×

ปิยบุตร ระบุคำวินิจฉัยศาล รธน. ปิดประตูการปฏิรูปสถาบันฯ หวั่นเกิดความแตกแยก-แสดงออกชัดเจนขึ้น

โดย THE STANDARD TEAM
11.11.2021
  • LOADING...
ปิยบุตร แสงกนกกุล

วานนี้ (10 พฤศจิกายน) ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า การชุมนุมเสนอ 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นการล้มล้างการปกครอง โดยระบุว่าคำวินิจฉัยนี้ ถือเป็นการปิดประตูการปฏิรูปสถาบันฯ ไปโดยปริยาย และคิดว่ามีการตัดสินเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว ถ้าดูถ้อยคำที่อ่านวันนี้จะพบว่ามีการวางแนวห้ามกระทำเป็นการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์เต็มไปหมด ทั้งที่เกิดขึ้นแล้วและยังไม่เกิดขึ้น ในอนาคต อาจจะทำให้นักร้องต่างๆ นำไปใช้ในแนวทาง และเชื่อว่าเราน่าจะเห็นกลุ่มนักร้องไปยื่นคำร้องกันมากขึ้น เพราะเชื่อว่ามีกลุ่มนักร้องเฝ้าจับตาดูอยู่ และจะส่งผลให้คนไม่กล้าพูดถึง เหมือนเป็นการตีกรอบ Red Zone เอาไว้ โดยเฉพาะกลุ่มนักการเมืองก็จะไม่กล้าเข้ามายุ่งเกี่ยวกับสิ่งที่เข้าข่ายล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะอาจถูกยุบพรรคหรือตัดสิทธิ์ได้

 

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าคนรุ่นใหม่มีวิธีการมองต่อสถาบันฯ ไม่เหมือนสมัยก่อน พอคำวินิจฉัยออกมาเช่นนี้ อาจจะทำให้เกิดความแตกแยกทางความคิดมากยิ่งขึ้น และเชื่อว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่จะยังยึดถือแนวคิดเดิม และอาจจะแสดงออกชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะทันทีที่มีคำวินิจฉัยออกมา ในโลกโซเชียลก็มีการพูดถึง

 

เมื่อทีมข่าวลองไปสำรวจในโลกโซเชียล พบว่ามีการพูดถึงคำวินิจฉัยนี้จำนวนมาก โดยเฉพาะในทวิตเตอร์พบว่า #ปฏิรูปไม่เท่ากับล้มล้าง ขึ้นเทรนด์อันดับ 1 ทวิตเตอร์ประเทศไทย ซึ่งก่อนเข้ารายการมีการพูดคุยกันไปกว่า 4 แสนครั้งแล้ว

 

ปิยบุตรกล่าวด้วยว่า มาตรา 49 นี้เป็นมาตราที่สร้างปัญหามาแล้วหลายครั้ง ซึ่งในมาตรานี้ระบุไว้ว่า “บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้” ปิยบุตรให้ข้อมูลว่ามาตรานี้เป็นแนวคิดที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศเยอรมนี นำมาใช้ในรัฐธรรมนูญไทยฉบับปี 2540 ขณะนั้นอยู่ในมาตรา 63 ต่อมาในปี 2550 เป็นมาตรา 68 และในปี 2560 เป็นมาตรา 49  โดยมาตรานี้นำแนวคิดมาจากประเทศเยอรมนี ช่วงแรกไม่มีปัญหา แต่พอเข้าปี 2550 ก็เริ่มมีปัญหาเรื่อยมา 

 

ปิยบุตรกล่าวต่อไปอีกว่า ในคดีนี้มีประเด็นให้ชี้ขาดแค่ 1 ประเด็นเท่านั้น คือผู้ถูกร้องทั้ง 3 คนนี้เขาใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นแล้วเป็นไปในทิศทางล้มล้างการปกครองหรือไม่ ซึ่งมีแค่ประเด็นเดียว ในความเห็นของตน ศาลก็ต้องวินิจฉัยว่าการใช้เสรีภาพแบบนี้เข้าข่ายล้มล้างหรือไม่เท่านั้น ไม่มีความจำเป็นต้องไปพูดถึงเรื่องใดเพิ่มเติม ทั้งยุยงปลุกปั่น ข่าวเท็จ ใช้ความเท็จ อ้างเสรีภาพโดยไม่คำนึงถึงความเสมอภาค ภราดรภาพ มีการเซาะกร่อน บ่อนทำลาย ที่เป็นการละเมิดความเห็นต่าง

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising