×

ความรุนแรงในครอบครัว ผู้ชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงเป็นรอง ทัศนคติสังคมไทยที่ต้องเปลี่ยน

31.05.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index

04.50 ผู้ชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงเป็นรอง

11.12 ใช้ความรุนแรงเพราะรัก

14.00 ใช้ความรุนแรงโต้กลับ

17.31 สังเกตความรุนแรงในครอบครัวของตัวเอง

22.15 Mama talk with the expert

25.26 การบ้านประจำสัปดาห์

ซินดี้-สิรินยา คุยกับปู-จรีย์ ศรีสวัสดิ์ ตัวแทนจากทีมงานมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ถึงประเด็นสำคัญที่สังคมไม่ควรมองข้าม เรื่องความรุนแรงในครอบครัว ในรายการ  Balanced Mama Podcast

ความหมายของคำว่าความรุนแรงในครอบครัว ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การทำร้ายร่างกาย สร้างบาดแผลฟกช้ำ แต่รวมไปถึงความรุนแรงทางด้านจิตใจ เช่น การใช้วาจาส่อเสียด หยาบคาย ไม่ให้เกียรติ หวังทำร้าย แอบไปมีชู้ ลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ของอีกฝ่าย

“ผู้ชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงเป็นรอง” ทัศนคติสังคมไทยที่ต้องเปลี่ยน

จากประสบการณ์ที่ทางมูลนิธิเจอ ฝ่ายหญิงจะเข้ามาขอความช่วยเหลือก็ต่อเมื่อปัญหามันรุนแรงจนเอาไม่อยู่แล้ว หลายคนอาจเกิดคำถามว่าแล้วทำไมพวกเขาถึงเลือกที่จะอดทน และไม่เข้ามาคุยตั้งแต่เกิดเหตุครั้งแรกเลย จากการสัมภาษณ์ผู้ประสบเหตุพบว่า สังคมไทยปลูกฝังความคิดเรื่องผู้ชายมีหน้าที่เป็นผู้นำ ส่วนผู้หญิงไม่ว่าจะเกิดอะไรต้องอดทนเพื่อลูกและครอบครัว ยิ่งมีความเป็นภรรยาและคุณแม่ ยิ่งต้องแบกรับความรู้สึกตัวเองเยอะมาก ดังนั้นถ้าไม่สุดจริง พวกเขาจะยอมทนจนกว่าจะไม่ไหว แล้วค่อยมองหาทางเลือกที่จะทำให้ตัวเองออกจากสถานการณ์เหล่านั้นได้

 

เคยมีเคสต์หนึ่ง ฝ่ายหญิงโดนทำร่างกายอยู่บ่อยๆ ยาวนาน 2-3 ปี จนล่าสุดเธอโดนสามีที่มีอาการเมาสุราและเสพย์ยาซ้อมตั้งแต่ 5 โมงเย็นถึงตี 5 เพราะฝ่ายชายคิดว่าภรรยาตัวเองนอกใจ ไปท้องกับคนอื่น ซึ่งไม่เป็นความจริง จนกระทั่งน้องสาวฝ่ายชายทนเห็นเหตุการณ์ไม่ไหวโทรศัพท์ไปแจ้งตำรวจให้เข้ามาช่วยระงับเหตุ

 

จากครั้งนั้น ฝ่ายหญิงเจ็บตัวจนต้องนอนรักษาที่โรงพยาบาลนานถึง 2 เดือน แต่สุดท้ายก็ยอมใจอ่อนไปให้อภัยสามี เพราะฝ่ายชายมาเยี่ยม พร้อมให้คำมั่นสัญญาว่าจะกลับใจและไม่ทำความรุนแรงอีก แถมยังไงเขาก็เป็นพ่อของลูก อยากรักษาสถาบันครอบครัวเอาไว้

เรื่องนี้เราไม่สามารถไปโทษฝ่ายหญิงได้ เพราะการปลูกฝังทัศนคติของประเทศไทย ยังคงเชื่อว่าผู้ชายเป็นใหญ่ ส่วนผู้หญิงเป็นรอง เปรียบเหมือนเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของผู้ชาย เรื่องนี้เป็นรากปัญหาใหญ่ของสังคมที่เกิดจากการหล่อหลอมของหลายสถาบันที่เน้นย้ำทัศนคตินี้ ดูได้จากบทเรียนของสถาบันการศึกษาที่บอกเสมอว่าผู้ชายมีหน้าที่ออกจากบ้าน ไปทำงานหาเงิน  ส่วนผู้หญิงต้องอยู่บ้านทำอาหารดูแลความเรียบร้อย หรือละครไทยในทุกวันนี้ก็ยังคงนำเสนอเนื้อเรื่องที่ให้คุณค่าตัวละครผู้ชายมากกว่า จึงไม่ต้องสงสัยว่าทำไมผู้หญิงถึงยังโดนกระทำซ้ำอยู่แบบนี้

ถ้าผู้หญิงคนหนึ่งตัดสินใจเดินออกจากสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว สิ่งที่เธอต้องเจอแน่ๆ คือคำถามมากมายจากสังคม เธอไปทำอะไรทำไมสามีถึงไม่พอใจ? เธอขาดตกบกพร่องตรงไหนทำไมเขาไปมีคนอื่น? มันแทบไม่มีพื้นที่เชิงบวกที่เข้าใจปัญหาเหล่านี้อย่างแท้จริง

“ใช้ความรุนแรงเพราะรัก” ตรรกะที่เป็นสัญญาณอันตรายของปัญหา

ทุกคนบนโลกใบนี้มีสิทธิ์ในร่างกายของตัวเองตั้งแต่กำเนิด ข้ออ้างที่ว่า ใช้ความรุนแรงด้วยความโมโหเพราะความรัก เป็นสัญญาณอันตรายที่ควรระวัง

 

คนภายนอกส่วนใหญ่มักคิดว่าปัญหาครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัวไม่ควรเข้าไปยุ่ง เพราะเมื่อไหร่ที่ผัวเมียกลับมาดีกัน คนที่พยายามเข้าไปช่วยเหลือก็กลายเป็นหมา แต่อันที่จริงปัญหาเหล่านี้อาจลามไปถึงปัญหาสังคมอื่นๆ ยกตัวอย่าง ฝ่ายหญิงเองพอร่างกายบาดเจ็บก็ไม่สามารถไปทำงานได้ตามปกติ แถมยังต้องเสียเงินทองในการรักษาตัวอีก มันโยงไปถึงปัญหาระดับสังคมและเศรษฐกิจได้เลย


“ใช้ความรุนแรงโต้กลับ” ทางเลือกสุดท้ายของคนที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือ

การที่เด็กสักคนต้องโตมาในครอบครัวแบบนี้ ย่อมมีผลต่ออารมณ์ความเครียด ที่สุดท้ายอาจเลยเถิดไปเป็นปัญหาใหญ่โต ทำให้เขาต้องเสียโอกาสพัฒนาตัวเองและไปเป็นอนาคตที่ดีของชาติ

 

บางครั้งปัญหาที่ถูกสะสมไม่ได้รับการแก้ไข สุดท้ายผู้ประสบเหตุต้องหาทางออกด้วยการใช้ความรุนแรงโต้กลับ เกิดเป็นปัญหาอาชญากรตามมา

 

ทางมูลนิธิเคยไปเจอเด็กคนหนึ่งในสถานพินิตสำหรับเด็กที่กระทำความผิด น้องคนนี้ฆ่าตาเลี้ยงตัวเอง เพราะคุณตาชอบทำร้ายร่างกายทุบตีคุณยาย เขาต้องทนเห็นมาโดยตลอด จนถึงเหตุการณ์ที่เป็นจุดแตกหัก เมื่อคุณตาบังคับข่มขืนคุณแม่ของตน พอเข้าไปห้าม คุณตาก็ทำร้ายตัวเด็ก สุดท้ายทนไม่ไหวตัดสินใจใช้อาวุธสวนกลับคุณตาจนเสียชีวิต

แรกๆ เด็กอาจยังรู้สึกเสียใจ แต่พอนานไปจะเริ่มชาชินและมองมันเป็นเรื่องปกติ จนสุดท้ายเมื่อเจอปัญหา เขาก็ใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหานั้นด้วยเช่นกัน  

สังเกตความรุนแรงในครอบครัวของตัวเอง

ระดับความรุนแรงที่พอรับได้คือการทะเลาะกันธรรมดาทั่วไป ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ตกลงกันได้ เป็นเรื่องปกติของชีวิตคู่  แต่เมื่อใดก็ตามที่เริ่มมีการใช้คำหยาบคาย ทำลายข้าวของ แสดงว่าเริ่มมีสัญญาณอันตรายแล้ว ยิ่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีปัจจัยกระตุ้นอื่นๆ เช่นใช้สารเสพย์ติด ดื่มแอลกอฮอล์ ติดการพนัน เหล่านี้ล้วนเป็นส่วนสำคัญที่ทวีระดับความรุนแรง ที่ไม่ควรมองข้าม และต้องรีบขอความช่วยเหลือ

 

โดยกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องของ ‘ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว’ เป็นกฎหมายคุ้มครองผู้หญิงที่ถูกกระทำในด้านนี้ มีหน่วยงานพร้อมช่วยเหลือทั้งภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน

 

ใครที่ต้องการขอคำปรึกษาสามารถโทรได้ที่

ศูนย์ช่วยเหลือสังคม โทร 1300 (ตลอด 24 ชั่วโมง)

มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล โทร 02-513-2889 (ตามเวลาราชการ)

 


ติดตาม BALANCED MAMA PODCAST ได้ทางหน้าเว็บไซต์ที่ TheStandard.Co/Podcast หรือถ้าคุณฟังพอดแคสต์อยู่แล้ว ไม่ว่าจะด้วย iOS หรือ Android ไม่ว่าจะใช้แอปฯ อะไรฟังอยู่ ใช้แอปฯ นั้นๆ เสิร์ชได้เลยว่า Balanced Mama หรือเสิร์ช THE STANDARD ก่อน แล้วดูลิสต์รายการพอดแคสต์ทั้งหมดในเครือ เมื่อเจอแล้วก็ Follow หรือ Subscribe เอาไว้ได้เลย

 

 



 

Credits


The Host
ซินดี้ บิชอพ

The Guest จรีย์ ศรีสวัสดิ์


Show Creator ซินดี้ บิชอพ

Episode Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Episode Editor นทธัญ แสงไชย

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Photographer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

Music Westonemusic

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising