×

The Happy Film หนังชีวิตที่อาจไม่ได้แฮปปี้อย่างชื่อเรื่อง

12.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • นี่คือหนังที่สเตฟาน แซกไมสเตอร์ นักออกแบบกราฟิกเซเลบริตี้ของโลกที่กราฟิกดีไซน์ทุกคนรู้จักเขาดี
  • The Happy Film เริ่มต้นจากตอนที่แซกไมสเตอร์อยู่ในช่วงพีกสุดๆ ของอาชีพนักออกแบบ แต่กลับไม่มีความสุขเลย
  • แซกไมสเตอร์หาวิธีทำให้ตัวเองมีความสุขออกมาเป็นลิสต์และไดอะแกรม และคิดว่ามันน่าจะทำออกมาเป็นหนังสือได้สักเล่ม แต่ก็มาเปลี่ยนใจภายหลัง เพราะคิดว่ามันไม่ท้าทายพอ และเขาเองก็ยังไม่เคยทำหนังมาก่อนในชีวิต
  • เทคนิค 3 อย่างที่สามารถเปลี่ยนแปลงความคิดของคนเราให้มีความสุขขึ้นได้คือ การทำสมาธิ การเข้ารับการบำบัด และสุดท้ายคือการใช้ยา

     ถึงแม้จะชื่อว่า The Happy Film แต่ดูหนังเรื่องนี้จบแล้วแทบจะไม่รู้สึกถึงความแฮปปี้เลยสักนิด

     นี่คือหนังที่ สเตฟาน แซกไมสเตอร์ (Stefan Sagmeister) นักออกแบบกราฟิกเซเลบริตี้ของโลกที่กราฟิกดีไซน์ทุกคนรู้จักเขาดีทำขึ้นมาเพื่อบำบัดอาการบางอย่างของตัวเอง และเช่นเดียวกับที่ผ่านมา เขายังคงสนุกกับการเอาตัวเองเป็นของเล่นให้คนอื่นผลัดกันชม

     แซกไมสเตอร์เกิดที่ออสเตรียเมื่อปี 1962 จบกราฟิกดีไซน์จากเวียนนา แล้วไปเรียนต่อที่ Pratt Institute นิวยอร์ก ด้วยทุนฟูลไบรต์ หลังจากทำงานกราฟิกมาหลายแห่ง ทั้งที่ TBWA ลอนดอน, Leo Burnett ที่ฮ่องกง รวมทั้ง M&Co. ที่นิวยอร์ก

 

 

     ปี 1993 เขาตัดสินใจเปิดสำนักงานออกแบบของตัวเองในชื่อ Sagmeister Inc. เขาลงทุน -อย่าเรียกว่าลงทุนเลย เอาเป็นว่าน่าจะเรียกว่าความพอใจส่วนตัว ทำบัตรเชิญงานเปิดสตูดิโอด้วยการถ่ายภาพตัวเองแบบไม่ใส่อะไรเลย นอกจากถุงเท้าสีดำครึ่งแข้ง โดยภาพทางซ้ายมือมีเซนเซอร์สีบรอนซ์เงินที่สามารถเอาเล็บขูดออกได้ปกปิดส่วนที่ควรปิดในขนาดปกติ และแคปชันภาพนั้นว่าเขาเคยทำงานที่ไหนมาบ้างและภาพทางขวามือเป็นภาพเขายืนกอดอกพร้อมส่วนเซนเซอร์ตรงนั้นเหมือนรูปด้านซ้าย เพียงแต่เป็นเซนเซอร์ที่มีขนาดยาวกว่าด้านซ้ายมากๆ และแคปชันว่า ตอนนี้เปิดออฟฟิศตัวเองแล้วนะ ชื่อ Sagmeister Inc.

     นั่นคือจุดเริ่มต้นของการใช้ร่างกายและเรื่องส่วนตัวของเขาเป็นมีเดียและข้อความที่ต้องการสื่อสารถึงผู้คนแบบที่เราจะเห็นได้จากโปสเตอร์หลายชิ้นที่เขาออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นโปสเตอร์งาน AIGA Detroit ที่เขาถ่ายภาพเปลือยของตัวเองโดยมีรอยมีดโกนที่กรีดผิวเป็นรายละเอียดการจัดงานบนตัว หรือโปสเตอร์งาน On A Binge นิทรรศการออกแบบที่โอซาก้า ที่เขาเล่นกับวัฒนธรรมบริโภคนิยมโดยใช้ภาพถ่ายตัวเองใส่กางเกงในตัวเดียวนั่งบนโซฟาด้านบน และภาพด้านล่างเป็นตัวเขาในอีก 7 วันถัดมา (ใส่กางเกงในตัวเดียวเหมือนรูปข้างบน) ที่มีกองแพ็กเกจอาหารที่ตัวเองกินเข้าไป พร้อมน้ำหนักเพิ่มขึ้นมา 25 ปอนด์เพราะกินของพวกนั้นเข้าไป รวมไปถึงการเลือกเอาข้อความบางอย่างจากสมุดบันทึกมาทำเป็นงานในซีรีส์ที่ชื่อ Things I have learned in my life so far ที่ค่อยๆ บรรจงสร้างตัวอักษรออกมาในรูปแบบต่างๆ ที่ไม่ได้ใช้โฟโต้ช็อปทำขึ้นมา แต่เป็นการลงมือประดิษฐ์ตัวอักษรพวกนั้นขึ้นมาจริงๆ ทั้งหมดทั้งปวงที่ว่ามานี้ เราจะได้เห็นหมดใน The Happy Film หนังเรื่องแรกของเขาที่ถ่ายทำอย่างยาวนานกว่า 7 ปี

 

    

     The Happy Film เริ่มต้นจากตอนที่แซกไมสเตอร์รู้สึกว่าเขาอยู่ในช่วงพีกสุดๆ ของอาชีพนักออกแบบ แต่กลับไม่มีความสุขเลย ช่วงเวลานั้นเขาต้องเสียแม่ของตัวเอง และเลิกรากับแฟนสาวที่คบกันมายาวนานกว่า 11 ปี นั่นทำให้เขาใช้วิธีคิดแบบนักออกแบบ ก็คือการหา solution เพื่อใช้แก้ปัญหาที่เขาต้องเผชิญ เขาหาวิธีทำให้ตัวเองมีความสุขออกมาเป็นลิสต์และไดอะแกรม และคิดว่ามันน่าจะทำออกมาเป็นหนังสือได้สักเล่ม แต่ก็มาเปลี่ยนใจภายหลัง เพราะคิดว่ามันไม่ท้าทายพอ และเขาเองก็ยังไม่เคยทำหนังมาก่อนในชีวิต

     หลังจากรีเสิร์ชข้อมูลและพบผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาหลายคน ทำให้เขาตั้งคำถามขึ้นมาว่า เขาจะสามารถฝึกฝนจิตใจได้เหมือนกับการฝึกร่างกายหรือไม่ โจนาธาน เฮดต์ ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาตร์แนะนำว่า เทคนิค 3 อย่างที่สามารถเปลี่ยนแปลงความคิดของคนเราให้มีความสุขขึ้นได้คือ การทำสมาธิ การเข้ารับการบำบัด และสุดท้ายคือการใช้ยา แซกไมสเตอร์ตกลงที่จะทดลองเทคนิคทั้ง 3 อย่างนี้โดยทดลองอย่างละ 3 เดือน และเว้น 1 เดือนเพื่อให้กลับมาสู่สภาพปกติ ก่อนจะเริ่มเทคนิคต่อไป แผนนี้น่าจะทำให้การทดลองของตัวเองเสร็จได้ใน 1 ปี โดยที่เขาจะทำการวัดระดับความสุขตัวเองทุกวัน บันทึกการใช้ชีวิตของตัวเองทุกอาทิตย์ด้วยการอัดวิดีโอไดอะรี และสุดท้ายก็ให้คะแนนความสุขจากการทดลองแต่ละเทคนิคในเรตคะแนนเต็ม 10 ที่ปรึกษาคนเดิมบอกกับเขาว่าหนังเรื่องนี้จะน่าสนใจขึ้นมากๆ ถ้าแซกไมสเตอร์ตกหลุมรักใครสักคนระหว่างการทดลอง     

     The Happy Film ถ่ายทำทุกที่ที่เขาทดลองเทคนิคทั้ง 3 แบบ เราจะได้เห็นขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่เริ่มเช็กอัพสมอง วันแรกที่เริ่มทดลองจนถึงวันสุดท้าย และเรตการให้คะแนน เราได้เห็นชีวิตนักออกแบบ ชีวิตส่วนตัว ความสัมพันธ์ต่อคนรอบข้าง รวมทั้งความรักของเขา ตัดสลับกับโมชันงานออกแบบตัวอักษรและลายมือของเขาที่โผล่ขึ้นมาให้เห็นเป็นอินโฟกราฟิกแทบตลอดทั้งเรื่อง เราจะได้เห็นการบาลานซ์กันระหว่างสิ่งที่เป็นตัวเขาจริงๆ กับตัวเขาที่เป็นตัวละครในหนังเรื่องนี้ ซึ่งผมคิดว่าตัวเขาที่ดูเป็นเขาจริงๆ ก็คือช่วงเวลาที่หมกมุ่นกับการทำงานออกแบบกับทีมงาน

 

    

     แซกไมสเตอร์ให้คะแนนความสุขของตัวเองจากการนั่งสมาธิ 6.6 จากการบำบัดกับจิตแพทย์ 7.0 และให้คะแนนจากการใช้ยาทะลุเกิน 10 ทุกการทดลอง เขาตกหลุมรักผู้หญิงทั้ง 3 ครั้ง แต่มาพีกสุดที่คนสุดท้าย ที่เขาหลงรักถึงขนาดคบกันแค่ 10 วันก็ขอแต่งงาน ซึ่งเดาไม่ออกจริงๆ ว่าเขาตัดสินใจทำเรื่องใหญ่ในชีวิตอย่างการขอแต่งงานในช่วงที่ใช้ยา Lexapro (ยารักษาโรคซึมเศร้า-คลายความวิตกกังวล) เพื่อทดลองอะไรบางอย่างในหนัง หรือว่าเขารู้สึกอินกับผู้หญิงคนนั้นจริงๆ หรือว่าที่อินจัดก็เพราะเอฟเฟกต์จากฤทธิ์ยา?

     ที่น่าสนใจกว่าก็คือ ภายหลังจากการหยุดยาแล้ว ความสัมพันธ์ของทั้งคู่จะออกมาเป็นอย่างไร ความรักแบบเสน่หาที่เร้าใจยังอยู่เหมือนกับตอนใช้ยาหรือไม่ หลังจากเลิกใช้ยาไปแล้ว เขาจะยังโอเคกับงานที่ทำอยู่หรือเปล่า

     เราได้เห็นจุดอ่อนที่ชัดเจนของแซกไมสเตอร์ นั่นก็คือปัญหาความสัมพันธ์ของเขากับคนอื่น ความพยายามในการแก้ไขจุดอ่อนที่ว่านั้น จริงๆ แล้วก็คือการค้นหาความสุข ความสุขที่เกิดจากความสัมพันธ์ในแบบที่ถูกที่ควรระหว่างตัวเราและสิ่งต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตนอกจากตัวเราเองได้อย่างเหมาะสม แซกไมสเตอร์เป็นคนสุดโต่ง ทั้งที่จริงๆ แล้วเขาน่าจะเลือกตรงกลางระหว่างเทคนิคทั้ง 3 อย่างนั้น และควรแก้ไขความพอใจในการทำงานด้วยการพยายามทำโปรเจกต์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และทำกับคนที่เขารู้สึกนับถือจริงๆ

     อย่างที่บอกแต่แรกว่าหนังเรื่องนี้ไม่รู้สึกว่าเขาแฮปปี้สักนิด แต่ผมสนุก และนี่คือหนังที่ชอบมากเรื่องหนึ่งในรอบหลายปี

 

Photo: A film by Stefan Sagmeister & Ben Narbors

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising