วันนี้ (29 กันยายน) จากรายงานล่าสุดของ Lowy Institute สถาบันของกลุ่ม Think Tank ที่ตั้งอยู่ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ออสเตรเลีย ระบุว่า ประเทศในแปซิฟิกเสี่ยงเข้าสู่ช่วง ‘ทศวรรษที่สูญหาย’ (Lost Decade) หลังเผชิญภาวะเศรษฐกิจหดตัวครั้งใหญ่ในรอบ 40 ปี อันมีสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากพิษวิกฤตโควิด
Lowy Institute ระบุว่า ในปี 2019 มีเงินบริจาคและเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศส่งมอบให้กับบรรดาประเทศในแปซิฟิกสูงถึง 2.44 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8.26 หมื่นล้านบาท) หรือคิดเป็นราว 8% ของ GDP ภูมิภาคนี้ ซึ่งลดลงจากปีก่อนหน้า 15% และมีเพียงราว 11% ของ 2.44 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ใช้สนับสนุนงานด้านสาธารณสุข
ที่ผ่านมารัฐบาลออสเตรเลียพยายามพิจารณาและจัดสรรงบช่วยเหลือประเทศในแถบนี้มากยิ่งขึ้น หลังหวั่นอิทธิพลของจีนที่จะใช้ Soft Diplomacy ที่มักจะดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางการเงินในรูปแบบเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน (Concessional Loan) ผ่านโครงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์และอิทธิพลของออสเตรเลียที่มีประเทศต่างๆ ในแปซิฟิกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทางการจีนปรับลดงบประมาณช่วยเหลือลงจาก 246 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8.3 พันล้านบาท) ในปี 2018 ถึง 31% และส่งมอบงบช่วยเหลือ 169 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5.7 พันล้านบาท) ในปี 2019 ที่ผ่านมา โดย 67% ของความช่วยเหลือจากทางการจีนในปีนี้อยู่ในรูปแบบของเงินกู้ ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นจาก 41% จากปีก่อนหน้า และในปี 2020 ก็ไม่ได้มีสัญญาณบ่งชี้ว่าจีนจะเพิ่มงบช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศในแถบนี้แต่อย่างใด ขณะที่งบช่วยเหลือจากออสเตรเลียเองก็มีแนวโน้มลดลง
รายงานล่าสุดจาก Lowy Institute คาดการณ์ว่าจะต้องใช้งบเพิ่ม 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.18 แสนล้านบาท) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและประเทศต่างๆ ในแปซิฟิกที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด ในช่วงเวลาที่ประเทศต่างๆ ตัดทอนงบช่วยเหลือลง
ในช่วงปี 2009-2019 ออสเตรเลียส่งมอบความช่วยเหลือให้แก่บรรดาประเทศในแปซิฟิก คิดเป็น 42% ของความช่วยเหลือทั้งหมด โดยมีการตัดงบด้านสาธารณสุขไปสนับสนุนโครงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทางการออสเตรเลียจึงจัดสรรงบช่วยเหลือชั่วคราวราว 220.67 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7.4 พันล้านบาท) เพื่อช่วยเหลือประเทศในแปซิฟิก และติมอร์-เลสเต ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสร้างความมั่นคงภายในภูมิภาค
โดยออสเตรเลียยังได้รับแรงกดดันจากบรรดาประเทศเพื่อนบ้านในแปซิฟิก เกี่ยวกับประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการสร้างหลักประกันว่า ความสัมพันธ์ไตรภาคีด้านความมั่นคงอย่าง AUKUS ที่รัฐบาลออสเตรเลียได้จับมือกับสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาจะไม่ทำให้ภูมิภาคนี้ตึงเครียดมากยิ่งขึ้นในอนาคต
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- สำรวจแนวทางการใช้วัคซีน mRNA เป็น ‘วัคซีนเข็มที่ 3’ ในประเทศที่ใช้วัคซีน Sinovac
- เปรียบเทียบประสิทธิภาพล่าสุด วัคซีน Sinovac vs. Pfizer-BioNTech ในชิลี
- โควิด-19 กลายพันธ์ุสายพันธ์ุต่างๆ มีชื่อเรียกใหม่ว่าอย่างไร
- สำรวจราคาวัคซีนต้านโควิด-19 ในประชาคมโลก โดสละเท่าไร
- ผลข้างเคียงวัคซีนต้านโควิด-19 ในประชาคมโลก อาการเป็นอย่างไรบ้าง
- เช็กประสิทธิภาพวัคซีนต้านโควิด-19 ล่าสุด
ภาพ: Martina Pellecchia / Shutterstock
อ้างอิง: