×

สาทิตย์ เห็นด้วยแก้ รธน. เพิ่มกลไกต้านรัฐประหาร เชื่อโหวตร่างไหนวันนี้คือทิศทางประเทศ หรือสั่งสมความขัดแย้งเพิ่ม

โดย THE STANDARD TEAM
24.06.2021
  • LOADING...
สาทิตย์ วงศ์หนองเตย

วันนี้ (24 มิถุนายน) สาทิตย์ วงศ์หนองเตย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดตรัง พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยย้อนหลังกลับไปเมื่อ 89 ปีที่แล้วในวันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง สำหรับตนถือว่าเป็นเรื่องของการต่อสู้ในการเริ่มแนวคิดทางด้านการเมืองการปกครอง และในที่สุดก็ได้เปลี่ยนแปลงไปสู่การปกครองแบบประชาธิปไตย ในปัจจุบันผ่านมา 89 ปีแล้ว การต่อสู้ทางการเมืองเป็นเรื่องธรรมดา ยังไม่จบ วันนี้ประเทศไทยก็เหมือนอีกหลายประเทศทั่วโลก บ้านเรามีเสรีนิยมแบบสุดขั้วที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงเรื่องของโครงสร้างสังคม เรามีประชาธิปไตยแบบอนุรักษ์นิยมที่ไม่อยากเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก แต่ขณะเดียวกันประเทศไทยยังมีประชาธิปไตยแบบปฏิรูปที่ไม่หวังให้เกิดความรุนแรงขึ้น

 

สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ตนเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่รับมาในครั้งนั้น เมื่อพบปัญหาเราก็ต้องนำสู่การแก้ไข จึงยอมรับว่าถึงจุดที่จะแก้ไขแล้ว ประเทศไทย 89 ปีมีรัฐธรรมนูญมาแล้วจนถึงปัจจุบัน 20 ฉบับ เฉลี่ย 4 ปีต่อ 1 ฉบับ โดยรัฐธรรมนูญที่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 13 ร่างนี้ หากจะแบ่งเป็นประเด็นใหญ่ก็จะประกอบด้วย ระบบการเลือกตั้ง/การได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี และการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ นอกจากนั้นจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และเพิ่มสวัสดิการของประชาชน กลไกป้องกันรัฐประหารและการจัดทำยุทธศาสตร์

 

สิ่งที่ตนเห็นว่าไม่น่าจะมีปัญหาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้คือการเพิ่มสิทธิ์และสวัสดิการของประชาชน ซึ่งไม่ว่าประเด็นดังกล่าวหลายฝ่ายมองว่าเป็นไม้ประดับรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ส่วนตัวเห็นว่าเป็นการเพิ่มสิทธิ์ให้ประชาชนจึงเป็นเรื่องที่จะต้องเปลี่ยนแปลงไป

 

สำหรับกลไกเรื่องต่อต้านรัฐประหารเป็นเรื่องที่ตนให้ความสนใจ เนื่องจากใน พ.ศ. นี้ กลไกลรัฐประหารไม่ใช่ทางออกของความขัดแย้งทางการเมืองอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีตอีกต่อไป เช่นเดียวกับเรื่องยุทธศาสตร์ชาติที่พอมาถึงจุดหนึ่งก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลง

 

นอกจากนี้สาธิตยังกล่าวถึงปัญหาในการโหวตลงมติในครั้งนี้ว่าจะอยู่ที่ประเด็นของการเลือกตั้ง เนื่องจากมีความเห็นมาจากหลายฝ่ายที่มองว่าระบบเลือกตั้งในปัจจุบันมีความต้องการทำเพื่อประโยชน์ของตนเองและของพรรคการเมืองตนเอง โดยส่วนตัวมองว่าการเลือกตั้งใน 5 ครั้งหลังสุดนี้ตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยใช้ระบบเลือกตั้งมาแล้ว 4 ระบบจากรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ คือรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ฉบับปี 2550 และรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน 2560

 

ดังนั้นตนจึงมองเห็นการเปลี่ยนแปลงเรื่องระบบเลือกตั้งว่าเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งเมื่อเรามองเห็นปัญหาเราก็สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นจึงขอเรียกร้องไปยังสมาชิกรัฐสภา ว่าให้ร่วมกันลงมติรับร่างแก้ไขระบบเลือกตั้งดังกล่าวไปก่อน จึงจะนำไปสู่การแก้ระบบการเลือกตั้งได้ แต่ประเด็นที่จะเกี่ยวเนื่องกับการลงมติดังกล่าวคือมาตรา 272 ตนเองก็ไม่สบายใจที่มีการปะทะกันด้วยวาทะระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับฝ่ายวุฒิสภา ตนอยู่สภานี้มา 7 สมัย 28 ปี เคยทำงานร่วมกับวุฒิสมาชิกมาหลายชุด ทั้งที่มาจากระบบเลือกตั้งและระบบแต่งตั้ง สิ่งที่ตนเห็นก็คือประสบการณ์ของเพื่อนสมาชิกวุฒิสภานั้นมีอยู่ในทุกชุด ดังนั้นอำนาจหน้าที่ มีทั้งการกลั่นกรองกฎหมาย แต่เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 นี้ได้เขียนหน้าที่และอำนาจของวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้ จึงมองว่ารับได้ แต่เมื่อผ่านมาจุดหนึ่งแล้วก็ควรที่จะนำสู่การแก้ไขได้แล้ว และการแก้ไขดังกล่าวไม่ได้ใช้เหตุผลในการรังเกียจ ซึ่งหากวันนี้รัฐสภาไม่รับเงื่อนไขในการแก้มาตรา 272 ก็ต้องไปรับเงื่อนไขในการแก้มาตรา 256 ในอนาคต เพื่อที่จะหากลไกที่จะไม่ผูกกับวุฒิสภา แต่หากวันนี้ไม่รับมาตรา 272 ไปรับร่างแก้ไขมาตรา 256 ในอนาคต ถ้ามีการเสนอแก้มาตรา 272 ท่านก็จะไม่ถูกกล่าวหาว่าเป็นการรับหรือไม่รับเพื่อตนเองต่อไป ซึ่งก็เป็นอีกทางหนึ่งในการหาทางออกในขณะนี้ที่ท่านจะสามารถตัดสินใจได้

 

ดังนั้นมาตรา 272 มาตรา 256 และระบบการเลือกตั้ง มีอยู่ครบในร่างแก้ไขเพิ่มเติมของพรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรค ที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา 

 

สำหรับร่างของพรรคพลังประชารัฐที่เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมเข้ามาฉบับเดียวแต่มีครบทุกประเด็น รวมถึงมาตรา 144 และ 185 ซึ่งต้องยอมรับว่าขณะนี้ก็เป็นกระแสอยู่ภายนอกสภา 

 

นอกจากนี้ตนจึงมีคำถามอยู่ว่าถ้าวันนี้สมาชิกรัฐสภาลงมติรับร่างของพรรคพลังประชารัฐ การแก้ไขมาตรา 144 และมาตรา 185 ในชั้นกรรมาธิการวาระ 3 จะทำได้หรือไม่ โดยเป็นการแก้ไขที่ขัดต่อหลักการและข้อบังคับการประชุมของรัฐสภาหรือไม่ จึงเป็นประเด็นที่เพื่อนสมาชิกรัฐสภาต้องคิด 

 

ดังนั้นการลงมติในช่วงค่ำวันนี้ เราจะได้เห็นทิศทางของการลงมติและชัดเจนขึ้น ถ้าเรามองข้ามปรากฏการณ์ความขัดแย้งในรัฐสภานี้ออกไป และนำความเปลี่ยนแปลงที่จะต้องเกิดขึ้นโดยให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้ การลงมติในวันนี้จึงคิดว่ามีทางออกให้กับประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมสุดขั้ว ประชาธิปไตยแบบอนุรักษ์นิยม และประชาธิปไตยแบบปฏิรูป แต่ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยก็จะเป็นการสะสมความขัดแย้ง โดยประเทศไทยพร้อมที่จะรับการสะสมดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งอาจจะนำส่งการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงมากกว่านี้ ถ้าเดินไปถึงจุดนั้นประเทศไทยคงรับไม่ได้

 

พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising