×

‘ปิ่นโต’ มังงะสัญชาติไทยที่ สินาด จารุอรรถจนภัทร พักงานวาดรูปของคนอื่น ไปสู่ความฝันที่วาดขึ้นเอง

01.02.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • สินาดมีความฝันอยากเป็นนักวาดการ์ตูนมาตั้งแต่เด็ก เขาถึงขนาดเคยเก็บตัวฝึกวาดการ์ตูนอย่างหนักจนผลงานของเขาได้ลงในนิตยสาร C-Kids รายสัปดาห์ แต่จากรายได้ของนักเขียนการ์ตูนในวันนั้น ทำให้เขาตัดสินใจพักความฝันและเดินหน้าสู่วงการภาพประกอบเต็มตัว
  • สินาดประสบความสำเร็จอย่างมากในวงการภาพประกอบ ฝีมือของเขาได้รับการยอมรับจากบริษัทต่างประเทศ มีรายรับมากมายตามที่เคยหวัง แต่ในขณะเดียวกันความฝันในวัยเด็กก็ยิ่งห่างออกไปเรื่อยๆ
  • วันหนึ่งเขาล้มป่วยจากการโหมทำงานหนักติดต่อกันจนเริ่มกลับมาคิดว่า เงินทองที่เขาได้รับนั้นคุ้มค่าจริงหรือเปล่าเมื่อต้องแลกกับความฝันที่ต้องทิ้งไป ทำให้เขาตัดสินใจพักงานวาดภาพประกอบเพื่อมาทุ่มเทให้กับการวาดการ์ตูนเรื่อง ปิ่นโต Love in a Lunchbox ที่กำลังถูกพัฒนาเป็นแอนิเมชันฉายในโรงภาพยนตร์ที่น่าจะได้ดูพร้อมกันในปี 2020

สินาด จารุอรรถจนภัทร เขาคืออิลลัสเตรเตอร์ฝีมือดี ผู้ปลุกชีวิตให้ ‘น้าพลอย’ และ ‘น้องมุก’ ตัวละครจาก ‘มังงะ’ สัญชาติไทยเรื่อง ปิ่นโต Love in a Lunchbox ให้ออกมาโลดแล่นเล่าเรื่องราวอันแสนอบอุ่นผ่านอาหารพื้นบ้านของไทย ด้วยลายเส้นละเอียด สวยงามไม่แพ้มังงะต้นฉบับจากประเทศญี่ปุ่น และเรากำลังจะได้รับชมเรื่องราวอันแสนประทับใจในรูปแบบแอนิเมชันในปี 2020 จากการร่วมมือกันระหว่าง The Zero One และ North Star Studio

 

แต่ก่อนที่สินาดจะพาน้าพลอยและน้องมุกมาถึงจุดนี้ได้ เขาเคยใช้ชีวิตในฐานะ ‘Illustrator’ ผู้สร้างสรรค์ภาพประกอบทุกรูปแบบ ด้วยฝีมือที่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ ทำให้เขาสร้างรายได้ที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้อย่างสบายไม่ลำบาก แต่นั่นก็ต้องแลกมากับการที่เขาต้องยอมทิ้ง ‘ความฝัน’ วัยเด็กที่อยากเป็นนักวาดการ์ตูนของตัวเองไป

 

จนเมื่ออาการบาดเจ็บจากการโหมงานหนักติดต่อกันจนต้องเข้าโรงพยาบาล ทำให้เขาเริ่มกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองอีกครั้งว่า เงินที่ได้มาจากการวาดรูปให้ ‘คนอื่น’ นั้นคุ้มกันหรือเปล่าเมื่อเทียบกับมูลค่าของความฝันที่เสียไป

 

สุดท้ายเขาตัดสินใจกลับมาสานต่อความฝันอีกครั้ง ด้วยการทุ่มเทเวลาทั้งหมดไปกับการบรรจุความทรงจำและความฝันใส่ลงไปใน ‘ปิ่นโต’ เถานี้ และเมื่อไรก็ตามที่เราเปิดปิ่นโตเถานั้นออก ไม่ว่าจะจากการอ่านการ์ตูนหรือดูแอนิเมชัน พลังแห่งความสุข ความทรงจำ และบรรยากาศอันแสนอบอุ่นจะส่งผ่านและสร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกคนที่มีความฝันได้อย่างแน่นอน

 

 

ผมจำได้ว่าชอบเอากระดาษกับปากกามาเขียนรูปตั้งแต่ 3-4 ขวบ เหมือนเป็นสัญชาตญาณของเด็กทั่วไปที่ชอบขีดเขียน ซึ่งตอนเด็กผมก็ไม่มีความฝันอะไรเลย มีอย่างเดียวคือผมชอบอ่านการ์ตูนมาก เวลาปิดเทอม แม่ผมซึ่งเป็นครู ท่านก็จะเอาผมไปฝากไว้ที่ห้องสมุด ผมชอบเวลาได้อยู่ในห้องสมุดมาก เพราะจะได้อ่านหนังสือพวกสารานุกรมที่เป็นภาพการ์ตูน หรือที่เป็นหนังสือภาพประกอบแนววิทยาศาสตร์ เรื่องไดโนเสาร์ เรื่องดวงดาวต่างๆ สัตว์ในท้องทะเล อ่านจบหนึ่งเล่มแล้วก็อ่านไล่ไปเรื่อยๆ อ่านวนซ้ำๆ หลายรอบ พอมาคิดตอนนี้คงเพราะมันมีภาพการ์ตูนอยู่ ภาพการ์ตูนมันมีพลังให้เด็กสนใจ อ่านแล้วได้ทั้งความสนุกและได้ความรู้

 

ความทรงจำวัยเด็กของผมนั้นมีหนังสือการ์ตูนอยู่ครึ่งหนึ่ง มีบ้านพี่คนหนึ่งที่เขามีหนังสือการ์ตูนเต็มไปหมด เหมือนเป็นห้องสมุดของหนังสือการ์ตูนเลย ก็จะเป็นอีกที่ที่ผมชอบไปนั่งงมอ่านมันทั้งวันทั้งคืน พอมาแล้วก็คิดถึงช่วงเวลานั้นมากจริงๆ พอโตขึ้นมาอีกนิดช่วงประถม สมัยที่ยังไม่มีการ์ตูนแบบถูกลิขสิทธิ์ให้อ่าน ก็ต้องอ่านจากการ์ตูนรายสัปดาห์ของหลายๆ สำนักพิมพ์อย่าง The Talent, The Zero ฯลฯ ที่ต้องส่งแฟกซ์มาจากญี่ปุ่น แล้วแต่ละค่ายก็ต้องแข่งกัน เพราะใครๆ ก็สามารถเอาการ์ตูนเรื่องที่ดังมาพิมพ์ในเล่มของตัวเองได้เพราะไม่มีลิขสิทธ์ ตั้งแต่ความเร็ว การสแกนต้นฉบับให้คม ไปจนถึงการแปลให้ดีที่สุด และการแต่งภาพ นักอ่านก็จะเลือกซื้อการ์ตูนจากค่ายที่ตัวเองชอบ เช่นของค่ายนี้ออกไวที่สุด หรือค่ายนี้งานเนี้ยบที่สุด ประมาณนั้น คนอ่านตอนนั้นจึงมีทางเลือกหลากหลายทั้งที่เป็นการ์ตูนเรื่องเดียวกันครับ

 

เริ่มเปลี่ยนสถานะจากการเป็นคนอ่านมาเป็นคนเขียนตั้งแต่เมื่อไร

ผมก็ขีดๆ เขียนๆ มาเรื่อยๆ แต่ก็ไม่ได้ฝึกฝนจริงจังครับ ทำบ้าง ห่างบ้าง แต่มีจุดเปลี่ยนตอนอายุ 16-17 ปี เพราะตอนนั้นบังเอิญได้อ่านนิตยสาร C-Kids ของสยามอินเตอร์คอมมิกส์ ที่มีคอลัมน์สำหรับลงการ์ตูนของนักวาดมือใหม่ เด็กๆ ที่ฝึกวาดการ์ตูนก็จะเขียนการ์ตูนส่งมาที่สำนักพิมพ์ ถ้าเรื่องไหนเข้าตา บก. ก็จะได้ลงตีพิมพ์ในเล่มด้วย ซึ่งตอนนั้นเห็นผลงานของพี่กนกฉัตร ทองบำรุง และรุ่นพี่นักเขียนการ์ตูนอีกหลายคน ก็เลยคุยกับเพื่อนที่สนิทกันว่าอยากเขียนการ์ตูนบ้างจัง แล้วเริ่มฝึกจริงจังขึ้นตั้งแต่ตอนนั้น

 

พอนึกถึงการฝึกก็จะนึกถึงช่วงเก็บตัวฝึกวาดการ์ตูนกับเพื่อน ตอนนั้นไม่ทำอะไรเลยนอกจากวาดการ์ตูน เขียนจนดึกดื่นยันสว่าง นอนไม่กี่ชั่วโมงแล้วตื่นมาเขียนใหม่ มันเป็นอะไรที่สนุกมากจริงๆ ตอนนั้นลายเส้นตัวเองยังไม่มี แต่ก็ได้แรงบันดาลใจจากลายเส้นของการ์ตูนเรื่อง BASTARD!! ของอาจารย์ฮางิวาระ คาซูชิ นักเขียนการ์ตูนที่ผมชอบมาก แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่เก่ง แต่อาศัยความอึด ทุ่มเท แล้วก็ทำไปเรื่อยๆ หนึ่งเดือนเต็ม เรียกว่าชีวิตตอนนั้นคือการเขียนการ์ตูน เหมือนในเรื่อง Bakuman เลย แต่ตอนนั้นยังไม่ได้คิดว่าจะทำเป็นอาชีพได้ด้วยซ้ำนะ แค่ทำในสิ่งที่อยากจะทำ แต่ปรากฏว่าได้ลง C-Kids และได้เงินมา 1,500 บาท ดีใจมาก จากนั้นก็มีไฟคิดเอาไว้หลายต่อหลายเรื่อง แต่ก็วาดไม่เสร็จครับ เพราะเรียนหนักมาก

 

แต่การ์ตูนที่ได้ลงในนิตยสารก็เหมือนประตูบานแรกเริ่มเปิดทาง ทำให้แม่เห็นว่าอย่างน้อยผลงานที่เราทำก็มีคนมองเห็นคุณค่าและมีคนยอมรับ ท่านก็เลยอนุญาตให้ผมเรียนต่อมหาวิทยาลัยในสาขาที่เกี่ยวกับศิลปะที่ผมอยากเรียน คณะศิลปกรรม สาขาคอมพิวเตอร์อาร์ต มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งตอนนี้ได้เปลี่ยนเป็นคณะดิจิทัลอาร์ต สาขาคอมพิวเตอร์อาร์ตแทน

 

 

ชีวิตมหาวิทยาลัยที่ได้เรียนในสิ่งที่ตัวเองชอบเป็นอย่างไรบ้าง

เป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้วครับ เพราะได้ศึกษาในสิ่งที่ตัวเองชอบ แต่สิ่งที่ได้แถมมาด้วยคือการได้เจอคนในแวดวงเดียวกันมากขึ้น ทำให้เรารู้ความจริงว่ารายได้จากอาชีพนักเขียนการ์ตูนมันไม่พอเลี้ยงชีพ บางทีเสียเวลาหามรุ่งหามค่ำวาดเป็นสัปดาห์ แต่ได้ค่าต้นฉบับหน้าละประมาณ 150-300 บาท ต้องยอมรับเลยนะครับว่าพวกรุ่นพี่ที่ยึดอาชีพนี้ตอนนั้นเขาต้องใจรักมากจริงๆ ไม่อย่างนั้นอยู่ไม่ได้ โคตรน่านับถือเลย ซึ่งผมนั้นทำไม่ได้แน่ครับ

 

พอเรียนไปได้ประมาณครึ่งปี ก็มีรุ่นพี่คนหนึ่งชื่อพี่เอ๋ แกเป็นพี่รหัสที่อยู่คนละสาขา แกเห็นผมชอบวาดรูป แกเลยบอกว่า “เฮ้ยโน้ต กูจะพาไปที่เจ๋งๆ ไปไหม” จากนั้นแกก็พาผมไปที่ห้างโซโก้ ราชประสงค์ ที่ทุกวันอังคารจะมีนักวาดเป็น 10-20 คนมารวมตัวกันที่แมคโดนัลด์ ผมไปแค่ครั้งเดียวแต่จำได้ชัดเจน เพราะที่นี่นับเป็นจุดเปลี่ยนอีกเช่นกัน

 

เพราะได้เจอกับพี่ปอ (พรพล รักษ์บุญยวง) ผู้สร้างการ์ดเกม Summoner Master ที่โด่งดังมาก ซึ่งตอนนั้นผมหิ้วต้นฉบับการ์ตูนที่วาดไปด้วย พี่ปอบอกว่าผมวาดนางฟ้าสวยดี ก็เลยสนใจและให้โอกาส ให้งานมาลองทำ

 

พี่เขาลองให้งานออกแบบการ์ดมาชิ้นหนึ่ง ผมใช้เวลาสองสัปดาห์ ได้เงินมา 600 บาท ช่วงหลังๆ ก็ทำต่อมา ค่อยๆ ได้ค่าแรงเพิ่มตามผลงานที่พัฒนาขึ้น จนช่วงเรียนมหาวิทยาลัยปี 3-4 ผมได้ค่าจ้างรูปหนึ่งประมาณ 1,500-2,500 บาท

 

ก็เริ่มคิดว่าทำการ์ดนี่ได้เงินดีกว่าวาดการ์ตูนแฮะ เป็นความคิดแบบเด็กๆ ที่ไม่ได้มองการณ์ไกล เห็นเงินตรงหน้าเยอะก็มุ่งไปทางสายอิลลัสฯ เต็มตัวเลย (หัวเราะ) ยังอยากเขียนการ์ตูนอยู่นะ คิดอยู่ตลอด แต่มันได้แค่คิดจริงๆ ก็เลยคิดเข้าข้างตัวเองว่า เอาน่ะ อย่างน้อยทำภาพประกอบก็ยังได้วาดรูปเหมือนกัน

 

พอเรียนมหาวิทยาลัยผมก็ทำงานสายนี้เต็มตัว มีบริษัท IFS Studio ของสิงคโปร์มาดึงตัว ตอนนั้นก็ยิ่งคิดว่ามาถูกทางแล้วแหละ เพราะต่างประเทศเขาให้ค่างานศิลป์ ซึ่งค่าแรงก็ได้มากกว่าไทยเกือบสิบเท่าตัว ผมทำกับ IFS ประมาณ 2 ปี แล้วก็ทำให้อีกหลายบริษัท อเมริกาบ้าง ญี่ปุ่นบ้าง คือทำไปเรื่อยเลย ตั้งแต่ลงสีตัวการ์ตูนคอมิก ออกแบบคาแรกเตอร์ให้หนังหรือเกมออนไลน์ ทุกอย่างที่เกี่ยวกับงานอิลลัสฯ ผมทำหมด ตอนนั้นเรื่องเงินไม่มีปัญหาแล้วนะ แต่ปัญหาคือพอรู้ตัวอีกทีผมทำงานจนวูบ ต้องเข้าโรงพยาบาลไปรักษาก้นเพราะนั่งอยู่กับที่มากเกินไป (หัวเราะ)

 

 

คุณได้เรียนรู้อะไรเพิ่มบ้างจากการไปรักษาตัวในโรงพยาบาลครั้งนั้น

ตอนนั้นผมอายุประมาณ 25 เองนะ อาการมันมาเร็วมาก ทุกอิริยาบถมันจะปวดร้าวไปหมด แต่ก็ดี เพราะทำให้ย้อนกลับไปคิดว่าเราทำงานเพื่อแลกเงินแบบนี้อย่างเดียวมันจะดีเหรอ คืองานแบบนี้พอเราขยับตัวไม่ได้ มันก็ไม่มีเงินเข้ามา ซึ่งหลังจากผมรักษาจนหายดีแล้ว แต่ก็ต้องกลับมาทำงานฟรีแลนซ์เหมือนเดิมอีกเพราะไม่มีทางเลือก จนเมื่อ 5 ปีที่แล้วได้เจอกับพี่หลิว (อนันต์ ฐิตาคม) พี่เขาอัธยาศัยดีมาก พวกเราคุยกันถูกคอเพราะชอบการ์ตูนและของสะสมเหมือนกัน แล้วแกอยากให้ผมวาดภาพปกให้การ์ตูนเรื่อง ‘เคนทร์’ ที่แกกำลังเขียนอยู่ ผมก็รับทำ ซึ่งตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นของผมกับพี่หลิว ก่อนที่จะมาเปิดสถาบันสอนวาดการ์ตูน The Zero One ด้วยกัน

 

พี่หลิวพูดว่า อย่างสินาดน่าจะลองเขียนการ์ตูนดูนะ ซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นความฝันที่ผมอยากทำมาตลอด แต่ไม่ได้ทำสักที แล้วจะมีช่วงหลังๆ ที่ผมเริ่มรู้สึกอิ่มตัวกับการทำอิลลัสฯ เพราะทำมานาน และรู้สึกว่าผลงานที่ทำมันไม่สามารถเรียกว่าเป็นงานของเราจริงๆ ก็เลยคิดว่าอยากมีผลงานที่เป็นของตัวเองจริงๆ สักที ผมเลยตัดสินใจเลิกเป็นฟรีแลนซ์ แล้วมาเป็นอาจารย์สอนพิเศษที่ The Zero One ซึ่งมันทำให้ผมมีเวลามากขึ้นสำหรับทุ่มเทให้กับการสร้างผลงานการ์ตูน และพี่หลิวก็เป็นเหมือนโค้ชส่วนตัวคอยชี้แนะสิ่งต่างๆ ในโลกของนักวาดการ์ตูนจากประสบการณ์ของพี่เขาเอง

 

ตอนแรกผมอยากให้เรื่องมันไปไกลระดับอินเตอร์เพื่อขายนักอ่านต่างประเทศได้ คิดจะทำเป็นแนวแฟนตาซี-ไซไฟ เน้นภาพสวยๆ อลังการไปเลย แต่ทำยังไงก็ไม่ถูกใจ เพราะสเกลงานมันใหญ่มาก เราฝีมือไม่พอ ก็เลยค่อยๆ ถอยมามองรอบตัวว่าเรามีต้นทุนอะไรบ้างที่เอามาเขียนเป็นเรื่องราวได้

 

พอมองมาที่ตัวผมก็คิดได้ว่า ผมเป็นคนชอบทำอาหาร ก็เลยคิดว่าเอาอาหารนี่แหละ เพราะเราใกล้ชิดกับมัน และคนเราก็ต้องกินข้าว ผมใช้เวลาสักพักจนได้พล็อตเรื่องมา แต่ตอนแรกก็ยังไม่ใช่แบบเรื่อง ปิ่นโต นี้นะ คือมันยังมีความแฟนตาซีอยู่ ออกแนวเป็น Food Fighting แบบ อากิยามะ จาง ใน จอมโหดกระทะเหล็ก อะไรแบบนั้น (หัวเราะ) แต่ผมก็ไม่เคยไปแข่งทำอาหารเอาเป็นเอาตายแบบนั้น ก็เลยไม่มั่นใจว่าจะเขียนออกมาได้ เลยค่อยๆ ตีกรอบเรื่องให้มันแคบลงอีก ซึ่งก็คือเรื่องราวของห้องครัว ครอบครัว และโรงเรียน โดยใช้อาหารไทยพื้นบ้านที่เราคุ้นเคยมาเป็นตัวช่วยในการเล่าเรื่อง

 

ในบรรดาภาชนะหรืออุปกรณ์เกี่ยวกับอาหารที่มีอยู่มากมาย ทำไมถึงต้องเป็น ‘ปิ่นโต’

สมัยก่อนที่ผมจะเกิด คุณแม่ต้องทำงานและเรียนหนังสือไปด้วย ทุกเช้าแม่ต้องปั่นจักรยานไปซื้อของที่ตลาดสดตั้งแต่ตี 5 เพื่อกลับมาให้แม่ครัวทำอาหารใส่ปิ่นโต แล้วแกก็ปั่นจักรยานไปส่งตอนเช้าทุกวัน คุณแม่ชอบเล่าเรื่องนี้ให้ผมฟังเพราะอยากสอนว่า ถึงจะลำบากแต่ก็ต้องสู้ต่อไป

 

เพราะฉะนั้นภาพที่เห็นในปิ่นโตก็จะมาจากส่วนหนึ่งในความทรงจำของผม ตั้งแต่ห้องครัวของยายที่สร้างด้วยไม้ การหุงหาอาหารด้วยเตาถ่าน และคำขู่ของคุณยายที่ห้ามไม่ให้เล่นกับไฟเพราะเดี๋ยวเสือจะเข้าบ้าน ยายแกคงคิดว่าขู่แบบนี้คงได้ผล แต่ด้วยความที่ผมเป็นเด็กซนมากแล้วก็อยากเห็นเสือ… สุดท้ายก็เลยได้ก้นลายเสือแทน (หัวเราะ) ผมได้ใช้ความทรงจำในวัยเด็กสร้างเป็นตัวละครใน ปิ่นโต ขึ้นมา

 

 

ถ้าปิ่นโตมาจากความทรงจำในวัยเด็ก อาหารที่นำมาใช้ในเรื่องก็ต้องเป็นเมนูที่เคยอยู่ในปิ่นโตของคุณมาก่อนด้วยหรือเปล่า

ส่วนมากจะเป็นอาหารที่เราเคยเห็นจากปิ่นโตตอนเด็กๆ นั่นล่ะครับ เป็นอาหารทั่วไป ไม่พิสดาร เป็นอาหารธรรมดา เช่น พะแนง พะโล้ น้ำพริก หรืออาหารจานเดียวข้างทาง เช่น หมูกรอบและข้าวผัด ซึ่งอันไหนที่พอทำได้ผมก็จะพยายายามลองทำดูจริงๆ ระหว่างทำเราจะได้ข้อผิดพลาดหรือออกมาไม่สำเร็จ แต่นี่แหละสามารถเอามาใช้เป็นพล็อตในการเขียนการ์ตูนได้

 

คืออย่างน้อยที่สุดคุณจะได้อะไรมาสักอย่างในการลงมือทำด้วยตนเอง มันอาจจะไม่สวยงามหรือถูกต้องตามแบบทุกอย่าง แต่ผมว่ามันจำเป็นที่จะต้องซึมซับความรู้สึกระหว่างที่เรากำลังทำอาหารเท่านั้นถึงจะรู้ แล้วก็ค่อยเขียนออกมาเป็นการ์ตูน ไม่อย่างนั้นถ้าเขียนโดยไม่รู้หรือเดา ก็ถือว่าเรากำลังโกหกคนอ่านอยู่

 

ความคืบหน้าของเวอร์ชันแอนิเมชันพัฒนาไปถึงขั้นตอนไหนแล้ว

ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการเตรียมทีมงานและความพร้อมในการผลิต ทั้งการปรับปรุงบทและแต่งเพลงประกอบเพื่อให้ได้คุณภาพของผลงานให้ดีที่สุด ซึ่งทาง North Star Studio และ The Zero One ให้ความใส่ใจกับทุกขั้นตอนมาก ซึ่งผมรับผิดชอบในแทบทุกส่วนของแอนิเมชันเรื่องนี้ เรียกได้ว่าตั้งแต่แบบร่างจนถึงงานเสร็จ เพื่อคงความเป็นต้นฉบับของการ์ตูน ปิ่นโต ให้ออกมาสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งข่าวดีก็คือ เร็วๆ นี้จะมีเดโมสั้นๆ ออกมาให้ชมกันครับ

 

 

ความรู้สึกพอเขียนปิ่นโตออกมาได้จริงๆ ช่วยตอบโจทย์ที่อยากสร้างอะไรสักอย่างที่พูดได้เต็มปากเต็มคำว่านี่คือผลงานของ สินาด จารุอรรถจนภัทร ได้มากขนาดไหน

ถ้าเรื่องความรู้สึกผมว่าเติมเต็มได้ดีเลยนะ รู้ว่าถ้าทำฟรีแลนซ์ต่อไปก็สามารถทำได้ หรือหาเงินมากขึ้นได้อีก แต่สุดท้ายมันก็กั้นความรู้สึกอยากทำมันออกมาไม่ได้ ปิ่นโต นี่น่าจะเป็นผลงานที่ผมพูดได้เต็มปาก ที่ทำเพราะแพสชันไม่ใช่เรื่องเงิน เมื่อผมมองมาที่ตัวเอง มันน่าจะถึงเวลาแล้วที่ผมควรต้องมีผลงานของตัวเองจริงๆ สักที แล้วพอเห็นเสียงตอบรับจากคนอ่านก็รู้สึกว่าเราก็ไม่ได้มาผิดทาง

 

นอกจากเทคนิคการวาดรูป มีเรื่องอะไรบ้างที่คุณจะย้ำลูกศิษย์อยู่เสมอ ในฐานะอาจารย์ที่เคยทั้งประสบความสำเร็จเรื่องรายได้ และเจ็บป่วยจากการทำงานหนักในวงการอิลลัสฯ มาก่อน

สำหรับน้องที่อยากเป็นฟรีแลนซ์ต้องฝึกภาษาอังกฤษควบคู่ไปกับการฝึกทักษะวาดรูป ถ้ามีโอกาสผมจะพูดเลยว่านอกจากวาดรูปแล้ว คุณต้องเป็นภาษาอังกฤษด้วย เพราะถ้าทำงานในเมืองไทยเพียงอย่างเดียวจะทำให้คุณต้องเหนื่อยกับการโหมงานหนักมาก เพราะว่าทำมากแต่ได้น้อย แต่ถ้าได้ภาษามันจะช่วยเปิดโอกาสให้หางานที่มาจากประเทศที่ค่าครองชีพสูงกว่าเราได้มากขึ้น เมื่อเรามีรายได้ที่มากพอ การโหมงานหนักเพราะค่าจ้างไม่พอก็จะไม่เกิดขึ้น ซึ่งเรื่องพวกนี้เราเรียนรู้ได้โดยที่ไม่ต้องรอให้เจ็บหนักก่อน เงินที่ลำบากหามาได้ก็อาจใช้ไปกับค่ารักษาหมด

 

อีกเรื่องที่ผมชอบบอกกับลูกศิษย์คือ เราควรจะเริ่มสร้างผลงานที่เป็นของตัวเองควบคู่กับการฝึกฝนไปด้วย นิยาย คอมิก หรืออะไรก็ได้ เพราะสมัยนี้เราเป็นสื่อในตัวเอง พวกเราทุกคนสามารถใช้โซเชียลมีเดียเผยแพร่ผลงานของตัวเองให้คนอื่นเห็นได้ง่ายกว่าสมัยก่อน อยากทำเรื่องอะไร แบบไหน ก็สามารถทำได้ เพียงแต่โลกข้างนอกมันโหดร้าย ถ้าผลงานของเราไม่มีความโดดเด่นคนก็จะไม่หันมามอง ดังนั้นการศึกษาตลาดก่อนลงมือทำนั้นส่วนตัวผมคิดว่ามันจำเป็นมากกว่าฝีมือเสียอีกในยุคนี้

 

 

ภาพ: สุพัฒน์ ศิวะพรพันธ์

FYI
  • สามารถเข้าไปอ่านการ์ตูนเรื่อง ปิ่นโต ได้ที่ www.ookbeecomics.com/comics/6754
  • ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับเรื่อง ปิ่นโต เพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/TheZeroOne.The01
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising