×

Somewhere I Belong ที่นี่ที่ของเรา EP.3 กลับบ้าน

15.11.2019
  • LOADING...

กำกับพอดแคสต์โดย ณฐพล บุญประกอบ

สร้างจากเรื่องจริงของ อุรุดา โควินท์

บรรยายโดย ยศวัศ สิทธิวงค์

 

หลังจาก เอ็ม ยศวัศ​ ได้อ่านนวนิยายเรื่อง หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา เขาตัดสินใจเดินทางกลับจังหวัดเชียงราย บ้านเกิด เพื่อคุยกับ อุรุดา โควินท์ ผู้เขียนนวนิยายเรื่องนี้ ชีวิตของ ‘เอ็ม ยศวัศ​’ กับ ‘อุรุดา’ มีความคล้ายคลึงกันหลายอย่าง เป็นคนเชียงราย ใช้ชีวิตอยู่กับศิลปิน และรอนแรมไปในที่ต่างๆ เลยเกิดคำถามว่า ในระหว่างทาง ตัวตน ความฝัน การกลับบ้าน สำคัญอย่างไรกับชีวิต

 


 

เราจะมีบ้านของเรา พี่เลือกเชียงราย บ้านจะเริ่มก่อสร้างในเดือนเมษายน แค่รอ รอให้สายฝนจากไป สายฝนน้ันซึ่งต่อเนื่องเป็นแรมเดือน เราจะเดินทางไปหาฤดูร้อนด้วยกัน แต่พี่ตายในเช้าวันท่ี 13กุมภาพันธ์ วันพระใหญ่ ที่ฟ้าส่งนํ้ามาชําระชีวิตพี่ ฝนกระหน่ำจนถนนขาด นํ้าป่าทะลักเข้าบ้านเรา และฟ้าผ่าบนยอดเขาหลวง เปรี้ยง! เพียงครั้ง แต่ทุกคนได้ยิน… แล้วพบกันนะคะ ฉันกระซิบบนเปลือกตาพี่ พี่ได้ยินใช่ไหม

 

เริ่มนับหน่ึง จากเสียงกระซิบน้ัน บัดนี้ผ่านมาสิบปี และมันไม่ได้นานอย่างท่ีคิด

 

นี่คือบางส่วนจากบทนําของ หยดนํ้าหวานในหยาดนํ้าตา นวนิยายซึ่งบันทึกเรื่องราวของนักเขียนสองคนที่ใช้ชีวิตร่วมกันในหมู่บ้านกลางหุบเขาที่อําเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช ในฐานะคู่รัก คู่คิด และคู่ชีวิต ตลอดระยะเวลา 10 ปี จนกระทั่งนักเขียนหนุ่มได้ตายจากไป เหลือไว้เพียงความทรงจําที่หอมหวานและเจ็บปวด จนต้องใช้เวลาอีกสิบปี กว่าที่ คุณอุรุดา โควินท์ หรือชมพู จะกลับมาเขียนถึงมันได้อีกครั้ง 

 

ผมชื่อ เอ็ม-ยศวัศ สิทธวงค์ เป็นนักดนตรีค่าย 12SumRecords ในชีวิตนี้ผมอ่านหนังสือจบแค่ 2 เล่ม เล่มแรกคือ The Da Vinci Code และเล่มที่สองคือ หนังสือของพี่ชมพูเล่มนี้ ถึงชีวิตรักของนักเขียน 2 คน ในหุบเขา แม้จะไม่ได้ซับซ้อนซ่อนเงื่อนระทึกใจเหมือนการไขรหัสลับในงานศิลปะของ Da Vinci แต่เรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างนักเขียนหนุ่มผู้แบกความคาดหวังจากความสําเร็จในอดีต กับนักเขียนมือใหม่ที่คอยเฝ้าประคอง และมองหาความสําเร็จจากสิ่งเรียบง่ายรอบตัว ทั้งหมดถูกบอกเล่าอย่างเปิดเผย จริงใจ จนเหมือนผมได้ใช้ชีวิตอยู่ในบ้านหลังเดียวกับนักเขียนทั้งสองคนตลอด 10 ปีนั้น จนถึงวันสุดท้ายที่ต้องบอกลา

 

ปีกแห่งความตายของพี่โบกสะบัดอยู่ข้างหลัง ฉันวิ่งโดยมีมันคลุมหลัง ข้างหน้าคือชีวิต ซึ่งฉันสัญญากับตัวเองว่าจะใช้อย่างคุ้มค่า ฉันพร้อมแล้ว ฉันจะเผชิญหน้ากับเรื่องเล่าและสายฝนน้ันอีกครั้ง

 

เสียงที่ได้ยินนั่นคือเสียงของวอลนัท แฟนผมเอง วอลนัทเป็นนักร้องเหมือนผม ปกติวอลนัทก็รับอ่านสปอต พากย์เสียงโฆษณา ซึ่งพอทํางานสายเดียวกัน ก็มีตีกันบ้างเป็นธรรมดา เราอาศัยอยู่ด้วยกันในห้องคอนโดเล็กๆ กลางกรุงเทพฯ สักพัก จริงๆ ถ้าพูดให้ถูกคือ ผมมาขออาศัยห้องวอลนัทอยู่มากกว่า ที่ใช้อัดอยู่นี่ก็ไมค์ของวอลนัทครับ

 

การได้ทํางานนี้ถือเป็นโชคดีมากๆ เพราะนอกจากจะได้ไปเจอนักเขียนที่ชอบแล้ว ยังเป็นโอกาสให้ผมได้ กลับบ้านที่เชียงราย ซึ่งผมห่างหายไปพักใหญ่
 เอาจริงๆ คําว่า ‘กลับ’ นี่บอกอะไรเราหลายอย่าง ตอนเด็กๆ ผมเคยสงสัยว่าทําไมเราใช้คําว่า ‘กลับ’ ในการเดินทางกลับบ้าน แต่เราไปตลาด ไปโรงเรียน ไปแข่งคาราเต้ พอโตมาถึงเริ่มเข้าใจว่าในคําว่า ‘กลับ’ มันเหมือนมีแรงดึงดูดซ่อนอยู่

 

ผมว่าสถานที่ที่เราใช้คําว่า ‘กลับ’ มันคือที่ที่เรารู้สึกอุ่นใจ เป็นเจ้าของ เป็นตัวเอง รู้สึกปลอดภัยเป็นที่ที่เอาไว้ฟื้นพลัง สามารถวนเวียนมาหาได้เสมอ เราเลยต้อง ‘กลับ’ เพื่อจะตั้งหลักเดินหน้าไปหาสิ่งใหม่ไปสู้กับอะไรก็ตามที่อยู่ไกลออกไป พูดแล้วนึกถึงจุดเซฟในเกมภาษายังไงก็ไม่รู้

 

ยินดีต้อนรับ ‘กลับ’ เชียงรายครับ

 

บังเอิญมากที่พี่พูเป็นคนเชียงรายเหมือนผม พี่พูเรียนจบบัญชี ทํางานธนาคาร แล้วก็ลาออกเพราะอยากทํางานเขียนหนังสือมากกว่า จนกระทั่งพี่พูได้เจอกับ พี่กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ เธอเลยตัดสินใจย้ายลงไป ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน จนกระทั่งพี่กนกพงศ์เสียชีวิตใน พ.ศ. 2549 เรื่องราวในช่วงเวลานั้นถูกถ่ายทอดออกมาใน หยดนํ้าหวานในหยาดนํ้าตา ซึ่งได้เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ พ.ศ. 2561

 

พี่พูกําลังทําอาหารเช้าให้กับกลุ่มเพื่อนจากสํานักพิมพ์ที่มาแวะค้างคืน ตอนโทร.คุยกัน พี่พูกําลังทํานํ้าพริก พอมาถึง พี่พูก็ยังทําอาหาร อย่างกับว่าพี่เขาไม่เคยออกจากครัวเลยนับตั้งแต่ผมวางหู

 

ตอนนี้พี่พูย้ายกลับมาอยู่เชียงราย มีบ้านอยู่บนที่ดินของน้องสาว โดยเปิดเป็นห้องพักและห้องสมุดเล็กๆ ให้คนที่รู้จักหรือคนที่ผ่านมา นักท่องเที่ยว หรือใครก็ตาม มาพักผ่อนในชื่อว่า ‘สมิงพระราหู บุ๊คคลับ’ อยู่ห่างจากสนามบินเชียงรายประมาณ 20 นาที ถ้าผ่านหอนาฬิกา ผ่านร้านเนื้อตุ๋น เลี้ยวเข้ามานิดเดียวก็จะถึง

 

บ้านชั้นเดียวยกพื้นขนาดกะทัดรัด 3 หลัง จับจองกันอยู่คนละมุม ในสวนที่เขียวครึ้มด้วยต้นไม้ใหญ่ พื้นปูด้วยกรวดเม็ดเล็กเกลี่ยเป็นทางเดินอย่างมีระเบียบ ด้านในมีบ้านซึ่งดัดแปลงเป็นบาร์ค็อกเทลกับห้องสมุดเล็กๆ ที่ปูด้วยเสื่อญี่ปุ่น ดูโปร่งสบาย น่านอนเล่นอ่านหนังสือ

 

อุรุดา: เราต้องการให้มันเป็นสถานที่ของเราที่มันอยู่แล้วสบายใจ ที่เราอยากชวนเพื่อนมา เป็นบ้านที่เราพูดได้เต็มปากว่ามันเป็นบ้านของนักเขียน แม้มันจะไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของเรา โดยแบบว่าทางกฎหมาย ให้เราได้รู้สึกเป็นอันดับแรกว่าเป็นบ้านของนักเขียน 2 คน ซึ่งมันมีความหมายต่อพี่มาก เพราะพี่เป็นคนที่อยากมีบ้านมาตลอด คือจริงๆ แล้ว ชีวิตถ้ามีบ้าน มีสามี มีลูกน่ารัก ก็จะไม่เป็นนักเขียนแล้ว มันเป็นความฝันแรก ในชีวิตของเด็กสาว คือจะมีบ้าน มีสามี มีลูก แล้วก็เป็นแม่บ้าน ไม่เคยอยากทํางานอะไรเลย แปลกไหม

 

ตลอดชีวิตมานี้พี่พูเคยนับไหมครับ ย้ายบ้านมาแล้วกี่หลัง

 

อุรุดา: โห อยู่บ้านหลังแรกของพี่คือบ้านที่ถนนที่อยู่กับพ่อแม่ ซึ่งเป็นบ้านอยู่บนที่ดินของตา พี่ก็อยู่ พี่อยู่หลังหนึ่ง ตาอยู่อีกหลังหนึ่ง แล้วก็มีบ้านเช่าของตา พี่ก็อยู่กับแม่หลังนั้นหลังที่หนึ่งเป็นบ้านของแม่ในความรู้สึก

 

นับตั้งแต่บ้านแม่ ซึ่งเป็นบ้านเกิดที่เชียงรายนี้ หลังที่สองและสามคือบ้านที่อยู่กับสามีเก่าที่เชียงใหม่ พอเลิกรากัน พี่พูจึงย้ายมาอยู่หอในกรุงเทพฯ แถวซอยจรัญสนิทวงศ์ ก่อนจะได้พบพี่กนกพงศ์ จึงค่อยตัดสินใจย้ายลงไปอยู่บ้านที่พรหมคีรีเป็นหลังที่ห้า พอพี่กนกพงศ์เสียชีวิต พี่พูจึงย้ายไปหลังที่หกคือคอนโดแถวเมืองทองธานี พี่พูหลบความเศร้า มาอยู่กรุงเทพฯ ได้สักระยะหนึ่ง น้องสาวจึงชวนกลับมาช่วยทําร้านอาหารที่เชียงราย โดยปรับปรุงโรงรถแม่ให้เป็นบ้านหลังที่เจ็ด ส่วนหลังที่แปดคือบ้านที่สามพรานของ พี่ต้น-อติภพ ภัทรเดชไพศาล แฟนคนปัจจุบัน และหลังสุดท้ายคือ สมิงพระราหูบุ๊คคลับ ที่เชียงรายแห่งนี้

 

อุรุดา: ทั้งชีวิตหลังนี้หลังที่เก้า และยังไม่ใช่ของตัวเองสักหลัง และยังไม่รู้สึกว่าเป็นหลังสุดท้าย คือคนเขาจะถามว่าอยากมีบ้านไหม จริงๆ อยากมี แต่ว่าถ้ามันมีไม่ได้ก็ไม่ต้องอยาก จะได้ไม่ทุกข์ จริงๆ มันง่ายมากกว่าที่เราจะไม่อยาก ก็คืออยู่ที่ไหนก็สมาทานว่าเป็นบ้านฉัน เออ นี่ก็บ้านฉัน ฉันอยากทําอะไรฉันก็จะทํา ทําไมฉันจะต้องมีชื่ออยู่ในโฉนด อยู่ 2 ปี ก็บ้านฉัน เจ้าของเขาจะมาเอา ฉันก็ไปหาบ้านฉันหลังใหม่

 

ถ้าตื่นขึ้นมาที่บ้านที่อำเภอพรหมคีรี ปกติจะได้ยินเสียงอะไรบ้างครับ

 

อุรุดา: ถ้าเป็นหน้าทุเรียนก็เสียงทุเรียนหล่นตุ้บ ตื่นทันทีเลย เพราะจะกิน เสียงใบไม้ เสียงมอเตอร์ไซค์ หลังคาก็จะมีต้นเงาะ มีกิ่งเงาะอยู่ เวลามีลม ใบไม้ก็จะครืดหลังคา แล้วเรานอนชั้นบนจะได้ยินชัดมาก แล้วก็เสียงฝน ถ้าวันไหนตื่นมาได้ยินเสียงฝน จะต้องรีบลุกเลย ชงกาแฟ อย่างไรก็ได้ต้องไม่หงอย แล้วก็เสียงพิมพ์ดีด หลังจากที่ชงกาแฟเสร็จแล้วก็จะได้ยินเสียงปั้กๆ โคตรดัง

 

แล้วเสียงของบ้านสมิงพระราหูที่เชียงรายหลังนี้ล่ะครับ

 

อุรุดา: เสียงนก แล้วก็มีเสียงแมลงบางคืน เสียงใบไม้พัด แล้วบางครั้งก็มีเสียงรถ แล้วก็มีเสียงเปียโนบ้าง ในวันที่เขา (อติภพ ภัทรเดชไพศาล – คู่ชีวิต) อารมณ์ดี คือถ้ามันอากาศดีมากกว่า ใช้คําว่าอากาศดีมากกว่า

 

อุรุดา: ตอนห้าวๆ นะ เคยเขียนว่า บ้านคือที่ที่พี่จากไป ไม่ใช่ที่ที่พี่จะกลับมา แต่พอพี่โตเป็นผู้ใหญ่ พี่พบว่า บ้านสําคัญสําหรับทุกคนเลย ถ้าคุณไม่มีพื้นที่ของตัวเอง คุณจะไม่สามารถแสดงศักยภาพของคุณได้เต็มที่ พี่ทํากับข้าวเก่ง สมมติพี่อยากทํากับข้าวให้คนกิน ไม่ต้องขายหรอก พี่อยากทํากับข้าวให้น้องกิน 8 คนอย่างนี้ พี่อยู่คอนโดเล็กๆ พี่จะทําอย่างไร มันไม่เวิร์ก อย่างพี่ต้น (อติภพ ภัทรเดชไพศาล) อยากเล่นเปียโน อยากสอนเปียโน ถ้าคุณไม่มีที่ คุณก็ทําไม่ได้ ถ้าคุณไม่มีบ้านของคุณ ไม่มีสถานที่ของคุณ คุณก็ทําไม่ได้ / คือเราสามารถทําให้มันเอื้อได้ แต่อันดับแรกเราต้องมีก่อน เราต้องมีที่ของเราก่อน ไม่อย่างนั้นบางอย่างที่เราอยากทํามันทําไม่ได้

 

แล้วพี่พูไม่ได้อยากเป็นเจ้าของบ้านแบบจริงๆ เหรอ มีโฉนดอะไรแบบนี้

 

อุรุดา: พี่มองว่า คําว่าเจ้าของมันไม่ใช่กรรมสิทธิ์ที่จะขายได้ สําหรับพี่มันคือช่วงเวลา เพราะสําหรับพี่ ชีวิตคือเวลา คือการเดินทางของเวลา ตั้งแต่เกิดจนตายใช่ไหม เพราะฉะนั้นการเป็นเจ้าของเวลาของพื้นที่นี้ในช่วงเวลาหนึ่งก็คือการเป็นเจ้าของชนิดหนึ่ง แล้วเราได้ใช้จากมัน ได้พัฒนามัน ได้เปลี่ยนมัน ได้ทําให้มันน่าอยู่ เพื่อเราได้มาใช้มัน พี่ก็พอใจแล้ว พี่ถือว่ามันเป็นบ้าน คําว่าบ้าน มันต้องหนึ่ง บอกความเป็นเรา แล้วก็สอง เป็นที่ที่เราภูมิใจที่จะบอกใคร แล้วก็เรา ต้องสามารถสร้างอะไรได้จากที่นี่ อยากทําอะไรต้องทำได้

 

แล้วพี่พูคิดเห็นภาพไหมว่าระยะยาวจริงๆ จะอยู่ที่ไหน

 

อุรุดา: พี่ไม่คิดไกลขนาดนั้นเลย รู้แต่ว่าอยู่กับพี่ต้นกับฮุ่ง (สุนัข) แค่นั้นแหละ แล้วก็ทำงานเขียน คือพี่มองเห็นแต่สิ่งที่พี่อยากทํา แต่ว่าพี่ยังไม่เห็นสถานที่ที่แท้จริงเลย คือชีวิตเรามันไม่แน่นอน มันเปลี่ยนเยอะมากเลย แล้วโลกมันก็เปลี่ยนเร็วด้วย เราไม่รู้ว่าในอนาคตเราจะอยากใช้ชีวิตแบบไหน เรารู้แต่ว่าเราอยากทําอะไรงาน งานเขียนมันทำแน่ๆ เพราะฉะนั้นเราอยู่ที่ไหนก็ได้ คือคำว่าเจ้าของมันไม่ใช่กรรมสิทธิ์ที่จะขายได้สำหรับพี่นะ มันคือช่วงเวลา เพราะสำหรับพี่ชีวิตคือเวลา คือการเดินทางของเวลา ตั้งแต่เกิดจนตาย เพราะฉะนั้นการเป็นเจ้าของเวลาของพื้นที่นี้ในช่วงเวลาหนึ่งก็คือการเป็นเจ้าของชนิดหนึ่ง แล้วเราได้ใช้จากมัน ได้พัฒนามัน ได้เปลี่ยนมัน ได้ทำให้มันน่าอยู่เพื่อได้มาใช้มัน แค่นั้นเราก็พอใจมากแล้ว เรายังไม่มีที่ที่แท้จริงของเราที่มันเป็นกรรมสิทธิ์ อาจจะกลับไปอยู่บ้าน พี่ต้นก็เป็นไปได้ เพราะว่าไม่ต้องเช่า เป็นของค่าใช้จ่ายสูงหน่อย แต่มันใกล้กรุงเทพฯ ร้อนหน่อยก็อยู่ห้องแอร์ไป มันอาจจะเป็นอย่างนั้น หรือเราแบบอาจจะไปเช่าบ้านที่เมืองพาน อยากอยู่เมืองพาน อากาศมันดี แล้วค่าเช่ามันถูก แต่เราอาจจะเสียค่าเดินทางหน่อยเวลามาซื้อของในเมือง คือมันต้องยืดหยุ่นตาม คือชีวิตเรามันไม่แน่นอน มันเปลี่ยนเยอะมากเลย แล้วโลกมันก็เปลี่ยนเร็วด้วยเราไม่รู้ในอนาคตเราจะอยากใช้ชีวิตแบบไหน

 

ถ้าถามพี่พูชอบอยู่ตรงส่วนไหนมากที่สุด นอกจากไปเก็บตามห้อง

 

อุรุดา: โต๊ะทํางาน คือทุกวันนี้คิดถึงโต๊ะทํางานที่สุด เพราะกลายเป็นว่า เราได้อยู่กับมันน้อยที่สุด พอเราทํางาน เราแบ่งให้กับการเขียนน้อยลง แต่ว่ายังไงเราก็ต้องรักษามันไว้อยู่ ก็อีกสักพักหนึ่งเราจะปรับ มันก็ยังเขียนได้ แต่ว่ามันเหมือนว่ามีเวลาให้มันน้อยลง

 

พอพี่ให้เวลาน้อยลง พี่รู้สึกผิดกับตัวเองไหม

 

อุรุดา: ไม่รู้สึกผิด เพราะทุกวันนี้พี่เลี้ยงมันอยู่ ความเป็นนักเขียนของพี่มันไม่ได้เลี้ยงพี่เลย นึกออกไหม คือมันมีช่วงหนึ่งที่พี่อยู่ได้ด้วยการเขียน เพราะว่าพี่เป็นนักเขียนที่ได้รายได้หลักจากนิตยสาร พอนิตยสารหมด รายได้ของพี่ลดลง คือตอนนั้นพี่ก็คิดว่าพี่จะทำอย่างไร พี่ก็บอกตัวเองว่าเดี๋ยวพี่เลี้ยงมันแล้วกัน คืออุรุดาที่เป็นนักเขียน พี่จะหาเงินเลี้ยงมัน ให้มันมีข้าวกิน มีที่อยู่ เสร็จแล้วเวลาที่เหลือก็ไปเขียนหนังสือ

 

ทุกวันนี้นอกจากเปิดบ้านเป็นที่พัก ซึ่งก็ไม่ได้ทําเพื่อเอากําไร พี่พูยังเป็นแม่ค้าขายนํ้าพริกออนไลน์ เพื่อหาเงินมาใช้จ่ายในบ้าน ผมสงสัยว่าแทนที่นักเขียนซึ่งประสบความสําเร็จระดับประเทศอย่างพี่พู ที่น่าจะอยู่ได้จากงานเขียนอย่างเดียว กลับต้องแบ่งเวลามาทำอาชีพเสริมไปด้วย แต่ก็อาจเป็นเช่นเดียวกับวงการหนัง วงการเพลง และวงการ ศิลปะอื่นๆ ในประเทศเรา ในฐานะคนทํางานเพลง ผมเข้าใจพี่พู

 

ถ้าอย่างนั้นทําไมพี่ถึงยังต้องหล่อเลี้ยงนักเขียนในตัวพี่ต่อไป

 

อุรุดา: พี่เชื่อว่างานเป็นของพี่ เป็นสิ่งเดียวที่พี่จะสามารถหยิบไปในโลกหน้า หรือพี่ตายแล้วก็ยังเป็นของพี่ คืองานเท่านั้น ไม่ใช่บ้าน ไม่ใช่ผู้ชาย ไม่ใช่ลูก ไม่ใช่หมา แต่งานจะเป็นของพี่ตลอดไป มันจะมีชื่อพี่อยู่ในปกนั้น ถึงแม้ใครจะรู้หรือไม่รู้ แต่มันก็เป็นของพี่ ต่อให้มันไม่ได้เกี่ยวกับหนังสือ เป็นงานเล็กงานน้อย ถ้ามันเกิดประโยชน์กับคนอื่น แล้วนั่นก็คือสิ่งที่พี่ทําแล้วมันก็เกิดขึ้น แล้วมันก็เป็นของพี่ พี่คิดแบบนี้

 

ผมชอบคําหนึ่งใน หยดนํ้าหวานกับหยาดน้ำตา ที่พี่กนกพงศ์บอกกับพี่พูว่า “ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ขอให้ตั้งใจทํางาน เพราะงานจะปกป้องเราจากทุกสิ่ง”

 

อุรุดา: คําว่าปกป้อง อันดับแรกมันปกป้องพี่จากความรู้สึกของคนล้มเหลวก่อน เพราะพี่ไม่ใช่คนที่โผล่มาแล้วเก่ง พี่เป็นสาวแบงก์ที่พยายามจะเขียนหนังสือ เพราะฉะนั้นพี่ต้องเริ่มจากคนที่ไม่เก่งอยู่แล้ว อ่านหนังสือก็น้อย พี่จะมีความหวาดกลัว พี่จะมีความไม่มั่นใจ แล้วพี่พบว่าสิ่งที่มาช่วยพี่ได้คือการทํางานให้เยอะขึ้น เยอะขึ้นอีกๆ เพราะว่างานทุกอย่างมันก็คือทักษะ พอเราฝึกมันก็เก่งขึ้นๆ ใครดูถูกเรา เราก็ถมงานเข้าไป นี่ไงคือข้อดีของนักเขียน หรืออาจจะรวมการทําหนังด้วย ก็คือทุกสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา เราเอามาใช้ได้หมดเลย มันไม่เคยสูญเปล่า ใครทําเราเจ็บ พอถึงจุดหนึ่งเรามีความรู้สึกว่าเราเอาใช้ได้หมดเลย ไม่ใช่เราเอาเขามาเขียนนะ แต่ความรู้สึกเหล่านั้น ความกดดันหรือว่าความอึดอัด ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเรา วันหนึ่งเราเอามาใช้ เราหยิบมาใช้ได้หมดเลย มันคือลิ้นชักที่แบบยิ่งมีเยอะ ยิ่งเกิดขึ้นกับเราเยอะ เรายิ่งเอามาใช้ได้เยอะ มันใช้ได้หมด เพราะฉะนั้นนํ้าตาร้องไปเถอะ เดี๋ยวมาเปลี่ยนเป็นตัวหนังสือหมดเลย ไม่เคยเสียดายการร้องไห้ กินเข้าไป เปลี่ยนเป็นตัวหนังสือถึงวันหนึ่งก็กินได้ เพราะว่าหนังสือขายได้ กลายเป็นข้าว ถูกไหม มันกินได้ แล้วก็เราได้เรียนรู้ด้วย คือได้รู้จักความรักอีกแบบหนึ่ง

 

เห็นด้วยมากครับ ผมก็แต่งเพลงจากประสบการณ์ตัวเองล้วนๆ ก็เอาเรื่องราวต่างๆ ของผมมา ความเจ็บปวดนี่คือหม้อข้าวเลย แต่นั่นเลยเป็นเหตุผลหนึ่งที่พี่ ‘กล้า’ ผมใช้คําว่ากล้าเอาเรื่องราวของตัวเองมาเขียน โดยเฉพาะความทรงจําที่พี่มีกับพี่กนกพงศ์ จนออกมาเป็น หยดนํ้าหวานในหยาดน้ำตา

 

อุรุดา: คือเรื่องนั้นมันมีหลายความต้องการในการเขียนมากเลย ความต้องการส่วนตัวก็มี ความต้องการส่วนตัวก็คือ เราต้องการให้เห็นเขาเป็นมนุษย์ เราไม่อยากให้เห็นเขาเป็นรูปสลักแบบที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ เพราะเรารู้สึกว่าแม้แต่ตัวเองเขาเอง ถ้าเราถามเขา เราคิดว่าเขาอยากให้คนเห็นเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่เขียนงานได้ คือก่อนที่คนมันจะคิดเป็นนักเขียนมันต้องเป็นมนุษย์ก่อน แต่มันเหมือนข้ามไป ด้วยความตายของเขา ทําให้กลายเป็นแบบมีรูปปั้น ซึ่งคนที่ฉันรู้จักหายไปไหน คนที่ฉันเคยอยู่ด้วย พี่บ่าวที่น้องรู้จัก ที่สมพรรู้จัก คนคนนั้นอยู่ไหน มันจะไม่มีเลยเหรอความรู้สึกส่วนตัวที่มันไม่จําเป็นก็ได้สําหรับคนอื่น แต่นี่คือความต้องการส่วนตัวของเราที่เราอยากจะเก็บเขาไว้ เพราะว่าสําหรับเขา เราคิดว่าอันนี้เขาจะไม่ตายทุกครั้งที่มีคนอ่าน เขาก็จะมีชีวิตขึ้นอีกครั้งหนึ่งชีวิตที่เราเคยเห็น

 

แล้วอย่างตอนที่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน อย่างผมเองทํางานสายเดียวกับแฟน พี่เคยเกิดความรู้สึกแบบแข่งกันหรือว่ากดดันกันบ้างไหมครับ

 

อุรุดา: ไม่มีความแข่งอะไรเลย ไม่รู้สึกแข่ง พี่กนกพงศ์ไม่ใช่คนที่เราจะแข่งได้เลย แล้วเขาก็เป็นคนที่ให้กําลังใจเรามาก คือถ้าไม่มีเขา พี่ก็คงไม่คิดเขียนเรื่องรักให้มันดีได้ คือเขาเป็นคนที่ชอบอ่านเรื่องรักด้วย คือเขาเป็นคนอ่านหลายๆ แบบ แล้วเขาก็บอกว่ามันดีได้ คืองานศิลปะมันมีเส้นบางๆ เส้นหนึ่งที่ถ้าพูข้ามมาได้มันก็จะดี แต่ถ้าพูอยู่ข้างล่างเส้นนี้ อย่างไรมันก็ไม่ดี คุณก็ไปหาเอาเอง คือจะเขียน คุณจะกําอะไรก็ได้ที่คุณอยากเขียน แล้วก็ไปหาเอาเองว่าจะทําอย่างไร จะเดินข้ามเส้นนั้นไปให้ได้ แล้วมันก็จะกลายเป็นงานเขียนที่ดี ให้หาให้เจอ มันไม่มีการแข่งขันเลย มันไม่มีความกดดันอะไร มันแค่มีความอึดอัดตรงที่มีเขาคนเดียวที่เห็นว่าเราเป็นนักเขียน ทั้งจังหวัดหรืออาจจะทั้งประเทศ และตอนนั้นก็คือเราก็ขาดการติดต่อกับเพื่อน แล้วเพื่อนก็คิดว่าพูมันคงไม่เขียนหนังสือแล้วมั้ง แล้วก็หายไปเลยจริงๆ เรื่องสั้นก็ไม่ค่อยมีตีพิมพ์ 3 ปีแรกช่วงที่ฝึกงึมๆ งำๆ มันก็จะมีความรู้สึกว่างเปล่าบ้าง แต่ไม่มีการแข่ง ไม่มีความรู้สึกว่าอยากแข่งขัน ต่างก็ให้กําลังใจกันมากกว่า แล้วห่วงเขาเพราะว่าเขาอาการหนักกว่าเรา คือการต่อสู้ของเขาคือการหนีความต้องการความสําเร็จที่มากขึ้น มันเหนื่อยกว่าคนที่ต้องการความสําเร็จเล็กๆ เอง คือถ้าวันนี้เขียนเรื่องสั้น พอใจได้ก็เฮได้แล้ว สําหรับพี่ความกดดันมันต่างกันมากเลย

 

ผมทําดนตรีใช่ไหมฮะ แล้วแฟนผมก็ทําเพลงเหมือนกัน คือต่างคนต่างทําเพลง แล้วบางทีมันอาจจะมีการแชร์กัน ผมอ่านหนังสือพี่แล้ว เห็นจังหวะที่ต้องยื่นต้นฉบับให้กันอ่าน แล้วคอมเมนต์ ผมอินมาก (หัวเราะ) มันมีความรู้สึกที่ว่า เวลาเราคอมเมนต์แล้วรู้สึกมันคอมเมนต์ยาก

 

อุรุดา: ใช่ ยาก แต่ถ้าคุณคอมเมนต์แฟนคุณได้ คุณคอมเมนต์ทุกคนในโลกได้หมดเลย คุณต้องหัด จะกลายเป็นทักษะที่ดี เพราะคุณจะรู้ว่าด้วยความจริงใจนะ ต้องด้วยความจริงใจ ไม่ใช่ว่าเรากลัวเขาเสียใจ แต่ว่าเราจะทำอย่างไรให้คอมเมนต์แล้วเขาไม่ท้อ แต่เราก็สามารถพูดในสิ่งที่เราเห็นน่ะ เพื่อให้งานเขาพัฒนาขึ้นได้ แต่มองทางหนึ่ง มันก็เป็นการฝึกความแข็งแกร่งด้วย เพราะเดี๋ยวเขาออกไปเขาก็เจออีกเยอะ คนข้างนอก มันต้องพร้อม งานพอมันส่งออกไป มันก็เป็นสิทธิ์ของคนอื่นที่จะมองอย่างไรก็ได้ บางคนยังว่านิยายพี่เลยว่า ถ้าตัวละครไม่ได้ชื่อ กนกพงศ์ ก็เป็นเรื่องรัก น้ำเน่าเรื่องหนึ่ง พี่ก็ยังยอมรับเลย ถ้าเขาอ่านแล้วเขาคิดอย่างนั้น พี่ก็โอเค อ่านจบพี่ก็โอเคแล้ว พี่ไม่ได้เขียนงานขึ้นมาเพื่อคนทั้งโลก คือการเขียนหนังสือ หรือการทำงานศิลปะ มันเหมือนเราทำอะไรขึ้นมาแล้ว โยนลงไปในมหาสมุทร และเราไม่รู้ว่าปลาตัวไหนจะชอบกินมัน หรือสัตว์น้ำชนิดไหนจะชอบกินมัน ที่จะถูกใจมัน เราก็ปล่อยมันไป มันไม่ใช่ทุกตัวแย่งกันกิน เพราะเขาก็มีอะไรให้กินเยอะในมหาสมุทรนั้น ไม่ได้มีงานเราชิ้นเดียว

 

จริงๆ ผมมีคําถามที่แอบเก็บไว้ในใจตั้งแต่ได้อ่าน หยดนํ้าหวานในหยาดน้ำตา คือมันเล่ารายละเอียดในชีวิตส่วนตัวของทั้งคู่แบบค่อนข้างเปิดเผย โดยเฉพาะเรื่องเซ็กซ์ ผมถามได้ไหมครับว่า การที่พี่พูเขียนถึง เรื่องนี้มันมีผลกระทบอะไรกับชีวิตปัจจุบันไหม

 

อุรุดา: ถ้าเราเอางานมาก่อน เราก็ต้องยอมแลก คือคําว่างานจะปกป้องเรา คือเราต้องได้งานก่อน เราก็ต้องแลกสิ่งนี้ เพื่อให้ได้งาน เอาจริงๆ พี่เขียน หยดนํ้าหวานในหยาดน้ำตา พี่ก็ต้องแลกกับความสัมพันธ์ของพี่ต้นนะ หลายๆ เรื่องพี่จะเขียนเหรอ พี่ควรเขียนไหม มันจําเป็นไหม ทุกคนจะถามว่า เฮ้ย ฉากอีโรติก นี่มันจําเป็นไหม แต่พี่รู้ว่าพี่ต้องใส่ พี่รู้ว่ามันจําเป็น อย่างบางทีพี่เอาลง เขาเห็น คือเขาไม่อ่านนะ แต่ถ้าเขาเห็นพี่ก็จะรู้ เขาก็ถามว่าพูไม่ใส่ได้ไหม คือถ้าจะให้สมูท พี่จะไม่ใส่ แต่พี่ดื้อ พูบอกว่าพูจะไม่เขียน พูมี 2 อย่างเท่านั้น คือจะเขียนหรือไม่เขียน ถ้าพูเขียน ขอให้พูเขียนอย่างที่พูอยากเขียน ที่พูเห็นว่าพูต้องเขียน พูรู้ว่าพูต้องเขียน เพราะว่าเขาเป็นแบบนี้ เพราะสิ่งนี้สําคัญกับเขา เพราะว่าเซ็กซ์คือพลังงานของเขา มันคือพลังงานของคนคนนี้ ถ้าคุณไม่มีเลยสักฉาก มันก็ไม่ใช่เขาหรือเปล่า แล้วส่วนหนึ่งที่เราอยู่ด้วยกันได้จริงๆ ก็เพราะอันนี้ เพราะว่าเขาเป็นคนที่เชื่อว่า ถ้าเราเชื่อมโยงกันได้ ถ้าเราเข้ากันได้ในเรื่องนี้ ซึ่งมันยากมากสําหรับเขา เรื่องอื่นมันก็เข้ากันได้แล้ว มันก็คือการปลดปล่อยเขาหลายอย่าง คือเราจะไม่เขียนได้อย่างไร แต่เราก็ขี้คร้านจะไปอธิบาย เลยใช้วิธีดื้อเขียนเอา แล้วก็แลกเอา ก็ถ้าจะโกรธ ถ้าจะต้องเลิกกันเพราะเรื่องนี้ก็ให้มันเป็นไป แต่เราเชื่อแหละว่าไม่ แต่ถ้าจะโกรธกันยาวนาน สุดท้ายเขาก็เลิก เพราะพี่ก็จะบอกเขาเสมอว่า สุดท้ายสิ่งที่มันสําคัญที่สุดคือ พูปฏิบัติต่อต้นอย่างไร นั่นคือความรู้สึกที่พูมีให้ต้นในปัจจุบันนี้ มันสําคัญกว่าอะไรทั้งหมดเลยสําหรับพู แต่ถ้าว่าในงาน ถ้าพูอยากจะเขียน พูก็ต้องไปให้สุด ไม่อย่างนั้นพูจะเขียนทําไม

 

ผมมีเรื่องจะสารภาพ (หัวเราะ) ในชีวิตผมตั้งแต่ผมเกิดมาเนี่ย หนังสือที่ผมอ่านมีทั้งหมด 2 เล่ม เล่มแรกคือ Da Vinci Code เล่มที่สอง หยดนํ้าหวานในหยาดน้ำตา

 

อุรุดา: พี่ดีใจมากเลย สาธุ ตบหัวด้วย

 

แล้วก็ผมเกิดวันเดียวกับพี่กนกพงศ์

 

อุรุดา: เฮ้ย จริงเหรอ วันที่ 9 กุมภาฯ เหรอ อย่าตายวันเดียวกันนะ (หัวเราะ)

 

พี่กนกพงศ์เสียชีวิตหลังอายุครบ 40 ปี ได้เพียง 4 วัน ปีนี้ผมอายุ 30 นั่นแปลว่าตอนนี้ผมอายุเท่ากับพี่กนกพงศ์ ในช่วงเวลาที่ทั้งคู่เพิ่งย้ายไปอยู่ด้วยกันที่บ้านที่พรหมคีรีพอดี บ้านหลังที่ 5 ในชีวิตพี่พู

 

อุรุดา: นี่เอาขึ้นรถ เอาขึ้นเครื่องบินมาด้วยเหรอ

 

ใช่ครับ พอดีเวลากลับบ้านผมจะหนีบไปด้วย มันคือโต๊ะทํางานผมด้วยครับ (หัวเราะ) คือผมมีเมโลดี้ แล้วส่วนใหญ่ผมจะเริ่มจากฮัมมั่วๆ ครับ แล้วก็ยังไม่ได้ใส่เนื้อ มันมีเพลงหนึ่งที่แต่งมา เดี๋ยวก่อนนะ ลืมเมโลดี้ จะเล่นให้พี่ฟัง เดี๋ยวก่อนนะ ผมตั้งใจว่าอยากเขียนเพลงเกี่ยวกับการ ‘ปิ๊กบ้าน’ มานานมาก การกลับบ้านอะไรแบบนี้ มันก็ใช้เวลากับสถานที่อื่น แล้วอยากแต่งเพลงที่เกี่ยวกับความรู้สึกที่เราได้กลับมาที่บ้านหลังเก่า หรือความรู้สึกที่เห็นสภาพแวดล้อมเดิมๆ ที่มันยังอยู่ อาจจะเป็นสถานที่ของพี่ อาจจะไม่รู้เป็นบ้านหลังไหนใน 10 หลังนี้ ของผมอาจจะเป็นการพูดแทนค่าเป็นเชียงราย เหมือนแต่งเมโลดี้ไว้ เดี๋ยวลองฮัมให้พี่ฟังมั่วๆ

 

เสียง เอ็ม ยศวัศ ฮัมเมโลดี้ดังขึ้น

 

อันนี้ความรู้สึกคือกลับบ้าน เหมือนเป็นธีมหรือปักคําไว้อีก

 

อุรุดา: หรือว่าเราลงละเอียดไปอีกล่ะ ว่ากลับบ้านหมายถึงอะไร หรือทําไมอยากกลับบ้าน จะกลับบ้านตอนไหน อะไรแบบนี้ เอ้อ เราอยากเขียนถึงการกลับบ้าน แต่มันหมายถึงอะไรวะ เราจะกลับไปตอนไหนเหรอ แล้วทําไมเราต้องกลับ ตอนนี้เรายังอยากกลับไหม ลังเล ยังไม่อยากกลับ

 

แต่เมื่อไรที่เราถามปุ๊บ แล้วเราตอบปั๊บ คือตัดสินใจแล้ว อันนั้นคือความรู้สึก

 

อุรุดา: ใช่ เรายังลังเลใช่หรือเปล่า ถ้าเรายังลังเลก็แสดงว่า การกลับบ้านของเราเป็นเรื่องอนาคต หรือถ้าเอ็มหมายถึงเชียงรายก็แสดงว่าเป็นเรื่องของอนาคต แต่ทําไมเอ็มถึงอยากเขียน ตรงนี้ต่างหากที่พี่ว่ามันสําคัญ ความรู้สึกนี้คือยังไม่อยากกลับ จะให้กลับพรุ่งนี้ มีคนเตรียมบ้านไว้รอ แล้วเอ็มก็ยังไม่อยากกลับ แต่ทําไมเราอยากเขียนเรื่องการกลับบ้าน ความหมายของมันคืออะไร

 

เอาจริงๆ ผมไม่เคยถามตัวเองจริงจังเหมือนกันว่าผมคิดอย่างไรกับการกลับบ้าน ทําไมผมถึงอยากเขียนเพลงนี้กันแน่ ผมอยากจะบอกอะไรกับคนฟัง อย่างที่บอกว่า ผมแค่หลับตานึกถึงภาพบ้านผมที่นี่ นึกถึงคนที่อยู่ที่นี่ นึกถึงสถานที่ที่คุ้นเคย ว่ามันยังอยู่เหมือนเดิมหรือไม่

 

ผมโตมาในบ้านเดียวกับปู่กับย่า เป็นบ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ ยกพื้นใต้ถุนสูง ตั้งแต่เด็ก เราวิ่งเล่นเสียงดังบนบ้านไม้ พอเหยียบเท้าแรงๆ เข้าไป ไม้ก็จะดัง ปู่กับย่าก็จะคอยบ่นผมเบาๆ ว่า “เอ็มเบาๆ หน่อย” ตอนนั้นเรารู้สึกรำคาญมาก เรารู้สึกอยากออกไปจากที่นี่ แต่พอได้ย้อนกลับไป พอได้ห่างบ้านมา มันทำให้ผมคิดถึงเสียงบ่นอะไรอย่างนั้น เหมือนตอนที่ผมยังเป็นเด็ก ตอนเช้าๆ ตื่นขึ้นมาเสียงแรกที่ได้ยินคือ เสียงไก่ในเล้าขันปลุกแต่เช้า ปู่กับย่าผมเป็นชาวนา ชาวสวน บริเวณรอบๆ บ้าน เลยเต็มไปด้วยต้นไม้และสวนผักที่ปลูกไว้ให้กิน ส่วนที่ผมชอบที่สุดก็คือใต้ถุนบ้าน มันคือสวนสนุกไพรเวตที่หาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว มีเสาให้ผมวิ่งหลบเล่น สวนข้างๆ มีพื้นดินสภาพดีที่ผมชอบไปขุดหลุมดีดลูกแก้ว เล่นพื้นที่ติดกัน อีกฝั่งเป็นสนามหญ้า พอตกเย็นผมชอบเตะบอลเล่นกับญาติและน้องชายผม เวลาวิ่งเล่นจะมีเสียงปู่ย่าตะโกนบอกให้เล่นระวังๆ กันหน่อย บางทีก็ชวนกินข้าวสลับกับเสียงพูดคุยของปู่กับย่ากับคนเฒ่าคนแก่ละแวกนั้น ตอนนี้ปู่บุญศรีอายุ 84 ส่วนย่าคําเอ้ยอายุ 80 ทั้งคู่ยังแข็งแรงดี

 

เวลาผ่านไป ผมโตขึ้น ปู่กับย่าแก่ขึ้น แต่ผมรู้สึกโชคดีที่บ้านเรายังเหมือนเดิม

 

จาก หยดนํ้าหวานในหยาดน้ำตา พี่พูเขียนถึงพี่กนกพงศ์ตลอดทั้งเรื่อง ผมเห็นภาพนักเขียนที่มีวินัยเข้มงวดและจริงจังกับงานมาก ผมเหมือนจะรู้จักเขา เพราะในบางจังหวะผมเหมือนเห็นภาพตัวเองสะท้อนอยู่ในชีวิตเขา จากการได้พบพี่พูทําให้ผมอยากรู้จักพี่กนกพงศ์ผ่านงานเขียนของเขาดู ผมเลยขอยืม แผ่นดินอื่น รวมเรื่องสั้นของเขามาอ่าน และสะดุดกับข้อความนี้ในบทนํา

 

“หลายปีมานี้ผมเกิดความรู้สึกว่างานหนักของนักเขียนไม่ได้อยู่ที่การนั่งตอกพิมพ์ดีดหามรุ่งหามคํ่า ทว่า กลับอยู่ท่ีการพยายามทําความเข้าใจชีวิตและสังคมเป็นสําคัญ การทําความเข้าใจดังกล่าวดําเนินควบคู่ไปกับการจัดระบบชีวิตตนเอง ประสานความคิด ความเช่ือ และศรัทธา เข้าเป็นหน่ึงเดียวกับกระบวนแห่งพฤติกรรม ในเมื่อเบื้องหลังของงานเขียนคือชีวิตทั้งชีวิต เบื้องหลังวรรณกรรมคือตัวตนสัมบูรณ์ของนักเขียน สัมฤทธิ์ผลของงานเขียน ย่อมมีรากฐานมาจากศักยภาพของชีวิต”

 

ผมไม่แน่ใจว่าเข้าใจความหมายของข้อความนี้ทั้งหมดหรือเปล่า แต่ผมคิดว่าพี่กนกพงศ์กําลังหมายถึง ‘บ้าน’ ถ้าเบื้องหลังของเพลงคือตัวตนของผม ในฐานะนักแต่งเพลง ผลลัพธ์ของงานเพลงหรืองานเขียนของผมย่อมมีรากฐานมาจากชีวิต จากบ้านที่ผมอาศัยอยู่ตอนนี้ สภาพแวดล้อมในชีวิตของผม ณ ขณะนี้

 

ช่วงแรกที่ผมย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ ใหม่ๆ ผมกลัวมาก ไม่รู้ทาง ขึ้นรถไฟฟ้าไม่เป็น ไม่มีคนรู้จัก กรุงเทพฯ เป็นสถานที่แปลกหน้า แต่พอเวลาผ่านไป ผมค่อยๆ สร้างความทรงจําและความสัมพันธ์จนเราคุ้นเคยกันมากขึ้น มาถึงตอนนี้ผมคิดว่า นอกจากจะ ‘กลับเชียงราย’ แล้ว ผมสามารถพูดคําว่า ‘กลับกรุงเทพฯ’ ได้เต็มปากสักที

 

ในชีวิตเราจะมี ‘บ้าน’ ได้กี่หลัง บ้านสมิงพระราหู บ้านในหุบเขาที่พรหมคีรี บ้านที่เชียงราย บ้านที่กรุงเทพฯ มันคงไม่ได้ขึ้นอยู่กับโฉนดหรือกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายอย่างที่พี่พูว่า สุดท้ายผมคิดว่าขอบเขตของบ้านน่าจะอยู่ในช่วงเวลาระหว่างเราเท่านั้นเอง ผมคิดว่าผมพอเข้าใจแล้วครับพี่พู อยากให้พี่ได้ลองฟังเพลงนี้ดูนะครับ

 

บนทางท่ีเคยเดินมาไกล แค่ต้องการตามใจให้ไปเจอความฝัน

วันน้ันถึงวันนี้มันก็ผ่านมานาน แต่ฉันก็ยัง

เดินวนเหมือนคนเดินหลงทาง และคือหน่ึงเสียงใจเรียกให้กลับไปหา

ท่ีแห่งน้ันที่ที่ฉันได้เคยเดินจากมา และท่ีนั่นก็คือบ้านหลังเก่า

ท่ีแห่งนี้มีความหมาย แม้ไม่กว้างใหญ่เหมือนท้องฟ้าท่ียาวไกล

แค่มีฉันกับเธอข้างกายจนวันสุดท้าย

ท่ีแห่งนี้มีความหมาย แม้ไม่กว้างใหญ่เหมือนท้องฟ้าท่ียาวไกล

แค่มีฉันกับเธอข้างกายจนวันสุดท้าย Credits

 


 

Director & Script Writer & Editor ณฐพล บุญประกอบ

Subject อุรุดา โควินท์

Narrator ยศวัศ สิทธิวงค์, สายทิพย์ วิวัฒนปฐพี

Producer ทรงพล จันทรสม

Editor รชตะ ทองรวย

Sound Mixing ยศวัศ สิทธิวงค์

Show Creator ภูมิชาย บุญสินสุข

Show Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์

Graphic Designer เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล

Proofreader ภาวิกา ขันติศรีสกุล

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

FYI
  • Somewhere I Belong ที่นี่ที่ของเรา สนับสนุนโดย บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์และนวัตกรรมการอยู่อาศัย เพราะเอพีเข้าใจความสุขในทุกรูปแบบของชีวิต
  • การรังสรรค์พื้นที่อยู่อาศัยรูปแบบใหม่ Luxury Duplex Home ภายใต้แนวคิด “Timeless Masterpiece” พร้อมรองรับการใช้ชีวิตแบบ Cross Generation ด้วยเอกสิทธิ์สุดพิเศษเพียง 56 ครอบครัว ที่นี่ที่เดียว THE SONNE ศรีนครินทร์ – บางนา เริ่มต้น 12-15 ล้าน* พร้อมเปิดให้เข้าชมแล้ววันนี้ ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ Exclusive Privileges 300,000 บ.* คลิก
  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising