ได้ครับพี่-ดีครับผม-เหมาะสมครับท่าน! คำประเภทนี้ที่มักพูดกันเมื่อไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งและมาจากความต้องการทำให้ผู้อื่นพึงพอใจที่สุดเสมอ กับใจความของหนังเรื่อง Yes Man (2008) หรือชื่อไทย ‘คนมันรุ่ง เพราะมุ่งเซย์เยส’ ที่ Jim Carrey แสดงนำเป็นตัวเอกผู้ตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะตอบตกลงทุกอย่างในชีวิต เหมือนกันตรงที่สุดท้ายแล้วการเป็นคนอะไรก็ได้และให้ทำอะไรก็ยอม บ่อยครั้งที่ทำให้คนอื่นพอใจ แต่คนทุกข์ทรมานใจกลับเป็นเรา
People Pleaser ชีวิตนี้ ขออุทิศตน
บุคลิกดังกล่าวมีชื่อเรียก แม้จะไม่มีศัพท์เรียกทางการแพทย์และไม่จัดว่าเป็นกลุ่มอาการ แต่คนประเภทนี้ถูกเรียกว่า ‘People Pleaser’ ที่มีความหมายว่าคนผู้ชอบเอาอกเอาใจและมีชีวิตอยู่เพื่อตอบสนองความพึงพอใจผู้อื่น และเพื่อทำให้ผู้อื่นพอใจ ในหลายๆ ครั้งเหล่า People Pleaser สละแม้กระทั่งเวลา ความต้องการ ความจำเป็น และฝืนใจทำในสิ่งที่ไม่ชอบตั้งแต่ต้นจนจบโปรเซส
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘โตไปอย่าเป็นแบบนี้’ ฮาร์วาร์ดจัดประเภท เจ้านาย หัวหน้า ที่ไม่น่ารัก 5 แบบที่ลูกน้องไม่อยากทำงานด้วย
- ไม่ใช่นิสัย แต่มันคือวิถี! วิทยาศาสตร์ชี้ คนขี้เกียจมีแนวโน้มจะเป็นคนฉลาด ประสบความสำเร็จสูง และเป็นลูกจ้างที่ดีกว่า
- ทำงานไม่หยุด เพราะ ‘คิดว่าไม่มีใครแทนตัวเองได้’ งานวิจัยค้นพบ นี่แหละสาเหตุหลักที่คน Gen Y หยุดทำงานไม่ได้สักที!
ในเชิงจิตวิทยา เรื่องนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องที่มนุษย์เป็นสัตว์สังคม และเรื่องที่ล้วนมีความต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมใดสังคมหนึ่งเสมอ โดยเฉพาะสังคมปิดอย่างโรงเรียน มหาวิทยาลัย กลุ่มที่รวมตัวกันเพราะความชอบบางอย่าง และที่ทำงาน และเพื่อให้ถูกรัก ถูกไว้ใจ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งความสนิทชิดเชื้อและได้รับการยอมรับจากฝูง People Pleaser มีแนวโน้มจะปรับพฤติกรรมตัวเองให้เข้ากับสังคมนั้นๆ แม้จะต้องฝืนมันแค่ไหนก็ตาม
ที่จริงแล้วมีอีกคำหนึ่งที่ใกล้เคียงกันคือคำว่า ‘Altruism’ ที่แปลว่าการนึกถึงตัวเองน้อยจนถึงไม่นึกถึง และคิดแต่ว่าตัวเองจะทำประโยชน์และช่วยเหลือคนรอบข้างได้อย่างไร แม้จะต้องสูญเสียเงิน เวลา โอกาส และพลังงานหรือความทุ่มเทไปเท่าไรก็ตาม
แต่สิ่งที่แยก Altruism กับคนประเภท People Pleaser ออกจากกัน คือแบบหลังนั้นสามารถเลิกเป็นได้ยากกว่า เพราะอย่างน้อยๆ Altruism ยังถูกขนานนามว่าไม่เห็นแก่ตัว และเอาคนอื่นเป็นที่ตั้งในเชิงเอาใจเขามาใส่ใจเรา ซึ่งสามารถเป็นคนที่ทำเพื่อตัวเองได้เช่นกัน
ในขณะที่ People Pleaser มีความหมายตรงตัวว่าชีวิตนี้เพื่อคนอื่น เป็นคนที่สังคมหรือบุคคลอยากให้เป็น และยอมแม้กระทั่งสูญเสียตัวตนของตัวเองก็ตามที ด้วยการตามน้ำพูดว่า ‘เห็นด้วย’ หรือ ‘ใช่’ และข่มอารมณ์ความรู้สึกเอาไว้เบื้องลึกจนเกิดอาการสะสม ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว
ความรู้สึกจากการเป็น People Pleaser จะทำให้รู้สึกดีในช่วงแรกก็จริง และมันคือห้วงความสุขในขณะที่ได้เห็นใบหน้าอันยิ้มแย้ม ได้ยินคำพูดกล่าวชม ได้ฟังน้ำเสียงที่พึงพอใจ แต่ในระยะยาวแล้วกลับตรงกันข้าม และกลไกโต้กลับของความหดหู่จากการเป็น People Pleaser คือการเป็น People Pleaser ต่อไปเพื่อที่จะถูกรัก เป็นที่ต้องการ เป็นคนสำคัญ และมีคุณค่า จนเมื่อต้องการดูแลตัวเองบ้าง ก็พบว่าทรัพยากรต่างๆ หมดไปกับการดูแลคนอื่นหมดแล้ว
สัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณกำลังเป็น People Pleaser
ต่อไปนี้คือสัญญาณของการเป็นผู้ถวายดวงใจรับใช้ผู้อื่น ลองสำรวจตัวเองว่ามีพฤติกรรมเหล่านี้หรือไม่ และถ้ามี (หรือมีหลายข้อ) อาจถึงเวลาต้องตั้งคำถามต่อความตั้งใจและสิ่งที่กำลังทำอยู่ และหันกลับมาถามเช็กตัวเองว่าควรทำต่อไป ไหวไหม หรือควรหยุดเพียงแค่นี้
- รู้สึกเป็นเรื่องยากที่จะปฏิเสธใครสักคน
- มักทำงานหนักหรือล่วงเวลาเสมอ แม้จะไม่มีเวลาก็ตาม
- บ่อยครั้งที่ตอบตกลงกับแผน ความรับผิดชอบ และโปรเจกต์จนล้นมือ
- พยายามหลีกเลี่ยงการตอบสนองความต้องการตัวเอง เช่น การพูดว่าโอเค, ไม่เป็นไร, เรื่องนี้แค่นี้เอง, ไม่มีอะไร ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วในใจไม่เป็นเช่นนั้น
- พยายามหลีกเลี่ยงการเห็นแย้งกับผู้อื่น หรือพูดความรู้สึกจริงๆ ที่อยู่ในใจออกมา
- ไหลไปกับสิ่งต่างๆ และคนรอบตัว แม้ตัวเองจะไม่แฮปปี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการทะเลาะเบาะแว้ง
- รู้สึกอยากเป็นคนเฟรนด์ลี น่าคบหาสมาคม และมีความสุขตลอดเวลา
- กังวลว่าจะทำให้เกิดความไม่สบายใจ จนไม่กล้าพูดอะไรๆ เพื่อตัวเอง
- เกิดความเครียดจากการรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองรับปากว่าจะทำ
- หงุดหงิดที่ไม่เคยมีเวลาให้ตัวเองบ้างเลย
- รู้สึกว่าความต้องการและความจำเป็นของตัวเองไม่สำคัญเท่าของผู้อื่น
- แอบรู้สึกว่าคนอื่นๆ ใช้ประโยชน์จากตัวเอง แต่เพื่อให้ไม่ขัดแย้งหรืออยู่รอด กลับเลือกยอมให้เกิดขึ้น
สาเหตุของการเป็นคนประเภท People Pleaser
มีปัจจัยมากมายที่ทำให้เกิดความรู้สึก ‘ต้องการ’ ตอบสนอง ‘ความต้องการ’ ผู้อื่น และปัจจัยเหล่านี้มีทั้งจากภายในและปัจจัยจากภายนอก
- Low Self-Esteem หรือที่พูดภาษาปากว่า Self-Esteem ต่ำ เป็นความรู้สึกว่าตัวเองนั้นด้อยคุณค่ากว่าผู้อื่น และความต้องการของตัวเองไม่เคยสำคัญ จึงเลือกตระหนักถึงผู้อื่นมากขึ้น และสวนทางกัน ตระหนักถึงตัวเองน้อยลงทุกที ไปจนถึงการรู้สึกว่าตัวเองไม่มีเป้าหมายที่จะอยู่ต่อไปเลยหากปราศจากการทำเพื่อให้ผู้อื่นมีความสุข
- Anxiety หรือความวิตกกังวล ความรู้สึกกังวลว่าตัวเองจะไม่เข้ากับสังคมใดสังคมหนึ่ง กลัวการถูกปฏิเสธ ถูกขับไล่ ถูกมองว่าทำให้คนอื่นไม่พอใจ หรือถูกมองว่าแปลกแยก จึงตอบสนองเพื่อให้ผู้อื่นมานิยมชมชอบตัวเอง
- Conflict Avoidance หรือความต้องการหลีกเลี่ยงการปะทะ เป็นคนที่กลัวจะมีความขัดแย้งกับผู้อื่น หรือรู้สึกว่าต้องเลี่ยงมันตลอดเวลา จึงเลือกตามใจผู้อื่นเพื่อไม่ต้องการให้เกิดการถกเถียง ขัดแย้ง จนถึงทะเลาะ
- Culture and Socialization หรือวัฒนธรรมและสังคม ตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน และประเทศ สามารถที่จะ Shape มุมมองเรื่องหน้าที่ที่ตัวเองต้องทำและวิถีที่ต้องปฏิบัติต่อตนเองและผู้อื่นได้ สำหรับบางสังคมอาจให้ค่าการไม่เห็นแก่ตัว และบางสังคมความต้องการและจำเป็นของส่วนรวมสำคัญกว่าระดับบุคคล
- Inequity หรือความไม่เท่าเทียม ความไม่เท่าเทียมที่เป็นไปได้ทั้งเรื่องของอายุ เพศ ชาติกำเนิด ชาติพันธุ์ ฐานะ การศึกษา ศาสนา สีผิว และลำดับขั้น ทำให้เกิดไอเดียเกี่ยวกับการที่คนคนหนึ่งจะต้องมีหน้าที่ดูแลคนอีกคนอย่างเลี่ยงไม่ได้ เช่น คำพูดที่กล่าวว่าเพศหญิงเป็นเพศที่ละเอียดอ่อนและมีความเป็นแม่ ดูแลได้มากกว่า ความคิดนี้ก่อให้เกิดระบบ ‘ผู้หญิงต้องอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน และคอยดูแลฝ่ายชายเสมอ’
- Personalities Disorder หรือความผิดปกติของบุคลิก ปัญหาสุขภาพจิตระยะยาวที่นำไปสู่การตามใจผู้อื่น เช่น อาการ Dependent Personality Disorder (DPD) ที่ทำให้คนคนหนึ่งรู้สึกต้องพึ่งพาความช่วยเหลือคนอื่น หรือการอนุมัติยินยอมก่อนจะทำสิ่งใดในทุกๆ แง่มุมของชีวิต เช่น ความต้องการให้ใครสักคนบอกว่าตัวเองควรแต่งตัวแบบไหน ใส่เสื้อผ้าสีอะไร
- Trauma หรือปมความเจ็บปวดในอดีต เรื่องที่เคยเจอมาในระดับความรุนแรงตั้งแต่เบาจนถึงหนักที่มีทั้งเหมือน คล้าย และแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ไม่สามารถสู้ หนี หรือนำมันใส่กล่องไปเก็บที่อื่นได้ คนบางคนเลือกที่จะแสดงมันออกมาด้วยการ ‘ยอมศิโรราบ’ และ ‘ถวายตัว’ ทำอะไรก็ตามเพื่อให้คนรัก ชื่นชม เชิดชู โดยเป็นการกระทำที่มองว่าเป็นวิธีที่จะทำให้คนคนนั้นอยู่รอดต่อไปในโลกใบนี้ได้ ซึ่งตามหลักจัดการเป็น People Pleaser ในระดับ Extreme หรือรุนแรงที่สุด
How to เลิกเป็นคนตามใจคนอื่น และหันมารักตัวเองมากขึ้น
การเลิกเป็น People Pleaser ไม่ใช่เรื่องง่าย หรือแค่บอกว่า ‘เลิกได้แล้ว’ แล้วจะเลิกได้ แต่ต้องอาศัยการทบทวนตัวเอง สังเกตตัวเอง ทำความเข้าใจ และปรับความเข้าใจอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีหลักการคิดและวิธีการที่จะช่วยในการปรับตัวเป็นคนใหม่ที่ใช้ชีวิตเพื่อตัวเองได้ ดังนี้
- เริ่มจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ เริ่มจากการตั้งเป้าหมายใกล้ๆ และทำได้ง่ายที่สุดเป็นครั้ง หมดหนึ่งครั้ง เริ่มใหม่ครั้งถัดไป ครั้งแรกได้ ครั้งถัดไปตามมา จนกลายเป็นนิสัย และซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกตนเองมากขึ้น
- ถ่วงเวลา เมื่อมีคนร้องขอความช่วยเหลือหรือถามความเห็นใดๆ ลองให้โอกาสและเวลาตัวเองได้คิดถี่ถ้วนกับคำขอนั้นอีกรอบ แทนที่จะตอบกลับไปทันทีว่า ‘Yes’ หรือ ‘Agreed’
- เซ็ตลิมิตให้ตัวเองเสมอ เมื่อตอบตกลงกับอะไรบางอย่าง ขีดเส้นเวลาและเดดไลน์ให้ชัดเจน แทนที่จะรอให้ใครคนอื่นจัดตารางให้ว่าเริ่มตอนนี้ สิ้นสุดลงที่เวลานี้
- ล็อกเวลาให้ตัวเอง กำหนดเวลาว่าในวันหนึ่งจะต้องมีเวลาให้ตัวเองเท่านี้ๆ และนอกเหนือจากนั้นที่อยู่นอกแผนหรือนอกเวลาที่กำหนด จะไม่ตอบรับคำขออื่นใดอีก ซึ่งสามารถทำได้ทั้งกำหนดความตั้งใจด้วยตัวเอง หรือใช้อุปกรณ์อย่างเช่น แอปพลิเคชัน ปฏิทิน สมุดจด เข้าช่วย
- ให้ค่านิยมที่ตัวเองยึดถือ กำหนดแนวทางชีวิต สร้างฟิลเตอร์ให้กับตัวเอง แทนที่จะทำแบบปราศจากความยั้งคิด ลองวิธีใหม่คือถามว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นตอบสนองคุณค่าในใจเราแค่ไหน หากไม่แน่ใจหรือมีความขัดแย้ง การปฏิเสธจะช่วยให้ไม่เก็บมาคิดและสะสมในภายหลัง
- หลีกเลี่ยงการขอโทษขอโพยบ่อยๆ People Pleaser มักมีนิสัยชอบขอโทษ เพราะมันทำให้คนคนนั้นรู้สึกดีขึ้น แต่อันที่จริงการขอโทษแม้ตัวเองผิดน้อยหรือไม่ผิดเลย (โทษตัวเอง) จะทำให้คุณรู้สึกว่าตัวเองผิดจริง ราวกับยอมรับอาชญากรรมที่ตนไม่ได้ก่อ ทั้งยังทำให้คำพูด คำขอ และการกระทำของคนอื่นกลับตาลปัตรเป็นถูกต้องและมีเหตุผลกว่าอีกด้วย การไม่ขอโทษพร่ำเพรื่อจะช่วยให้สิ่งที่พูด คิด ทำ มาจากความซื่อสัตย์กับตัวเองมากขึ้น
และที่สำคัญที่สุด หัดพูดว่า ‘ไม่’ ให้เป็น (ที่ดูเหมือนเป็นการต่อยอัปเปอร์คัตเหล่า People Pleaser อย่างจัง) และเป็นคนประเภท ‘Assertive’ ไม่ ‘Aggressive’
การเป็นคน Aggressive หรือก้าวร้าวก็ดูจะสุดโต่งไป และสามารถทำร้ายหรือทำลายความสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการในการปฏิเสธได้ ในขณะที่แบบ Assertive หรือแบบมั่นใจที่ตรงกันข้ามกับแบบแรก สามารถบรรลุเป้าหมาย หรือปฏิเสธอย่างได้ผลด้วยความเคารพและสุภาพจนอีกฝ่ายสัมผัสได้
ถ้าหากให้สรุปอย่างเห็นภาพชัด ก็คงต้องบอกว่า Assertive อยู่ระหว่าง Passive (สายตั้งรับและประนีประนอม) กับ Aggressive ที่เป็นขอบเขตความสุขของตัวเรา โดยที่เคารพทั้งตัวคุณเองและผู้อื่นในเวลาเดียวกัน
ลองฝึกที่จะยืดหยัดเพื่อความรู้สึกตัวเองทีละนิดทีละน้อย แม้แรกๆ จะรู้สึกผิดไปบ้าง ก็ขออย่าเพิ่งท้อใจ อาจเริ่มจากการพูดในสิ่งที่คิดในหัวข้อเล็กๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ชอบ / ไม่ชอบหนังเรื่องนี้หรือมื้ออาหารมื้อนี้ ทำไมถึงคิดแบบนั้น คิดอย่างไรกับหนังหรือมื้ออาหาร ฟังอีกฝ่ายอย่างเคารพ และตอบกลับด้วยมุมมองแย้งอย่างสุภาพ จากนั้นลองปฏิเสธด้วยการพูดว่า ‘ไม่’ โดยไม่ต้องอธิบายตัวเองมากเกินไป ใจนิ่ง และทำแบบนี้เรื่อยๆ จนเป็นธรรมชาติ
ในที่สุดก็จะสามารถพูดในสิ่งที่ต้องการและไม่ต้องการได้ และสิ่งที่อยากให้ตระหนักไว้เสมอคือการพูดว่า ‘ไม่’ ไม่ได้ทำให้คุณเป็นคนไม่ดีแต่อย่างใด และการทำเพื่อตัวเองบ้างไม่ใช่สิ่งที่แย่
อ้างอิง: