×

ภูมิใจไทยเสนอแก้รัฐธรรมนูญเพื่อประชาชน ให้มีหลักประกันรายได้พื้นฐานทั่วหน้า ปิดสวิตช์ ส.ว. พอแล้วกับอำนาจพิเศษ

โดย THE STANDARD TEAM
23.06.2021
  • LOADING...
ภราดร ปริศนานันทกุล

วันนี้ (23 มิถุนายน) ภราดร ปริศนานันทกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดอ่างทอง พรรคภูมิใจไทย อภิปรายร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่า เป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าพวกเราทุกฝ่ายมีความเห็นพ้องต้องกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาอยู่บ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งหากจะถามถึงจุดยืนของพรรคภูมิใจไทยในการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าเป็นอย่างไร ก็ต้องขอตอบอย่างชัดๆ ว่า พรรคภูมิใจไทยตั้งใจที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตอบโจทย์ของพี่น้องประชาชนให้มากที่สุด เราต้องไม่ปฏิเสธว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาที่มีการพูดคุยเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และมีข้อเสนอแนะรวมถึงข้อซักถามมายังสภาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ประชาชนได้ประโยชน์อะไรจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเมื่อเป็นอย่างนั้นพรรคภูมิใจไทยจึงตั้งใจที่จะตอบโจทย์พี่น้องประชาชน จึงพยายามที่จะออกแบบรัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชนให้มากที่สุด

 

จึงเป็นที่มาในการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ของพรรคภูมิใจไทยที่ผ่านมาที่เปิดช่องให้มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของพี่น้องประชาชน แล้วให้ สสร. กลับมาตั้งกติกาและรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนว่าอยากจะเห็นกติกาบ้านเมืองเป็นอย่างไร และต่อมาจึงเป็นต้นแบบของร่างรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับที่พรรคภูมิใจไทยได้ร่วมลงชื่อกับพรรคประชาธิปัตย์และพรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งแนวคิดของรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ร่างนั้นก็ยังวนเวียนอยู่ในที่เดิมคือ เราจะสามารถตอบโจทย์ของพี่น้องประชาชนได้อย่างไร เราจะตอบโจทย์คำถามของพี่น้องประชาชนได้อย่างไรว่าประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร จึงเป็นที่มาของร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลในร่างที่ 1 โดยเสนอให้แก้ไขในหมวดที่ 5 หน้าที่ของรัฐ ในมาตรา 55 โดยการเพิ่มให้เป็นมาตรา 55/1 โดยเรียกว่า ‘หลักประกันรายได้พื้นฐานทั่วหน้า’ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ให้กับพี่น้องประชาชน เราเชื่อว่าประชาชนทุกคนควรจะมีรายได้ต่อปีที่เพียงพอสำหรับพวกเขาในการดำรงชีวิตต่อสภาพสังคมต่างๆ 

 

ภราดรกล่าวว่า สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้นิยามความหมายของคนจนว่า ใครก็ตามที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนคนกลุ่มนั้นเรียกว่าคนจน ซึ่งในปี 2562 เกณฑ์การแบ่งแยกระหว่างคนจนหรือไม่สภาพัฒน์ได้ขีดเส้นไว้สำหรับคนต่างจังหวัดอยู่ที่ 2,700 บาทต่อเดือน สำหรับคนกรุงเทพมหานครอยู่ที่ 3,200 กว่าบาทต่อเดือน ดังนั้นรัฐจะต้องเข้าไปสนับสนุนพวกเขาให้มีรายได้เพียงพอในการดำรงชีวิต ซึ่งจากการสำรวจเมื่อปี 2562 พบคนกลุ่มนี้อยู่ที่ 6 ล้านคน เราเชื่อว่าเป็นหน้าที่ของรัฐและรัฐสามารถที่จะจัดการรายได้พื้นฐานขั้นต่ำให้กับพวกเขาได้ ซึ่งก็จะมีคำถามตามมาว่าภาครัฐสามารถจัดหางบประมาณเพื่อมาบริหารจัดการกับคนกลุ่มนี้ที่มีอยู่ 6 ล้านคนได้อย่างไร ซึ่งประเด็นดังกล่าวอยู่ที่ความเชื่อโจทก์ขณะนี้ไม่ได้อยู่ที่ทำได้หรือไม่ได้ แต่โจทก์อยู่ที่ว่าเราจะทำอย่างไรให้ทำได้ หากภาครัฐคิดว่าตนทำไม่ได้ก็จะทำไม่ได้เสียที

 

เมื่อย้อนกลับไปเมื่อปี 2544 ใครจะไปคิดว่าหลักประกันสุขภาพพื้นฐาน 30 บาทรักษาทุกโรคจะสามารถเกิดขึ้นจริงในประเทศไทยได้ แต่สุดท้ายเวลาก็เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าหลักประกันสุขภาพพื้นฐานของพี่น้องประชาชนที่ผ่านการล้มลุกคลุกคลานตั้งแต่ปีแรก ได้ยาวนานมาจนถึงทุกวันนี้ เป็นการลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพให้ประชาชนอย่างเห็นผล

 

“พรรคภูมิใจไทยจึงเชื่อว่าหากสภาบรรจุประเด็นดังกล่าวเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ และให้เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องทำให้พี่น้องประชาชนที่อยู่ใต้เส้นความยากจนมีรายได้ขั้นพื้นฐานให้เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิต ดังนั้นพรรคภูมิใจไทยจึงขอความร่วมมือจากเพื่อนสมาชิกรัฐสภาที่ช่วยกันพิจารณา และสนับสนุนหลักคิดนี้ เพื่อไปแก้ไขเพิ่มเติมในชั้นกรรมาธิการต่อไป” ภราดร กล่าว

 

สำหรับประเด็นในการแก้ไขมาตรา 65 ว่าด้วยเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ ภราดร กล่าวว่า ตนไม่ได้ติดใจว่าจำเป็นที่จะต้องมียุทธศาสตร์ชาติอยู่หรือไม่ โดยเห็นด้วยว่าการวางแผนระยะยาวให้กับประเทศเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องมียุทธศาสตร์ แต่สิ่งที่ยังติดใจอยู่ในมาตรา 65 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันคือเป็นการเปิดกว้างในด้านยุทธศาสตร์จนเกินไป ท่านสามารถเฉพาะเจาะจงให้ชัดเจนมากกว่านี้ได้ในเรื่องที่ว่ายุทธศาสตร์ชาติจะเป็นอย่างไรโดย เราต้องกลับไปถามประชาชนว่าเขาอยากเห็นประเทศในการก้าวไปข้างหน้าอย่างไร 

 

ประเด็นดังกล่าวเป็นสิ่งที่เราจะต้องมาร่วมกันคิดว่าผู้กำหนดยุทธศาสตร์ ซึ่งที่ผ่านมามีผู้แทนจากฝ่ายความมั่นคงอยู่เป็นหลัก ส่วนตัวไม่ได้มีความดูหมิ่นฝ่ายความมั่นคง แต่การวางยุทธศาสตร์ชาติจะต้องวางอย่างรอบด้าน ไม่ใช่วางไว้ตลับของความมั่นคง ยังมีหลักอื่นๆ อีกมากมายที่จะต้องอาศัยผู้รู้อีกมากมายมาร่วมกันคิด และเพื่อนสมาชิกรัฐสภาว่าเราจะร่วมกำหนดยุทธศาสตร์ชาติอย่างไรให้ชัดเจนในตัวรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายยุทธศาสตร์มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน จึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ขอความร่วมมือเพื่อนสมาชิกให้ร่วมกันรับหลักการวาระที่หนึ่งเพื่อนำสู่การพิจารณาในวาระสองต่อไป

 

ประเด็นที่สาม ทางพรรคภูมิใจไทยพยายามที่จะนำเสนอให้แก้ไขมาตรา 272 ซึ่งประเด็นดังกล่าวจะเป็นไปไม่ได้เลยหากเราเกิดการชักชวนด้วยกันข่มขู่ เสียดสี หรือด่าทอ ซึ่งจะนำมาซึ่งความพินาศและความไม่สำเร็จของการเดินสู่เป้าหมาย

 

“ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่เราจะชักชวนเพื่อนสมาชิกวุฒิสภาบ้านร่วมกันปิดสวิตช์ ส.ว. คือการนำเอาเหตุผลมาคุยกัน โดยรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมาในส่วนของบทหลักไม่มีการบรรจุหน้าที่และอำนาจของวุฒิสภาในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ดังนั้นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญไม่ได้ตั้งใจที่จะให้สมาชิกวุฒิสภาเข้ามากำหนดตัวนายกรัฐมนตรีตลอดกาล ซึ่งตลอดชั่วอายุของรัฐธรรมนูญฉบับนี้แต่เป็นการกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลเท่านั้นที่กำหนดไว้ 5 ปี” ภราดร กล่าว 

 

ภราดรยังกล่าวด้วยว่า ประเด็นที่เรามาหารือกันในวันนี้จึงอยู่ที่ว่าที่ผ่านมาเกือบ 3 ปี วุฒิสภาเพียงพอหรือยังสำหรับการเปลี่ยนผ่าน และเพียงพอหรือยังสำหรับการเลือกตั้งที่ผ่านมา 1 ครั้ง และเพียงพอหรือยังที่วุฒิสมาชิกได้ใช้อำนาจพิเศษในมาตรา 272 มาแล้ว ถ้าถามตน ตนคิดว่าเพียงพอแล้ว และหากถามพี่น้องประชาชนก็คงจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเพียงพอแล้ว ซึ่งก็ไม่แน่ใจกับคำตอบของสมาชิกวุฒิสภา และในวันพรุ่งนี้ในการลงมติว่าจะรับหลักการในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็จะเป็นคำตอบว่าวุฒิสมาชิกเพียงพอต่ออำนาจพิเศษของตนเองหรือยัง

 

ในส่วนของการเปลี่ยนกติกาในการเลือกตั้งครั้งถัดไปนั้น หัวใจสำคัญอยู่ที่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งในฐานะผู้เล่นจะมีความชอบธรรมแค่ไหนในการเขียนกติกาให้ตัวเองเล่น ซึ่งไม่สามารถที่จะปิดกั้นคำครหาของภายนอกได้ว่าเป็นการเขียนกติกาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายการเมืองและพรรคการเมือง ซึ่งเห็นว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่สมควรที่จะพิจารณากติกาเพื่อตนเองลงไปเล่น กติกาควรจะถูกเขียนโดยกรรมการ โดยกรรมการจะต้องเป็นประชาชนที่เป็นผู้เลือกกติกาให้กับผู้เล่น

 

“อย่างไรก็ตาม ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้ง 13 ร่างนี้ ร่างใดที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยตรง พรรคภูมิใจไทยพร้อมที่จะสนับสนุน ซึ่งหากเรื่องใดที่แก้ไขแล้วจะถูกคำครหาว่าพรรคการเมืองแก้เพื่อผลประโยชน์ของตัวเองนั้น พรรคภูมิใจไทยไม่ทำ โจทย์ของพรรคภูมิใจไทยในการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้คือจะต้องตอบคำถามกับประชาชนให้ได้ว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วประชาชนได้ประโยชน์อะไร ไม่ใช่เป็นการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้พรรคภูมิใจไทยได้ประโยชน์อะไร จึงเป็นที่มาในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กินได้” ภราดร กล่าวในที่สุด

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising