×

เลือกตั้ง 2566 : ปิยบุตรชี้ เลือกตั้งผู้ว่าฯ ไม่ใช่คำตอบปลดล็อกท้องถิ่นอย่างแท้จริง ต้องกระจาย ‘งาน-เงิน-คน’ ลดอำนาจซ้ำซ้อนส่วนกลาง-ท้องถิ่น

โดย THE STANDARD TEAM
02.06.2023
  • LOADING...
ปิยบุตร แสงกนกกุล

วันนี้ (2 มิถุนายน) ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า และอดีตผู้ช่วยหาเสียงเลือกตั้งให้พรรคก้าวไกล แสดงความคิดเห็นกรณีพรรคก้าวไกล นำโดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และคณะก้าวหน้า พบกับ 3 สมาคมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อพูดคุยเรื่องการกระจายอำนาจ ผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า

 

“อีกไม่ช้าไม่นาน รัฐบาลก้าวไกลคงเร่งดำเนินนโยบายเกี่ยวกับกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ผมสนับสนุนเรื่องนี้ แต่มีประเด็นสำคัญที่ผมไม่เห็นด้วย นั่นคือ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ซึ่งประเทศไทยมีระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน 3 รูปแบบ ได้แก่ ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น” 

 

ปิยบุตรระบุว่า แม้ก่อนหน้านั้นมีความพยายามกระจายอำนาจโดยสร้างให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ คือ กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา ที่มีผู้บริหารมาจากการเลือกตั้งโดยตรง และเริ่มทยอยตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด และองค์การบริหารส่วนตำบล แต่ไม่สามารถเรียกว่าองค์กรกระจายอำนาจได้ เพราะผู้บริหารยังไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และยังไม่มีความเป็นอิสระด้านอำนาจหน้าที่ งบประมาณ และการคลัง 

 

จนกระทั่งรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ที่วางหลักการกระจายอำนาจไว้ และ พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ พ.ศ. 2542 ทยอยโอนงาน เงิน คน ไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 

 

ต่อมารัฐบาลไทยรักไทยผลักดันนโยบายผู้ว่าฯ ซีอีโอ บูรณาการเอาอำนาจที่กระจัดกระจายของส่วนภูมิภาค (ซึ่งสังกัดหลายกรม หลายกระทรวง) มารวมไว้ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวโต๊ะ ส่งผลให้การกระจายอำนาจเดินหน้าไปได้ไม่เต็มที่นัก หลายเรื่องซ้ำซ้อนกับส่วนภูมิภาค จนกระทั่งเกิดรัฐประหาร 2549 ทำให้การกระจายอำนาจสะดุดหยุดลง และรัฐประหาร 2557 ทำให้การกระจายอำนาจถอยหลังเข้าคลอง

 

ปิยบุตรระบุเพิ่มเติมว่า “แม้ในช่วงเลือกตั้ง หลายพรรคการเมืองชูนโยบายเลือกตั้งผู้ว่าฯ แต่ผมเห็นว่าปัญหาการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นในประเทศไทยวันนี้ มิใช่เรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะเรามีองค์การบริหารส่วนจังหวัดครอบคลุมอยู่แล้ว แต่ปัญหาที่แท้จริงคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่แล้วไม่มีอำนาจหน้าที่เพียงพอ ไม่มีงบประมาณเพียงพอ ถูกราชการส่วนกลางและภูมิภาคแทรกแซงบ่อย และมีกฎหมายที่กำหนดอำนาจหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะซ้ำซ้อนกันระหว่างส่วนกลาง ภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น” 

 

ส่วนเหตุผลที่พรรคการเมืองและภาคประชาชนมักรณรงค์ว่า ทำไมกรุงเทพมหานครเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดได้ แต่จังหวัดอื่นเลือกไม่ได้นั้น ปิยบุตรมองว่าเป็นการเปรียบเทียบที่ผิดฝาผิดตัว เนื่องจากรัฐไทยไม่ยินยอมให้มีการเลือกตั้งผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดพร้อมกันทั่วประเทศ จึงใช้วิธีทยอยทำ กรุงเทพมหานครคือส่วนท้องถิ่น แต่สำหรับจังหวัดอื่นคือส่วนภูมิภาค และคนจากจังหวัดอื่นเลือกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มากกว่าคนกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ เป็นต้น

 

ปิยบุตรกล่าวอีกว่า ปัญหาวันนี้ไม่ใช่การเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดพร้อมกันทั่วประเทศแบบพรรคก้าวไกล หรือทำทีละจังหวัดแบบพรรคเพื่อไทยเสนอ แต่เราต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นอย่างสมบูรณ์เต็มรูปแบบ เพื่อวันหน้าจะได้พิจารณาว่าควร ‘เลิก’ ผู้ว่าราชการจังหวัดและราชการส่วนภูมิภาคหรือไม่ 

 

เพราะการปลดล็อกท้องถิ่นอย่างแท้จริงคือการเอางาน เงิน คน ไปให้ท้องถิ่น การจัดการอำนาจซ้ำซ้อนระหว่างส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่น มิใช่วนเวียนอยู่กับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปิยบุตรยังได้ยกตัวอย่างข้อเสนอของงานวิจัยที่นักวิชาการได้ศึกษาไว้มาอธิบาย พร้อมระบุว่าเคยเสนอยกร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น และรณรงค์กับคณะก้าวหน้า เพื่อให้พี่น้องประชาชนร่วมกันเข้าชื่อเสนอ แต่รัฐสภามีมติไม่รับหลักการ ทำให้ร่างตกไป 

 

อ่านข้อความฉบับเต็มได้ที่:

https://www.facebook.com/100044282026811/posts/pfbid02RiS7cXdQNpx6W7EZWE7VTrhJbTN9Jv9wNpFHLQMf2P5JCrDG1eCUVfJZqkMpwP3ql/?mibextid=cr9u03 

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising