×

โกงเงินคนจน: ทำไมรัฐบาลจับโกงสู้เด็กฝึกงานไม่ได้

16.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins read
  • เฉพาะใน 2 ปีนี้ ข่าวข้าราชการไม่โปร่งใสที่ฉาวๆ มีทั้งเรื่องตำรวจรับส่วยอาบอบนวด, ผู้บัญชาการตำรวจยืมเงินคนพัวพันค้ามนุษย์ 300 ล้าน, โรงพยาบาลระยองซื้อเครื่องมือแพทย์แพงกว่าปกติสองเท่า, สหกรณ์ทั้งระบบโกงกันเกือบหมื่นล้าน, อมเบี้ยชราภาพผู้ประกันตน หรือข่าวโกงดอกไม้จันทน์งานพระราชพิธี และล่าสุดคือข่าวโกงเงินคนจนและผู้ป่วยเอดส์ รวมถึงการโกงเงินกองทุนการศึกษาเพื่อช่วยเด็กที่เป็นเหยื่อขบวนการค้ากาม
  • ในเมื่อกระทรวงเกือบครึ่งของประเทศมีเรื่องโกงกินแบบนี้ เราคงไม่ต้องถามว่ามีการโกงที่หน่วยงานใดบ้าง เพราะคำถามที่ตรงความจริงคือมีหน่วยงานไหนที่ไม่โกง
  • จากกรณีโกงเงินเพื่อช่วยคนไร้ที่พึ่งถึงโกงเงินเพื่อช่วยไม่ให้เด็กขายตัว ‘ความล้มเหลวเชิงโครงสร้าง’ ของระบบราชการทำให้ไม่อาจเอาคนโกงมาลงโทษได้ แม้ผู้ร่วมโกงทำพฤติกรรมคล้ายกันทั้งประเทศอย่างกว้างขวาง รวมทั้งผู้โกงทำพฤติกรรมเดิมซ้ำซากเป็นเวลา 10 ปี

 

ข่าวโกงเงินคนจนตั้งแต่คนยากไร้ไปจนถึงผู้ป่วยเอดส์นั้นเป็นอาชญากรรมที่ประจานความเลวทรามของข้าราชการผู้เกี่ยวข้องทุกคน เพราะคนโกงต่ำช้าจนกล้าโกงคนที่อาจอยู่ในช่วงสุดท้ายของชีวิต มิหนำซ้ำผู้โกงยังเป็นข้าราชการที่ร่วมกันปล้นประชาชนอย่างเป็นระบบ ทั้งที่นั่นคือคนที่มีฐานะลำบากที่สุดในสังคม

 

ในการโกงเงินกองทุนการศึกษาเพื่อช่วยเด็กที่เป็นเหยื่อขบวนการค้ากามก็เช่นกัน ความต่ำช้าของเรื่องนี้คือคนโกงเป็นคนที่รู้ว่าการโกงเป็นการปล้นเงินที่อาจทำให้เด็กจบชีวิตในซ่องก็ได้ แต่คนพวกนี้ทำแบบนี้สิบกว่าปีโดยไม่มีหยุด ทั้งที่การทำแบบนี้คือการทำร้ายเด็กจากครอบครัวที่แทบไม่มีทางเลือกในสังคม

 

ไม่มีใครรู้ว่าการโกงของทรชนพวกนี้ทำให้ผู้ป่วยเอดส์มีชีวิตด้วยความทุกข์ทรมานเท่าไร เช่นเดียวกับไม่มีใครรู้ว่าการโกงทำให้เด็กต้องออกจากห้องเรียนไปเป็นที่รีดน้ำกามไปแล้วกี่คน แต่ที่แน่ๆ คือผู้โกงเป็นข้าราชการซี 8 ที่ชีวิตสุขสบายจากภาษีเดือนละ 60,000 บาท หรือสองเท่าของเงินที่คนจนในประเทศหาได้ทั้งปี

 

4 ปีแล้วที่รัฐบาลนี้ใช้ปืนตั้งตัวเองสู่อำนาจโดยอ้างว่าปราบโกง แม้จะพูดยากเรื่องการโกงของรัฐบาลในเวลาที่กลไกตรวจสอบถูกทำลายไปหมด ทว่าที่ไม่ต้องเถียงกันก็คือประชาชนรู้สึกว่าข้าราชการโกงรุนแรงในยุคสมัยนี้แน่ๆ เช่นเดียวกับประสิทธิภาพในการปราบโกงของรัฐบาลก็ล้มเหลวที่สุดด้วยเหมือนกัน

 

เฉพาะใน 2 ปีนี้ ข่าวข้าราชการไม่โปร่งใสที่ฉาวๆ ก็มีเรื่องตำรวจรับส่วยอาบอบนวด, ผู้บัญชาการตำรวจยืมเงินคนพัวพันค้ามนุษย์ 300 ล้าน, โรงพยาบาลระยองซื้อเครื่องมือแพทย์แพงกว่าปกติสองเท่า, สหกรณ์ทั้งระบบโกงกันเกือบหมื่นล้าน, อมเบี้ยชราภาพผู้ประกันตน หรือข่าวโกงดอกไม้จันทน์งานพระราชพิธี

 

ถามด้วยคำถามแบบเดียวกัน เราไม่มีทางรู้ว่าส่วยอาบอบนวดมีส่วนให้ธุรกิจค้ามนุษย์ได้เด็กหญิงชายไปเป็นแรงงานเซ็กซ์แล้วกี่ราย, เครื่องมือแพทย์ที่แพงเกินไปกระทบต่อโอกาสด้านการรักษาในโรงพยาบาลรัฐเท่าไร, โกงสหกรณ์ทำคนล้มละลายกี่คน เช่นเดียวกับความทรมานของคนเกษียณอายุที่ถูกปล้นเบี้ยชรา ซึ่งพวกเขาจ่ายค่าแรงสมทบทุกเดือน

 

ล่าสุด สำนักข่าวอิศราก็เปิดเผยคลิปซึ่งเล่าเรื่องตรงกับที่หลายคนทราบกันมา 2 ปีแล้ว นั่นคือทหารยศพันเอกข่มขู่ครูชายแดนใต้ให้ตรวจรับงานกล้อง CCTV ในโครงการ Safe Zone School มูลค่า 577 ล้านบาท โดยอ้างว่าไม่รับรองถ้าบริษัทอื่นได้งาน แม้กล้องจากบริษัทที่พันเอกสนับสนุนจะไม่ตรงกับคุณสมบัติที่ราชการกำหนดไว้ในทีโออาร์

 

ไม่มีใครรู้อีกเช่นกันว่ากล้องที่พันเอกหนุนหลังนั้นมีส่วนแค่ไหนในความไม่สามารถระงับความเสียหายที่เกิดแก่ผู้บริสุทธิ์และเด็กๆ จากการก่อเหตุร้ายและวินาศกรรมในสามจังหวัดชายแดนใต้ช่วงที่ผ่านไป

 

เอาเรื่องโกงเท่าที่ยกมา หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องก็มีตั้งแต่กลาโหม, ตำรวจ, สาธารณสุข, เกษตร, แรงงาน, มหาดไทย, ศึกษา, พัฒนาสังคม และในเมื่อกระทรวงเกือบครึ่งของประเทศมีเรื่องโกงกินแบบนี้ เราคงไม่ต้องถามว่ามีการโกงที่หน่วยงานใดบ้าง เพราะคำถามที่ตรงความจริงคือมีหน่วยงานไหนที่ไม่โกง

 

จริงอยู่ว่าการโกงแต่ละกรณีมีองค์ประกอบต่างกัน แต่การโกงที่เบ่งบานคือหลักฐานว่าทหารปราบโกงไม่ได้อย่างที่พูดในวันยึดอำนาจเพราะเผชิญ ‘ความล้มเหลวเชิงโครงสร้าง’ สองข้อ ข้อแรกคือการไม่สามารถป้องกันคนโกงให้ทำการโกงได้สำเร็จ และข้อสองคือการไม่อาจเอาผิดคนโกงจนปล่อยให้คนโกงลอยนวล

 

คนไทยโกรธแค้นกลุ่มโกงเงินผู้ป่วยเอดส์ เพราะเป็นข้าราชการ แต่ดันปล้นคนจน แต่เรื่องนี้กระทบใจคนวงกว้าง เพราะคนโกงถูกจับโดยนักศึกษาฝึกงาน แทนที่จะเป็นรัฐมนตรี นายพล หรือ ป.ป.ช. ทั้งที่การโกงในกรณีนี้ตื้นเขินจนไม่น่ารอดหูรอดตาผู้บังคับบัญชาได้ ยกเว้นแต่มีการให้ท้ายโดยข้าราชการด้วยกัน

 

จากการเปิดเผยของน้องแบมผู้แฉโกงจนนายกฯ ควรเชิญมาสอนงานขบวนการปล้นคนไร้ที่พึ่งที่ขอนแก่นทำการทุจริตโดยวิธีที่ไม่ยำเกรงกฎหมายอย่างถึงที่สุด สรุปสั้นๆ คือคนพวกนี้โกงจนชินชาขนาดกล้าใช้นักศึกษาฝึกงานไปปลอมเอกสารยักยอกทรัพย์โดยกรอกข้อมูลรายได้และความเดือดร้อนของคนจนตามใจชอบ จากนั้นก็แนบสำเนาบัตรประชาชนพร้อมลายเซ็นไปขึ้นเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง

 

เป็นไปได้อย่างไรที่เจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาสังคมฯ จังหวัดขอนแก่น ทำเอกสารเท็จด้วยวิธีโง่ๆ แต่ราชการด้วยกันเชื่อจนปล่อยให้โกงคนกว่า 2,000 รายสำเร็จ เป็นไปได้อย่างไรที่การโกงลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นในอีก 44 จังหวัด รวมเป็นเงินเกือบ 100 ล้านบาท โดยไม่มีรัฐมนตรีหรือผู้บังคับบัญชาขัดขวางแม้แต่คนเดียว

 

ในกรณีจังหวัดอุดรธานี กลุ่มโกงไม่ได้ทำแค่เขียนเอกสารเท็จแนบสำเนาบัตรประชาชนเพื่อปล้นเงินคนจน แต่ยังถึงขั้นปลอมเอกสารเพื่อรับเงินในนามคนจนและผู้ป่วยเอดส์ที่ไม่เคยขอเงินช่วยเหลือ รวมทั้งสร้างเอกสารลวงโลกเพื่อเอาเงินภาษีประชาชนเข้ากระเป๋าตัวเองในนามคนที่ไม่เข้าข่ายรายได้น้อยหรือไร้ที่พึ่ง

 

ทั้งหมดนี้คือความล้มเหลวเชิงโครงสร้างที่ไม่สามารถป้องกันคนโกงให้ทำการโกงได้สำเร็จโดยตรง

 

นอกจากจะล้มเหลวด้านป้องกันการโกง ระบบราชการยังล้มเหลวด้านเอาผิดคนโกงด้วย เพราะร่องรอยของการโกง ได้แก่ บุคคลรวยขึ้นผิดปกติ, ปกปิดบัญชีทรัพย์สิน หรือแจ้งไม่ตรงความจริง และการที่ข้าราชการหน่วยเดียวกันโกงทั้งประเทศ แปลว่าต้องมีคนรวยผิดปกติพร้อมกันจำนวนมากแน่ๆ แต่ทำไมไม่มีใครในกระทรวงที่สงสัยความร่ำรวยแบบไร้ที่มาของ ‘ขบวนการ’ ที่มีเงินเพิ่มขึ้นในเวลาเดียวกัน

 

เมื่อข่าวโกงอื้อฉาวจนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เข้าไปตรวจสอบ แค่การลงพื้นที่ที่นครพนมก็ทำให้ได้ข้อมูลว่าข้าราชการจ้างชาวบ้านเซ็นเอกสารเท็จหัวละ 50-100 บาท เพื่อไปสวมรอยเบิกเงินหัวละ 5,000 บาท รวมทั้งยัดเงินให้ชาวบ้านปกปิดข้อมูลเรื่องการโกงโดยให้การเท็จว่าได้รับเงินครบจริงๆ

 

โดยปกติแล้ว หน่วยงานพัฒนาสังคมคือหน่วยงานที่เจ้าหน้าที่ต้องใกล้ชิดคนจนและคนไร้ที่พึ่งมากที่สุด คำถามคือทำไมเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เกิดเหตุไม่รู้เรื่องโกงที่ ป.ป.ท. รู้ในการลงพื้นที่ไม่กี่วัน ข้าราชการทำงานกับชาวบ้านที่เป็นเป้าหมายของงานน้อยไปหรือไม่ หรือคนหน่วยงานเดียวกันให้ท้ายเรื่องโกงกว่าที่เป็นข่าวออกมา

 

กรณีโกงเงินกระทรวงศึกษาธิการเพื่อช่วยเด็กไม่ให้ถูกเอาไปขายตัวก็เช่นกัน เป็นไปได้อย่างไรที่ไม่มีใครในกระทรวงเห็นความร่ำรวยผิดปกติของซี 8 ที่โอนเงิน 88 ล้าน เข้าบัญชีญาติตัวเองในช่วงปี 2551-2561 แล้วโอนไปหน่วยงาน 77 ล้าน และเป็นไปได้อย่างไรที่ไม่มีครูในพื้นที่สังเกตว่าเงินช่วยเด็กต่ำกว่าความจริงมา 10 ปี

 

ไม่ว่าจะในพื้นที่ไหน ครูคือคนที่ใกล้ชิดเด็กมากที่สุดไม่ใช่หรือ ยิ่งครูในพื้นที่ซึ่งเด็กมีความเสี่ยงจะถูกเครือข่ายค้ามนุษย์ลากไปขายตัวจนกระทรวงศึกษาธิการต้องจัดงบช่วยตั้งแต่ปี 2542 ครูหรือผู้อำนวยการโรงเรียนยิ่งต้องรู้สถานะเด็กที่สุด ไม่ใช่ปล่อยให้มีการโกงต่อเนื่องเท่าครึ่งหนึ่งของระยะเวลาที่ทำกองทุน

 

จากกรณีโกงเงินกระทรวงพัฒนาสังคมฯ เพื่อช่วยคนไร้ที่พึ่งถึงการโกงเงินกระทรวงศึกษาธิการเพื่อช่วยไม่ให้เด็กขายตัว ‘ความล้มเหลวเชิงโครงสร้าง’ ของระบบราชการทำให้ไม่อาจเอาคนโกงมาลงโทษได้ แม้ผู้ร่วมโกงจะทำพฤติกรรมคล้ายกันทั้งประเทศอย่างกว้างขวาง รวมทั้งผู้โกงทำพฤติกรรมเดิมซ้ำซากเป็นเวลา 10 ปี

 

เมื่อใดก็ตามที่ความกล้าหาญของเด็กฝึกงานและโซเชียลมีเดียกลายเป็นกลไกปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน เมื่อนั้นก็คือการเกิด ‘ความล้มเหลวทางโครงสร้าง’ ที่รัฐบาลและระบบราชการหมดสมรรถภาพในการป้องกันโกงจนถึงเอาผิดคนโกงทั้งหมด

 

ในเมื่อการโกงเกิดเพราะรัฐบาลนายพลจัดงบช่วยประชาชนผ่านข้าราชการที่ช่วยกันโกง ทางออกของการแก้โกงคือต้องกระจายอำนาจการจัดสรรและเบิกจ่ายเม็ดเงินไปสู่ประชาชนให้มากที่สุด หน้าที่นี้ต้องเป็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคประชาสังคม ไม่ใช่ข้าราชการทำเองฝ่ายเดียวอย่างปัจจุบัน

 

การโกงที่แพร่ระบาดแบบนี้ขัดแย้งกับคำพูดของรัฐบาลที่ใช้อาวุธยึดอำนาจโดยอ้างว่าเพื่อปราบโกง เพราะนอกจากการโจมตีคุณยิ่งลักษณ์ว่าโกงจำนำข้าว ซึ่งจบโดยศาลไม่ตัดสินว่าโกง รัฐบาลมีผลงานด้านควบคุมการโกงของอำนาจรัฐน้อยมาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับการทำลายระบบตรวจสอบอย่างการตั้งสภาจากพวกเดียวกัน, ประธาน ป.ป.ช. เป็นคนของรองนายกฯ, คุมสื่อ, อุ้มคนเข้าค่ายทหาร ฯลฯ

 

ถ้ารัฐบาลสร้างระบบควบคุมอำนาจรัฐไม่ได้ ขณะเดียวกันก็ควบคุมข้าราชการโกงไม่สำเร็จ แล้วจะเหลืออะไรที่พูดได้ว่าเป็นความสำเร็จของรัฐบาลด้านปราบโกง

 

คงไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่เม็ดเงินซึ่งควรไปถึงคนจนจะตกอยู่ในกระเป๋าของข้าราชการแบบนี้ หากเราไม่เข้าใจแบบที่ทั่วโลกเข้าใจว่าการสร้างระบบที่โปร่งใสด้วยประชาธิปไตยคือวิธีเดียวในการปกป้องผลประโยชน์ประชาชน

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising