×

ปลอดสารพิษแค่ไหนถึงเรียก ‘ออร์แกนิก’ เมื่อคำว่า ‘ออร์แกนิก’ ถูกตีความเสียใหม่

18.01.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • ทำความรู้จักคำว่าออร์แกนิกกันเสียใหม่ และบุกหาคำตอบถึงความเป็นเกษตรอินทรีย์ที่ไร่ในแดนสวรรค์สีเขียวอย่างนิวซีแลนด์
  • อย่าเพิ่งเหมารวมคิดว่า ‘ผักปลอดสารพิษ’ ก็เป็นอีกชื่อของ ‘ผักออร์แกนิก’ เปล่าเลย เพราะผักออร์แกนิกนั้นถือเป็นผักปลอดสารพิษ แต่ผักปลอดสารพิษไม่จำเป็นต้องเป็นออร์แกนิกเสมอไป
  • สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้เมื่อผืนดินเริ่มอุดมสมบูรณ์ขึ้นก็คือ เหล่าบรรดาสัตว์ตามธรรมชาติ เช่น นกท้องถิ่น แมลงหลากสายพันธุ์ ที่เริ่มเข้ามาแวะเวียนฟาร์ม มาสร้างที่อยู่อาศัย ส่งเสียงร้องไปทั่ว อันเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่าความสมดุลเริ่มกลับมาอีกครั้ง
  • ความ ‘ออร์แกนิก’ แท้จริงแล้วอาจไม่ใช่แค่ไม่ฉีดสารเคมีฆ่าแมลงและปุ๋ยสังเคราะห์ แล้วจึงออกตัวได้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ ‘ออร์แกนิก’ ดังที่เราเห็นเต็มท้องตลาด เพราะแท้จริงแล้วต้องกลับไปสู่จุดเริ่มต้น นั่นคือผืนดิน ดูแลจนถึงการบรรจุก่อนถึงมือผู้บริโภคอย่างเราๆ

คุณเคยสงสัยไหมว่าเมื่อเราเดินเข้าซูเปอร์มาร์เก็ตหรือไปจ่ายตลาดซื้อผักสดมารับประทาน เรามักเห็นคำว่า ‘ออร์แกนิก’ (Organic) อยู่เต็มไปหมด ไปจนถึงผลิตภัณฑ์ประทินผิวต่างๆ จนแทบจะเป็นเรื่องปกติ และคำนี้เคยบูมสุดๆ ในช่วงยุค 40 ต่อเนื่องมาหลายทศวรรษจนปัจจุบัน แต่เหตุอันใดเราจึงยังเห็นข่าวว่ามีการตรวจพบสารตกค้างในพืชผักตามท้องตลาดที่ออกตัวว่าเป็น ‘ออร์แกนิก’ กัน?

 

 

คำว่า ‘ออร์แกนิก’

คำว่า ‘ออร์แกนิก ฟาร์มมิ่ง’ ​(Organic Farming) หรือการทำไร่นาอินทรีย์ตามธรรมชาตินั้นแท้จริงแล้วเป็นการเพาะปลูกที่ทำกันมาแต่อ้อนแต่ออก เพราะบรรพบุรุษเราไม่รู้จักการใช้สารเคมีเสียด้วยซ้ำ แต่หลังจาก ‘การพัฒนา’ ก็เริ่มมีการนำสารเคมีมาใช้ในอุตสาหกรรมเพาะปลูก จนต้องมีการจำแนกประเภทพืชผักที่ใช้สารและไม่ใช้สาร ก่อให้เกิดศัพท์คำว่า ‘ออร์แกนิก’ หรือ ‘อินทรีย์’ ที่สื่อถึงไร่นาอินทรีย์ที่บูมสุดๆ ยุค 40 หรือที่เรียกว่า ‘การปฏิวัติสีเขียว’ ที่ส่งต่อจนกลายมาเป็นกระแสความนิยมออร์แกนิกที่เราเห็นทุกวันนี้

 

โดยในปี 1940 ลอร์ด นอร์ธบอร์น (Lord Northbourne) กสิกรชาวอังกฤษได้กล่าวถึงคำว่า ‘Organic Farming’ เอาไว้ในหนังสือที่ชื่อว่า Look to the Land (1940) จากมุมมองที่ว่า ‘ไร่นาคือระบบของสิ่งมีชีวิต’ นั่นหมายถึงการจะปลูกพืชได้ต้องอาศัยการรักษาความสมดุลทางชีววิทยาในสิ่งที่มีอยู่ ขณะที่การทำไร่นาโดยใช้สารเคมีนั้นต้องพึ่งพาการนำเข้าปุ๋ย และไม่สามารถสร้างความพอเพียงในตัวเองหรือองค์รวมของอินทรีย์ได้

 

ขณะที่ในยุคแรกๆ นั้น ผู้สนใจอาหารอินทรีย์มองหาอาหารที่ไม่ใช้ยาฆ่าแมลงหรือสารเคมี รวมถึงอาหารสดและอาหารที่ผ่านการแปรรูปน้อยที่สุด ซึ่งพวกเขามักพูดคุยโดยตรงกับชาวไร่ชาวนา ขณะที่กระแสออร์แกนิกบูมขึ้นเรื่อยๆ จนเหล่าคนในยุคมิลเลนเนียลช่วงปี 2009 ก็มีคำพูดติดปาก นั่นคือ ‘Know Your Farmer, Know Your Food’ อันเป็นแนวคิดที่กลับไปสู่ยุคของการเป็นชุมชนเล็กที่พึ่งพาเกษตรกรในถิ่นฐานของตนในระดับหนึ่งก็ว่าได้

 

 

ปลอดสารพิษ ≠ ออร์แกนิก

ก่อนจะทำความเข้าใจความออร์แกนิกอย่างแท้ทรู เราขอยกตัวอย่างสิ่งที่นึกออกที่คุณๆ เห็นอยู่คุ้นเคยที่สุดอย่างพืชผักกันก่อนดีกว่า เราอย่าเพิ่งเหมารวมคิดว่า ‘ผักปลอดสารพิษ’ ก็เป็นอีกชื่อของ ‘ผักออร์แกนิก’ เปล่าเลย เพราะผักออร์แกนิกนั้นถือเป็นผักปลอดสารพิษ แต่ผักปลอดสารพิษไม่จำเป็นต้องเป็นออร์แกนิกเสมอไป อ่านแล้วงงใช่ไหม มาทำความเข้าใจกันก่อน

 

ผักปลอดสารพิษหมายถึงพืชผักที่ไม่ใช้สารพิษกำจัดศัตรูพืชในการเพาะปลูก อันหมายถึงว่าไม่ใช้และไม่มียาฆ่าแมลงเจือปน แต่ช้าก่อน…นั่นไม่ได้หมายความว่าจะเป็นผักสุดคลีนที่บริสุทธิ์ราวกับขึ้นบนลำธารน้ำแร่ในสวิตเซอร์แลนด์อะไรแบบนั้นหรอกนะ เพราะคำว่า ‘ปลอดสารพิษ’ ยังไม่ได้รวมถึงว่าการใช้ปุ๋ยเคมีเร่งโต กระทั่งอาจถูกตัดต่อทางพันธุกรรม (GMO) มาแล้วก่อนนำมาปลูกด้วยก็เป็นได้ แต่ยังถือว่ารับประทานได้ในระดับที่ปลอดภัย

 

ขณะที่ผักออร์แกนิกนั้นปลูกด้วยวิธีธรรมชาติร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่สัมผัสการใช้สารเคมีสังเคราะห์ทุกขั้นตอนการผลิต ปลูกตามฤดูกาลที่เหมาะสมของพืชชนิดนั้นๆ เพื่อให้เติบโตอย่างเป็น ‘ธรรมชาติ’ ที่สุด อาทิ การใช้สมุนไพรธรรมชาติในการไล่ศัตรูพืชแทนที่ยาฆ่าแมลง ใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี และแน่นอนว่ารวมถึงการไม่ใช้เมล็ดพืชที่ตัดต่อพันธุกรรมมาแล้วเพื่อให้ได้สายพันธุ์ตามธรรมชาติ เท่านั้นไม่พอ ความออร์แกนิกนี้ยังรวมไปถึงการจัดส่งไปจนถึงการจำหน่ายว่าต้องสดใหม่และไม่ปนเปื้อนสารเคมีใดๆ และด้วยการผลิตที่อาจยุ่งยากกว่าการใช้ทางลัด เพราะต้องคำนึงหลายปัจจัย นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมพืชผักออร์แกนิกถึงมีราคาสูงกว่าปกติ เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกที่เราแทบจะไม่เห็นว่าถูกกว่าผลิตภัณฑ์อื่นๆ ตามท้องตลาดเลยนั่นเอง

 

 

ทีนี้ อะไรคือ ‘ออร์แกนิก’

เมื่อปี 2016 เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ PAN ได้แถลงข่าวการสุ่มตรวจสอบสารพิษตกค้างในผักผลไม้ และพบสารเคมีปนเปื้อนตกค้างจำนวนไม่น้อยในผักตามท้องตลาดของไทย กระทั่งผักปลอดสารพิษและผักที่ระบุตนว่าเป็น ‘ออร์แกนิก’ แม้ว่าเกษตรกรผู้ผลิตจะไม่ได้ใช้สารเคมีดังกล่าวก็ตาม เหตุผลก็เพราะมีการปนเปื้อนสารเคมีในระบบนิเวศอยู่ดั้งเดิม ทั้งในดิน น้ำ และอากาศ จากการใช้กันอย่างกว้างขวางและต่อเนื่องตลอดระยะเวลาไม่น้อยกว่า 50 ปี นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ตรวจพบการตกค้างของสารเคมีการเกษตรในผลผลิตเกษตรอินทรีย์

 

แม้ระดับการปนเปื้อนดังกล่าวจะอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับระดับ MRL (Maximum Residue Level หรือปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดในการตรวจสอบ) อันเป็นค่าที่บ่งบอกถึงปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดที่สามารถมีได้ทั้งในผัก ผลไม้ รวมไปถึงสินค้าเกษตรอื่นๆ ที่อาจมีการตกค้างจากสารเคมีเกษตรทางอ้อม อาทิ เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่อาจได้รับสารกำจัดศัตรูพืชปนเปื้อนจากอาหารสัตว์ รวมไปถึงนมที่เราดื่มก็เช่นกัน

 

 

ดังนั้นอาหารออร์แกนิกจึงเป็นมากกว่าแค่ ‘ปลอดสารพิษ’ จากเกษตรกร โดยสมาคมผืนดินอินทรีย์ (Organic Soil Association) ระบุไว้ว่า ‘อาหารอินทรีย์หรือออร์แกนิกทุกอย่างจะต้องสามารถติดตามและระบุได้ว่ามาจากแหล่งใดนับตั้งแต่จากไร่ไปจนถึงบนจานอาหาร เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค โดยมาตรฐานของอาหารออร์แกนิกยังต้องตรงตามข้อกำหนดของกฎหมายของประเทศนั้นๆ และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และไม่เฉพาะต่างจากอาหารที่ไม่เน้นกระบวนการอินทรีย์เท่านั้น อาหารออร์แกนิกนั้นผลิตโดยใช้ปุ๋ยธรรมชาติ ใช้พลังงานในการผลิตไม่มาก และเคารพในธรรมชาติ’

 

สำหรับในบ้านเรา ทุกวันนี้ยังคงไม่มีกฎหมายควบคุมการใช้คำว่า ผลิตภัณฑ์อินทรีย์ หรือ ผลผลิตอินทรีย์ (Organic Product) บนฉลากผลิตภัณฑ์ ตรารับรองน่าเชื่อถือหรือไม่ หรือเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด ดังนั้นเราจึงควรดูกันใน 3 ประเด็นคือ หนึ่ง รับรองอะไร นั่นหมายถึงขอบเขตการรับรองครอบคลุมอะไรบ้าง สอง ใช้เกณฑ์มาตรฐานของใครเป็นตัววัด และสาม ใครเป็นผู้ตรวจรับรอง นั่นคือต้องดูว่าหน่วยงานที่รับรองมีความน่าเชื่อถือและเป็นกลางในการออกใบรับรองมากน้อยเพียงใด

 

 

นอกเหนือจากผักแล้ว ผลิตภัณฑ์จากสัตว์อย่างนมล่ะ

ที่ไวทีทูน่า (Weitetuna) ดินแดนสีเขียวของแคว้นไวกาโต (Waikato) ณ เกาะตอนเหนือของประเทศนิวซีแลนด์ ที่แม่น้ำไวทีทูน่าอันแสนบริสุทธิ์ไหลผ่าน มีฟาร์มเล็กๆ ของครอบครัวชาวกีวีที่เปิดให้เราเข้าไปหาคำตอบ และทำความเข้าใจถึงความ ‘ออร์แกนิก’ ของคนนิวซีแลนด์ ประเทศที่นอกเหนือจากจะโดดเด่นเรื่องภูมิทัศน์ทางธรรมชาติ เห็นได้จากฟ้าสีฟ้าสด อากาศบริสุทธิ์ และเนินหญ้าสีเขียวสุดลูกหูลูกตาที่ถึงกับบันดาลใจให้ผู้กำกับชื่อดังอย่าง ปีเตอร์ แจ็กสัน (Peter Jackson) มาเคาะประตูบ้านคุณลุงชาวกีวี เพื่อขอใช้พื้นที่สีเขียวถ่ายทำเป็นฉากหมู่บ้านของชาวฮอบบิทใน The Lord of the Rings แล้ว ยังเป็นแหล่งวัตถุดิบของอาหารออร์แกนิกที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอีกด้วย

 

โคราฮา (Koraha Farm) ฟาร์มนมออร์แกนิกแห่งนี้เป็นของครอบครัวมอส (Moss) นำโดย ไมค์ มอส (Mike Moss) ผู้รับช่วงต่อกิจการทำฟาร์มของครอบครัวมาจากพ่อแม่ของเขาที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 1976 ซึ่งเขาได้เปลี่ยนให้กลายเป็นฟาร์มโคนมในปี 1983 ซึ่งชื่อ ‘โคราฮา’ นั้นหมายถึงผืนดินอันกว้างใหญ่สีเขียว ไม่ต่างกับความเป็นจริงเลยสักนิด

 

 

ไมค์ชวนเราออกเดินไปสู่ฟาร์มสีเขียวท่ามกลางอากาศบริสุทธิ์ที่ตั้งอยู่ห่างไกลตัวเมืองโอ๊กแลนด์หลายชั่วโมง ซึ่งสองข้างทางเต็มไปด้วยภูเขาอันอุดมสมบูรณ์ และเนินสีเขียวขจีเต็มไปด้วยฝูงวัวและฝูงแกะนับไม่ถ้วน เขาบอกกับเราว่า กว่าจะมาเป็นแหล่งฟาร์มนมวัวออร์แกนิกร้อยเปอร์เซ็นต์ดังเช่นที่เห็น ต้องอาศัยเวลา ความอดทน และความเอาใจใส่ในทุกขั้นตอนการดูแล ในการสร้างระบบนิเวศทางธรรมชาติให้กลับคืนและเป็นไปอย่างสมบูรณ์เสียก่อน อันเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของการทำเกษตรอินทรีย์ที่แท้จริง

 

 

เตรียมความ ‘ออร์แกนิก’

ในเวลาเตรียมการกว่า 3 ปีจากฟาร์มปกติ เพื่อเป็นฟาร์มออร์แกนิกนั้น เขาเริ่มต้นปูพื้นฐานด้วยการจัดวางการลำเลียงน้ำที่ผ่านฟาร์มให้อยู่ห่างไกลมูลสัตว์ ส่งผลให้ห่างไกลแมลงและสิ่งไม่พึงประสงค์ รวมถึงกรองน้ำและมีระบบจัดการน้ำที่ชัดเจน และจัดการผืนดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ โดยเขาปลูกต้นไม้ใหญ่ไว้บนที่สูง ปลูกข้าวสาลีบนที่ที่เป็นเนิน ซึ่งสองสิ่งนี้ช่วยฟื้นฟูความเป็นผืนป่าและปรับหน้าดินให้อุดมสมบูรณ์ และบริเวณใดก็ตามที่เป็นแหล่งน้ำ ต้องมั่นใจว่าสะอาด วัวและสัตว์ไม่สามารถสัมผัสถึงได้

 

 

สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้เมื่อผืนดินเริ่มอุดมสมบูรณ์ขึ้นก็คือ เหล่าบรรดาสัตว์ตามธรรมชาติเช่น นกท้องถิ่น แมลงหลากสายพันธุ์ ที่เริ่มเข้ามาแวะเวียนฟาร์ม มาสร้างที่อยู่อาศัย ส่งเสียงร้องไปทั่ว อันเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่าความสมดุลเริ่มกลับมาอีกครั้ง ในขณะที่วัวสายพันธุ์เฟรเซียนที่เป็นที่นิยมในนิวซีแลนด์นั้น ไมค์บอกกับเราว่า วัวบางตัวก็ปรับตัวเข้ากับระบบเกษตรอินทรีย์ได้ดี เนื่องจากพฤติกรรมของวัวต้องใช้เวลาในการเปลี่ยน ขณะที่ลูกวัวรุ่นใหม่ปรับตัวได้ดีขึ้นเรื่อยๆ

 

โคนมในฟาร์มของไมค์มีหลายสายพันธุ์ด้วยกัน ตั้งแต่เฟรเซียน เจอร์ซีย์ และสายพันธุ์สวีดิช โดยพวกมันอาศัยอยู่ในทุ่งกว้าง ไร้ความกังวลใดๆ มีเพียงพืชพรรณต่างๆ รายล้อม และวิวภูเขาสีเขียวและฟ้าสีสดเกินกว่าจะจินตนาการได้ใช้เป็นหลังคา และมีเพียงสุนัขตัวเมียคอยวิ่งไล่ต้อนยามที่ไมค์ต้องการ

 

 

ผืนดินและสายน้ำคือหน่วยวัดที่ดีที่สุด

วัยของแม่วัวที่พร้อมผลิตนมนั้นอยู่ที่ 16-18 เดือน และดื่มน้ำแร่ธรรมชาติที่ไหลมาจากแม่น้ำและลำธารราวๆ 70 ลิตรต่อวัน ซึ่งลำธารที่ไหลผ่านฟาร์มของเขาใสถึงขนาดมีกุ้งน้ำจืดหรือปลาไหลตัวยักษ์มาแวะเวียนอยู่เสมอ อันสื่อถึงสายน้ำที่บริสุทธิ์อย่างมาก วัวอายุมากที่สุดในฟาร์มแห่งนี้อยู่ที่ราวๆ 15-16 ปี และยังคงเคี้ยวเอื้องกลางทุ่งหญ้าเป็นเพื่อนเล่นกับลูกสาวและลูกชายของครอบครัวมอสอยู่จนทุกวันนี้

 

 

ผืนดินของนิวซีแลนด์ที่พวกเขารักษาดูแลจนสามารถย้อนกลับมาเลี้ยงชีพได้นั้น ไมค์ยังเสริมอีกว่า เมื่อเม็ดดินอุดมสมบูรณ์ก็สามารถกักเก็บน้ำได้มากถึง 4 เท่าด้วยกัน และแม่วัวก็สามารถกินหญ้าและอยู่ข้างนอกได้ตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะฤดูหนาวหรือฤดูร้อน ทำให้เป็นวัวที่มีความสุข ทั้งยังมีเหล่าพืชพันธุ์ต่างๆ ที่ขึ้นบนหน้าดินเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ เปรียบเหมือนบุฟเฟต์สลัดบาร์ของแม่วัว อาทิ หญ้าราย ถั่วฝักยาว แดนดิไลออน โคลเวอร์ และโคลเวอร์แดง ที่ช่วยนำอากาศเข้าสู่ดิน เสริมแร่ธาตุได้อย่างดี โดยไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมี ผลลัพธ์คือช่วยให้ได้น้ำนมที่ดีที่มาจากหญ้า ไม่ใช่เมล็ดธัญพืช และออกมาเป็นน้ำนมคุณภาพอย่างเป็นธรรมชาติเท่าที่จะเป็นไปได้นั่นเอง และนั่นก็คือน้ำนมออร์แกนิกของนิวซีแลนด์

 

 

ไมค์บอกส่งท้ายก่อนจะชวนพวกเราไปรับประทานอาหารที่เสิร์ฟจากร้านอาหารไม่ไกลฟาร์ม และขนมหวานพัฟโลวา (Pavlova) ขนมประจำชาติของชาวกีวีฝีมือภรรยาของเขาว่า วิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดสำหรับเขาในการวัดค่าความพิสุทธิ์ของธรรมชาติ คือการได้เห็นปลาดุกตัวใหญ่อายุราวๆ 50 ปีแหวกว่ายในลำธารในไร่ การได้เห็นคนในละแวกนี้เด็ดผักวอเตอร์เครสต์ริมน้ำกลับไปปรุงอาหารที่บ้าน รวมไปถึงสัตว์น้ำนานาชนิด และกุ้งตัวใหญ่ที่เป็นเครื่องมือวัด KPI ความสมบูรณ์ของฟาร์มและผืนดินนั้นๆ ได้อย่างดีที่สุด

 

ดังนั้นความ ‘ออร์แกนิก’ แท้จริงแล้วอาจไม่ใช่แค่ไม่ฉีดสารเคมีฆ่าแมลงและปุ๋ยสังเคราะห์ แล้วจึงออกตัวได้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ ‘ออร์แกนิก’ ดังที่เราเห็นเต็มท้องตลาด เพราะแท้จริงแล้วต้องกลับไปสู่จุดเริ่มต้น นั่นคือผืนดิน ความเอาใจใส่ คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ดูแลจนถึงการบรรจุก่อนถึงมือผู้บริโภคอย่างเราๆ

 

 

สิ่งหนึ่งที่เราเรียนรู้จากการได้พูดคุยกับเกษตรกรชาวนิวซีแลนด์กับครอบครัวของเขา คือ ปัจจุบันรัฐบาลนิวซีแลนด์บรรจุหลักสูตรเกี่ยวกับธรรมชาติศึกษา ความยั่งยืน รวมไปถึงการปศุสัตว์เบื้องต้นไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนสำหรับเยาวชนรุ่นใหม่เช่นลูกๆ ของเขา โดยสอนให้เข้าใจธรรมชาติและวิธีการดูแลสัตว์เบื้องต้น

 

นั่นทำให้ลูกสาวของเขาอย่าง เอ็มม่า (Emma) รู้จักช่วยดูแลแม่วัวอย่างเจ้าทริกซี (Trixie) ขณะที่เธอหยิบดอกแดนดิไลออนจากทุ่งเอาเข้าปาก บอกกับเราว่า “มันกินได้นะ คุณลองไหม” หรือลูกชายจอมซนที่ตั้งชื่อวัวที่เขาดูแลตามสายพันธุ์นกของนิวซีแลนด์ ผสมไปกับชื่อตัวละครในแฮร์รี่ พอตเตอร์

 

นี่เองกระมังที่ทำให้ประเทศนิวซีแลนด์เป็นประเทศที่ร่ำรวยเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีมีคุณภาพ เพราะนอกจากมีทั้งอาหารการกินที่สดใหม่พรั่งพร้อม ทั้งอาหารทะเลและสัตว์บก พืชผักออร์แกนิกนานาชนิด พวกเขายังมีจิตสำนึก เคารพรักธรรมชาติ อันเป็นมารดาแหล่งกำเนิดของทุกสิ่ง

 

 

เป็นเวลา 19 ปีเข้าไปแล้วที่ ไมค์ มอส พึ่งพาวิถีเกษตรอินทรีย์หาเลี้ยงครอบครัว โดยมองว่าเป็นวิถีที่พอเพียงและยั่งยืน ขณะที่ภรรยาของเขาใช้นมบางส่วนที่เหลือนำมาทำเป็นชีส อบเป็นชีสเค้กและพายรับประทานในครอบครัว หรือแบ่งปันเพื่อนบ้านละแวกเดียวกัน และลูกสาวคนโตของพวกเขาเป็นช่างภาพที่หลงรักการถ่ายภาพวิวและธรรมชาติ

 

‘Know Your Farmer, Know Your Food’ ประโยคนี้เราว่าไม่เก่าเลย

 

อ่านเรื่อง อาหาร ฟาร์ม ชีวิต The Basket ตะกร้าผักปลอดภัยจากสวนในบ้านของคุณเองได้ที่นี่

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

FYI
  • ฟาร์มโคราฮาเป็นหนึ่งในฟาร์มที่เข้าร่วมกับ ฟอนเทอร์รา (Fonterra) เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ของนิวซีแลนด์
  • คาร์ล คนขับรถขนส่งนมออร์แกนิกยังพูดคุยกับเราอีกว่า ในการบรรจุนมออร์แกนิกนั้น พนักงานต้องผ่านการฝึกอบรมเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ตั้งแต่แรกเริ่ม และภาชนะที่ใส่นมนั้นจะใส่เฉพาะนมออร์แกนิกอย่างเดียวเท่านั้น โดยเมื่อเดินทางไปถึงโรงงาน จะมีการเช็กขั้นตอนและตรวจสอบอย่างละเอียดก่อนจะส่งไปบรรจุในท้ายที่สุด และนมที่รวบรวมมาทั้งหมดนั้นจะมีแท็ก (FID) ระบุว่าเป็นน้ำนมที่มาจากฟาร์มใดในเครือข่ายออร์แกนิก เพื่อการันตีว่าผลลัพธ์ที่ออกมาจะได้เป็นนมออร์แกนิกร้อยเปอร์เซ็นต์
  • การเดินทางในครั้งนี้รับเชิญจาก เอส-26 ออร์แกนิกโปรเกรส (S-26 Organic Progress) โดยไวเอท นิวทริชั่น (Wyeth Nutrition) ผลิตภัณฑ์นมผงสูตรออร์แกนิกแบรนด์แรกของประเทศไทยสำหรับเด็ก ผลิตจากนมวัวออร์แกนิกร้อยเปอร์เซ็นต์จากประเทศนิวซีแลนด์และออสเตรีย โดยผ่านกระบวนการผลิตที่รับรองมาตรฐานออร์แกนิกระดับสากลโดย OCCP และผ่านการตรวจสอบคุณภาพกว่า 350 รายการ
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising