×

เศรษฐา-คนเพื่อไทยดวลวาทะชนศิริกัญญา ปมนโยบายแจกเงินหมื่นผ่านดิจิทัลวอลเล็ต กับข้อสรุปรัฐบาลกู้เงินได้หรือไม่

โดย THE STANDARD TEAM
13.11.2023
  • LOADING...
เศรษฐา-ศิริกัญญา

หลังจบการแถลงและชี้แจงรายละเอียดโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อช่วงบ่ายของวันศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

 

ศิริกัญญา ตันสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะทีมเศรษฐกิจของพรรคก้าวไกล ออกมาให้ความเห็นทันทีต่อโครงการนี้ว่า การที่รัฐบาลเลือกใช้วิธีการกู้เงินเพื่อนำมาใช้แจกในโครงการนี้อาจจะผิดกฎหมายวินัยการเงินการคลัง-ขัดรัฐธรรมนูญ และนี่อาจเป็นทางลงของโครงการที่รัฐบาลจะยืมมือองค์กรต่างๆ ตีตกกฎหมายการกู้เงิน

 

เศรษฐา-คนเพื่อไทยทวีตโต้ศิริกัญญา

 

เช้าวันเสาร์ที่ 11 พฤศจิกายน เศรษฐาได้โพสต์ข้อความผ่าน X (ทวิตเตอร์) โดยโควตข่าวการให้สัมภาษณ์ของศิริกัญญาว่า “อย่าเอามาตรฐานความคิดของตัวเองมาหวังว่าคนอื่นเขาจะเป็นเหมือนกัน อย่ามองความตั้งใจที่บริสุทธิ์ และความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน มาเป็นมุมการเมืองที่สร้างความสับสนให้กับประชาชนเลยครับ”

 

นอกจากตัวเศรษฐาแล้วยังมีคนในพรรคเพื่อไทย เช่น ขัตติยา สวัสดิผล, ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์, จิราพร สินธุไพร และ ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ มาร่วมทวีตตอบโต้ศิริกัญญาอีกด้วย

 

บ่ายวันอาทิตย์ที่ 12 พฤศจิกายน ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงพาณิชย์ หนึ่งในแกนนำสำคัญของพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กับมติชน โดยระบุว่า หากเสียงวิจารณ์โครงการดิจิทัลวอลเล็ตเป็นประโยชน์กับประเทศและประชาชน รัฐบาลยินดีรับฟังอยู่แล้ว แต่หากจะวิจารณ์แค่ว่าเราผิด หรือแค่หาทางลงนั้น ไม่อยากให้คิดแค่เพียงนำความได้เปรียบทางการเมืองมาดิสเครดิตรัฐบาล

 

นอกจากนี้ยังได้พาดพิงศิริกัญญาด้วยว่า สมัยพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล “ศิริกัญญาเองก็ขอให้เราทำโครงการนี้ เพียงแต่ขอให้ปรับลดเพดานเงินลง แสดงให้เห็นว่าศิริกัญญาเองก็เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว”

 

ทำให้ศิริกัญญาได้โควตข่าวดังกล่าวพร้อมข้อความว่า “ดิฉันไม่เคย ‘ขอ’ ให้ทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แต่เมื่อจะร่วมรัฐบาลกัน ในการร่วมประชุมเพื่อวางแผนงบปี 67 อยากให้งบครอบคลุมโครงการของพรรคร่วมและเห็นว่านโยบายนี้เป็นนโยบายเรือธงที่พรรคเพื่อไทยใช้หาเสียง จึงเสนอว่าหากจะทำก็ได้ แต่งบประมาณไม่พอ ถ้าจะทำจริงต้องปรับลดงบลงมา

 

“และก็เป็นพรรคเพื่อไทยเองที่ปฏิเสธไม่ยอมทำ ถ้าอยากให้ดิฉันหยุดพูดเรื่องนี้ก็เปิดเผยรายงานการประชุมและมติที่ประชุมคณะกรรมการมาว่าตัวแทนกฤษฎีกาในคณะกรรมการชุดใหญ่พูดว่าอะไร ถึงเชื่อว่าทำได้ถูกกฎหมาย ไม่ใช่มาขุดอดีตหาความชอบธรรม”

 

ก่อนที่ภูมิธรรมจะโควตข้อความของศิริกัญญา และตอบกลับว่า “ต้องพูดความจริงให้หมดครับ ผมบอกคุณไหมว่าลดไม่ได้ เพราะโครงการนี้ไม่ใช่แจกเงิน แต่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ต้องใช้ 10,000 บาท ให้ประชาชนร่วมกระตุ้น เศรษฐกิจเพื่อเพิ่มกำลังซื้อ ถ้าให้ทำก็ต้องทำตามที่เราเสนอ ถ้าต้องลดแล้วผิดวัตถุประสงค์เราคงไม่ทำ

 

“ที่จริงต้องพูดว่าคุณไหมมาพูดกับผมตอนพบกันครั้งที่ 2 หลังทราบว่าประชาชนต้องการดิจิทัลวอลเล็ต จึงขอผมว่าดิจิทัลวอลเล็ตให้ทำต่อได้ไหม แต่ขอลดเพดานลงจาก 10,000 บาทให้น้อยลงหน่อย ผมจึงตอบกลับว่าถ้าทำต้องทำตามที่เราคิดมา ลดไม่ได้ เพราะไม่ใช่การแจกเงินสร้างความนิยม แต่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ”

 

ตกลงแล้วรัฐบาลกู้เงินได้หรือไม่

 

วิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงนโยบายนี้ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนส่งคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบข้อกฎหมายที่ถูกมองว่าอาจขัดรัฐธรรมนูญว่า เรื่องนี้ส่งมาที่คณะกรรมการกฤษฎีกาแต่ส่งไปคณะอื่น ไม่ใช่คณะของตน

 

เมื่อสอบถามความเห็นว่าหากว่าออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงินจะทำได้หรือไม่นั้น วิษณุกล่าวว่า ทำได้อยู่แล้ว แต่จะผ่านสภาหรือไม่ หรือว่าอาจมีคนขอส่งศาลรัฐธรรมนูญตอนหลังก็ทำได้ เหมือนการออกกฎหมายทั่วไป

 

เมื่อถามว่าจะเป็นการผิด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 หรือไม่ วิษณุกล่าวว่า รัฐบาลเขาคงถือว่าดูดีแล้วว่าไม่ขัด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 6 และมาตรา 9 แต่อีกฝ่ายบอกว่าขัด เพราะมีประโยคต้องแปลกัน ระบุว่าต้องไม่ใช้ประโยชน์ไปในการหาเสียง หาคะแนนนิยม

 

ขณะที่เช้าวันนี้ (13 พฤศจิกายน) นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ในรายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand กรณีที่มีข่าวว่าเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการออก พ.ร.บ.กู้เงิน เพื่อมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ระหว่างการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

 

นพ.พรหมินทร์ยืนยันว่าเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้บอกว่าไม่เห็นด้วยแล้วขอให้บันทึกการประชุม แต่พูดตอนท้ายการประชุมว่ามีหน้าที่ดูแลทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมาย และปกป้องทุกคนในที่ประชุม โดยจะนำเรื่องไปหารือในคณะกรรมการกฤษฎีกา

 

นอกจากนี้ยังมีมุมมองจากคนอื่นๆ ที่น่าสนใจ

 

  • คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (สว.) “ไม่เข้าเงื่อนไขการตรากฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินตามมาตรา 53 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561”
  • ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มองว่า “กู้มาแจกทำไม่ได้”
  • สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มองว่า “การกู้เงินเป็นเส้นทางวิบาก ไปต่อได้ยาก อาจเป็นทางลงของโครงการ”

 

“ยังไม่มีคำตอบใดๆ” ศิริกัญญาขอความชัดเจนกู้เงินผิดกฎหมายหรือไม่

 

ศิริกัญญาให้สัมภาษณ์ที่พรรคก้าวไกลในช่วง 12.00 น. ของวันนี้ว่า จนถึงตอนนี้รัฐบาลยังไม่มีคำตอบใดๆ ออกมาว่าเหตุใดจึงยังเดินหน้าโครงการต่อ ในเมื่อการออก พ.ร.บ.กู้เงิน ที่อาจขัดต่อกฎหมายวินัยการเงินการคลัง

 

“ทำไมพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลจึงคิดทำต่อ ทุกวันนี้ยังไม่ได้รับเหตุผลใดๆ กลับมา เพียงมีการขุดอดีตไล่ความชอบธรรมว่าตนเองเคยเห็นด้วย ทุกครั้งที่ออกมาแสดงความเห็นเรื่องนี้ไม่เคยพูดคัดค้านแม้แต่ครั้งเดียว เพียงแต่ถามว่างบประมาณมาจากไหน ยังไม่เริ่มคัดค้านจริงๆ จังๆ เลยสักครั้ง”

 

ศิริกัญญายังได้ขอให้รัฐบาลช่วยตอบให้ตรงประเด็นว่าจะไม่ผิดกฎหมายได้อย่างไร เพียงเปิดความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยรายงานการประชุมทั้งในชั้นคณะอนุกรรมการ และคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ออกมาว่าไม่ผิดกฎหมายอย่างไรก็จบแล้ว ตนเองก็จะได้เป็นคนหน้าแตกไปเลย

 

ศิริกัญญาระบุด้วยว่า การทำโครงการนี้ไม่ใช่เรื่องของการเอาชนะของพรรคเพื่อไทย แต่น่าจะเป็นการรักษาคำพูด ซึ่งเป็นจุดอ่อนจุดหนึ่งเหมือนกัน หลังจากที่ไม่ได้รักษาคำพูดมาแล้วครั้งหนึ่งตอนร่วมรัฐบาลและตั้งรัฐบาลมา จำเป็นต้องฟื้นความเชื่อมั่นว่าต้องทำตามที่พูดที่ได้หาเสียงไว้ให้ได้

 


อ่านเพิ่มเติม:


 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising