×

การคุยเรื่องเพศกับลูกไม่ใช่เรื่องน่าอาย และเป็นสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนต้องทำให้ได้อย่างถูกวิธี

14.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index

01:07 การคุยเรื่องเพศกับลูกสำคัญแค่ไหน

03:01 2 สิ่งที่ต้องทำคือการเปลี่ยนมุมมองใหม่ และปรับวิธีที่ใช้ในการสื่อสาร

08:30 คุยกับลูกเรื่องเพศช่วงก่อนเข้าชั้นประถมศึกษา (0-7 ปี)

14:25 คุยกับลูกเรื่องเพศช่วงก่อนเข้าสู่วัยรุ่น (7-14 ปี)

20:27 ทำอย่างไรให้เด็กที่ถูกลวนลามกล้าเล่าเรื่องนี้ให้ผู้ใหญ่ฟัง

24:54 แบบทดสอบวัดความพร้อมก่อนคุยกับลูก

27:31 การบ้านประจำสัปดาห์

ซินดี้ สิรินยา คุยกับ จิต-จิตติมา ภาณุเตชะ นักพัฒนาสังคมอิสระ ในประเด็นเกี่ยวกับการคุยกับลูกเรื่องเพศสำคัญแค่ไหน คุณพ่อคุณแม่ควรวางตัวอย่างไร แต่ละช่วงวัยควรสื่อสารแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ในรายการ Balanced Mama Podcast

 

การคุยเรื่องเพศกับลูกสำคัญแค่ไหน

การคุยกับลูกเรื่องเพศ เป็นทักษะที่สำคัญมากสำหรับคุณพ่อคุณแม่ในยุคสมัยนี้ที่สังคมมีความสลับซับซ้อนและโลกเปิดกว้างมากขึ้น จนการเข้าถึงข้อมูลที่เป็นอันตรายต่อเด็กไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป คุณพ่อคุณแม่หลายท่านอาจรู้สึกอึดอัดใจเวลาจะคุยกับลูกเรื่องนี้ เพราะเข้าใจว่าถ้าพูดถึงเรื่องเพศ ต้องกระโจนเข้าสู่เนื้อหาที่เกี่ยวกับเพศสัมพันธ์เท่านั้น แต่จริงๆ แล้วผู้ปกครองควรเริ่มจากคุยเรื่องเพศสภาพทั่วไปก่อน เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับเด็กตามช่วงวัยอย่างเหมาะสม

 

2 สิ่งที่ต้องทำคือการเปลี่ยนมุมมองใหม่ และปรับวิธีที่ใช้ในการสื่อสาร

กุญแจดอกแรกที่ทำให้ครอบครัวกล้าเปิดใจพูดคุยกันเรื่องเพศ คือการเปลี่ยนมุมมองและทัศนคติ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรคิดว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องสกปรกลามก เพราะในสังคมไทยมักทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องใต้ผ้าห่ม ดูลึกลับ ใครยกมาพูดก็ถูกมองว่าเป็นคนทะลึ่ง ดังนั้นอยากให้ลองปรับมุมมองใหม่ว่า เรื่องเพศเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตที่ทุกคนควรเรียนรู้  

กุญแจดอกที่ 2 คือวิธีการสื่อสารที่คุณพ่อคุณแม่ใช้กับลูก ลองพูดให้เหมือนเป็นเรื่องปกติธรรมชาติ ไม่ต้องใส่อารมณ์ความรู้สึกเขินอาย เพื่อสร้างความเข้าใจที่ผิด ยกตัวอย่าง เด็กอายุขวบกว่าจับเล่นอวัยวะเพศตัวเอง ด้วยความคิดอัตโนมัติว่าสิ่งท่ีทำอยู่เป็นเรื่องน่าอายและไม่สมควรทำ คุณแม่จึงเผลอตีมือลูก การกระทำเช่นนี้คือการติดตั้งมุมมองเชิงลบให้กับลูกทันที และเมื่อเขาโตขึ้น เริ่มเกิดความรู้สึกอยากทำความเข้าใจเกี่ยวกับร่างกายของตัวเอง เขาจะไม่กล้าปรึกษาที่บ้าน เพราะจำได้ว่าตอนเด็กเคยทำแบบนี้แล้วคุณแม่ไม่โอเค เช่นนี้จึงเป็นการสร้างกำแพงให้กับเข้า เพราะผู้ปกครองขาดทักษะในการสื่อสารที่ถูกต้อง

 

คุยกับลูกเรื่องเพศในแต่ละช่วงอายุ

ช่วงก่อนเข้าชั้นประถมศึกษา (0-7 ปี)

เป็นช่วงที่เด็กเรียนรู้ตามการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย คำถามที่พวกเขาสงสัยมักอยู่ในขั้นพื้นฐาน ยกตัวอย่างคำถามเบสิกที่ว่า “หนูเกิดมาจากไหน” เรื่องนี้คุณพ่อคุณแม่ควรอธิบายคำตอบด้วยความจริงใจ “เพราะคุณพ่อคุณแม่รักกัน หนูจึงเกิดขึ้นมาจากร่างกายของแม่ที่มีส่วนประกอบของพ่อ” เท่านี้พอ ไม่ต้องลงรายละเอียดลึกไปถึงเรื่องอสุจิ รังไข่ มดลูก เด็กไม่ได้ต้องการเรื่องยากขนาดนั้น และอย่าใช้วิธีหลีกเลี่ยงหรือโกหก โดยเฉพาะคำตอบประเภทที่ว่าเก็บลูกมาจากถังขยะ เพราะยังมีเด็กอีกจำนวนมากเข้าใจว่าตัวเองมาจากถังขยะจริงๆ จากคำตอบที่ติดสนุกของคุณพ่อคุณแม่ และสำหรับเรื่องไหนที่ไม่รู้คำตอบ ก็อย่าเดามั่วส่งเดช แต่อยากให้ลองชวนให้ลูกมาหาคำตอบด้วยกัน ด้วยวิธีการพูดอย่างตรงไปตรงมา เช่น “เรื่องนี้แม่ก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน อย่างงั้นเรามาหาคำตอบด้วยกันดีไหมลูก” จากนั้นก็ช่วยหาคำตอบด้วยกันจากแหล่งข้อมูลที่เหมาะสม

วัยนี้คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มสอนเรื่องความเป็นส่วนตัวกับลูก ติดตั้งมุมมองให้เด็กเข้าใจว่าส่วนไหนคือพื้นที่ส่วนตัว ส่วนไหนไม่ควรให้คนอื่นสัมผัส ผู้หญิงหลายคนต้องทนเจอเรื่องที่ไม่โอเค เพราะไม่สามารถบอกได้ว่าตัวเองรู้สึก ดังนั้นควรสอนให้ลูกเข้าใจ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความมั่นใจให้กับเขาด้วย  

ร่างกายของลูกมีคุณค่าและเป็นของลูกคนเดียวเท่านั้น แม้กระทั่งคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่มีสิทธิ์ไปจับได้ตามใจชอบ

ช่วงก่อนเข้าสู่วัยรุ่น (7-14 ปี)

เด็กวัยนี้คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย จากวัยเด็กสู่วัยหนุ่มสาว มีอะไรที่กำลังเปลี่ยนไปบ้าง เรื่องแรกที่อยากให้เน้นสอนคือการใส่มุมมองเชิงบวกต่อร่างกาย รื้ออคติที่ทำให้เด็กๆ รู้สึกแย่กับตัวเอง ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องขาวสวยหมวยอึ๋มอย่างเดียวก็ได้ ส่วนเด็กผู้ชายจะเริ่มล้อเลียนกับเรื่องขนาดอวัยวะเพศ เป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจอย่างใกล้ชิด อย่าปล่อยให้เขาไปหาข้อมูลผิดๆ จากในอินเทอร์เน็ต เพราะอาจเกิดผลเสียตามมาอย่างคาดไม่ถึง

 

เรื่องต่อมาคือเรื่องสุขภาพ สอนให้ลูกสาวบันทึกรอบเดือน สอนให้ลูกชายเข้าใจฝันเปียก อย่าคิดว่าการพูดเรื่องพวกนี้กับลูก จะเป็นการโน้มน้าวให้ลูกไปลองผิดลองถูกโดยไม่สมควร เพราะคุณพ่อคุณแม่ทุกคนกลัวลูกถูกข่มขืน กลัวลูกท้อง หรือกลัวลูกไปทำคนอื่นท้อง แต่หลายคนกลับไม่เคยสอนลูกเรื่องพวกนี้ จนกระทั่งวันที่มันเกิดขึ้น ก็โทษว่าลูกทำไม่ดี ลูกทำผิด ทั้งที่จริงๆ แล้ว ความปลอดภัยในเรื่องเพศของเด็ก ไม่ได้เกิดจากพฤติกรรมของเด็ก แต่เกิดจากสิ่งที่สภาพแวดล้อมเตรียมไว้ให้ ถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่เคยสอน สิ่งที่อยู่ในตำราโรงเรียนก็ใช้ไม่ได้จริง สิ่งที่อยู่ในสื่อก็แฝงไปด้วยโฆษณาชวนเชื่อ นั่นเท่ากับว่าเรากำลังปล่อยให้เด็กเติบโตตามยถากรรม และมันคงอันตรายยิ่งกว่า

ทำอย่างไรให้เด็กที่ถูกลวนลามกล้าเล่าเรื่องนี้ให้ผู้ใหญ่ฟัง

เรื่องนี้ผู้ปกครองต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับเด็ก ทักษะที่สำคัญมากคือการฟังลูกอย่างลึกซึ้ง เพราะเด็กพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนกับผู้ใหญ่เสมอ แต่เขารู้ว่าบางเรื่องเลือกที่จะไม่พูดดีกว่า เนื่องจากธรรมชาติของคนเป็นคุณพ่อคุณแม่พร้อมที่จะสั่งสอนลูกตลอดเวลา “อย่าให้รู้เชียวนะว่ามีแฟน” แค่คุณพ่อคุณแม่พูดมาเช่นนี้ เด็กก็ไปต่อไม่ถูกแล้ว

 

สมมติว่านั่งกินข้าวกับอยู่ที่บ้าน และโทรทัศน์มีข่าวผู้หญิงโดนข่มขืน ด้วยความกลัวว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นกับลูก คุณแม่เลยรีบหันไปพูดว่า “อย่าไปทำตัวแบบนั้นนะลูก อย่าแต่งตัวโป๊ อย่าไปกับผู้ชาย” เหล่านี้เป็นการติดตั้งมุมมองให้เด็กเข้าใจว่าผู้หญิงเป็นคนผิด ดังนั้นเมื่อเกิดเรื่องขึ้นมา เด็กไม่กล้าบอกคุณพ่อคุณแม่แน่นอน เพราะกลัวว่าตัวเองทำผิดและจะโดนดุซ้ำ นี่คืออุปสรรคสำคัญที่เกี่ยวกับการขอความช่วยเหลือหากโดนข่มขืน คุณพ่อคุณแม่ควรเปลี่ยนวิธีพูดเป็น “เรื่องข่มขืนเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้นกับใครเลย ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย แต่เรื่องนี้ผู้ชายทำไม่ถูก เพราะไปละเมิดสิทธิคนอื่น แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้น หนูต้องบอกแม่นะ แม่จะอยู่เคียงข้างหนู และคอยช่วยเหลือหนูได้” การทำเช่นนี้จะทำให้เด็กกล้าพูดหากเกิดอะไรที่ไม่ดีขึ้น

คุณพ่อคุณแม่หลายคนมั่นใจว่าตัวเองสนิทกับลูก แต่เอาเข้าจริงกลับสนิทแต่เรื่องที่ดีเท่านั้น ลูกฉันเป็นเด็กดี ลูกฉันเรียนเก่ง ลูกฉันได้รางวัล แต่เรื่องที่ลูกทำไม่ดีกลับไม่เคยรู้เลย ฉะนั้นการสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกแชร์ทั้งทุกข์และสุขได้จึงเป็นสิ่งสำคัญ

ลองทำแบบทดสอบวัดความพร้อมก่อนคุยกับลูกเรื่องเพศได้ที่ www.คุยเรื่องเพศ.com

 



 

Credits


The Host ซินดี้ บิชอพ

The Guest จิตติมา ภาณุเตชะ

 

Show Creator ซินดี้ บิชอพ

Episode Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Episode Editor นทธัญ แสงไชย

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Photographer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

Music Westonemusic

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X
Close Advertising