×

เป็นคนใหม่ที่ได้เป็นตัวเองจริงๆ ด้วยการ come out กับคนใกล้ชิด

28.01.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ข้อดีของการ come out คือเราไม่ต้องเหนื่อยกับการเป็นคนที่ไม่ใช่ตัวเอง และได้คัดกรองคนที่จะเข้ามาในชีวิตว่าคนอื่นจะโอเคกับสิ่งที่เราเป็นจริงหรือเปล่า
  • ลองเลือกผู้หญิงสักคนที่สนิท อาจเป็นคุณแม่หรือพี่สาวที่ไว้วางใจให้เขาเป็นคนสื่อสารเรื่องนี้ไปถึงคนอื่นๆ ในครอบครัวเราเอง
  • ไม่ใช่เรื่องจำเป็นที่เกย์ทุกคนต้อง come out ถ้าการทำแบบนั้น ทำให้เขาใช้ชีวิตยากลำบากมากขึ้นหรือสร้างความทุกข์ใจให้คนอื่น

สิ่งที่น่าทำในช่วงปีใหม่คือการเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆ อย่างเป็นตัวเองมากที่สุด หลายคนค้นพบและรู้จักตัวเองดีแล้วและอยากบอกคนใกล้ตัว หรือคนในครอบครัวให้รู้ว่าตัวตนทางเพศที่แท้จริงของเราคืออะไร แต่กำลังชั่งใจ ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร ทำแล้วจะดีจริงไหม

 

จูนจูน พัชชา ชวนแขกรับเชิญที่เคยผ่านประสบการณ์ coming out มาเล่าเรื่องราว เพื่อให้คุณได้ทบทวนหรือได้แนวทาง และอาจจะได้คำตอบที่ชัดเจนขึ้นว่า เราควร come out หรือไม่   

 

ประสบการณ์ของคุณต้า

ผมเคยมีแฟนเป็นผู้หญิงมาก่อน จนกระทั่งช่วงเรียนมหาวิทยาลัยไป Work and Travel ที่ต่างประเทศ และเกิดตกหลุมรักผู้ชายคนหนึ่ง ถือเป็นครั้งแรกที่รู้สึกแบบนี้กับผู้ชายด้วยกัน

 

ผมเลยลองปรึกษาเพื่อนสนิทและกลับมาทบทวนตัวเอง จนได้คำตอบที่แน่ชัดแล้วว่า ผมเป็นเกย์ กลับมาไทยเลยตัดสินใจค่อยๆ บอกเพื่อนสนิทแต่ละกลุ่ม ซึ่งทุกคนเข้าใจและไม่ได้โกรธเกลียดเราเลย

 

ส่วนกับครอบครัว ผมไม่เคยบอกเรื่องนี้กับแม่โดยตรง แต่แม่ก็รับรู้มาโดยตลอด จนถึงช่วงสุดท้ายของชีวิตที่คุณแม่ป่วยเป็นมะเร็ง ผมดูแลเขาอย่างดีที่สุด จนวันสุดท้าย แม่พูดกับน้าว่า ดีใจที่เราเป็นแบบนี้ เพราะถ้าเราไม่เป็นแบบนี้ก็ไม่รู้ว่าจะดูแลเขาได้หรือเปล่า

 

“สุดท้ายแล้วการคัมเอาต์อาจไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด เพราะการทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดนั้นสำคัญยิ่งกว่า”

 

ประสบการณ์ของคุณนุ้ย

โชคดีที่ครอบครัวของเรามีความคิดโมเดิร์นอยู่แล้ว ไม่ได้ซีเรียสว่าลูกจะต้องเป็นเพศอะไร เราเพิ่งค้นพบตัวเองตอนอายุ 16 ว่าชอบผู้ชาย แต่ก็ไม่แน่ใจว่าเรื่องนี้ต้องบอกแม่ไหม คิดอะไรไม่ออก เลยลองบอกพี่สาวซึ่งสนิทกัน และให้พี่สาวไปบอกแม่อีกที สุดท้ายแม่ก็ไม่ได้ซีเรียส แถมบอกด้วยว่า มีอะไรก็ขอให้บอกแม่

 

“ถ้าให้เราแนะนำ ลองเลือกผู้หญิงสักคนที่สนิท อาจเป็นคุณแม่หรือพี่สาวที่ไว้วางใจ ให้เขาเป็นคนสื่อสารเรื่องนี้ไปถึงคนอื่นๆ ในครอบครัวเราเอง”

 

ประสบการณ์ของคุณบอล

ช่วงเรียนมหาวิทยาลัยปี 2 เป็นช่วงที่เริ่มรู้ว่าตัวเองเลิกมองผู้หญิง มีแฟนเป็นผู้ชาย พอเลิกกับแฟน เราก็อกหัก แม่เลยถามว่า ทำไมเศร้า เป็นอะไร เราคิดว่าการปิดบังเรื่องเพศสภาพตัวเองกับคนที่เรารักทำให้มีระยะห่างกัน สถานการณ์คือ เอารูปแฟนที่เพิ่งทิ้งเราไปให้แม่ดู พอเขาเห็นเป็นรูปผู้ชายตอนแรกก็ตกใจ แต่เรารู้ว่าแม่รักเราและเขาหัวสมัยใหม่ เลยเลือกสื่อสารกับแม่โดยตรง แต่กับพ่อก็ต้องหาวิธีอ้อมๆ ในการสื่อสารกันไป

 

“ข้อดีของการคัมเอาต์ คือเราไม่ต้องเหนื่อยกับการเป็นคนที่ไม่ใช่ตัวเอง และได้คัดกรองคนที่จะเข้ามาในชีวิตว่าคนอื่นจะโอเคกับสิ่งที่เราเป็นจริงหรือเปล่า”

 

ประสบการณ์ของคุณเฟรม

ตอนปี 1 เราเคยมีแฟนเป็นผู้หญิงที่รักมาก แต่พออกหักเราเลยคิดว่าชีวิตควรมีทางเลือกมากกว่านี้ไหม ไม่จำเป็นต้องเป็นความรักของชาย-หญิงเท่านั้น เลยทดลองดู วิธีการของเราง่ายมากคือ เดินไปบอกแม่ว่าจะลองคบผู้ชายดูนะ แม่ตอบกลับมาว่า “แล้วจะแต่งหญิงด้วยไหม” ก็เป็นการคัมเอาต์ที่ตลกๆ หน่อย

 

อย่างเวลามีวันสำคัญ เราก็พาผู้ชายไปที่บ้าน ทุกคนในครอบครัวจะเข้าใจไปเองว่า คนนี้คือแฟนเรา โดยที่ไม่ต้องใช้คำพูดสื่อสารกันมากมาย

 

“เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่องจำเป็นที่เกย์ทุกคนต้อง come out ถ้าการทำแบบนั้น ทำให้เขาใช้ชีวิตยากลำบากมากขึ้น หรือสร้างความทุกข์ใจให้คนอื่น มันก็ไม่จำเป็นเลย แล้วแต่ทางเลือกและความสบายใจของแต่ละคนมากกว่า”

 


 

Credits
The Host
พัชชา พูนพิริยะ

Show Creator ภูมิชาย บุญสินสุข

Show Producers อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Show Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

Music Westonemusic

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising