×

‘อภิปรายด้วยสายเลือด’ หมอเพชรดาว ส.ส. ทายาทผู้ถูกอุ้มหาย สะอื้นกลางสภา รอคอยความยุติธรรม 3 ชั่วอายุคน

โดย THE STANDARD TEAM
16.09.2021
  • LOADING...
เพชรดาว โต๊ะมีนา

เมื่อวานนี้ (15 กันยายน) พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย อภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … ว่ามีคำสำคัญอยู่ 2 คำคือ การทรมาน และ การกระทำให้บุคคลสูญหาย ตนเป็น ส.ส. สมัยแรก และทุกปีตนได้มีการอภิปรายเกี่ยวกับการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรทุกครั้ง เช่น ครั้งแรกในปี 2562 ตนได้หารือถึงความไม่เป็นธรรมในความรู้สึกของชาวบ้าน ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร กรณี อับดุลเลาะ อีซอมูซอ หลังควบคุมตัวในค่ายทหารไม่ถึง 20 ชั่วโมง และในห้อง ICU อีก 35 วัน จนถึงวันนี้ครอบครัวยังคงรอคอยในความเป็นธรรม

 

การอภิปรายครั้งที่ 2 ในปี 2563 ในรายงานการพิจารณาศึกษาเรื่องร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … ของคณะกรรมาธิการการกฎหมายในครั้งนั้น ตนมีทั้งข้อสังเกต ข้อเสนอแนะ และข้อสนับสนุน โดยได้ยกข้อสังเกตครอบครัวของตนเมื่อ 67 ปีที่ผ่าน รวมถึงกรณีของ สมชาย นีละไพจิตร เมื่อปี 2547 พอละจี รักจงเจริญ เด่น คำแหล้ ในปี 2559 สุรชัย แซ่ด่าน ปี 2562 และ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ในปี 2563 

 

การอภิปรายครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ที่ตนได้อภิปรายเรื่องการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายด้วยสายเลือดในชีวิต เพราะความยุติธรรมที่ตนรอคอยนานถึง 3 ชั่วอายุคน จนถึงวันพิจารณารับหลักการในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ พร้อมระบุว่า การที่มีคนในครอบครัวถูกบังคับให้สูญหายเมื่อ 13 สิงหาคม 2497 คือ หะยีสุหลง โต๊ะมีนา ปู่ของตนเอง ถูกบังคับให้สูญหาย แต่ยังมีอีกหลายสิบกรณีที่ยังหาไม่พบ 

 

โดยระหว่างอภิปรายถึงบุคคลสูญหายในครอบครัว พญ.เพชรดาว ได้มีอาการสะอื้นออกมาด้วย 

 

นอกจากนั้น พญ.เพชรดาว ยังกล่าวถึงกรณีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในปี 2501 และวันที่ 13 มกราคม 2501 ได้มีการงมหาศพ หะยีสุหลง โต๊ะมีนา ซึ่งเป็นคุณปู่ของตน ซึ่งแน่นอนว่าครั้งนั้นหาไม่เจอ จากนั้นศาลจังหวัดปัตตานีจึงได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2505 สั่งให้เป็นบุคคลหายสาบสูญ และมีอีกหลายกรณีที่เป็นเช่นเดียวกับครอบครัวของตน ที่ครอบครัวจะต้องเผชิญกับความสูญเสียที่ไม่มีความชัดเจน ไม่สามารถยืนยันความสูญเสียได้ การที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมภาคีอนุสัญญา 2 ฉบับ ซึ่งจากนั้นประเทศไทยใช้เวลานานกว่า 10 ปีที่จะทำให้ประเทศมีกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เพื่อกำหนดให้การทรมานและการอุ้มหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นคดีอาชญากรรม 

 

ส่วนตัวคิดว่ามีความจำเป็นที่จะทำให้กฎหมายดังกล่าวไม่มีอายุความจนกว่าจะรู้ชะตากรรมของผู้ถูกอุ้มหาย ซึ่งจากประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับสุขภาพจิตในพื้นที่สถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงการเยียวยาครอบครัวผู้สูญหายและซ้อมทรมาน จึงมองว่ามี 3 สาระสำคัญที่เกี่ยวข้อง 

 

  1. ให้มีกลไกการป้องกันและการตรวจสอบ เช่น ญาติ ทนาย หรือกรรมการสิทธิมนุษยชน มีสิทธิ์ที่จะเข้าพบผู้ถูกควบคุมตัวและให้มีการบันทึกสถานที่ สภาพร่างกายและจิตใจระหว่างการถูกควบคุมตัว และกล้องวงจรปิดก็มีความสำคัญ เป็นของต้องมีที่สามารถตรวจสอบการทำงานของกล้องได้อย่างเป็นระยะ ซึ่งทุกครั้งในการตรวจสอบกล้องวงจรปิด เราจะพบว่าเสีย ใช้การไม่ได้ หรือถูกถอดออก ซึ่งหลังจากนี้ควรจะกำหนดให้เป็นความผิดที่ไม่สามารถรักษาดูแลกล้องวงจรปิดที่เป็นสมบัติของราชการได้ 

 

  1. การบันทึกสภาพร่างกายและจิตใจระหว่างการควบคุมตัวก็มีความสำคัญ เพื่อเป็นแนวทางในการช่วยเหลือผู้ถูกซ้อมทรมาน และสามารถนำเสนอพยานหลักฐานอันเกิดจากการได้รับการบาดเจ็บทางร่างกายและจิตใจต่อศาลอย่างเป็นระบบได้ ควรจะนำมาใช้ในประเทศไทย การทำร้ายร่างกายอาจจะมีบาดแผลที่สามารถเห็นได้ แต่การทำร้ายจิตใจเราไม่สามารถที่จะเห็นบาดแผลทางจิตใจได้ 

 

  1. เรื่องการเยียวยา ควรกำหนดมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายให้มีมาตรการฟื้นฟูด้านร่างกายและจิตใจและการเงิน 

 

ทั้งนี้ชัดเจนว่าการต้องซ้อมทรมานและการอุ้มหายไม่ใช่เรื่องใหม่ของประเทศไทย คำตอบของโจทย์นี้ส่วนหนึ่งคือกฎหมายที่สภากำลังอภิปรายอยู่ และที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือการบังคับใช้กฎหมายการติดตามตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ รวมถึงการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและการปฏิรูปตำรวจ และเพื่อลบคำครหาที่ว่า ‘ซ้อมทรมานก็เหมือนผี รู้ว่ามีแต่ไม่เคยเห็น’

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising