Q: ตอนนี้หนูเรียนอยู่ปี 4 ฝึกงานมา 1 อาทิตย์แล้ว พี่ๆ ที่ทำงานไม่เห็นให้หนูทำอะไรเลย วันๆ ใช้แต่ถ่ายเอกสาร ไม่ก็ให้ไปชงกาแฟ น่าเบื่อมากค่ะ ไม่เห็นได้ความรู้หรือได้ใช้ความสามารถอะไรเลย บริษัทอินเตอร์ซะเปล่า
A: ก่อนอื่นต้องขอบอกว่า พี่ดีใจที่หนูเป็นเดือดเป็นร้อนที่รู้สึกว่าไม่ได้ใช้ความสามารถอะไรในการฝึกงาน และทนไม่ได้ที่จะต้องหายใจทิ้งไปวันๆ แสดงว่าน้องตั้งใจมาหาความรู้ มาหาประสบการณ์จากการฝึกงานจริงๆ อันนี้พี่ชื่นชม ปรบมือ!!
เก็บความรู้สึก ‘ทนไม่ได้ที่ตัวเองไม่ได้ใช้ความสามารถหรือไม่ได้เรียนรู้’ แบบนี้ไว้นะครับ และให้มันเป็นแรงผลักดันให้เรากระตือรือร้นอยากจะเก่งขึ้น
เพราะเมื่อน้องทำงานแล้ว น้องอาจจะได้พบกับคนที่ใช้ชีวิตไปวันๆ ไม่ได้ใช้ความสามารถที่มี (หรือไม่มีก็ไม่รู้) มาทำงานแบบ ‘แอร์ดับก็กลับบ้าน’ คนเหล่านี้บางคนเคยมีไฟในการทำงานมาก่อน เคยกระตือรือร้นอยากจะทำโน่นทำนี่ แต่ด้วยอะไรบางอย่าง อาจจะเป็นระบบการทำงานที่ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ หรือเป็นความเหนื่อยล้าที่กัดกินชีวิตของเขาก็แล้วแต่ มันทำให้พลังของเขามอดดับลงไป ถ้าเป็นไปได้ พี่หวังว่าน้องจะเติมไฟให้ลุกโชนได้ตลอดเหมือนที่น้องมีในวันนี้
การฝึกงานเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ทำให้เราได้เรียนรู้โลกการทำงานโดยตรง มีความรู้และประสบการณ์มากมายที่ไม่มีในห้องเรียน เรียนรู้แบบไหนก็ไม่ดีเท่าเรียนรู้จากการลงมือทำ แม้กระทั่งการถ่ายเอกสารหรือชงกาแฟที่น้องคิดว่าไม่เห็นได้ใช้ความรู้ความสามารถอะไรเลย เอาจริงๆ น้องก็กำลังได้ใช้ความสามารถอยู่นะครับ
พี่ที่ทำงานจะรู้ได้อย่างไรว่าน้องคนไหน ‘ควรค่า’ แก่การให้ใจสอน มองในมุมพี่ที่ทำงาน ปีปีหนึ่งเขาต้องเจอน้องฝึกงานตั้งกี่คน และแน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะกระตือรือร้นอยากจะเรียนรู้ บางคนมาฝึกแค่เพื่อเอาเกรด บางคนมาฝึกเพราะอยากเรียนรู้จริงๆ บางคนมาฝึกเพราะพ่อแม่ฝากเข้ามา นั่นคือการให้ทำงานง่ายๆ ก่อน เป็นหนึ่งในข้อพิสูจน์ซึ่งไม่ว่าเราจะได้รับมอบหมายอะไรมา จะเป็นงานที่ดูเล็กน้อยแค่ไหน อย่างงานชงกาแฟหรือถ่ายเอกสาร แต่ถ้าเรารับผิดชอบกับมันเต็มที่ และทำให้พี่ที่ทำงานเห็นว่าเราทำได้ดี เราสอบผ่าน ก็เป็นไปได้นะครับว่า เขาอาจจะไว้วางใจให้เราทำงานที่ท้าทายขึ้นก็เป็นได้
ดังนั้นถ้าน้องได้รับมอบหมายให้ชงกาแฟ แล้วน้องสามารถจดจำได้หมดว่ารุ่นพี่แต่ละคนสั่งกาแฟอะไรและยังชงได้ตามคำสั่งเป๊ะทั้งหมด แสดงว่าน้องเจ๋งจริง น้องเต็มที่แม้กระทั่งเรื่องการชงกาแฟ ต่อไปพี่จะให้น้องจำรายละเอียดงานอื่นๆ ที่จุกจิกซับซ้อนมากกว่านี้ และพี่ก็เชื่อว่าน้องทำได้ ขนาดกาแฟคนทั้งออฟฟิศน้องยังจำได้เลยว่าแต่ละคนกินแบบไหนจริงไหม?
ถ้าน้องได้รับมอบหมายให้ถ่ายเอกสารแล้วน้องจัดการทุกอย่างภายในเวลารวดเร็ว ตรวจทานเอกสารเรียบร้อย เข้าเล่มได้ครบถ้วนไม่มีที่ติ นี่ไง แสดงว่าน้องแน่จริง รับผิดชอบงานได้ดี งานเอกสารจุกจิกน่าเบื่อแบบนี้น้องยังไม่บ่น (ให้พี่เห็น) ต่อไปเจองานหนักกว่านี้น้องก็น่าจะทำไหว
หลักการของเด็กฝึกงานที่ดีคือ ทำให้ตัวเองมีคุณค่า ทำให้คนเห็นว่าหนูมีของ ทำให้คนเห็นว่าหนูไม่ได้มาที่นี่แค่เล่นๆ แต่หนูเอาจริง! Game on, bitch!!!
ถ้ารุ่นพี่ไม่ให้งานหนู หนูต้องเดินไปหารุ่นพี่ว่ามีอะไรให้หนูทำไหม แสดงออกให้มากที่สุดว่า หนูอยู่นี่ หนูอยากเรียนรู้ บอกมาเลยค่ะว่าจะให้หนูทำอะไร หนูพร้อม อย่าอยู่เฉยๆ หางานให้ตัวเองทำตลอดเวลาให้ได้ หรือสงสัยอะไรและอยากรู้ว่าตอนทำงานจริงเขาทำกันยังไงก็ถามเลย ไม่ต้องรอให้เขามาสอน แต่เดินเข้าไปหาด้วยความรู้สึกว่าเราอยากเรียน
พี่ไม่ให้งานหนูใช่ไหม ไม่เป็นไรค่ะ หนูจะไปสรุปข่าววันนี้มาให้พี่ค่ะ หนูจะไปหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับการทำงานหรือที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อพี่ แล้วรวบรวมและวิเคราะห์ให้เสร็จสรรพแล้วเอาไปให้พี่ พี่คะ หนูไปเจอเคสนี้มาน่าสนใจมาก เอามาให้พี่ลองดูเผื่อเป็นไอเดียในการทำงาน ถ้าพี่มีงานเล็กงานน้อยอะไรหนูทำได้หมด บางอย่างพี่ยังไม่สั่งแต่หนูทำไว้ให้แล้วค่ะ เอาซี่!
แทนที่จะคิดว่า โหย… ไม่เห็นได้เรียนรู้ ไม่เห็นได้ใช้ความสามารถอะไร เอาแบบนี้ดีไหมครับ ลองตั้งโจทย์ว่าทำอย่างไรเราจะสร้างความเชื่อมั่นให้รุ่นพี่ไว้ใจมอบหมายงานให้เราได้
ตั้งโจทย์แบบนี้แล้วลองทำทุกวิถีทางให้พี่ที่ทำงานต้องทึ่งในความบ้าพลังของหนู เมื่อทำขนาดนี้แล้วพี่มั่นใจว่าไม่มีทางที่น้องจะรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ใช้ความสามารถอะไร เผลอๆ จะจองตัวหนูเป็นพนักงานคนต่อไปด้วยซ้ำ
แต่ถ้าสุดท้ายทำขนาดนี้แล้วพี่ที่ทำงานก็ยังคงเห็นน้องเป็นแค่คนเดินไปหาเครื่องถ่ายเอกสารอีก ก็ให้รู้ว่าบริษัทอินเตอร์อะไรนี่ก็เป็นแบบนี้นี่เอง น้องควรจะให้ข้อมูลนี้กับฝ่าย HR ของบริษัทหรือมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นประโยชน์ในการปรับปรุง จะได้ทราบว่าเขาพลาดแล้วที่ให้เด็กใฝ่รู้มานั่งหายใจเฉยๆ
แต่พี่เชื่อนะว่า ถ้าน้องใฝ่รู้จริงก็ไม่มีอะไรหยุดน้องได้
*ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์ไปที่ FB: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ (Facebook.com/Toffybradshawwriter)
ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai