×

สิ่งของต้องวางเป๊ะ ล้าง ปิด เช็กอะไรซ้ำๆ เราเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำหรือเปล่า

10.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index

02:47 จริงๆ แล้วย้ำคิดย้ำทำมีอาการอย่างไร

07:17 ย้ำคิดย้ำทำไม่ได้มีแค่ทำอะไรซ้ำๆ

14:45 ปัญหาทางจิตส่วนใหญ่ซับซ้อนและทับถมกันมา

20:15 รักความสะอาดกับย้ำคิดย้ำทำแตกต่างกันอย่างไร

21:25 Perfectionist กับย้ำคิดย้ำทำ

23:22 ถ้าคนรอบตัวมีอาการย้ำคิดย้ำทำเราควรจะรับมืออย่างไร

สิ่งแรกเมื่อพูดถึงอาการทางจิตเวชอย่างการย้ำคิดย้ำทำ หลายคนจะนึกถึงภาพคนที่ชอบล้างมือบ่อยๆ ก่อนออกจากบ้านก็เช็กสวิตช์ไฟ เช็กว่าปิดเตาแก๊สเรียบร้อยหรือเปล่า ล็อกบ้านดีหรือยัง ซ้ำๆ อยู่หลายครั้ง จนบางทีก็ไม่แน่ใจว่าคนรอบตัวของเราเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ หรือแค่เป็นคนรักความสะอาดและละเอียดรอบคอบมากๆ กันแน่

 

ปอนด์ ยาคอปเซ่น และ ดุจดาว วัฒนปกรณ์ ชวนทุกคนมารู้จักอาการของโรคย้ำคิดย้ำทำให้มากขึ้น ให้หายสงสัยว่า แบบไหนที่คนทั่วไปก็เป็นกัน และแบบไหนต้องหาหมอ

 


 

โรคย้ำคิดย้ำทำคืออะไร

โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder หรือ OCD) คืออาการทางจิตเวชอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นจากภาวะความวิตกกังวลที่เราอาจจะไม่รู้ตัวแต่สะสมมาเป็นเวลานาน อาจเป็นเหตุการณ์เล็กๆ หรือประสบการณ์ใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นกับเรา เช่น บางคนเคยออกจากบ้านแล้วลืมปิดแก๊สทำให้ไฟไหม้บ้าน ในเวลาต่อมาคนคนนี้มีโอกาสเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำด้วยการเปิดปิดแก๊สตลอดเวลาก็ได้ และสำหรับผู้ป่วยบางรายอาจเกิดจากการทำงานของสมองบางส่วนผิดปกติ โดยสาเหตุของแต่ละคนนั้นจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับการตรวจวิเคราะห์ของแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ

 

อาการของโรคย้ำคิดย้ำทำ

เพื่อไม่ให้รู้สึกว่าไกลตัวเกินไป เราลองสำรวจตัวเองขณะที่อ่านบทความนี้ดูก็ได้ว่ามีอาการเหล่านี้อยู่หรือเปล่า ถ้าเข้าข่ายข้อใดข้อหนึ่งอาจรีบปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อความสบายใจ

 

อาการของโรคย้ำคิดย้ำทำนั้นแบ่งเป็น 2 ส่วน

 

1) การย้ำคิด

จะเริ่มจากที่เรามักมีความคิด เป็นคำ เป็นภาพ และมีแรงกระตุ้นเรื่องเดิมซ้ำๆ โดยที่บางครั้งก็แวบขึ้นมาแบบไม่รู้สาเหตุ ห้ามตัวเองไม่ได้ แล้วเราก็มักจะรู้ตัวว่าเรื่องที่แวบเขามานั้นเป็นเรื่องที่เราไม่ได้ต้องการทำหรืออยากให้เกิด ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่องในด้านลบ ความก้าวร้าว ความรุนแรง ความสกปรก ความตาย เช่น

 

1. คิดว่ามือตัวเองสกปรกอยู่ตลอดเวลา ไปจับไปโดนอะไรมานิดเดียวก็รู้สึกว่าสกปรก อาจมีคำว่า ‘สกปรก’ วิ่งแล่นอยู่ในหัวอยู่ตลอดเวลาโดยที่เราไม่สามารถห้ามได้

 

2. คิดว่าไม่ได้ปิดแก๊สหรือไม่ได้ล็อกประตู โดยในหัวมีแต่ความคิดว่าตัวเองอยู่ท่ามกลางอันตรายและความไม่ปลอดภัย เลยมีความวิตกกังวลเกิดขึ้นมาว่าปิดแก๊สหรือยัง ปิดแก๊สสนิทหรือยัง ถ้าไฟไหม้ล่ะ เราปิดแก๊สหรือยัง หรือกังวลว่าตัวเองตกอยู่ในอันตรายเลยต้องล็อกประตูให้สนิททุกครั้งก่อนออกจากบ้าน และความกังวลเรื่องการล็อกบ้านก็จะผุดขึ้นมาในความคิดบ่อยๆ

 

3. มีความคิดลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือบุคคลในฐานะที่อยู่เหนือกว่า แวบเข้ามาในหัว โดยห้ามไม่ได้ ทั้งที่ไม่ได้มีความรู้สึกร่วมกับคำคำนั้นและไม่ได้อยากทำอย่างนั้นจริงๆ เป็นคำที่แล่นผ่านความรู้สึกเราเฉยๆ เช่น กำลังไหว้พระ แล้วอยู่ๆ ก็มีคำหยาบแวบเข้ามาโดยไม่รู้สาเหตุ หรือทั้งๆ ที่เราเองก็ไม่มีจิตใจอยากลบหลู่

 

4. เมื่อเจอคนแปลกหน้า จะมีความคิดเรื่องเพศหรือความรุนแรงแวบเข้ามาในหัว ทั้งที่ไม่มีแรงขับ หรือความรู้สึกอยากทำอย่างนั้น เพียงแต่เป็นคำหรือความคิดที่เกิดขึ้นมาอย่างไม่มีสาเหตุ เช่น เมื่อต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า อยู่ๆ ก็มีคำว่า ‘แทง’ โผล่ขึ้นมาในหัว ทั้งที่เราไม่ได้รู้สึกอยากทำร้ายเขาแต่อย่างใด แต่เราห้ามตัวเองไม่ได้ หรือเวลาไปเที่ยวภูเขา พอเห็นคนยืนอยู่ใกล้หน้าผา อยู่ๆ ก็มีคำว่า ‘โดด’ ผุดขึ้นมาในความคิด ทั้งที่เราไม่ได้อยากให้เขาตกลงไปหรืออยากผลักเขาลงไปจริงๆ

 

2) การย้ำทำ

อาการทั้งหมดของการย้ำคิดคือเราจะรู้สึกไม่สบายใจกับความคิดพวกนี้อย่างมาก บางครั้งรำคาญด้วยซ้ำที่ความคิดนี้ไม่หายไปจากหัวเราเสียที เลยส่งผลให้เกิด การย้ำทำ ขึ้นมาเพื่อให้การย้ำคิดทั้งหลายที่อยู่ในหัวนั้นจางลงหรือหายไปในที่สุด อาการย้ำทำจึงสัมพันธ์กับการย้ำคิดอย่างเลี่ยงไม่ได้ ตัวอย่างเช่น

 

1. เดินไปล้างมือบ่อยๆ เพราะในหัวมีแต่คำว่า ‘สกปรก’ เลยต้องไปล้างมือให้รู้สึกสกปรกน้อยลง แต่สักพักเดียวคำว่าสกปรกก็จะโผล่ขึ้นมาอีก ก็เลยต้องไปล้างมืออีกครั้ง ย้ำไปย้ำมาอย่างนี้เรื่อยไปไม่หยุด

 

2. ปิดแก๊สซ้ำๆ หรือบิดลูกบิดล็อกบ้านซ้ำๆ เช่น ออกจากบ้านล็อกประตูครั้งแรก อยู่ๆ ก็เกิดความรู้สึกไม่สบายใจกลับบ้านไปล็อกใหม่ แล้วก็ทำวนซ้ำเพราะรู้สึกว่าตัวเองปลอดภัยไม่พอ หรือต้องทำซ้ำๆ ไม่อย่างนั้นอาจจะเกิดเหตุร้ายขึ้นได้

 

3. พูดขอโทษซ้ำๆ เพราะรู้สึกว่าตัวเองยังดีไม่พอ ทั้งที่บางครั้งเกินความจำเป็น

 

4. นับเลขซ้ำๆ หรือทำอะไรอย่างเป็นขั้นตอนซ้ำๆ เช่น เวลาไปเที่ยวแล้วมีกระเป๋าอยู่หลายใบ ก็จะมีความคิดในหัวแวบเข้ามาว่าเดี๋ยวกระเป๋าหาย เลยต้องนับกระเป๋าซ้ำๆ และพอนับเสร็จเพียงไม่นานก็มีความรู้สึกว่ามันจะหายเกิดขึ้นมาอีก ก็ต้องนับอีกต่อไปเรื่อยๆ ไม่หยุด หรือบางคนก่อนจะกินข้าวก็จะมีท่าทางซ้ำๆ เกิดขึ้นเหมือนเป็นพิธีกรรมเพราะคิดว่านี่คือขั้นตอนที่ถูกต้อง

 

5. จัดวางสิ่งของให้เป็นระเบียบเรียบร้อยให้รู้สึกว่ามันอยู่ในที่ของมันอย่างถูกต้องอยู่ตลอดเวลา ถ้าใครมาขยับจะรู้สึกไม่สบายใจอย่างมาก จะต้องเดินไปขยับให้กลับเข้าที่เดิม หรือต่อให้ไม่มีใครมาขยับ ความไม่สบายใจว่าสิ่งของเหล่านั้นวางอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ถูกต้องก็เกิดขึ้นซ้ำๆ จนต้องเดินไปขยับมันอยู่บ่อยๆ จนบางครั้งเสียเวลาเป็นวันเลยก็มี

 

6. เก็บสะสมของที่ไม่จำเป็น เก็บทุกอย่างที่ตัวเองมีไว้เต็มบ้าน ไม่ทิ้งอะไรเลย ทั้งถุงพลาสติก แพ็กเกจของผลิตภัณฑ์ ของชำร่วยงานแต่งงาน ใบเสร็จต่างๆ ด้วยความกลัวว่าสักวันหนึ่งของเหล่านี้อาจเป็นประโยชน์ในอนาคต อาจจำเป็นและช่วยให้เราปลอดภัยได้

 

7. ขับรถด้วยความกลัวตลอดเวลา กลัวว่าจะขับรถไปชนคนหรือสัตว์ ส่งผลให้มีพฤติกรรมเช็กข่าวชนแล้วหนีอยู่เป็นประจำ ทั้งๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน เพราะกลัวว่าตัวเองอาจจะทำไปโดยไม่รู้ตัว

 

อย่าเพิ่งตกใจ เราอาจไม่ได้มีอาการย้ำคิดย้ำทำ

อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนเริ่มสำรวจตัวเองแล้วคิดว่าต้องเข้าข่ายโรคย้ำคิดย้ำทำแน่ๆ เราเป็น OCD แน่ๆ เลย แต่เดี๋ยวก่อน อาการย้ำคิดย้ำทำกับอาการอื่นๆ ที่คนทั่วไปเขาก็เป็นกัน (และไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไร) จะมีเส้นบางๆ คั่นอยู่ เช่น

 

1. เราก็ชอบล้างมือบ่อยๆ นี่เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำหรือเปล่า

คนที่รักความสะอาดมากและสงสัยว่าตัวเองมีอาการ OCD ที่ง่ายที่สุดคือให้ลองถามตัวเองว่า เมื่อรู้สึกสกปรก พอเราได้ล้างมือ ความรู้สึกสกปรกหรือความไม่สบายใจนั้นหายไปหรือเปล่า ถ้าล้างมือแล้วรู้สึกพอใจ ไม่เป็นกังวลอะไร ก็ไม่ใช่อาการของโรคย้ำคิดย้ำทำ แค่เป็นคนรักความสะอาดเท่านั้น

 

คนที่เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำนั้น ต่อให้ล้างมือไปแล้ว ความคิดว่า ‘สกปรก’ จะวนกลับมาอีกซ้ำๆ อย่างห้ามไม่ได้ ส่งผลให้เขาต้องล้างมืออย่างนั้นต่อไปเรื่อยๆ เพราะจะรู้สึกว่าล้างเท่าไรก็ไม่สะอาดสักที

 

2. สิ่งของต้องได้องศา เป๊ะอยู่ตลอดเวลาอย่างนี้ เราเป็น Perfectionist หรือย้ำคิดย้ำทำกันแน่

ลองนึกภาพว่าถ้ามีของสิ่งหนึ่งวางตำแหน่งไม่ได้องศา ไม่เข้าฉาก หรือไม่ได้อยู่ในที่ที่ควรจะอยู่ ถ้าได้เดินไปขยับให้มันเข้าที่แล้ว เรารู้สึกสบายใจหรือเปล่า ถ้าสบายใจเราก็อาจเป็นเพียงคนที่รักความสมบูรณ์แบบ (Perfectionist) แต่คนที่มีอาการย้ำคิดย้ำทำจะเดินมาจัดมุมอยู่ แม้จะไม่มีใครมาขยับใดๆ เพราะมีความกังวลอยู่ในหัวว่ามันยังไม่อยู่ในตำแหน่งที่ดีพอ จึงต้องทำซ้ำอย่างนั้นเรื่อยไป หรือถ้าเราจัดห้องให้เป๊ะเป็นระเบียบแล้วรู้สึกภูมิใจมากอยากถ่ายรูปอวดเพื่อนในเฟซบุ๊ก เราก็ไม่ได้มีอาการย้ำคิดย้ำทำ เพราะคนที่ย้ำคิดย้ำทำ เขาจะจัดอยู่อย่างนั้นโดยรู้สึกว่าไม่เสร็จสักที ทั้งที่อยากออกไปจากตรงนี้แล้ว แต่มันยังไม่ดีสักที ก็เลยยังไปไหนไม่ได้

 

เข้าใจคนที่มีอาการย้ำคิดย้ำทำ

1. สำหรับคนที่มีอาการย้ำคิด ความคิดที่มันแวบขึ้นมานั้นมันห้ามไม่ได้ บางครั้งเขาก็รู้สึกผิดด้วยซ้ำที่มีความคิดอย่างนั้นขึ้นมา

 

2. คนที่มีอาการย้ำคิดย้ำทำร่วมกัน เขาจะมีความกังวลเรื่องบางเรื่องอยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถสลัดออกจากความคิดได้ ต่อให้หายไป แต่ไม่นานมันจะกลับมาใหม่ เขาก็จะมีความทุกข์

 

และในขณะเดียวกัน เมื่อเขาทำอะไรซ้ำๆ ก็จะรู้สึกผิดและอายที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองให้อยู่ในภาวะปกติได้

 

3. อาการย้ำคิดย้ำทำมีความซับซ้อน บางครั้งจะพบว่าเราจะไม่ได้มีการย้ำคิดอยู่แค่เรื่องเดียว อาจจะหลายเรื่องปนกัน รวมถึงอาการย้ำทำก็สามารถแสดงออกด้วยอาการหลายอย่างเช่นกัน นอกจากนั้นแล้วยังมีความสัมพันธ์กับโรคทางจิตเวชอื่นๆ เช่น โรคกลัวสังคม (Anti Social) โรควิตกกังวล หรือโรคแพนิก เป็นต้น เพราะฉะนั้นเมื่อรู้ว่าตัวเองเริ่มเข้าข่ายก็ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญทันที

 

ถ้าตัวเองหรือคนรอบตัวมีอาการย้ำคิดย้ำทำ ควรทำอย่างไร

1. เริ่มด้วยทัศนคติที่ว่า อาการหรือโรคทางจิตเวชเกือบทุกอย่างสามารถหายได้ หรืออย่างน้อยก็สามารถรักษาเพื่อบรรเทาให้เราอยู่ร่วมกับมันได้ อาการย้ำคิดย้ำทำนั้นเมื่อพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอก็มีโอกาสดีขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน

 

2. สำหรับคนที่รู้ตัวเองว่ามีอาการย้ำคิด แต่ยังไม่ได้มีพฤติกรรมย้ำทำ เมื่อลองสำรวจตัวเองดูแล้วพบว่าสามารถจัดการความคิดนั้นได้ และมันไม่ได้ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันก็ไม่ต้องไปพบแพทย์ แต่เมื่อไรเริ่มรู้สึกตัวว่าไม่สามารถจัดการได้ เริ่มมีแรงกระตุ้นให้ทำตามความคิดนั้น ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญโดยด่วน

 

3. เมื่อสังเกตเห็นคนในรอบตัวเริ่มทำพฤติกรรมบางอย่างซ้ำๆ แล้วเขามีความทุกข์จากการทำสิ่งนั้น อาจเป็นเรื่องยากที่จะเข้าไปพูดคุย เพราะคนที่เป็นจะรู้สึกอายในสิ่งที่ตัวเองทำ เพราะฉะนั้นอาจเริ่มถามด้วยความเป็นห่วงว่าสิ่งที่เขาทำนั้นโอเคอยู่หรือเปล่า ถ้าเขาโอเคเราก็อาจจะต้องปล่อยเขาไป แต่ถ้าเมื่อไรที่เขาเริ่มทุกข์และรู้สึกว่าอยากหายจากอาการนั้น ก็ควรพาเขาไปพบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ

 

สิ่งสำคัญคือไม่ควรเสิร์ชข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตเพื่อทดลองรักษาเอง เช่น ไปพบคำแนะนำว่า กลัวสิ่งใดให้เผชิญหน้าสิ่งนั้น ก็เลยเอามาตีความเองว่า ถ้าหยุดทำความสะอาดไม่ได้ ให้ยึดไม้กวาด ยึดผ้าขี้ริ้ว ซึ่งไม่ควร นอกจากยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าวิธีนี้จะทำให้หายได้จริงหรือไม่ ยังมีความเสี่ยง เพราะเป็นการเล่นกับจิตใจคน อาจไปสร้างแผลในจิตใจเพิ่มเข้าไปอีก การพบแพทย์จึงเป็นทางออกที่ดี่สุด โดยแพทย์อาจจ่ายยาเพื่อปรับสารเคมีในสมอง ร่วมกับการทำจิตบำบัด หรือพฤติกรรมบำบัด เพื่อสืบหายังไปยังสาเหตุของอาการ และร่วมกันปรับพฤติกรรมอย่างค่อยเป็นค่อยไปและหายได้ในที่สุด


ฟังรายการ R U OK พอดแคสต์ โดยแอปฯ Podcasts (สำหรับผู้ใช้ iOS), Podbean และแอปฯ ประเภท Podcast Player ยี่ห้อใดก็ได้ (สำหรับผู้ใช้ Android) หรือฟังทาง SoundCloud และ YouTube ก็ได้เช่นกัน

 


 

Credits

The Hosts ปอนด์ ยาคอปเซ่น, ดุจดาว วัฒนปกรณ์

 

Show Creator อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Episode Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

Music Westonemusic.com

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising