×

บอ.บู๋ คอลัมนิสต์ที่ชีวิตแสบร้อนที่สุดในวงการฟุตบอล

09.07.2018
  • LOADING...

ชื่อของ บอ.บู๋ ต่อให้เป็นคนที่ไม่สนใจเรื่องฟุตบอลก็น่าจะพอรู้จัก ในบทบาทคอลัมนิสต์และนักจัดรายการก็จะมีทั้งคนชิงชังและชื่นชอบ แม้จะโดนด่าว่าปากจัด หยาบคาย ไร้จรรยาบรรณ แถมโดนสื่อแบนหลายครั้ง แต่เขาก็ยังเป็นตัวจริงที่อยู่ในวงการนี้มาได้กว่า 20 ปี และมีแฟนๆ ติดตามอย่างเหนียวแน่น

 

ความผูกพันกับฟุตบอลเริ่มจากอะไร การเป็นตัวเองในวงการนี้มันยากแค่ไหน เขาเรียนรู้อะไรจากความผิดพลาด และเขาจะอยู่กับเรื่องฟุตบอลไปอีกนานเท่าไร

 

กดปุ่ม Play ด้านบนเพื่อฟังพอดแคสต์ Random Wisdom ซีรีส์พิเศษ Soccer Wisdom แต่ถ้าถนัดอ่านก็ไล่สายตาเพื่อเสพบทความด้านล่างได้เลย

 

 

นิยามตัวเอง

ไม่อยากใช้คำว่าเป็นนักข่าวด้วยซ้ำ เพราะคำว่านักข่าว เราต้องออกภาคสนาม หาแหล่งข่าว ไปพูดคุย ที่ทำอยู่ตอนนี้เหมือนเขียนหนังสือมากกว่า เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ นิตยสาร โลกโซเชียล นอกนั้นก็จะอยู่ในทีวี ก็อาจจะนิยามว่าเป็นคนที่บ้าบอล แล้วพอดีมีโอกาสเขียนหนังสือ มีโอกาสถ่ายทอดความคิดเห็นให้คนอื่นได้รับรู้

 

โตมากับฟุตบอล

ตั้งแต่เด็กๆ เลย เรียนโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน มันเป็นโรงเรียนที่เด็กบ้าบอล ก็เล่นฟุตบอลมา แต่ก็ไม่ได้จริงจังอะไร เตะฟุตบอลก๊อกๆ แก็กๆ จนกระทั่งประมาณ ป.6 มีนิตยสารเล่มหนึ่งเป็นรายสัปดาห์ ชื่อว่า สตาร์ซอคเกอร์ เห็นว่าเป็นนิตยสารฟุตบอล ก็ซื้อมาดูมาอ่าน ประกอบกับมีรุ่นพี่ที่เขาบ้าบอลก่อนเรา เขาก็เอาหนังสือมาให้เราดู มันมีเสื้อทีมนั้นทีมนี้ นี่นักเตะลิเวอร์พูล นักเตะแมนฯ ยู เราก็ตามเขามาตั้งแต่ตอนนั้น เลยเริ่มปลูกฝัง

ความบ้าฟุตบอล ไม่ใช่รักฟุตบอลนะ ต้องบ้าเลย เพราะรักมันกลายเป็นเรื่องที่ไม่พอ ถ้ารัก พนักงานบัญชี นายธนาคาร คนช้อนลูกน้ำอาจจะรักฟุตบอลได้ แต่ถ้าบ้าบอลมันต้องทำอย่างนี้ คือต้องทำงานอยู่กับฟุตบอลมาตั้งแต่แรกยันปัจจุบันเลย ไม่เคยเปลี่ยนงาน

ทุ่งหญ้าแห่งความฝัน

คอลัมน์นี้เกิดจากมีรุ่นพี่อยู่คนหนึ่งที่เขาชอบเบี้ยวงาน พอเราเข้ามาเป็นน้องใหม่ เราก็เป็นคนทะลึ่งตึงตัง เป็นคนบ้าๆ บอๆ เขาก็เห็นว่าไอ้นี่บ้าๆ ดีว่ะ ความคิดมันแปลกแยก เขาก็เลย เฮ้ย มันน่าจะเขียนหนังสือได้ พอเขาให้เขียนแทน เขาบอก มึงตั้งชื่อคอลัมน์ไปเลย เราก็มานั่งนึกว่าจะตั้งชื่อคอลัมน์อะไรดีวะ ตอนนั้นช่อง 7 วันเสาร์ มันมีโปรแกรมเพชรหนังพันล้าน ที่เอาหนังมาฉายทุกวันเสาร์ มันมีหนังเรื่อง Field of Dreams เราก็ เฮ้ย ทุ่งหญ้าแห่งความฝัน เออ เอาตรงนี้แหละวะ ตั้งๆ ไปก่อน นั่นคือจุดเริ่มต้นของการเขียนคอลัมน์

 

 

ความผิดพลาด

ตอนสมัยที่อายุ 20 กว่าๆ 30 เศษๆ ตอนนั้นเราชนหมด กูไม่สน กูไม่แคร์การแบน เมื่อก่อนโซเชียลมันไม่ได้ขนาดนี้ พอโดนไปก็ต้องระมัดระวังตัวไว้จุดหนึ่ง เสร็จแล้วมันก็จะมีพลาดเพิ่มขึ้น เป็นระดับๆ ขึ้นมา พูดง่ายๆ ว่า บทเรียนมันเรียนไม่รู้จบ

 

โดนวิทยุแบนไป 4 ครั้ง ครั้งแรกโดนเพราะทำรายการ แล้วมีคนโทรศัพท์เข้ามาสดๆ แล้วก็ด่ากับมัน พอมันสดๆ ก็ตัดออกและเซนเซอร์ไม่ได้ โอเค เราก็เลิกรับโทรศัพท์ พอล่าสุดที่โดนแบนจากวิทยุก็คือ เราทะลึ่งไง ตอนนั้นคลื่นวิทยุมันต้องหมุนเปลี่ยนช่อง คือสมมติถ้าถึงเวลาเที่ยงคืนแล้วจะฟังต่อก็ต้องหมุนไปอีกคลื่นหนึ่ง ตอนนั้นมีหนังเรื่อง The Ring เราก็พูดเล่นๆ ถ้าใครได้ยินเสียงผมแล้วไม่เปลี่ยนช่องตาม เดี๋ยวจะมีตีนไปถีบหน้ามึง อะไรอย่างนี้ แม่งแบนกูอีก ก็คิดว่าประเทศนี้แม่งไม่มีอารมณ์ขันเลยเหรอวะ

 

ตั้งแต่นั้นมาก็ตั้งปณิธานว่า กูไม่ทำแล้ว เพราะว่าถ้าทำเราก็ต้องเป็นตัวของตัวเอง เราก็เป็นคนอย่างนี้ ถ้าเราทำอีก มันก็ต้องแบนอีก เพราะฉะนั้นตัดปัญหาคือไม่ทำวิทยุดีกว่า ไม่ได้จัดรายการวิทยุมาสิบกว่าปีแล้ว ทีวีก็น้อยลงเรื่อยๆ แต่พอมันเป็นออนไลน์ พูดตรงๆ นะ โคตรดีใจเลยที่โลกนี้มีออนไลน์ จะพูดเหี้ย ไอ้สัตว์ หน้าส้นตีนอะไรก็ได้ คือมีความสุขมากกับการที่ได้มาทำตรงนี้ แม่งเป็นตัวของตัวเอง ไม่มีใครมาเสือก ไม่มีใครมาสนใจ ไม่มีใครมาด่าได้ เพราะเหมือนเรามีช่องเป็นของตัวเอง

 

ถูกมองว่า เป็นคนหยาบคาย ไร้จรรยาบรรณ

ถ้าทำในช่องทางของเรา นั่นคือตัวเรา แต่เวลาไปทำในสื่อหลัก ก็ต้องระมัดระวังคำพูดมากขึ้น พูดในเพจของ บอ.บู๋ ก็อย่างหนึ่ง แต่มาพูดในเพจของสยามสปอร์ต มันก็ต้องเป็นงานเป็นการ ก็อีกอย่างหนึ่ง เราจะรู้ว่าตอนนั้นอยู่ในบทบาทไหน ถ้าเราอยู่ในบทบาทของตัวเอง เราก็เป็นตัวของตัวเอง เราพูดในเพจว่า ไอ้ส้นตีน อะไรอย่างนี้ แต่ก็ไม่ได้เขียนหนังสือแบบนี้นี่ เขียนหนังสือก็เหมือนเดิม คืออยู่ในกรอบ อยู่ในข้อจำกัดที่สังคมเขาตีไว้ว่าอะไรควรไม่ควร ก็ยังยึดถือกฎเกณฑ์ตรงนั้น แต่พอมาเป็นตัวเรา เราก็ใส่เต็มที่ว่านี่เป็นตัวของเรา

บางทีมีคนบอกว่า ไอ้บู๋ มึงถ่อยแล้วเท่เหรอวะ เราก็บอกว่ากูไม่ได้ถ่อยแล้วเท่ ก็ปากกูเป็นอย่างนี้ กูเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่มึงยังเป็นวุ้นอยู่เลย ก็จะด่ามันคืน

จริงๆ เรื่องฟีดแบ็กในโลกออนไลน์ จะไม่ค่อยไปสนใจ ไม่ค่อยไปให้ราคามาก แต่บางวันมันว่างไง บางทีด่ากูแรงเกิน ด่าแบบไม่มีเหตุไม่มีผล เวลาเขาด่า เขาตำหนิ เขาตำหนิเพื่อที่จะให้เอาไปปรับปรุงตัว เหมือนเป็นกระจกสะท้อนการทำงาน แต่คนรุ่นใหม่ คนที่เล่นอินเทอร์เน็ตไม่เข้าใจจุดนี้ มันจะด่าเอามัน เอาสนุก เอาแบบกูเกลียดมึง กูอคติมึง อยู่ดีๆ ก็มาด่า ไอ้สัตว์บู๋ กูเกลียดหน้ามึง อย่างนี้ให้กูเอาไปปรับปรุงยังไง

 

ไอดอล

พี่ย.โย่ง-เอกชัย นพจินดา ที่ล่วงลับไปแล้ว ถือเป็นแรงบันดาลใจให้มาทำงานตรงนี้ ทำให้รู้สึกว่าเอาบอลมาเป็นอาชีพได้ ทำให้ตัวเองมีชื่อเสียงได้ ก็เลยยึดถือเป็นแม่แบบในการทำงาน อีกอย่างพี่โย่งเป็นคนเขียนหนังสือดี เพราะแกอ่านเยอะ ก่อนที่คุณจะเป็นนักเขียนได้ คุณก็ต้องเป็นนักอ่านมาก่อน พี่โย่งเขียนบอกไว้แบบนี้ประจำ สองก็คือ โย่งเป็นคนแม่นยำในเรื่องข้อมูล ซึ่งยุคก่อนต้องใช้ความจำอย่างเดียว ไปเปิดกูเกิล ไปเปิดวิกิพีเดียไม่ได้ เราก็อยู่ในยุคนั้น สมัยที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต การจะจำว่าแมตช์นี้ผลเป็นอย่างไร ต้องใช้เวลาค้นหนังสือเป็นชั่วโมง เพื่อที่จะเขียนแค่คำไม่กี่คำ เพราะฉะนั้นความจำต้องแม่นมาก ส่งผลมาถึงทุกวันนี้ว่าข้อมูลต้องเป๊ะ เราจะเขียนเรื่องอะไร เราต้องรู้ลึก รู้จริง เราถึงจะเขียนเรื่องนั้นได้ อย่าไปเขียนแบบฉาบฉวย เห็นบ้าๆ บอๆ เวลาทำงาน เขียนข้อมูล ต้องเอาให้เป๊ะ เอาให้ลึกกว่าคนอื่น เอาให้มันกินขาด

 

ไอดอลทางการเขียน

นักเขียนที่ชอบที่สุดคือ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ เมื่อก่อนก็ตามทุกอย่างเลย จนโดนคนด่าว่าเขียนเหมือนเกินไป เพราะเราอ่านมากแล้วมันอิน เหมือนโดนครอบงำ แต่พอเวลาผ่านไปสัก 5-6 ปี มันก็จะเริ่มปรับกลับมาเป็นตัวเรา คนอื่นๆ ที่ชอบก็อากังฟู, ขุนทอง อสุนี, อารีย์ แท่นคำ และอีกเยอะ สมัยก่อนชอบอ่านหนังสือเพลง เป็นคนชอบเพลงร็อก เพลงเฮฟวี ซึ่งศัพท์ของหนังสือเพลงมันจะเป็นแบบเพลงนี้แม่งทะลุเข้าไปในรูหูอะไรอย่างนี้ เราสามารถปรับมาเป็นภาษาฟุตบอลได้ ซึ่งเราได้อิทธิพลมาจากหนังสือเพลงพวกนี้เยอะ

 

 

อะไรคือสิ่งที่ทำให้ยังอยู่ตรงนี้ได้กว่า 20 ปี

บอกแล้วว่าไม่ได้รักบอล มันบ้าบอล พอบ้าบอลแล้วมันทำให้เรามีอาชีพ มีเงิน มีรายได้เลี้ยงครอบครัว และก็ได้รับประสบการณ์ พูดตรงๆ มีที่ไหนคนจ้างไปดูบอลนัดชิงยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก มีคนจ้างไปดูนัดชิงฟุตบอลโลก ไปดูแล้วยังได้เงินอีก มีคนออกค่าตั๋วเครื่องบินให้ มีคนขับรถพาไป ได้เบี้ยเลี้ยง แถมเอามาต่อยอดได้อีก ทุกอย่างหล่อเลี้ยงของมันอยู่อย่างนี้

 

บอ.บู๋ ในอีก 10 ปีข้างหน้า

ย้อนกลับไปสิบปีที่แล้วยังมองตัวเองตอนอายุ 48 ไม่ออกว่าจะนั่งอยู่ตรงนี้หรือเปล่า แต่สุดท้ายก็ยังอยู่ที่เดิม ตอนนี้มันมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเรื่อยๆ ซึ่งมันทำให้เราทำงานง่ายขึ้น อย่างพอมีแฟนเพจขึ้นมา มันนอนทำก็ได้ ตื่นมา กดรูปดู นึกจะเขียนอะไรก็ว่ากันไป นั่งอยู่บนรถ นั่งขี้อยู่ กินเหล้าอยู่กับเพื่อน มันก็ทำได้หมดเลย มันก็สบายขึ้น แต่ไม่รู้ว่าอีก 10 ปีข้างหน้าเทคโนโลยีมันจะไปถึงไหน เฟซบุ๊กยังอยู่หรือเปล่า เราก็ยังมองไม่ออก ส่วนเราก็คงยังไม่ได้ทิ้งฟุตบอลไป ยังอยู่ในวงโคจรนี้ แต่บทบาทอาจจะเปลี่ยน อาจจะไม่ได้เขียนข่าว ไม่ได้เขียนคอลัมน์ แต่อาจจะไปเปิดสนามฟุตบอล หรือสร้างทีมทีมหนึ่งขึ้นมา เป็นทีมสมัครเล่น แล้วค่อยๆ เข้าสู่ฟุตบอลอาชีพ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

 


 

Credits

 

Intro Voice-over ภูมิชาย บุญสินสุข

 

Show Creator ภูมิชาย บุญสินสุข

Episode Producers อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค, เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์

Photographer เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

Music Westonemusic.com

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X