×

รู้สึกไม่มีเพื่อนเลยจะเป็นโรคต่อต้านสังคมไหม และจะเริ่มต้นอย่างไรถ้าอยากผูกมิตรกับใครสักคน

18.09.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index

02:55 คนที่ไม่มีเพื่อนเลย แปลกไหม

03:17 นิยามของคำว่า เพื่อน

05:17 การมีเพื่อนต้องใช้ทักษะ

06:47 บางคนเลือกแล้วที่จะไม่มีเพื่อน

07:44 Anti Social หรือโรคต่อต้านสังคมคืออะไร

09:30 เริ่มต้นผูกมิตรกับคนอื่นอย่างไรดี

14:36 ทักษะการมีเพื่อนเริ่มต้นตอนเป็นเด็ก

นอกจากคนในครอบครัวและคนรัก ความสัมพันธ์อีกรูปแบบหนึ่งที่มนุษย์ต้องการคือคำว่าเพื่อน เพราะเพื่อนคือคนสนิทที่สามารถเข้าในพื้นที่ปลอดภัยและเข้าใจเราในวันที่แย่ๆ แต่คนที่ผ่านชีวิตมาระดับหนึ่งจะรู้ว่า เพื่อนมักจะหล่นหายไปตามกาลเวลาจนทุกวันนี้เราเหลือเพื่อนอยู่ไม่กี่คน และบางครั้งก็แทบไม่มี

 

R U OK เอพิโสดนี้เลยจะมาช่วยนิยามความหมายคำว่าเพื่อนให้ชัด ว่าหมายถึงอะไร การที่เราไม่มีเพื่อนเลยถือว่าเป็นเรื่องแปลกไหม ใช่โรคต่อต้านสังคมอย่างที่ใครพูดๆ กันหรือเปล่า และท้ายที่สุดหากอยากเป็นเพื่อนกับใครสักคน จะเริ่มความสัมพันธ์นั้นอย่างไรดี

คำว่าเพื่อน

 

ในสังคมไทยเรามักใช้คำว่า ‘เพื่อน’ อย่างแพร่หลายเพื่อนิยามความสัมพันธ์หลากหลายรูปแบบ ทั้งเพื่อนร่วมงาน เพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมรุ่น ฯลฯ แท้จริงแล้วเขาเหล่านั้นอาจเป็นแค่คนร่วมสถานที่ทำงาน คนที่บังเอิญที่อยู่อาศัยใกล้กัน หรือคนที่เรียนร่วมสถาบันเดียวกัน แต่เป็นแค่คนรู้จักและไม่ใช่เพื่อนในความหมายจริงๆ

 

เพราะ เพื่อน หมายถึง คนสนิทนอกเหนือจากคนในครอบครัว ที่สามารถเข้ามาสู่พื้นที่ส่วนตัวและปลอดภัยของเราได้ เป็นคนที่คอยเกื้อหนุนทั้งเรื่องทางกายภาพและความรู้สึก เป็นคนที่คอยปลอบประโลมในวันที่เรารู้สึกอ่อนแอ และคอยพาข้ามผ่านความรู้สึกแย่ๆ ในวันที่เราไม่เข้มแข็ง คำว่าเพื่อนจึงมีความหมายที่ค่อนข้างลึกซึ้งกว่าที่ใช้กันทั่วไป

 

เมื่อเห็นความหมายของคำว่าเพื่อนแล้ว เราอาจรู้ว่าการมีเพื่อนและรักษาความสัมพันธ์ให้ได้ตลอดรอดฝั่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก โดยเฉพาะเมื่อใช้ชีวิตมาจนถึงจังหวะที่เพื่อนที่เห็นหน้าค่าตากันอยู่ทุกวันแยกย้ายกันไปมีชีวิตส่วนตัว โลกของเราและเพื่อนก็แยกห่างออกจากกันเรื่อยๆ การหาคนที่รู้สึกพอเหมาะพอดีกับความรู้สึกจึงเป็นเรื่องยาก ความรู้สึกที่ว่า ไม่มีเพื่อนเลย จึงเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้ และไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไร

 

ทำไมถึงไม่มีเพื่อน

 

  1. มีทักษะในการเข้าหาคนอื่นน้อย

 

ทักษะการเข้าสังคมและการผูกมิตรกับคนอื่นนั้น เราถูกฝึกมาตั้งแต่เด็ก แรกๆ ตอนที่อยู่ที่บ้านเราเป็นเหมือนศูนย์กลางจักรวาลของครอบครัว แต่เมื่อเข้าโรงเรียนเราอาจพบว่านอกจากตัวเองแล้วที่ห้องเรียนกลับมีศูนย์กลางจักรวาลมารวมตัวกันมากมาย ครูในวัยเด็กจึงสอนให้เรารู้จักแบ่งปันของเล่น ซึ่งผูกมิตรกันได้บ้าง ตีกันบ้าง ก็ค่อยเรียนรู้กันไป เราถูกกล่อมเกลาให้เข้าสังคมเรื่อยมาจนถึงตอนเรียนจบ เวลานั้นเราอาจเป็นตัวของตัวเองและไม่รู้สึกว่าต้องแบ่งปันอะไรกับใคร ทักษะเหล่านั้นก็ไม่ได้ถูกฝึก คล้ายกับกล้ามเนื้อที่ไม่ได้ออกกำลัง ความสามารถในการผูกมิตรกับคนรอบตัวจึงลดน้อยลงไปเป็นลำดับ

 

  1. อาจมีประสบการณ์ไม่ดีในการเข้าสังคม

 

บางคนในวัยเด็กอาจถูกรังแก โดน Bully จนเป็นแผลในใจ และทำให้รู้สึกว่าเมื่อไรที่เข้าสังคมจะเกิดความเครียด วิตกกังวล ซึ่งความรู้สึกเหล่านั้นสั่งสมมาจนถึงตอนโตและรู้สึกว่าการมีเพื่อนและการมีสังคมจะทำให้รู้สึกเจ็บปวด จึงเลือกที่จะไม่มีเพื่อนเพื่อปกป้องความรู้สึกของตนเอง

 

  1. เลือกแล้วว่าจะไม่มีเพื่อน

 

สำหรับบางคนอาจมีทักษะการเข้าสังคม ไม่ได้ประสบการณ์ที่ไม่ดี แต่กลับเลือกแล้วว่าการมีเพื่อนเป็นมนุษย์ทำให้รู้สึกวุ่นวายและเป็นการยากเกินไปที่จะหาเพื่อนที่พอดีกับตัวเอง เลยเลือกที่จะเชื่อมโยงตัวเองกับธรรมะ รู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวและอบอุ่นกับธรรมชาติที่แวดล้อมมากกว่าต้องการการโต้ตอบจากเพื่อนมนุษย์ก็ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไร และเขาเหล่านั้นก็ไม่ได้มีอาการต่อต้านสังคมอย่างที่ใครๆ ว่ากัน

 

คนที่ไม่มีเพื่อนเป็นโรคต่อต้านสังคมไหม

 

การที่เราจะเหมาว่าคนที่ไม่มีเพื่อนทุกคนเป็นโรคต่อต้านสังคม ก็ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องนัก เพราะเราไม่สามารถเอาพฤติกรรมเพียง 1 อย่างมาวินิจฉัยโรคทั้งหมด การที่ไม่มีเพื่อนอาจเป็นความต้องการของเจ้าตัวโดยที่ไม่ใช่โรคก็ได้

 

คนส่วนใหญ่มักใช้คำว่าต่อต้านสังคมเป็นสแลงเพื่อเรียกคนไม่มีเพื่อน ซึ่งผิดความหมายจริงๆ ของคนที่มี บุคลิกภาพแบบต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder) อย่างมาก เพราะการที่จะเป็นถึง ‘โรค’ ต้องมีความรุนแรงและอาการหลายอย่างประกอบกัน เช่น มีอาการชอบละเมิดสิทธิของผู้อื่น รวมถึงละเมิดกฎเกณฑ์ของสังคมอย่างตั้งใจ และรู้สึกเป็นสุขที่ได้ทำอย่างนั้น ไม่มีความยับยั้งชั่งใจตอนโกรธ มีความก้าวร้าว จนถึงสามารถทำร้ายร่างกายเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างไม่รู้สึกผิด เหล่านี้เป็นพฤติกรรมเบื้องต้นของคนที่มีบุคลิกภาพแบบต่อต้านสังคม​ ซึ่งการมีเพื่อนหรือไม่มีเพื่อนจึงไม่ใช่เรื่องที่ใช้เป็นตัวตัดสินแต่อย่างใด

 

ถ้าอยากมีเพื่อนต้องเริ่มต้นอย่างไร

 

อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าการผูกมิตรกับผู้อื่นเป็นเรื่องของทักษะ ดังนั้นแล้วจึงเป็นเรื่องที่ฝึกฝนกันได้ โดยมีหลักการกว้างๆ ที่สามารถปรับใช้กับตัวเองได้คือ

 

  1. เริ่มต้นด้วยการถามตัวเองอย่างตรงไปตรงมาก่อนว่าเราพร้อมที่จะไว้ใจหรือเป็นผู้ให้ใครสักคนหรือเปล่า เพราะอย่าลืมว่าการมีเพื่อนคือการ ‘Give & Take’ คือเราไม่สามารถคาดหวังว่าต้องการเพื่อนและจะเป็นผู้รับเพียงอย่างเดียว เพราะการให้ได้มาซึ่งความสัมพันธ์นั้นเราต้องเป็นผู้ให้ก่อน

 

  1. ถามตัวเองว่าอยากเป็นเพื่อนกับใคร เช่น กลุ่มเพื่อนที่วิ่งด้วยกัน จากคนที่เห็นหน้าค่าตากันอยู่ประจำ และรู้สึกว่ามีอะไรเหมือนกันและน่าจะเข้ากันได้ หรือเพื่อนที่ทำงานบางคน ที่นอกจากทำงานเข้าขากันแล้วยังรู้สึกว่าสามารถไว้ใจและพัฒนาเป็นเพื่อนจริงๆ ได้

 

  1. เริ่มจากการเป็นคนเอื้อมมือไปหาคนที่อยากเป็นเพื่อนก่อน พูดให้เป็นรูปธรรมคืออาจเริ่มด้วยการทักทายทำความรู้จัก การทำแบบนี้เป็นเหมือนสัญญาณว่าเราเปิดประตูต้อนรับความสัมพันธ์ใหม่ๆ แล้ว

 

  1. เริ่มพูดคุยจากสิ่งที่เหมือนกัน ในภาษาทางจิตวิทยามีคำว่า ‘Rapport’ คือการเชื่อมสัมพันธ์ด้วยสิ่งที่เหมือนกัน เช่น ลองทักว่าใช้ของเหมือนกัน ชอบศิลปินคนเดียวกัน เคยทำงานที่เดียวกัน การเริ่มต้นสนทนาด้วยความเหมือนจะทำให้ความสัมพันธ์เป็นไปได้ง่ายกว่า

 

  1. พัฒนาความสัมพันธ์ต่ออย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยการเล่าเรื่องส่วนตัวบ้าง ถามเรื่องส่วนตัวบ้าง ที่สำคัญคือค่อยๆ ประเมินความรู้สึกของอีกฝั่งว่าสามารถที่จะก้าวล้ำไปได้มากแค่ไหน

 

  1. คอยรับฟังหรือช่วยให้คำปรึกษาเมื่ออีกฝ่ายร้องขอ โดยอย่าเพิ่งดีเบต การเป็นเพื่อนกันไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกัน แต่สำคัญตรงที่สามารถยอมรับมุมมองที่ไม่เหมือนกันนั้นได้ต่างหาก

 

  1. ลองแบ่งใจดูว่าความสัมพันธ์ที่เราคาดหวังไว้อาจไม่เป็นไปตามต้องการ เพราะอีกฝ่ายสามารถปิดประตูไม่รับความสัมพันธ์นั้นได้ ซึ่งไม่ใช่ความผิดของทั้งเขาและเรา แต่อาจเป็นเรื่องความรู้สึกและความต้องการที่ไม่เหมือนกัน

 

นอกจากทั้ง 7 ข้อนี้ ถ้าอยากมีเพื่อนแต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรหรือใช้วิธีไหนถึงจะเวิร์ก ลองสังเกตคนใกล้ชิดที่มีเพื่อนเยอะๆ หรือเข้าสังคมเก่งๆ ดูว่าเขาใช้วิธีไหน และมีอะไรที่สามารถปรับใช้กับตัวเองได้บ้าง ลองหัดทำดูถ้าไม่ฝืนใจเกินไปนัก เพราะการเรียนรู้วิธีการผูกมิตรด้วยวิธีต่างๆ ก็เป็นเหมือนเรามีคลังเครื่องมือไว้ ถ้าเจอเหตุการณ์ที่พอเหมาะเมื่อไรก็สามารถหยิบเครื่องมือนั้นมาใช้งานได้ทันที

 


 

Credits
The Hosts
ปอนด์ ยาคอปเซ่น

ดุจดาว วัฒนปกรณ์

 

Show Creator อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Episode Producer & Editor อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

Webmaster รพีพรรณ เกตุสมพงษ์

Music Westonemusic.com

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising