ หาญอุตสาหะ

Show Producers เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์, ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์

Proofreader ภาวิกา ขันติศรีสกุล

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising