×

เทศกาลปันผล เทศกาล Reinvest ต่อยอดความมั่งคั่งในระยะยาว

11.05.2023
  • LOADING...

เข้าสู่โค้งสุดท้ายของฤดูแจกเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นแล้ว ถือเป็นการเริ่มต้นของเดือนพฤษภาคมที่นักลงทุนต่างรอรับทรัพย์กันถ้วนหน้า หลังจากที่บริษัทจดทะเบียนทยอยประกาศข่าวดี เคาะเงินปันผลจากผลประกอบการปี 2565 มาจ่ายให้ผู้ถือหุ้นได้ชื่นอกชื่นใจ จากการที่ได้นำเงินเข้ามาลงทุนถือหุ้น

 

เป็นเรื่องปกติที่การลงทุนในหุ้นดีๆ มักจะให้ดอกผลที่ออกมาสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก ยิ่งในช่วงยุคดอกเบี้ยต่ำอย่างหลายปีที่ผ่านมา จนถึงปีนี้ที่ดอกเบี้ยไทยเริ่มปรับขึ้นเข้าสู่ระดับปกติในช่วงก่อนโควิด

 

รู้หรือไม่ เงินปันผลที่ได้รับมีมูลค่ามากแค่ไหน

 

ผมเห็นข้อมูลน่าสนใจจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เกี่ยวกับอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลปี 2561-2565 ของบริษัทจดทะเบียนไทย พบว่าทุกปีที่ทำการศึกษา ผลตอบแทนจากเงินปันผลของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประมาณ 1.3 เท่าเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนสูงสุดของธนาคารพาณิชย์ในไทยที่อยู่ระดับต่ำช่วง 0.20-1.90% นอกจากนี้ยังพบอีกว่า ณ สิ้นปี 2565 บริษัทจดทะเบียนไทยในบางอุตสาหกรรมให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงกว่า 5 เท่าของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนด้วยครับ

 

ตลาดหลักทรัพย์รายงานผลการศึกษากำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2555-2564) พบว่ากำไรสุทธิรวมทั้งหมดของบริษัทจดทะเบียนไทยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง และถึงแม้ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิดจะได้รับผลกระทบบ้าง แต่บริษัทจดทะเบียนไทยก็สามารถปรับตัวตอบรับสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้กำไรสุทธิในปี 2564 เพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 1,051,644 ล้านบาท ทำสถิติใหม่สูงสุดนับตั้งแต่เปิดตลาด และกลับมาสูงกว่ากำไรสุทธิรวมก่อนการแพร่ระบาดของโควิด

 

เช่นเดียวกันในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2556-2565) บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยจ่ายเงินปันผลให้นักลงทุนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามการเติบโตของกำไรสุทธิรวม มูลค่าเงินปันผลที่จ่าย รวมประมาณ 5.12 ล้านล้านบาท โดยในปี 2565 มีการจ่ายเงินปันผลรวมให้นักลงทุนทั้งหมด 846 ครั้ง จากบริษัทจดทะเบียน 564 บริษัท (บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่จ่ายเงินปันผลปีละครั้ง บางบริษัทจ่ายปีละ 2 ครั้งหรือ 4 ครั้ง ขึ้นอยู่กับนโยบายการจ่ายเงินปันผลของแต่ละบริษัท) 

 

สำหรับปี 2566 ช่วงนี้ที่กำลังอยู่ในเทศกาลจ่ายเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียนไทย ก็คาดว่าหุ้นหลายๆ ตัวมีแนวโน้มการปันผลที่ดีอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าโดยภาพรวมของบริษัทจดทะเบียนในปี 2565 มีกำไรสุทธิรวมจำนวน 974,759 ล้านบาท ลดลง 1.9% จากปี 2564 ก็ตาม ซึ่งก็เป็นผลกระทบจากปัญหาต้นทุนที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะด้านพลังงาน ราคาน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม ราคาสินค้าที่ปรับราคาขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานในปีที่แล้ว แต่บริษัทส่วนใหญ่ก็ยังคงจ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น ถือเป็นเสน่ห์ของตลาดหุ้นไทยมาหลายปีครับ

 

วันนี้ผมอยากมาชวนคุยเรื่อง ถ้าคุณได้ ‘เงินปันผล’ มาแล้ว คุณเอาไปทำอะไรต่อดีครับ

 

ชั่งน้ำหนักผลตอบแทนระหว่างราคาหุ้น vs. เงินปันผล

 

คุณทราบไหมครับว่า โดยเฉลี่ยแล้วเงินปันผลที่เราได้จากการลงทุนในหุ้นนั้นมีมูลค่ามากน้อยแค่ไหน และมีความสำคัญอย่างไรกับการลงทุนระยะยาว

 

ก่อนหน้านี้ ผมเคยอธิบายแล้วว่า หุ้นเป็นทรัพย์สินที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด โดยผลตอบแทนของหุ้นจะมาจาก 2 ส่วนหลักๆ คือ กำไรที่เติบโตจากราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้น และเงินปันผลที่บริษัทจดทะเบียนจ่ายออกมาให้แก่ผู้ถือหุ้น

 

ถ้าย้อนกลับไปดูข้อมูลผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทยในช่วง 43 ปีที่ผ่านมา (2518-2560) จะพบว่าตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนรวมเฉลี่ย 11.87% ต่อปี โดยมาจากกำไรที่เติบโตจากส่วนของราคาหุ้นประมาณ 6.89% ต่อปี และเงินปันผลที่จ่ายออกมา 4.98% ต่อปี คุณจะเห็นว่าในระยะยาว ผลตอบแทนจากเงินปันผลนั้นจะสูงราวๆ เกือบครึ่งหนึ่งของผลตอบแทนรวมที่ได้รับทีเดียวนะครับ

 

ถ้าลองแยกดูรายละเอียดระหว่างผลตอบแทนของราคาหุ้นและผลตอบแทนของเงินปันผลจากผลตอบแทนรวม ก็จะพบว่าผลตอบแทนจากราคาหุ้นนั้น แม้ในระยะยาวจะเป็นไปตามกำไรของบริษัทที่เติบโตขึ้น แต่ในระยะสั้นก็มีความผันผวนบ้าง ทำให้บางปีอาจจะบวก 50% บางปีอาจจะติดลบ 50% ก็ได้ ขณะที่ผลตอบแทนจากเงินปันผลจะมีแต่บวกอย่างเดียวและค่อนข้างสม่ำเสมอด้วย

 

ผมสรุปได้ว่า ความผันผวนของผลตอบแทนรวมจากตลาดหุ้นในแต่ละปีมาจากส่วนของราคาหุ้น หรือมาจากอารมณ์นักลงทุนในตลาดหุ้นที่เหวี่ยงขึ้นลงสลับกันไปมาเป็นหลัก แต่เงินปันผลนั้นกลับเป็นสิ่งที่นักลงทุนได้รับแน่นอนจากตลาดหุ้นทุกๆ ปี ขึ้นอยู่กับว่าจะได้มากหรือได้น้อยเท่านั้นเอง

 

และถ้าเอาข้อมูลเฉพาะส่วนของผลตอบแทนเงินปันผลจากตลาดมาวิเคราะห์ พบว่าอัตราเงินปันผลเฉลี่ยตลอด 43 ปี อยู่ที่ 5.27% ต่อปี แม้จะมีความผันผวนในแต่ละปีอยู่บ้าง แต่ก็เป็นบวกทุกปี โดยอัตราเงินปันผลมากที่สุดอยู่ที่ 13.46% และอัตราเงินปันผลที่น้อยที่สุดอยู่ที่ 0.79%

 

ซึ่งถ้าดูต่อไปอีกว่า อัตราการจ่ายเงินปันผลของตลาดหุ้นไทยช่วง 40 ปีที่ผ่านมา โดยแบ่งเป็น 4 ช่วง ช่วงละ 10 ปี ก็จะพบว่าในช่วงปี 2521-2530 (ช่วงเริ่มตั้งตลาดหลักทรัพย์) อัตราปันผลเฉลี่ยสูงถึง 8.25% ส่วนปี 2531-2540 อัตราปันผลเฉลี่ย 3.53% ในปี 2541-2550 อัตราปันผลเฉลี่ย 3.72% และในปี 2551-2560 อัตราปันผลเฉลี่ย 4.43%

 

ถ้าเราตัดช่วงปี 2521-2530 ออกไป เพราะถือเป็นช่วงตลาดหุ้นเพิ่งเริ่มก่อตั้ง และอาจจะให้อัตราเงินปันผลที่สูง เนื่องจากตลาดหุ้นโดยรวมอาจจะยังมีราคาต่ำอยู่มาก ก็จะพบว่าตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลอยู่ในช่วงระหว่าง 3.5-4.4% อย่างสม่ำเสมอเลยครับ ซึ่งพอจะคาดการณ์อนาคตได้ว่า 10-20 ปีข้างหน้า ตลาดหุ้นไทยน่าจะให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลราวๆ เดียวกัน ถือว่าเป็นอัตราผลตอบแทนที่ไม่น้อยเลยนะครับ และหากคาดว่าในอีก 10-20 ปีข้างหน้า ตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มจะให้ผลตอบแทนรวมประมาณ 10% ต่อปี เท่ากับว่าผลตอบแทนเงินปันผลนั้นจะคิดเป็นสัดส่วนถึง 40% ของผลตอบแทนรวมในแต่ละปีของเราทีเดียวครับ

 

อ่านมาถึงตรงนี้ ผมเชื่อว่าคุณน่าจะเข้าใจและมองเห็นแล้วว่า ‘เงินปันผล’ เป็น ‘ส่วนสำคัญ’ ของผลตอบแทนในระยะยาว เพราะฉะนั้น ถ้าหาก ‘ไม่’ นำเงินปันผลที่ได้รับในแต่ละปีกลับไปลงทุนต่อ หรือ Reinvest ก็แปลว่าในระยะยาวความมั่งคั่งของคุณจะหดหายไปมากมายมหาศาลครับ

 

‘เอามาลงทุนต่อ vs. เอาออกมาใช้’ วัดใจรวยวันนี้หรือรวยวันหน้า

 

อย่างไรก็ตาม ผมเข้าใจดีครับว่าแต่ละคนก็มีความต้องการใช้เงินแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลาหรือแต่ละปีด้วย เพราะบางคนได้เงินปันผลมาในปีนี้อยากจะเอาไปใช้ซื้อของที่อยากได้ให้รางวัลชีวิตบ้าง บางปีได้มาก็อยากเอาไปลงทุนเพิ่ม เรื่องแบบนี้ก็ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของแต่ละคนแต่ละช่วงเวลาครับ

 

ผมเลยอยากขออธิบายเพิ่มเติมให้คุณเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นว่า ถ้าเราไม่นำเงินปันผลไปลงทุนต่อ ผลตอบแทนจะหายไปมากแค่ไหน?

 

กรณีแรก ถ้านำเงินปันผลไปลงทุนต่อทั้งหมด ยกตัวอย่าง เงินลงทุน 10,000 บาท ในตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ปี 2518-2560 เวลาที่เรานำเงินปันผลกลับไปลงทุนต่อเรื่อยๆ ก็จะทำให้เงินลงทุน 10,000 บาท สามารถเติบโตขึ้น 124 เท่า กลายเป็นเงิน 1,243,314 บาท หรือคิดเป็นผลตอบแทนทบต้นที่ 11.87% ต่อปี

 

กรณีที่สอง ถ้านำเงินปันผลออกไปใช้ทั้งหมด โดยทุกปีเรานำเงินปันผลที่ได้ออกไปใช้จ่าย และปล่อยให้เงินต้นเติบโตไปเรื่อยๆ ตามราคาหุ้น เงินลงทุน 10,000 บาทนี้ก็จะโตขึ้นเพียงแค่ 17 เท่า เป็นเงิน 175,371 บาทเท่านั้น หรือคิดเป็นผลตอบแทนทบต้นที่ 6.89% ต่อปี

 

ถ้าประเมินตัวเลขความมั่งคั่งของเราจะหายไปมากถึง 85% ครับ เทียบจากกรณีแรกเงินที่ควรจะเติบโต 1,243,314 บาท ก็จะเหลือเพียงแค่ 175,371 บาท ในกรณีที่สอง เท่ากับว่าความมั่งคั่งหายไปถึง 1,067,943 บาท นี่เป็นผลกระทบระยะยาวที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง เพียงแค่นำเงินปันผลไม่กี่เปอร์เซ็นต์ออกมาใช้ในแต่ละปี จะสร้างความแตกต่างได้มากถึงขนาดนี้ในระยะยาว

 

มาดูกรณีที่สาม ถ้านำเงินปันผลออกไปใช้ 50% ยกตัวอย่างเหมือนเดิมคือ เงินลงทุน 10,000 บาท ในตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ปี 2518-2560 แต่ทุกปีเรานำเงินปันผลมาใช้เพียงแค่ครึ่งเดียว ส่วนเงินปันผลที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งนำไปลงทุนต่อ จะพบว่าหลังผ่านไป 43 ปี เงิน 10,000 บาทจะเติบโตขึ้น 47 เท่า เป็นเงิน 473,541 บาท หรือคิดเป็นผลตอบแทนทบต้นที่ 9.39% ต่อปี

 

ซึ่งเมื่อเทียบกรณีที่สามกับกรณีที่สองที่ไม่นำเงินปันผลไปลงทุนเลย พบว่าการนำปันผลครึ่งหนึ่งกลับไปลงทุนต่อ ก็ยังทำให้เงินของเราโตขึ้นกว่าเดิมประมาณ 2.7 เท่าครับ จาก 175,371 บาท ก็ยังเพิ่มขึ้นมาเป็น 473,541 บาท แต่ถ้าเทียบกับกรณีแรกที่นำเงินปันผลกลับไปลงทุนต่อทั้งหมดแล้ว ความมั่งคั่งของเราก็ยังหายไปกว่า 62% ครับ

 

หรือถ้าจะเปรียบเทียบให้ยุติธรรมมากขึ้นคือ รวมเงินปันผลที่จ่ายออกไปเข้ามาด้วย เพราะถือว่าเป็นผลตอบแทนที่ได้รับออกมาเหมือนกัน (เพียงแต่มีการนำไปใช้จ่ายเรียบร้อยแล้ว และไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเราได้)

 

จะเห็นได้ว่า แม้ว่าจะรวมเงินปันผลที่ได้รับระหว่างทางไปด้วยแล้วก็ตาม การไม่นำเงินปันผลไปลงทุนต่อ ก็ทำให้ความมั่งคั่งของเราหายไปอย่างมากในระยะยาวครับ

 

ในมุมมองส่วนตัวของผมก็คือ ‘ความสุขจากการใช้เงินในระยะสั้นของเรา อาจนำมาซึ่งความเจ็บปวดทางการเงินในระยะยาว’

 

คุณลองถามใจตัวเองดูว่า เราอยากมีความสุขในวันนี้กับการนำเงินปันผลไปใช้ระหว่างทาง 103,940 บาท โดยยอมแลกกับเงินที่เราจะได้ใช้ในอนาคตถึง 1,067,943 บาท ซึ่งเป็นเงินที่มากกว่าถึง 10 เท่า และเงินจำนวนนี้จะเป็นของเรา ขอเพียงแค่เราอดใจและนำเงินปันผลในแต่ละปีกลับไปลงทุนได้เรื่อยๆ ครับ

 

หรือคุณอยากจะลองเปรียบเทียบระหว่าง การนำเงินปันผลไปใช้แค่ครึ่งเดียว กับการนำเงินปันผลทั้งหมดไปใช้จ่าย ซึ่งก็พบว่าในระยะยาวแล้วการนำเงินปันผลไปใช้แค่ครึ่งเดียวนั้น จะทำให้ทั้งเงินลงทุนเราเติบโตมากกว่า และเงินปันผลรวมก็มากกว่าด้วย นั่นก็เพราะว่ายิ่งเงินลงทุนเราเติบโตมากเท่าไร เราก็ยิ่งได้เงินปันผลมากขึ้นด้วย

 

ผมคิดว่าน่าจะสะท้อนให้คุณเห็นว่า การปล่อยให้เงินลงทุนของเราเติบโตก่อนในช่วงแรกเป็นสิ่งสำคัญมากครับ ผมเชื่อว่าคุณน่าจะได้คำตอบแล้วว่า ‘เราควรนำเงินปันผลในแต่ละปีไปใช้ หรือ นำกลับไปลงทุนต่อดี’

 

ผมขอย้ำอีกครั้งว่า ผมยกตัวอย่างเงินลงทุนเริ่มต้นแค่ 10,000 บาทเท่านั้น จึงทำให้คุณเห็นความแตกต่างอยู่แค่หลักแสน หลักล้าน แต่ถ้าหากเราลงทุนเริ่มต้นที่ 1,000,000 บาท ความแตกต่างตรงนี้จะคิดเป็นเงินมากกว่า 100 ล้านบาทเลยนะครับ!

 

ถ้าเราต้องการสร้างความมั่งคั่งสูงสุดระยะยาวจากตลาดหุ้นนั้น การนำเงินปันผลทั้งหมดกลับไปลงทุนต่อ จะเป็นสิ่งที่สร้างความแตกต่างให้กับความมั่งคั่งของเราได้อย่างมหาศาลในระยะยาวครับ

 

ภาพจิ๊กซอว์ที่ผมต่อออกมานี้ จะเป็นคำตอบที่ว่าปันผลสำคัญอย่างไร ทำไมต้องลงทุนต่อ เพราะปกติแล้วเวลาเราลงทุนในทรัพย์สินอะไรสักอย่างหนึ่ง ก็ต้องคาดหวังว่าจะได้ดอกผลของการลงทุนกลับมาเรื่อยๆ ทุกปีใช่ไหมครับ 

 

ซึ่งผมก็เอาหลักการ ‘ให้เงินทำงาน’ นี้มาใช้ในการบริหารกองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth โดยมีนโยบายในการนำเงินปันผลทั้งหมดกลับไปลงทุนต่อให้โดยอัตโนมัติ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสร้างความมั่งคั่งสูงสุดให้กับนักลงทุนในระยะยาวนั่นเองครับ

 

ดังนั้นทุกครั้งก่อนที่เราจะลงทุน ให้แยกเงินที่จะใช้ลงทุนต่างหากออกมาจากเงินที่จะใช้จ่ายในชีวิตประจำวันให้เรียบร้อยก่อน แล้วเมื่อเริ่มลงทุนไปแล้ว ก็ปล่อยให้เงินลงทุนนี้เติบโตไปเรื่อยๆ ได้ปันผลมาเท่าไรก็ขอให้นำไปลงทุนต่อเรื่อยๆ เพื่อสร้างความมั่งคั่งแบบทบต้นให้กับเราในระยะยาวครับ

 

ยิ่งถ้าหากเรารวมพลังของการนำเงินปันผลกลับไปลงทุนต่อ กับการเพิ่มเงินลงทุนเข้าไปเรื่อยๆ อีกทุกปี ก็จะยิ่งทวีคูณความมั่งคั่งของเราให้เติบโตได้อย่างน่าอัศจรรย์ คุณก็จะมีความสุขมากขึ้นตามไปด้วยครับ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 


 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising