×

อาหาร ฟาร์ม ชีวิต The Basket ตะกร้าผักปลอดภัยจากสวนในบ้านของคุณเอง

09.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • กิจการเพื่อสังคม The Basket เกิดขึ้นเพื่อเป็นตัวเชื่อมระหว่างเกษตรกรที่ต้องการเปลี่ยนวิถีชีวิต กับผู้บริโภคที่ต้องการกินผักปลอดภัยให้ได้มาเจอกันตรงกลาง เป้าหมายคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเพาะปลูกของเกษตรกรไปสู่เกษตรอินทรีย์ ช่วยให้เกิดความปลอดภัยทั้งต่อการผลิตและการบริโภคอาหาร รวมถึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  • ‘ระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม’ (Participatory Gurantee System) หรือ ‘ระบบชุมชนรับรอง’ เป็นการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์รูปแบบหนึ่ง ซึ่งให้การรับรองกับเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของกลุ่มโดยองค์กรผู้ผลิตเอง
  • ในขณะที่เกษตรกรช่วยสร้างผลิตผลที่ปลอดภัยให้กับผู้บริโภค ผู้บริโภคยังสามารถเข้าถึงผลิตผลเกษตรอินทรีย์ที่ทั้งสด ปลอดภัย และดีต่อสุขภาพได้ในราคาย่อมเยาและสะดวกสบายขึ้น

     เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยนำเข้าปุ๋ยและสารเคมีการเกษตรจำนวนมาก รายงานสรุปการนำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตร ประจำปีพ.ศ. 2559 ของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thailand Pesticide Alert Network: Thai-PAN) ระบุว่า มีมูลค่าสูงถึง 20,577,925,471.87 บาท

     ประเทศไทยเราเป็นประเทศอันดับต้นๆ ในภูมิภาคนี้ที่นำเข้าสารเคมีการเกษตร ซึ่งสารเคมีที่ใช้ในการเพาะปลูกเหล่านี้หายไปไหน หากไม่อยู่ที่ผลผลิตที่เราบริโภค ในสภาพแวดล้อมที่ทำการเพาะปลูก ก็ต้องไหลเวียนอยู่ในน้ำ ในดิน จะว่าให้ถูกอีกที ตอนนี้มันอาจจะอยู่ในเนื้อตัวของเราแล้วรอวันที่จะสำแดงฤทธิ์ออกมาก็ได้

     แม้จะมีเกษตรกรของไทยที่อาจไม่ได้ชื่นชอบกับวิถีทางการเกษตรเช่นนี้ แต่พวกเขาก็คงไม่ได้มีทางเลือกมากนัก เพราะการหันมาทำเกษตรอินทรีย์ในทันทีทันใดต้องใช้ทั้งเงินทุน และมีความเสี่ยงสูงว่าจะขายไม่ได้ The Basket กิจการเพื่อสังคมจึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นตัวเชื่อมระหว่างเกษตรกรที่ต้องการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตในการทำการเกษตร กับผู้บริโภคที่ต้องการกินผักปลอดสารพิษให้ได้มาเจอกันตรงกลางเพื่อหยิบยื่นน้ำใจให้แก่กัน

 

 

จุดเริ่มต้นของตะกร้าผักปลอดสารพิษ  ‘เดอะ บาสเก็ต’

    เกิดขึ้นเมื่อราว 2 ปีที่แล้วจากแรงบันดาลใจของ มนัส หามาลา และเพื่อนๆ รวม 6 คนที่ปรารถนาจะส่งเสริมชุมชนเกื้อเกษตรอินทรีย์ (Community Supported Agriculture) ซึ่งมีความเกื้อหนุนกันระหว่างผู้ผลิต (เกษตรกร) กับผู้บริโภค (สมาชิก) ภายใต้เป้าหมายการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพาะปลูกของเกษตรกรสู่รูปแบบเกษตรอินทรีย์

     “แรกที่เราลงไปเตรียมการพูดคุยกับเกษตรกรก็พบว่า พวกเขามีความสนใจที่จะปรับเปลี่ยนจากเกษตรเคมีมาเป็นเกษตรอินทรีย์อยู่แล้ว สาเหตุหลักๆ ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า หนึ่ง ราคาผักโดยทั่วไปขึ้นลงอยู่กับตลาด และราคาไม่ค่อยดี ผิดกับผักอินทรีย์ที่ขายอยู่ตามห้าง ซึ่งได้ราคาที่สูงกว่า สอง ปัญหาสุขภาพของเกษตรกรซึ่งทำเกษตรเคมีมาโดยตลอด และสภาพแวดล้อมของชุมชนเต็มไปด้วยสารเคมี ทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัยและเจ็บป่วยง่าย จึงอยากจะเลิกวิถีการเกษตรแบบเคมี”

     “เมื่อพูดคุยตกลงกันได้ว่าจะปลูกพืชผักอินทรีย์ ในช่วงแรกที่เราได้รับเงินทุนสนับสนุนมาจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็เลยจัดการฝึกอบรมในเรื่องของการทำปุ๋ยอินทรีย์ ทำน้ำหมักชีวภาพ วิธีการดูแลผักให้ปลอดภัยจากแมลงและศัตรูพืช จากนั้นก็เริ่มทดลองปลูกกัน ผลปรากฎว่าผลผลิตรอบแรกโดนแมลงทำลายเสียหายเยอะจนต้องปลูกซ้ำถึง 2 ครั้ง เมื่อผลผลิตเริ่มนิ่งจึงเริ่มส่งให้ผู้บริโภค”

 

 

‘สัญญาใจ’ ระหว่างคนปลูกและคนกิน ผู้มีความรู้สึกร่วมประหนึ่งเจ้าของสวน

     การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเพาะปลูกของเกษตรกรไปสู่เกษตรอินทรีย์ ช่วยให้เกิดความปลอดภัยทั้งต่อการผลิตและการบริโภคอาหาร รวมถึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเกื้อหนุนกันระหว่างผู้ประกอบการและผู้บริโภคยังมีส่วนช่วยเหลือเกษตรกรในการลดความเสี่ยงด้านการลงทุน อันเนื่องมาจากการทำเกษตรอินทรีย์ ด้วยการสมัครเป็นสมาชิกเพื่อการันตีว่าจะขายผักได้แน่ๆ

     แต่สิ่งที่ผู้บริโภคจำเป็นต้องรู้และถือเป็นการวัดใจกันก็คือ

     “เกษตรอินทรีย์ของเดอะ บาสเก็ต ไม่ใช่เกษตรอินทรีย์แบบมีตรารับรอง สิ่งที่เราทำอยู่ตอนนี้เรียกว่า ‘ระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม’ (Participatory Guarantee System – PGS)  หรือ ‘ระบบชุมชนรับรอง’ เป็นการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์รูปแบบหนึ่งที่ทำกันในหลายประเทศ โดยองค์กรผู้ผลิตให้การรับรองกับเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของกลุ่มเอง คือเราจะเอากลุ่มเกษตรกรมาตกลงร่วมกันว่าเราจะนำมาตรฐานเกษตรอินทรีย์มาเป็นต้นแบบในการทำการเกษตรของเรา เพราะถ้าจะทำเรื่องให้ได้มาซึ่งตรารับรองอย่างเป็นทางการตามมาตรฐานสากลนั้นต้องใช้ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงถึงหลักแสน แต่เกษตรกรที่เข้าร่วมกับเราเพิ่งอยู่ในช่วงระยะเริ่มต้น ยังไม่มีเงินทุนมากขนาดนั้น แม้เราพยายามจะไปให้ถึงมาตรฐานของ IFOAM (ระบบที่พัฒนาขึ้นโดย International Federation of Organic Agriculture Movements สหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ) แต่ก็ยังถือเป็นเรื่องของอนาคตอยู่

     “เราต้องสื่อสารกับผู้บริโภคตามตรงว่า หากทำในแนวทาง PGS แล้วรับได้ไหม ซึ่งถ้าเขาต้องการสนับสนุนให้เกษตรกรได้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ไม่ต้องทำการเกษตรเคมีตามวิถีเดิมๆ อีกต่อไป ก็จะตอบตกลงให้การสนับสนุน โดยสมัครเป็นสมาชิกรับตะกร้าผักจากเดอะ บาสเก็ต ซึ่งเราจะส่งให้เขาเป็นประจำทุกสัปดาห์ เป็นตะกร้าผักปลอดสารพิษซึ่งเป็นสัญญาใจกันระหว่างคนปลูกและคนกินผัก”

    ในขณะที่เกษตรกรช่วยสร้างผลิตผลที่ปลอดภัยมาให้กับผู้บริโภค คนรักผักยังสามารถเข้าถึงผลิตผลเกษตรอินทรีย์ที่ทั้งสด ปลอดภัย และดีต่อสุขภาพได้ในราคาย่อมเยาและสะดวกสบายขึ้น เพราะส่งตรงถึงบ้านของสมาชิกโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการวางที่ซูเปอร์มาร์เก็ต

    การเกื้อหนุนกันในลักษณะเช่นนี้ย่อมเอื้อให้เกิดชุมชนเกษตรอินทรีย์ โดยเมื่อผู้บริโภคมีส่วนช่วยในการสนับสนุนเกษตรกร ก็ย่อมเท่ากับว่าผู้บริโภคมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของแหล่งเพาะปลูกไปด้วย

   

มีผักอะไรให้สั่งบ้าง?    

    ปัจจุบันเดอะ บาสเก็ต ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการส่งผ่านทั้งพืชผักและผลไม้สดๆ ประมาณ 30-40 ชนิด (ตามแต่ฤดูกาล) จากสวนเกษตรอินทรีย์มาสู่ครัวเรือนของสมาชิก โดยแบ่งตามประเภท ได้แก่

     1. ผักกินใบ เช่น ผักคะน้า ผักบุ้ง ผักกาดขาว ผักกาดเขียว ผักกวางตุ้ง ชะอม

     2. ผักกินฝักหรือผล เช่น ข้าวโพดฝักอ่อน ถั่วฝักยาว ถั่วลันเตา ถั่วแขก แตงกวา บวบหอม ฟักเขียว มะระจีน มะเขือเปราะ มะเขือยาว

     3. ผักกินยอดอ่อน เช่น ผักกูด ยอดฟักทอง ยอดกระถิน ยอดตำลึง

     4. ผักสลัด เช่น ผักกาดคอส ผักกาดหอมบัตเตอร์เฮด ผักกาดแก้ว มะเขือเทศเชอร์รี่

     5. ผักอื่นๆ เช่น เห็ดหูหนูอินทรีย์ ดอกอัญชัน ผักพื้นบ้านตามฤดูกาล (ดอกแค ดอกโสน สะเดา มะเขือเทศตอแหล)

     6. ผลไม้ต่างๆ เช่น กล้วยน้ำว้า กล้วยหอม กล้วยไข่ มะละกอ ฝรั่งกิมจู มะม่วงน้ำดอกไม้มัน

     7. ผลิตผลเพิ่มเติม ได้แก่ ข้าวเกษตรอินทรีย์ เช่น ข้าวกล้องไรซ์เบอร์รี่ ข้าวกล้องงอกไรซ์เบอร์รี่ ข้าวกล้องหอมมะลิ ข้าวขัดขาวหอมมะลิ ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวหอมนิล ข้าวสังข์หยด และไข่ไก่-ไข่เป็ดอารมณ์ดีจากเป็ดและไก่ที่เลี้ยงแบบปล่อยตามธรรมชาติ

 

อ้างอิง:

     www.thaipan.org/sites/default/files/file_info/pesticide_doc34.pdf

FYI
  • ตะกร้าผักของเดอะ บาสเก็ต มีให้เลือกทั้งหมด 3 ขนาด ได้แก่ ชุดเล็ก รับประทานได้ 1-2 คนต่อสัปดาห์, ชุดกลาง รับประทานได้ 2-4 คนต่อสัปดาห์ และชุดใหญ่ รับประทานได้  5-6 คนต่อสัปดาห์
  • สามารถเลือกสมัครเป็นสมาชิกราย 1, 3 หรือ 6 เดือน ตะกร้าผักจะส่งตรงถึงบ้านของสมาชิกสัปดาห์ละครั้ง ทั้งนี้หากช่วงไหนที่ไม่สะดวกและต้องการจะหยุดรับตะกร้าผักชั่วคราวก็สามารถแจ้งได้ แล้วค่อยเริ่มนับต่อในสัปดาห์ที่สะดวกรับผัก
  • กลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมกับเดอะ บาสเก็ต มีประมาณ 50 ครัวเรือน ส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี
  • สามารถติดต่อหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ทาง thebasket.biz
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising