×

ไพบูลย์ หวังพลังประชารัฐเป็นผู้นำแก้ รธน. ขอ ส.ว. โหวตรับหลักการวาระ 1 รับปากวาระ 2 มาตรา 144 จะกลับมาตามเดิม

โดย THE STANDARD TEAM
23.06.2021
  • LOADING...
ไพบูลย์ นิติตะวัน

วันนี้ (23 มิถุนายน) ไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ นำเสนอหลักการและเหตุผลในการขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในส่วนของพรรคพลังประชารัฐว่า พรรคพลังประชารัฐได้ขอเสนอแก้ไขจำนวน 5 ประเด็นครอบคลุม 13 มาตรา

 

ประเด็นแรกคือ การขอแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในเรื่องกระบวนการยุติธรรม ก่อนหน้านี้ก็ได้มีการทักท้วงกันเยอะในเรื่องของการประกันตัว ดังนั้นพรรคพลังประชารัฐจึงเสนอแก้ไขในประเด็นเรื่องประกันตัวให้ได้รับสิทธิ์และความยุติธรรมในอีกหลายประเด็น พร้อมทั้งเสนอให้ชุมชนมีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายอย่างเหมาะสมจากภาครัฐในการฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐ

 

สำหรับประเด็นเรื่องบัตรเลือกตั้งที่เสนอให้ใช้บัตรเลือกตั้งแบบสองใบคือแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ เพื่อให้เป็นไปตามเจตจำนงของประชาชนโดยพรรคพลังประชารัฐได้เสนอแก้ไขประเด็นดังกล่าวปรากฏตามมาตรา 4 / 83 / 85 / 86 / 90 / 91 / 92 และมาตรา 94 โดยพรรคพลังประชารัฐเห็นว่าการออกเสียงผ่านบัตรเลือกตั้งแบบสองใบนั้นจะมีสิทธิ์มากกว่าการใช้บัตรเลือกตั้งแบบหนึ่งใบ โดยระบบการเลือกตั้งแบบบัตรสองใบนั้นได้ถูกนำมาใช้ในประเทศไทยมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2544 ประชาชนก็ได้มีความคุ้นเคยและพอใจในการใช้สิทธิ์เลือกตั้งสองใบมากกว่า เพื่อคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนที่มีสิทธิ์ออกเสียง พรรคพลังประชารัฐจึงเสนอแก้ไขระบบการเลือกตั้ง และเสนอให้มี ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 400 คน และแบบบัญชีรายชื่อจำนวน 100 คน 

 

สำหรับระบบบัญชีรายชื่อ จะต้องกำหนดขั้นต่ำ โดยจะต้องได้คะแนนสัดส่วนจำนวนเต็มร้อยละหนึ่ง เพื่อไม่ให้เกิดกรณี ส.ส. บัญชีรายชื่อที่ได้คะแนนเสียงต่ำกว่าร้อยละหนึ่ง เพื่อไม่ให้เกิดคำครหา ส.ส. ปัดเศษ

 

ขณะที่การขอแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนของการพิจารณางบประมาณร่างพระราชบัญญัติรายจ่ายประจำปี ที่มีปัญหาต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบประมาณการแก้ไขของพรรคพลังประชารัฐ จึงขอให้นำข้อความตามรัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช 2550 มาใช้แทน เนื่องจากคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์และแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญของสภาผู้แทนราษฎรได้รายงานเห็นควรให้แก้ไขไว้ในมาตรา 144 ที่เห็นควรให้แก้ไขโดยนำบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 มาปรับใช้ 

 

ทั้งนี้ ส่วนตัวเห็นด้วยกับสมาชิกวุฒิสภาหลายท่านที่ได้ทักท้วง และส่วนตัวได้รับปากกับ ส.ว. หลายท่านว่าขอให้ท่านรับหลักการในวาระหนึ่งไปก่อน ในชั้นการพิจารณาวาระสองชั้นกรรมาธิการนั้น ตนพร้อมด้วยพรรคพลังประชารัฐจะเสนอแก้ไขมาตรา 144 ให้คงหลักการที่เข้มข้นตามเดิม โดยขอยืนยันกับสมาชิกวุฒิสภาว่าขอให้ท่านสบายใจได้ ที่ผ่านมาตนเคยดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ดังนั้นจึงเข้าใจความรู้สึกและข้อห่วงใยของสมาชิกวุฒิสภาที่ท่านทำหน้าที่แบบเดียวกันกับตนในขณะนั้น ว่าในชั้นกรรมาธิการวาระที่สองนั้นพรรคพลังประชารัฐจะผลักดันให้มีการแก้ไขมาตรา 144 ให้กลับไปตามหลักการเดิมในเรื่องของการตรวจสอบการใช้งบประมาณตามที่ ส.ว. ห่วงใย 

 

สำหรับประเด็นเรื่องขอแก้ไขปัญหาอุปสรรคการทำงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา โดยให้สามารถติดต่อส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในขณะที่ได้รับความเดือดร้อนซึ่งอยู่ในพื้นที่ โดยรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ในมาตรา 185 นั้นก็มีปัญหาเรื่องการตีความ พรรคพลังประชารัฐจึงนำความในธรรมนูญฉบับปี 2545 ใช้แทนแก้ไขปัญหาในการทำหน้าที่ของ ส.ส. และ ส.ว.

 

ทั้งนี้ ในร่างแก้ไขของรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐ ยังเสนอขอแก้ไขในมาตรา 270 ในประเด็นเรื่องการเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ โดยรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ได้บัญญัติให้วุฒิสภาเป็นผู้ดำเนินการโดยฝ่ายเดียว โดยพรรคพลังประชารัฐจึงขอเสนอแก้ไขเพิ่มเติมให้เปลี่ยนแปลงอำนาจและหน้าที่ดังกล่าวให้เป็นของรัฐสภา ไม่ใช่เพียงเฉพาะผู้ที่สภาแต่ฝ่ายเดียว

 

“การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ พรรรคพลังประชารัฐตั้งใจจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สำเร็จ เพื่อให้ว่าพรรคพลังประชารัฐหวังจะเปลี่ยนเป็นผู้นำในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคพลังประชารัฐหวังให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่เสนอนี้ เป็นจุดเริ่มต้นการคลี่คลายความขัดแย้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญของสภา หากคลี่คลายได้ ก็จะทำให้ ส.ส. และ ส.ว. ได้ร่วมกันดูแลทุกข์สุขประชาชน ซึ่งเป็นงานหลักของสมาชิกรัฐสภา ในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทย” ไพบูลย์กล่าว

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising