×

ติ่งหนักขนาดนี้ยังโอเคอยู่ไหม ควรเข้าใจและช่วยเหลืออย่างไรถ้ามันไปไกลกว่าคำว่าพอดี

20.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index
04:17 ระดับความติ่ง
09:52 ทำไมถึงติ่ง
13:15 ติ่งหนักแค่ไหนถึงต้องไปหาหมอ
13:58 ถ้าพ่อแม่เป็นติ่งควรทำอย่างไร
18:23 ถ้าลูกเป็นติ่ง พ่อแม่ควรเข้าใจอย่างไร
23:55 เป็นติ่งไม่เดือดร้อนใคร แต่มีเรื่องอะไรที่ควรระวังบ้าง
26:55 ถ้าเพื่อนติ่งหนักมาก เราจะปรับทัศนคติตัวเองอย่างไร

ภาพของแฟนคลับกรี๊ดศิลปินคนโปรดตามงานอีเวนต์หรือคอนเสิร์ตนั้นเป็นเรื่องปกติที่เราคุ้นเคยกันดี แต่ในความเป็นจริงยังมีแฟนคลับขั้นกว่าที่เรียกกันว่า ติ่ง ที่อาจถึงขั้นติดตามไปทุกที่ที่ศิลปินออกงาน บางคนสะสมผลงานของ ‘เมน’ (ศิลปินที่ชอบที่สุดในวงนั้นๆ) ครบทุกเวอร์ชัน แม้บางครั้งต่างกันแค่หน้าปก บางคนตามไปถึงต่างประเทศ หรือบางคนก็ลงทุนซื้อของชิ้นใหญ่ๆ มูลค่าหลายหลักก็มี

 

พฤติกรรมของ ติ่ง ข้างต้นจึงเป็นที่สงสัยของใครหลายคนว่ามันเกินพอดีไปหรือเปล่า เรียกว่ายังโอเคอยู่ไหม ความคลั่งไคล้ในระดับนี้เป็นสิ่งที่ต้องรักษาเยียวยาหรือไม่ พอดแคสต์ R U OK เอพิโสดนี้จะพาไปรู้จักความติ่ง และหวังว่าจะทำให้คุณเข้าใจคนใกล้ตัวมากขึ้น หากเขาหรือเธอไปติ่งศิลปินหรือดาราที่ไหนสักคน

 

ระดับความติ่ง

ที่จริงการคลั่งไคล้คนดังนั้นมีมานานแล้ว เช่น ในรูปแบบของ ‘แม่ยก’ ที่คล้องพวงมาลัยแบงก์ร้อยแบงก์พันให้พระเอกลิเก หรือ ‘แฟนคลับ’ ที่คอยไปรับไปส่งศิลปินต่างประเทศที่สนามบิน หลายคนในช่วงวัยรุ่นอาจเคยเป็นแฟนคลับของศิลปินทั้งไทยและต่างประเทศมาแล้วมากมาย ซึ่งอาจเกิดได้ทั้งจากความชอบในตัวศิลปินจริงๆ หรืออีกกรณีหนึ่งคือเกิดจากการอยากถูกยอมรับจากเพื่อนรอบข้าง เช่น เพื่อนทั้งกลุ่มชอบศิลปินคนนี้อย่างรุนแรง เราชอบแค่ประมาณหนึ่ง แต่ในที่สุดก็ต้องคลั่งไคล้ตามน้ำไปด้วย เพราะไม่อยากแปลกแยก เป็นต้น

 

แต่ความติ่งไม่ได้เกิดกับวัยรุ่นเท่านั้น มันสามารถเป็นกันได้ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย และระดับความคลั่งไคล้จะหนักขึ้น เช่น ซื้อบิลบอร์ดกลางสี่แยกเพื่อแสดงความยินดี ซื้อสื่อโฆษณาในสถานีรถไฟฟ้าเพื่อสุขสันต์วันเกิด รวมเงินกันซื้อเสื้อผ้าหรือสิ่งของราคาแพง ระดับแฟนคลับอาจดูคอนเสิร์ตสักรอบสองรอบ แต่ติ่งต้องดูทุกรอบ บางคนถึงขนาดลางานเพื่อตามศิลปินกันเลยทีเดียว

 

ทั้งนี้ทั้งนั้น ในบรรดาติ่งที่ชอบศิลปินคนเดียวกันก็อาจมีการแบ่งซอยเป็นกลุ่มย่อย และในระหว่างกลุ่มย่อยก็อาจมีการแสดงความรักต่อศิลปินแบบบลัฟกันไปมา ของขวัญต้องเด็ดกว่า กิมมิกในการดูคอนเสิร์ตต้องตระการตากว่า ศิลปินต้องหันมาคุยกับกลุ่มฉันก่อน

 

แล้วทำไมถึง ติ่ง

ดุจดาว วัฒนปกรณ์ (นักจิตบำบัด) กล่าวว่า ในทางจิตวิทยาแล้ว การชื่นชอบใครสักคนเป็นเรื่องธรรมชาติมากของมนุษย์ทุกคน แต่การพยายามบวกหรือผูกตัวเองไปเป็นส่วนหนึ่งของศิลปินคนนั้นจะทำให้เพิ่ม self esteem หรือเพิ่มความรู้สึกว่าตัวเองมีค่า เพราะได้รู้สึกว่า

 

1. เราเป็นส่วนหนึ่งของเขา ภาพลักษณ์ ความสำเร็จ และชื่อเสียงของเขาเกิดจากเรา เขาได้รับความรู้สึกอะไร เราก็จะซึมซับไปด้วย

 

2. การให้ความรักกับใครสักคนทำให้เรารู้สึกดี ยิ่งทำก็ยิ่งรู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้นไปด้วย

 

เพื่อนติ่งแค่ไหนถึงต้องพาไปหาหมอ

ในทางการแพทย์ ติ่งบางคนอาจมี CWS (Celebrity Worship Syndrome) คือความผิดปกติทางจิตที่มีอาการเสพติดและหมกมุ่นกับตัวตนและชีวิตของคนดังในระดับคลั่งไคล้บูชา ตั้งแต่ชื่อเสียง หน้าตา ผลงาน การใช้ชีวิตส่วนตัว ความเป็นอยู่ อาหารการกิน ยี่ห้อข้าวของที่ใช้ ถ้าเป็นถึงขนาดนี้อาจต้องการความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ

 

ลองเริ่มจากคำถามง่ายๆ ก่อนว่าการเป็นติ่งของตนหรือของคนใกล้ชิดนั้นสร้างความเดือดร้อนให้ใครหรือไม่

ถ้าการเป็นติ่งนั้นไม่ได้เดือดร้อนใคร เจ้าตัวเองก็ไม่เดือดร้อนอะไร ก็ไม่มีความจำเป็นต้องรักษา

ถ้าเขาทำแล้วมีความสุข รู้สึกสนุกกับการได้ชื่นชอบใครสักคน แถมมีเพื่อนมากขึ้น ได้ทำความรู้จักกับสังคมใหม่ๆ การงาน การเรียน ชีวิตครอบครัว หรือการเงินก็ไม่ได้รับผลกระทบอะไรก็ควรปล่อยให้เขาเป็นติ่งไป เพราะในความเป็นจริงแล้ว พื้นฐานของชีวิตคนเรานั้นต่างกัน เช่น ถ้าเรามีต้นทุนชีวิตแค่นี้ แต่อีกคนมีต้นทุนชีวิตเยอะมาก เราต้องเข้าใจว่าเขาจะใช้จ่ายอย่างไรก็ได้ ตราบใดที่เขาไม่เดือดร้อน นั่นคือสิทธิอันชอบธรรมของเขา

 

ถ้าพ่อแม่เราเป็นติ่ง

อย่างที่ได้ในกล่าวข้างต้นว่าการเป็นติ่งสามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย แล้วถ้าติ่งคนนั้นคือพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ในครอบครัวเรา บางคนถึงกับซื้อบ้านซื้อรถให้ศิลปิน เอาเวลาที่ควรจะอยู่กับครอบครัวไปตามศิลปิน กระทบทั้งทรัพย์สิน กระทบทั้งเวลา เรื่องอย่างนี้ต่อให้เราเด็กกว่า ทางออกที่ดีที่สุดคือต้องคุยกัน

 

1. ถ้าเป็นครอบครัวที่พอจะพูดคุยกันได้ก็คุยกันดีๆ และแสดงความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมาว่าเราไม่โอเคตรงไหน เพราะอะไร เช่น รู้ว่าแม่ชอบศิลปินคนนี้ จะชอบก็ไม่ว่าอะไร แต่เราจำเป็นต้องใช้เงินกับเขาขนาดนี้ไหม

 

2. ถ้าผู้ใหญ่มีปฏิกิริยาต่อต้าน บอกว่านี่คือเงินที่เขาหามาด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง ในฐานะลูก การบอกว่าเราไม่โอเค อย่างน้อยคือได้แสดงความกังวล และเรามีสิทธิ์จะพูด แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องนึกไว้เสมอว่าเราเองก็ไม่มีสิทธิ์จะไปเปลี่ยนเขา แม้เราจะเป็นลูกก็ตาม

 

เมื่อมีโอกาสพูดคุยแสดงความกังวล อาจถามตรงๆ ได้ว่าแม่ทำไปทำไม พ่อทำขนาดนี้เพราะอะไร เพราะลูกก็ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าที่เราไม่ชอบการกระทำของพ่อแม่ก็เพราะเราไม่เข้าใจเขา ดังนั้นสำคัญที่สุดคือเราต้องเป็นผู้ฟังที่ดีจึงจะเห็นเหตุผลที่แท้จริง เพราะในเชิงจิตวิทยานั้น การกระทำที่เป็นรูปธรรมมักจะมีความต้องการที่เป็นนามธรรมที่เรามองไม่เห็นอยู่ลึกๆ เบื้องล่าง เช่น ที่แม่เราเอาเงินทองไปซื้อของให้ศิลปิน เพราะแม่อาจต้องการเป็นคนสำคัญ หรือเป็นที่ต้องการของใครสักคน แม่เลยรู้สึกว่าการให้สิ่งของมีค่าจะทำให้ศิลปินคนนั้นมองว่าแม่มีค่าสำหรับเขา หรือเป็นคนสำคัญของชีวิตเขา

 

ถ้าเป็นเช่นนั้น เราต้องตั้งคำถามแล้วล่ะว่าทำไมแม่ไม่สามารถตามหาความรู้สึกนี้ได้จากคนในครอบครัว เราควรต้องมองตัวเองว่าเราทำหน้าที่ของลูกบกพร่องหรือเปล่า อย่างบางครอบครัวลูกทำงานหนัก หรือแต่งงานมีครอบครัวของตัวเองกันไปหมดแล้ว แต่แม่ยังรู้สึกอยากเป็นแม่ เป็นผู้ให้ หรือยังอยากดูแลใครสักคนอยู่ แต่ไม่สามารถให้ลูกได้เหมือนเดิม การไปติ่งศิลปินสักคนเป็นพื้นที่ที่ถูกอนุญาตให้ทำเช่นนั้นได้ เรื่องการซื้อของมีค่าหรือทุ่มเวลาทั้งหมดที่มีให้กับศิลปินจึงเกิดขึ้น

 

ถ้าลูกเป็นติ่งล่ะ พ่อแม่ควรทำอย่างไร

ถ้าลูกเราเป็นติ่งหนักมาก แถมเอาเงินที่พ่อแม่ให้ไปทุ่มเทกับศิลปิน สิ่งที่ควรทำคือ

 

1. ฟังลูกก่อน ว่าลูกมีความสุขอย่างไรบ้างในการได้ติ่งศิลปินต่างๆ รู้ว่าเป็นเรื่องยากสำหรับคนเป็นพ่อแม่ เพราะอาจมีเรื่องอัดอั้นล้นปรี่ที่อยากพรั่งพรูใส่ลูก แต่การอนุญาตให้เขาพูดก่อนจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น การฟังในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าต้องยอมหรือเห็นด้วยเสมอไป แต่ให้ฟังเพื่อทำความเข้าใจต่างหาก

 

2. อย่าเพิ่งรู้สึกว่าสิ่งที่ลูกทำเป็นเรื่องที่ ‘เกินไป’ เพราะคำว่าเกินไปของแต่ละคนนั้นไม่มีทางเท่ากัน

 

3. ในกรณีที่ลูกสามารถบริหารเงินของตนจนเหลือไปทำในสิ่งที่เขาชอบ เช่น การไปติ่งศิลปินต่างๆ เหล่านี้ พ่อแม่ ควรชื่นชมก่อนเลยว่าลูกจัดการเงินได้ดี ถ้าเงินนี้ได้มาด้วยความสุจริต ต้องยอมรับเลยว่าลูกเก่ง แต่พ่อแม่ก็ควรบอกต่อไปด้วยว่า สิ่งที่ลูกทำนั้นทำให้พ่อแม่รู้สึกอย่างไร อาจลองถามว่าถ้าเก็บออมเงินได้มากขนาดนี้ ที่ผ่านมากินข้าวอย่างไร ติดตามศิลปินมากขนาดนี้ ที่ผ่านมาอ่านหนังสือสอบทันได้อย่างไร พ่อแม่ควรฟังลูกก่อน เพราะเขาอาจบริหารจัดการเงินและเวลาได้ดีจริงๆ ก็เป็นได้

 

ถ้าเพื่อนเราติ่งหนักมาก เราควรเข้าใจเขาอย่างไร

ถ้าเพื่อนเป็นติ่งแล้วมาชวนให้เราไปคอนเสิร์ตด้วยกัน แต่พอไม่ไปด้วยก็งอน และเราเองก็เริ่มไม่โอเคที่เพื่อนเป็นแบบนี้ สิ่งที่เราควรทำคือปรับทัศนคติของตัวเองเป็นอันดับแรกด้วยการยอมรับในความแตกต่างว่าคนเรามีสิทธิ์ชอบไม่เหมือนกันได้ และเมื่อถูกชวน เราเองก็มีสิทธิ์ปฏิเสธได้เช่นกัน แต่ต้องระวังไว้เสมอว่า อย่าปฏิเสธโดยการต่อต้านกลับ ดูถูก โจมตี หรือไปลดคุณค่าสิ่งที่คนอื่นชอบ เช่น คำพูดทำนองว่า “ก็แค่ศิลปินธรรมดา ไม่เห็นวิเศษตรงไหน แกจะอะไรกันนักหนา” เพราะถ้ามีใครมาพูดถึงสิ่งที่เราชอบแบบนี้ เราเองก็คงไม่โอเคเหมือนกัน

 

ถึงติ่งจะไม่เดือดร้อนใครก็มีเรื่องควรระวัง

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า การเป็นติ่ง หากตัวเองไม่ได้เดือดร้อนทั้งเรื่องทรัพย์สินและเวลา และในขณะเดียวกันก็ไม่ทำให้คนรอบข้างหรือความสัมพันธ์เสียก็จริงอยู่ แต่ก็ต้องมีเรื่องควรระวังอยู่เหมือนกัน

 

1. การที่เราไปติ่งใครสักคน เท่ากับว่าเราโฟกัสทุกสิ่งทุกอย่างไปที่เขาทั้งหมด เหมือนเอาสปอตไลต์ของชีวิตทุกดวงฉายไปที่ศิลปินคนนั้น ซึ่งอาจทำให้ตาเราไม่ได้มองกลับมาที่ตัวเอง หรือไม่ได้มองมาที่ปัญหาที่เราควรต้องเผชิญหน้า

 

สิ่งที่ควรถามตัวเองคือ เราไม่ลืมที่จะเผื่อสายตากลับมามองตัวเองด้วยใช่ไหม เรามีเวลาทบทวนตัวเองบ้างหรือเปล่า เราแบ่งเวลามาจัดการปัญหาที่อยู่ในใจของตัวเองบ้างหรือยัง

 

2. สปอตไลต์ที่ส่องอยู่ที่ศิลปิน นอกจากแบ่งกลับมาส่องดูตัวเองแล้ว ได้แบ่งไปส่องดูคนรอบข้างด้วยหรือเปล่า คนใกล้ตัวที่เราควรดูแลเขาไม่ได้ถูกละเลยใช่ไหม

 

3. ระวังติดนิสัยในเรื่องการเปย์ เพราะแม้เปย์แล้วจะไม่ทำให้ตนหรือคนอื่นเดือดร้อน การทุ่มเงินทองอาจกลายเป็นนิสัย รักใครชอบใครก็เปย์ จนที่สุดแล้วอาจทำให้เราหลงลืมหรือมองไม่เห็นไปเลยว่ายังมีวิธีในการแสดงความรักแบบอื่นๆ อีกหลายอย่าง ทุกวันนี้เรายังแสดงความรักความใส่ใจด้วยวิธีอื่นๆ อยู่อีกด้วยไหม

 

ถ้าตอบคำถามทั้ง 3 ข้อนี้แล้วรู้สึกว่าตัวเองจัดการได้หมด เราก็สามารถติ่งได้เต็มที่ เพราะเราสามารถทำทั้งสิ่งที่ชอบและรับผิดชอบชีวิตของตัวเองได้

 

แล้วติ่งแค่ไหนถึงควรให้ความช่วยเหลือ

บางคนติ่งจัดจนลืมตัว ในฐานะคนใกล้ชิด เราสามารถช่วยเพื่อนสนิทได้ด้วยการสังเกตแง่มุมต่างๆ ดังนี้

 

1. สุขภาพ เป็นเรื่องพื้นฐานที่สุด ลองสังเกตว่าเขายังดูแลตัวเองโอเคไหม ตัดผมบ้างไหม ตัดเล็บบ้างไหม ดูแลผิวพรรณบ้างไหม หรือปล่อยตัวเองจนโทรม เมื่อเห็นสัญญาณว่าเพื่อนเริ่มละเลยตัวเอง คนรอบข้างควรสะกิดเตือนสักนิด

 

2. สังคม มีปัญหากับสภาพแวดล้อมบ้างไหม เช่น งานค้างทั้งปีทั้งชาติ สะสางไม่จบไม่สิ้นเสียที เลื่อนนัดกับเพื่อนบ่อยๆ ทะเลาะกับแฟนบ่อยๆ แต่ก็ยังมีเวลาไปติ่งศิลปินที่ตัวเองชอบอยู่เสมอ การกระทำแบบนี้อาจเป็นสัญญาณเบื้องต้นในการวิ่งหนีปัญหาของตัวเอง เขาต้องการความช่วยเหลือแล้ว

 


ฟังรายการ R U OK พอดแคสต์ โดยแอปฯ Podcasts (สำหรับผู้ใช้ iOS), Podbean และแอปฯ ประเภท Podcast Player ยี่ห้อใดก็ได้ (สำหรับผู้ใช้ Android) หรือฟังทาง SoundCloud และ YouTube ก็ได้เช่นกัน

 

 


 

Credits

The Hosts ปอนด์ ยาคอปเซ่น และ ดุจดาว วัฒนปกรณ์

 

Show Creator อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Episode Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

Music Westonemusic

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising