×

เมื่อประวัติศาสตร์ดนตรีถูกครอบครองด้วยเพลงเพลงหนึ่ง

20.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ในประวัติศาสตร์ ดนตรีถูกนำไปใช้เป็นพลังมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง เช่น เมื่อปี 1984 ยามที่หลายประเทศในทวีปแอฟริกาประสบปัญหาความแห้งแล้งและยากจน กลุ่มคนดนตรีระดับโลกก็ร่วมมือกันทำเพลงเพื่อสื่อถึงปัญหา รวมทั้งช่วยกันรณรงค์ให้มีการบริจาคเงินและสิ่งของไปช่วยเหลือคนเหล่านั้น
  • ไซมอน โคเวลล์ โปรดิวเซอร์รายการชื่อดังอย่าง American Idol, The X Factor และ Britain’s Got Talent รวมถึงกรรมการที่ปากเสีย (แต่พูดตรง) ที่สุดในวงการ แน่นอนว่าต้องมีคนหมั่นไส้และอยากกระโดดถีบเป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีใครทำอะไรเขาได้
  • จอน มอร์เตอร์ คือดีเจสมัครเล่นในเมืองเอสเซ็กซ์ ประเทศอังกฤษ เขาเป็นหนึ่งในหลายๆ คนที่เบื่อการครองชาร์ตของศิลปิน The X Factor แต่สิ่งที่แตกต่างจากคนอื่นๆ คือเขาลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง อะไรบางอย่างที่จะเป็นการตบหน้าฉาดใหญ่จากผู้บริโภค อะไรบางอย่างที่จะเป็นการบอกไปถึงธุรกิจดนตรีว่า ผู้ฟังนี่แหละที่สำคัญและทรงพลังที่สุด

 

When Music Creates History

     สำหรับหลายๆ คน ดนตรีอาจจะเป็นแค่กิจกรรมฆ่าเวลา แต่สำหรับบางคนแล้ว ดนตรีเป็นเครื่องมือที่จะแสดงจุดยืนของพวกเขา

     พูดง่ายๆ ก็คือดนตรีสามารถแปรเปลี่ยนเป็นพลังให้กับคนหมู่มากได้ หากเราใช้มันให้ถูกที่ ถูกเวลา

     ในประวัติศาสตร์ ดนตรีถูกนำไปใช้เป็นพลังมาแล้วหลายต่อหลายครั้งครับ เช่น เมื่อปี 1984 ยามที่หลายประเทศในทวีปแอฟริกาประสบปัญหาความแห้งแล้งและยากจน กลุ่มคนดนตรีระดับโลกก็ร่วมมือกันทำเพลงเพื่อสื่อถึงปัญหา รวมทั้งช่วยกันรณรงค์ให้มีการบริจาคเงินและสิ่งของไปช่วยเหลือคนเหล่านั้น

     นั่นก็คือที่มาของเพลง We Are The World จากศิลปินฝั่งอเมริกัน และเพลง Do They Know It’s Christmas? จากศิลปินฝั่งยุโรป หรือจะเป็นเมื่อเร็วๆ นี้ที่มีเหตุระเบิดในเมืองแมนเชสเตอร์ เพลง Don’t Look Back In Anger ของ Oasis ก็ถูกนำมาใช้เพื่อส่งสารให้ผู้คนสามัคคีกันมากขึ้น นั่นคือพลังของดนตรีที่ถูกนำมาใช้สร้างประโยชน์ให้สังคม

     แต่เรื่องที่ผมจะเล่าในวันนี้คือเรื่องราวเมื่อครั้งที่ดนตรีถูกใช้เพื่อรวมตัวประชาชนไป ‘กวนตีน’ คนบางคน และคนที่โดนพลังแห่งดนตรีกวนตีนนั้นคือ ไซมอน โคเวลล์ (Simon Cowell) ครับ

 

Photo: STAN HONDA, AFP

 

     ไซมอน โคเวลล์ คือนักปั้นศิลปิน นักธุรกิจด้านดนตรี รวมไปถึงเจ้าของค่ายเพลงจากประเทศอังกฤษ แต่หลายๆ คนน่าจะคุ้นชื่อของเขาในฐานะโปรดิวเซอร์รายการชื่อดังอย่าง American Idol, The X Factor และ Britain’s Got Talent รวมถึงกรรมการที่ปากเสีย (แต่พูดตรง) ที่สุดในวงการ แน่นอนว่าต้องมีคนหมั่นไส้และอยากกระโดดถีบเป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีใครทำอะไรเขาได้ เนื่องจากอำนาจในวงการเพลงของเขานั้นมีมากมายจนไม่มีใครกล้าไปต่อกรด้วย เคยมีคนบอกว่าไซมอนกุมวงการเพลงอังกฤษไว้ในมือ เพราะเมื่อไรก็ตามที่เขาสนับสนุนใคร คนคนนั้นก็มักจะกลายเป็นนักร้องชื่อดัง หรืออย่างน้อยๆ ก็มีเพลงอันดับหนึ่งในชาร์ตได้เสมอมา เพลงอันดับหนึ่งในชาร์ตของวันคริสต์มาสก็เช่นกัน

     เพลงอันดับหนึ่งในวันคริสต์มาส เป็นตำแหน่งที่สำคัญประจำปีของประเทศ เพราะนั่นหมายถึงยอดขายที่ถล่มทลายมากกว่าอันดับหนึ่งในวันธรรมดา

     ตามธรรมเนียม คริสต์มาสคือช่วงเวลาของการให้ เราซื้อซีดีให้เพื่อน เราดาวน์โหลดเพลงให้แฟนเป็นของขวัญ เราส่งเพลงให้คนที่เรารัก ดังนั้นเพลงไหนที่เป็นที่หนึ่งในสัปดาห์นั้น หมายความว่าจะเป็นเพลงยอดฮิตประจำปี ซึ่งในอดีต เพลงที่เคยครองอันดับหนึ่งวันคริสต์มาสนั้นล้วนแต่เป็นระดับอัครมหาซูเปอร์ฮิตทั้งสิ้น ยกตัวอย่างเช่น Bohemian Rhapsody ของ Queen, Do They Know It’s Christmas? ของ Band Aid, 2 Become 1 ของ Spice Girls, I Will Always Love You ของวิตนีย์ ฮุสตัน, Something Stupid ของร็อบบี วิลเลียมส์ และอีกมากมาย

     ในระหว่างปี 2005-2008 ซึ่งเป็นช่วงพีกในอาชีพของไซมอน เพลงที่ขึ้นอันดับหนึ่งนั้นมาจากฝีมือการวางแผนของเขาล้วนๆ ครับ โดยแผนที่เขาวางไว้มีดังนี้

     – กลางเดือนธันวาคม จะมีการประกาศผู้ชนะของรายการ The X Factor ที่เขาเป็นโปรดิวเซอร์

     – เขาจะนำเพลงเพราะๆ ให้กำลังใจดีๆ มาให้ผู้ชนะของรายการร้องเป็นเพลงไฟนอลเพื่อสร้างกระแส

     – เขาเอาเพลงนี้แหละมาใช้เป็นซิงเกิลเปิดตัวของผู้ชนะในรายการ เพื่อนำออกขายทันที

     – กระแสของรายการและผู้ชนะกินยาวจากกลางเดือนธันวาคมไปจนถึงวันคริสต์มาส

     – แล้วก็ออกมาประกาศว่าเป็นอันดับหนึ่งแล้วนะ เย้!

     ทุกอย่างเป็นไปตามแผนของเขาครับ ศิลปินของไซมอนได้อันดับหนึ่งมา 4 ปีติด

     ไล่มาตั้งแต่ปี 2005 กับ เชน วอร์ด, ปี 2006 กับ ลีโอนา เลวิส, ปี 2007 กับ ลีออน แจ็กสัน และปี 2008 กับ อเล็กซานดรา เบิร์ก เรียกว่าไซมอนกดสูตรติดไปเรียบร้อย เขารู้แล้วว่าต้องทำอะไร อย่างไร และตอนไหน เพื่อที่จะทำให้ศิลปินเป็นอันดับหนึ่ง

     ปีต่อมาทุกคนก็คาดว่าอันดับหนึ่งวันคริสต์มาสจะเป็นผู้ชนะจากรายการ The X Factor เหมือนเดิม บริษัทรับพนันถึงกับปิดรับแทงเพลงอันดับหนึ่งในสัปดาห์วันคริสต์มาส เพราะมันเดาง่ายมากพอๆ กับการเดาผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซีย เปิดให้แทงว่าใครจะได้เป็นอันดับสองยังจะสนุกกว่า พูดง่ายๆ คือทุกคนยอมรับไปแล้วว่าสัปดาห์วันคริสต์มาสเป็นสัปดาห์ของไซมอนและศิลปินของเขา ยกเว้นอยู่คนหนึ่งครับ

 

Photo: Jon Mortor, Facebook

 

      จอน มอร์เตอร์ (Jon Morter) คือดีเจสมัครเล่นในเมืองเอสเซ็กซ์ ประเทศอังกฤษ เขาเป็นหนึ่งในหลายๆ คนที่เบื่อการครองชาร์ตของศิลปิน The X Factor แต่สิ่งที่แตกต่างจากคนอื่นๆ คือเขาลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างครับ อะไรบางอย่างที่จะเป็นการตบหน้าฉาดใหญ่จากผู้บริโภค อะไรบางอย่างที่จะเป็นการบอกไปถึงธุรกิจดนตรีว่า ผู้ฟังนี่แหละที่สำคัญและทรงพลังที่สุด

     จอนตัดสินใจลุกขึ้นมางัดกับไซมอน ผู้ครองวงการเพลง โดยเริ่มโครงการต่อต้านการได้อันดับหนึ่งแบบผูกมัดของศิลปินในสังกัดของไซมอน ซึ่งวิธีที่จะประกาศศักดาได้ดีที่สุดคือการหาเพลงสักเพลงหนึ่งมาต่อกรกับเพลงที่ไซมอนจะดัน แล้วทำยังไงก็ได้ให้ชนะ!

     สิ่งที่ยากมากก็คือ จะเอาเพลงไหนไปสู้วะ? เพลงใหม่หรือเพลงเก่า? เพลงของนักร้องคนไหนดี? แล้วเพลงนั้นมันพูดถึงสิ่งที่เขาต้องการจะสื่อไหม?

     เพลงที่จอนต้องการต้องมีความกบฏอยู่ในตัว เพลงที่ประกาศว่ากูจะไม่ยอมมึงแล้ว! เพลงที่พิสูจน์ตัวเองมาแล้วว่าเป็นเพลงของประชาชน

     เมื่อนำโจทย์ทุกข้อมาขยำรวมกัน จอนก็ได้เพลงที่เขาจะนำมาฟัดกับไซมอนเรียบร้อย

     เพลงนั้นคือ Killing In The Name ของวงร็อกอเมริกัน Rage Against The Machine

     นักฟังเพลงสายร็อกทุกคนน่าจะรู้จักเพลงนี้ดีอยู่แล้ว เพราะนี่คือ ‘เพลงชาติของเหล่ากบฏ’ Killing In The Name เป็นเพลงจากอัลบั้มแรกของวงที่ออกจำหน่ายในปี 1992 สิ่งที่น่าทึ่งพอๆ กับน่าศึกษามากๆ คือเพลงนี้ประกอบขึ้นมาด้วย 5 ประโยคเท่านั้น

     – Killing in the name of

     – Some of those that work forces, are the same that burn crosses

     – And now you do what they told ya

     – Those who died are justified, for wearing the badge, they’re the chosen whites

     – Fuck you, I won’t do what you tell me

     แต่ 5 ประโยคนี้แหละที่แสดงออกถึงความเป็นกบฏและความไม่ give a shit ของมนุษย์ได้ดีที่สุด จอนเลือกที่จะใช้ความบ้าคลั่งของเพลงนี้เป็นตัวแทนของทุกคนเพื่อไปสู้กับไซมอนและนักร้องที่เขาปั้น

 

Killing In The Name – Rage Against The Machine

 

7 ธันวาคม 2009

     จอนใช้โลกโซเชียลให้เป็นประโยชน์ โดยเปิดเพจเฟซบุ๊กกับทวิตเตอร์และโพสต์ว่า ใครที่เบื่อการครองวงการของไซมอน จงมาร่วมมือกันแสดงออกด้วยการดาวน์โหลดเพลงของ Rage Against The Machine ให้มากที่สุด เพื่อที่เพลงนี้จะได้เป็นอันดับหนึ่งในสัปดาห์วันคริสต์มาส

 

10 ธันวาคม 2009

     กระแสที่จอนสร้างเริ่มแพร่ออกไปเป็นวงกว้าง ผู้คนต่างสนับสนุนเขาอย่างเต็มที่ แต่ก็ยังไม่ใช่จำนวนตัวเลขที่จะสู้กับไซมอนได้

 

11 ธันวาคม 2009

     แคมเปญนี้ส่งไปถึงวง Rage Against The Machine เรียบร้อย ทางวงชื่นชอบมากๆ และยังบอกต่อไปถึงชาวอังกฤษว่า ถ้าหากเพลง Killing In The Name ขึ้นอันดับหนึ่ง พวกเขาจะบริจาคค่าดาวน์โหลดให้กับประเทศอังกฤษ และจะไปเล่นคอนเสิร์ตให้ดูฟรีๆ เว้ย!

 

13 ธันวาคม 2009

     รายการ The X Factor ประกาศผลว่าผู้ชนะในปีนั้นคือ โจ แม็กเอลเดอร์รี (Joe McElderry) เด็กหนุ่มหน้าใสขวัญใจประชาชน วัย 18 ปี ไซมอนประกาศทันทีว่าจะใช้เพลง The Climb (ซึ่งเวอร์ชันออริจินัลเป็นของไมลีย์ ไซรัส) ที่เขาร้องในรอบไฟนอลเป็นซิงเกิลแรก และมั่นใจมากๆ ว่าเพลงนี้จะขึ้นอันดับหนึ่งในสัปดาห์วันคริสต์มาสแน่นอน ชัวร์โคตรๆ และในวันเดียวกันนั้นเอง มีสื่อไปสัมภาษณ์โจว่า คิดอย่างไรที่มีการจัดแคมเปญต่อต้านโดยใช้เพลงของวง Rage Against The Machine ซึ่งน้องโจหน้าใสตอบว่า “ไม่เคยได้ยินครับ วงอะไรอะ?”

 

15 ธันวาคม 2009

     ไซมอนบอกกับนักข่าวว่า ยังคงมั่นใจว่า The Climb จะขึ้นเป็นอันดับหนึ่งแน่นอน และนั่นจะทำให้เพลงของเขาครองชาร์ตสัปดาห์วันคริสต์มาส 5 ปีซ้อน

 

16 ธันวาคม 2009

     โจ ซึ่งเพิ่งเคยฟังเพลง Killing In The Name เป็นครั้งแรกบอกกับนักข่าวว่า “นี่ไม่เรียกว่าเพลงหรอก มันเป็นแค่เสียงตะโกนแหกปาก”

 

17 ธันวาคม 2009

     The Climb และ Killing In The Name ขึ้นมามีคะแนนเท่ากัน

 

18 ธันวาคม 2009

     ไซมอนควันออกหู ด่าทุกคนในโลกมนุษย์ และยังคงยืนยันว่าเพลงของเขาจะเป็นที่หนึ่ง (โว้ย!)

 

20 ธันวาคม 2009

     เป็นวันสุดท้ายที่จะนับยอดทั้งหมด และประกาศว่าเพลงใดจะได้อันดับหนึ่ง

     ตัวเลขสุดท้ายถูกประกาศออกมาเป็นยอดรวมทุกยูนิต (ทั้งซีดีและดาวน์โหลด) ว่า

     The Climb – 450,838 ยูนิต

     Killing In The Name – 502,672 ยูนิต

     หรือจะพูดให้ถูกต้องก็คือ นายทุนแพ้ และประชาชนชนะ!

     จอนถูกยกให้เป็นฮีโร่และคนของประชาชนทันทีที่เขาเป็นผู้ชนะ แต่จอนก็ยกเครดิตทั้งหมดให้กับเพลงของ Rage Against The Machine และประชาชนทุกคนที่มีส่วนร่วม เขาภูมิใจที่เป็นผู้ริเริ่มโครงการ แต่คนที่ทำให้เกิดชัยชนะครั้งนี้ได้คือประชาชนต่างหาก ยอดดาวน์โหลดจากทุกคนต่างหากที่บอกกับไซมอนว่า กูจะไม่ยอมมึงแล้ว ยอดดาวน์โหลดจากทุกคนต่างหากที่บอกกับพวกเราว่า เพลงเพลงหนึ่งสามารถต่อสู้กับนายทุนได้ หากมันถูกใช้อย่างถูกที่ ถูกเวลา

     จริงอยู่ที่ปีต่อมาไซมอนและศิลปินของเขาก็กลับมาครองชาร์ตสัปดาห์วันคริสต์มาสได้อีกครั้ง แต่แรงกระเพื่อมที่จอน, Rage Against The Machine และประชาชนคนฟังเพลงทุกคนได้แสดงออกในปี 2010 ทำให้เรารู้ว่าทุกๆ อย่างล้วนเป็นไปได้

     นอกจากนั้นยังเป็นการตอกย้ำด้วยว่า ดนตรีคือสิ่งที่ทรงพลังกว่าอาวุธทุกชนิด

     หากเพลงเพลงนั้นมาได้ถูกที่ ถูกเวลา ประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งก็จะถูกครอบครองด้วยเรื่องราวของเพลงเพลงนั้น

 

Rage Against The Machine – Free Concert in London 2010

 

ภาพประกอบ: Pichamon Wannasan

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising