ทุกคนคงเคยมีเพื่อนหรือเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งที่ ‘เป๊ะ’ ไปเสียทุกอย่าง ต้องมาตรงเวลา ต้องกินอาหารให้ตรงเวลา ทำงานต้องสมบูรณ์ มีแบบแผนชีวิตที่ชัดเจนว่าแต่ละวันต้องทำอะไร ความเป๊ะนั้นอยู่ในพื้นที่ของเขาไม่เดือดร้อนใคร แต่บางครั้งคนรอบข้างอย่างเราก็อาจเกร็งและอึดอัดได้
R U OK เอพิโสดนี้เลยอยากชวนทำความเข้าใจนิสัย ‘เป๊ะ’ ของเพื่อนว่ามีสาเหตุมาจากอะไร และในขณะเดียวกันหากตัวเองเป็นคนที่เป๊ะจนคนอื่นอึดอัดอย่างนี้ เราจะเริ่มต้นคลี่คลายตัวเองอย่างไรได้บ้าง
ข้อดีข้อเสียของความเป๊ะ
การมีวินัยกับตัวเองทั้งชีวิตและเรื่องงานนั้นแน่นอนว่าเป็นเรื่องดี เพราะสามารถทำทุกอย่างที่ตัวเองวางแผนไว้สำเร็จ รวมถึงเรื่องงานก็ออกมาสมบูรณ์แบบ เพราะคนที่เป๊ะส่วนใหญ่จะไม่ให้งานพลาดๆ ปล่อยออกไป บางคนสามารถเจรจากับคนรอบข้างให้คนรอบข้างเข้าใจในจุดประสงค์ความเป๊ะของตัวเอง จึงไม่เกิดปัญหา แต่ในความเป็นจริงแล้วความมีวินัยอย่างเคร่งครัดก็ไม่ได้ตอบโจทย์ชีวิตทุกอย่าง บางครั้งเราจึงพบว่าเมื่อพลาดก็อาจผิดหวังอย่างรุนแรงก็ได้
เพราะบางคนที่ไม่รู้จักความยืดหยุ่นผ่อนปรน ความเป๊ะก็อาจสร้างผลเสียให้กับตัวเองและคนอื่น มีบางครั้งคนที่เคร่งครัดกับตัวเองมากๆ จะรู้สึกผิดหวังและโทษตัวเองอยู่ตลอดเวลาที่ไม่สามารถทำได้อย่างใจ ปล่อยให้ความรู้สึกไม่สมบูรณ์เฆี่ยนตีตัวเองไปเรื่อยๆ เพราะไม่รู้จักการให้อภัยความผิดพลาดของตัวเอง หรือบางคนก็เป๊ะเสียจนคนรอบข้างอยู่ด้วยแล้วอึดอัด แม้ว่าจะทำงานออกมาได้สมบูรณ์แบบแค่ไหน แต่ก็กลับพบว่าตัวเองไม่มีความสุขในการทำงานเลยเนื่องจากไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง
เมื่อลองสำรวจลึกๆ ลงไปในใจอาจพบว่า การมีวินัยกับตารางของตัวเอง รวมถึงความสมบูรณ์แบบในการทำงานนั้นส่วนใหญ่มักมีพื้นฐานมาจากความกลัวที่จะต้องเผชิญหน้ากับความผิดพลาด และไม่รู้จะจัดการกับแผลที่เกิดขึ้นนั้นอย่างไร หรือบางคนก็เตรียมพร้อมทุกอย่างไว้อย่างรัดกุม เพราะไม่อยากต้องรับมือกับความเครียดที่เกิดจากการต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก็ได้
แม้ความมีระเบียบกับตัวเองและคนอื่นจะเป็นเรื่องดี แต่หากสุดโต่งโดยไม่รู้จักผ่อนปรนก็อาจสร้างผลเสียได้ เพราะฉะนั้นแล้วเราควรรู้จักยืดหยุ่นให้กับตัวเองและคนรอบข้าง เพื่อที่อย่างน้อยเราจะได้ไม่ต้องรู้สึกโบยตีตัวเองและสามารถมองข้ามความผิดพลาดของคนอื่นได้ในที่สุด
จะเริ่มต้นอย่างไรถ้าอยากยืดหยุ่น
1. ถ้าเริ่มรู้ว่าตัวเองเป๊ะเกินไปจากเสียงสะท้อนของคนรอบข้าง ลองถามตัวเองดูว่ามีความสุขกับนิสัยนี้ของตัวเองไหม ถ้ารู้สึกว่าสิ่งที่ทำเป็นสิ่งที่ถูกต้องพอดีอยู่แล้วก็ปล่อยให้ดำเนินต่อไป แต่ถ้าเริ่มเอะใจหน่อยๆ ถึงความเป๊ะ ลองถามตัวเองดูว่าถ้าตัวเองหรือเพื่อนร่วมงานเกิดทำพลาด เราจะจัดการกับสถานการณ์นั้นๆ อย่างไร ถ้าเห็นภาพตัวเองโกรธแบบไม่น่าให้อภัยก็ให้ลองฝึกพลาดดู
2. การฝึกพลาดที่ว่าคือการพลาดที่เราเป็นผู้กำหนด ทำอย่างตั้งใจ เพื่อเป็นการฝึกทักษะและเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองง่ายๆ อย่างเช่น ถ้าทำงานสักชิ้นหนึ่งแล้วรู้ว่าถ้าฝืนตัวเองทำต่ออีกนิดทุกอย่างจะสมบูรณ์แบบ ลองทำให้สำเร็จแค่พอประมาณแล้วส่งเพื่อดูฟีดแบ็กของอีกฝ่าย คนที่เป๊ะมาทั้งชีวิตเมื่ออ่านถึงตรงนี้อาจจะขมวดคิ้วแล้วรู้สึกว่าเราจะทำเรื่องพลาดๆ ไปเพื่ออะไร แต่อย่าลืมว่านี่คือการฝึกนิสัยของตัวเอง และถ้าผ่านขั้นตอนนี้จะทำให้เกิดการเรียนรู้ความผิดพลาดเป็นเพียงส่วนหนึ่งของมนุษย์ ไม่ใช่เรื่องเสียหาย ถ้าได้ฟีดแบ็กกลับมาจากลูกค้าหรือเจ้านาย เราก็แค่แก้ไขไปตามนั้น
หรือวิธีที่ง่ายๆ อย่างคนที่ตรงต่อเวลาแบบเป๊ะๆ เมื่อเพื่อนบอกว่ามาสาย แทนที่จะอ้าปากตำหนิอย่างไม่พอใจ ลองยั้งตัวเองให้ไม่วิจารณ์ออกไป ลองกินช้อนส้อมที่ไม่เข้าคู่ ลองไม่จัดโต๊ะอาหารให้ตรงตำแหน่งที่เคยเป็น เริ่มจากการเรียนรู้เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้ และทำโดยมีสติ จะทำให้เราเกิดนิสัยใหม่ขึ้นได้
เพราะชีวิตเราต้องอยู่กับความผิดพลาดเสมอ ไม่มีมนุษย์คนไหนที่สามารถทำได้สมบูรณ์ไปเสียทุกอย่าง การได้คุ้นเคยกับความผิดพลาดมาบ้างจะทำให้เราแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ดีขึ้น
Credits
The Hosts ปอนด์ ยาคอปเซ่น
ดุจดาว วัฒนปกรณ์
Show Creator อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Episode Producer & Editor อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า
Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์
Music Westonemusic.com