×

ประสบการณ์การเยี่ยมชม Open-Sky Laboratory และฟาร์มดอกคามิลเลีย 430 ไร่ ของ CHANEL Beauty ที่ประเทศฝรั่งเศส

30.03.2023
  • LOADING...
Open-Sky Laboratory CHANEL Beauty

HIGHLIGHTS

5 MIN READ
  • การเดินไปยังฟาร์มคามิลเลียและ Open-Sky Laboratory ที่ประเทศฝรั่งเศสถือว่าไม่ธรรมดา เพราะหลังจากเราบินจากกรุงเทพฯ ไปยังปารีสเกือบ 12 ชั่วโมง เราต้องนั่งรถไฟจากสถานี Gare du Nord นาน 4 ชั่วโมงไปที่ Biarritz และจากเมือง Biarritz ต้องนั่งรถอีกประมาณ 90 นาทีเพื่อไปยังเมือง Gaujacq 
  • เราเริ่มการทัวร์ด้วยการได้ Jean Thoby ผู้เชี่ยวชาญด้านดอกคามิลเลียพาเที่ยวชมในโซนสวนอนุรักษ์พันธุ์พืช (Botanical Conservatory Garden) ของเขาที่มีดอกคามิลเลีย 2,000 ชนิด อาทิ Camellia japonica ‘Alba Plena’ ที่เป็นส่วนผสมสำคัญในไลน์สกินแคร์ CHANEL Hydra Beauty โดยทุกปีจะมีการเก็บดอกสายพันธุ์นี้กับมือสูงถึง 900 กิโลกรัม
  • ฟาร์มคามิลเลียของ CHANEL Beauty มีขนาด 250 ไร่ ซึ่งภาครัฐของฝรั่งเศสรับรองด้วย High Environmental Value ขั้นสูงสุดที่ระดับ 3 โดย Gaujacq มีอากาศร้อนแบบสุดขีดเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 7 วัน ซึ่งต่างจากเมืองแบบปารีสที่มีสูงถึง 30 วันต่อปี ซึ่ง CHANEL Beauty แพลนล่วงหน้ายาวไปถึงปี 2060 แล้วว่าต้องจัดการบริหารระบบนิเวศอย่างไรบ้าง และปลูกต้นคามิลเลียไปอีกเท่าไร 
  • ทีม CHANEL Beauty ศึกษาเรื่องสรรพคุณของดอกคามิลเลียสีแดงชื่อ The Czar นานถึง 17 ปี ณ ห้องแล็บ Phyto-Analysis ของ Open-Sky Laboratory ซึ่งค้นพบว่ามีสรรพคุณมากมายที่ช่วยเรื่องความชราของผิว ซึ่งสกินแคร์ไลน์ N°1 DE CHANEL มีส่วนผสมของดอกคามิลเลียสีแดง The Czar สูงถึง 76% และจากการศึกษาก็เผยว่าช่วยลดริ้วรอยได้ 24% และเพิ่มความยืดหยุ่นของผิว 17%

 

ตลอด 3 ปีครึ่งกับ 6 ทริปที่ผมเดินทางไปรอบโลกกับ CHANEL เพื่อศึกษาเรื่องราวต่างๆ ของแบรนด์ ไม่ว่าจะคอลเล็กชันกูตูร์ Spring 2019 ที่ฮ่องกง, นิทรรศการ Mademoiselle Prive ที่เซี่ยงไฮ้ หรือคอลเล็กชัน Metiers d’art 2020 ที่ปารีส สิ่งหนึ่งที่ผมต้องยกย่องเสมอคือ CHANEL เป็นแบรนด์ที่ไม่ฉาบฉวยและปรุงแต่งกับสิ่งที่ตัวเองอยากเล่าเกี่ยวกับแรงบันดาลใจในแต่ละผลงาน ทุกอย่างต้องมีเหตุและผล และความ Authenthic ที่ย้อนกลับไปสู่รากฐานของแบรนด์ตั้งแต่นับหนึ่งกับการก่อตั้งของ Gabrielle Chanel เมื่อปี 1913 อย่างแท้จริง

 

โดยสัญลักษณ์หนึ่งที่ผมเห็นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในทุกงานของ CHANEL ก็คือดอกคามิลเลียสีขาวที่อยู่บนเสื้อยืด ชุดเดรส สเวตเตอร์ กระเป๋า รองเท้า หรือแม้แต่บนถุงช้อปปิ้งสีดำหากคุณซื้อของที่ร้าน CHANEL ซึ่งหากใครยังไม่รู้ ทุกดอกคามิลเลียที่คุณเห็นบนถุงเป็นการรังสรรค์ด้วยมือจากอาร์ติซานมือฉมังของ Maison Lemarié ที่ปารีสทั้งหมด

 

แต่ความหลงใหลของ CHANEL กับดอกคามิลเลียไม่ได้จบเพียงเท่านี้ เพราะตั้งแต่ปี 1998 แบรนด์ยกระดับไปอีกขั้นด้วยการเปิดฟาร์มและ Open-Sky Laboratory ที่ประเทศฝรั่งเศส เพื่อปลูก วิจัย และใช้ดอกคามิลเลียในผลิตภัณฑ์สกินแคร์ของ CHANEL Beauty โดยเฉพาะ ซึ่งล่าสุด THE STANDARD POP เป็นสื่อกลุ่มแรกจากประเทศไทยที่ได้ไปเยี่ยมชม พร้อมกับ Friend of the House ของ CHANEL ประเทศไทยอย่าง หมาก-ปริญ สุภารัตน์ 

 

เปรียบเทียบปี 1915 และปัจจุบันของร้านกูตูร์แรกที่ Gabrielle Chanel เปิดที่ Biarritz

 

The First Journey to Biarritz 

 

การเดินทางไปยังฟาร์มคามิลเลียและ Open-Sky Laboratory ที่ประเทศฝรั่งเศสถือว่าไม่ธรรมดา เพราะหลังจากเราบินจากกรุงเทพฯ ไปยังปารีสเกือบ 12 ชั่วโมง เราต้องนั่งรถไฟจากสถานี Gare du Nord นาน 4 ชั่วโมงไปที่ Biarritz เมืองติดชายทะเลทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งต้องยอมรับว่าตอนแรกแอบงงว่าทำไมไม่ให้บินตรงจากปารีสไป Biarritz เลยเพื่อประหยัดเวลา แต่ทีม CHANEL Beauty บอกว่าแบรนด์ใส่ใจเรื่องความยั่งยืนมากยิ่งขึ้นในหลายมิติของบริษัท ซึ่งการที่ให้สื่อเดินทางด้วยรถไฟก็เป็นการลด Carbon Footprint ได้

 

มาถึงเมือง Biarritz ผมต้องบอกว่างดงามเหลือเกิน ซึ่งถึงแม้หลายคนอาจคุ้นชินกับเมืองติดชายทะเลของฝรั่งเศสอย่าง Cannes แต่ผมแนะนำให้มาที่นี่สักครั้งหนึ่ง โดย Biarritz มีความสำคัญต่อแบรนด์ CHANEL อย่างมาก เพราะเป็นเมืองที่ Gabrielle Chanel เปิดร้านเสื้อผ้ากูตูร์ร้านแรกของตัวเอง ที่เธอจ้างช่างฝีมือกว่า 300 คนในปี 1915 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เธอกำลังปลูกต้นรักกับ Arthur Boy Capel โดยพวกเขาสองคนจะใช้เวลาอยู่ที่โรงแรมระดับตำนานอย่าง Hôtel du Palais Biarritz อยู่เป็นประจำ ซึ่งก็เป็นที่ที่เราได้พักในครั้งนี้ด้วย

 

ผมบอกแล้ว กับแบรนด์ CHANEL ทุกอย่างต้องมีเหตุและผลที่เชื่อมโยงกันทั้งหมด

 

จากซ้าย: ทางเข้าโซนรับแขกของ Open-Sky Laboratory, ชั้นเปลี่ยนรองเท้าบู๊ตยาง และดอกคามิลเลียสีแดง

 

From Biarritz to Gaujacq

 

จากเมือง Biarritz เราต้องนั่งรถอีกประมาณ 90 นาทีเพื่อไปยังเมือง Gaujacq ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของฟาร์มดอกคามิลเลียและ Open-Sky Laboratory ของ CHANEL Beauty ซึ่งริเริ่มเมื่อปี 1998 บนพื้นที่ทั้งหมด 430 ไร่ กับต้นคามิลเลียอีก 40,000 ต้น โดย Gaujacq ถือว่าเป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการปลูกดอกคามิลเลียมากที่สุด เพราะด้วยสภาพอากาศที่มีฝนอยู่ทุกฤดู ซึ่งคามิลเลียต้องการน้ำอยู่ตลอดเวลา

 

ส่วนถ้าใครอ่านมาถึงตรงนี้และเริ่มสงสัยว่า Open-Sky Laboratory คืออะไรกัน ต้องบอกว่า CHANEL Beauty เสาะแสวงหาวัตถุดิบธรรมชาติที่ดีที่สุดทั่วโลกเพื่อนำมาเป็นส่วนผสมสำคัญในผลิตภัณฑ์สกินแคร์และน้ำหอมต่างๆ ซึ่งที่ไหนมีวัตถุดิบสำคัญก็จะมีการต่อยอดด้วยการเปิดเหมือนห้องแล็บสุดเอ็กซ์คลูซีฟชื่อ Open-Sky Laboratory ที่จะร่วมงานกับชาวไร่ท้องถิ่นเพื่อปลูก วิจัย และสกัดคุณสมบัติต่างๆ อย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจาก Gaujacq ที่โฟกัสไปที่ดอกคามิลเลียแล้ว CHANEL Beauty เปิด Open-Sky Laboratory ณ เกาะมาดากัสการ์ เพื่อศึกษาเรื่องวานิลลา และยังเปิดที่ Nicoya Peninsula ของประเทศคอสตาริกา เพื่อศึกษาเรื่องกาแฟอาราบิก้า โดยมี Nicola Fuzzati ที่รับตำแหน่งเป็น Director of Innovation and Development for Cosmetics Ingredients ของ CHANEL Beauty เดินทางไปแต่ละที่เพื่อดูว่าแต่ละวัตถุดิบที่ศึกษาไปถึงขั้นไหนแล้ว ก่อนที่จะส่งไปยังศูนย์กลางของ CHANEL Beauty ที่ย่าน Pantin ชานเมืองของปารีส ที่จะนำส่วนผสมต่างๆ มาร่วมกันเพื่อพัฒนาสูตรของแต่ละผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้ว หรือกำลังเตรียมที่จะเปิดตัว

 

จากซ้าย: Jean Thoby, ช่วงฤดูเก็บเกี่ยวดอกคามิลเลีย และดอก Camellia japonica ‘Alba Plena’ 

 

Starting the Tour at Botanical Conservatory Garden

 

พอมาถึง Open-Sky Laboratory เราต้องเปลี่ยนรองเท้าเป็นบู๊ตยางที่มีการทำแบรนดิ้งสกรีนคำว่า CHANEL ซึ่ง Instagrammable สุดๆ ก่อนที่จะมีการกล่าว Welcoming Speech และเล่าประวัติความเป็นมาและภูมิศาสตร์ของเมือง Gaujacq

 

ต่อมาเราก็เริ่มการทัวร์ด้วยการได้ Jean Thoby ผู้เชี่ยวชาญด้านดอกคามิลเลียพาเที่ยวชมในโซนสวนอนุรักษ์พันธุ์พืช (Botanical Conservatory Garden) ของเขาที่มีดอกคามิลเลียหรือชื่อเต็มว่า Camellia japonica มากกว่า 2,000 ชนิด ซึ่งระหว่างนี้ถือว่ามีสภาพอากาศแปรปรวนตามคาด ทั้งฝนตก แดดออกในระยะเวลาไม่กี่นาที โดยเหตุผลที่ CHANEL มีการจัดทริปเพียงเดือนมีนาคมของแต่ละปี เพราะเป็นช่วงเวลาที่ดอกคามิลเลียเบ่งบานที่สุด

 

ระหว่างทัวร์ในช่วงนี้ผมก็ได้เรียนรู้ว่าที่จริงแล้วตามประวัติศาสตร์ ดอกคามิลเลียถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อศตวรรษที่ 17 ในแถบโซนประเทศจีนและญี่ปุ่น โดย Carl Linnaeus นักพฤกษศาสตร์และเจ้าพ่ออนุกรมวิธาน (Taxonomy) ระดับตำนานชาวสวีเดนเป็นคนตั้งชื่อตามนักพฤกษศาสตร์ Georg Joseph Kamel 

 

Gabrielle Chanel และคู่รัก Arthur Boy Capel 

 

โดยจุดเชื่อมโยงของดอกคามิลเลียกับ CHANEL เล่าไว้ว่า เมื่อตอน Gabrielle Chanel ยังเป็นวัยรุ่น เธอคลั่งไคล้การแสดงละครเวทีเรื่อง The Lady of the Camellias ที่ดัดแปลงจากนิยายของ Alexandre Dumas fils และต่อมาที่เธออินเลิฟกับ Arthur Boy Capel เขาจะมอบช่อดอกคามิลเลียให้เป็นประจำ โดยคุณสมบัติพิเศษของดอกนี้คือไม่มีกลิ่น ซึ่ง Gabrielle Chanel ก็ชอบเข้าไปอีก เพราะพอเธอนำดอกคามิลเลียมาติดบนสูททวีดหรือชุดเดรสของเธอ กลิ่นของมันจะไม่ตีกับน้ำหอมที่เธอใส่ ซึ่งใครที่เป็นสาวกน้ำหอม CHANEL จะรู้ดีว่าตั้งแต่กลิ่นแรกอย่าง CHANEL No.5 ก็จะมีกลิ่นที่คอมเพล็กซ์ซับซ้อนอย่างมาก

 

สำหรับสายพันธุ์ดอกคามิลเลียที่เราพบเจอในโซนนี้ถือว่ามีมากมาย เช่น Camellia japonica ‘Chandleri Elegans’, Camellia japonica ‘Carnea’, Camellia japonica ‘Souvenir d’Henri Guichard, Camellia japonica ‘Asago’ และที่เป็นไฮไลต์ก็คือ Camellia japonica ‘Alba Plena’ ที่เป็นส่วนผสมสำคัญในไลน์สกินแคร์ CHANEL Hydra Beauty โดยทุกปีจะมีการเก็บดอกสายพันธุ์นี้กับมือสูงถึง 900 กิโลกรัม

 

จากซ้าย: Philippe Grandry, ฟาร์มคามิลเลียและโซน Pavillion ที่ฉาย Digital Mapping

 

Welcome to the Farm & Laboratory

 

หลังจากที่จบการทัวร์สวนอนุรักษ์พันธุ์พืช เราต้องนั่งรถสั้นๆ 5 นาทีมาที่โซนของฟาร์มเพาะปลูกดอกคามิลเลียโดยเฉพาะของ CHANEL Beauty ที่มีขนาด 250 ไร่ ซึ่งทางภาครัฐของฝรั่งเศสรับรองด้วย High Environmental Value ขั้นสูงสุดที่ระดับ 3 โดยคนที่พาเราทัวร์โซนนี้คือ Philippe Grandry ที่รับตำแหน่ง Farm Operations Manager ตั้งแต่ปี 2018 

 

ด้วยปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) ที่แปรปรวนสุดๆ ในตอนนี้ ผมสงสัยว่าฟาร์มคามิลเลียของ CHANEL Beauty จะโดนผลกระทบหรือไม่ ซึ่ง Philippe Grandry เผยว่าโชคดีที่เมือง Gaujacq จะมีอากาศร้อนแบบสุดขีดเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 7 วัน ซึ่งต่างจากเมืองแบบปารีสที่มีสูงถึง 30 วันต่อปี แถม CHANEL Beauty แพลนล่วงหน้ายาวไปถึงปี 2060 แล้วว่าต้องจัดการบริหารระบบนิเวศอย่างไรบ้าง และปลูกต้นคามิลเลียไปอีกเท่าไร โดยทั้งหมดนี้มีให้ชมกันในรูปแบบ Digital Mapping ในโซนของห้อง Pavillion 

 

โซน Pavillion

 

พอเดินรอบๆ ฟาร์มคามิลเลีย สายพันธุ์ที่เตะตาและโดดเด่นที่สุดก็คือ The Czar สีแดง ซึ่งเป็นส่วนผสมหลักในไลน์สกินแคร์ล่าสุด N°1 DE CHANEL และมีความพิเศษหากเทียบกับสายพันธุ์อื่นตรงที่ตัวดอกจะบานได้ดีที่สุดในช่วงฤดูหนาวกับอุณหภูมิที่ติดลบ

 

โดยทีม CHANEL Beauty ศึกษาเรื่องสรรพคุณของ The Czar นานถึง 17 ปี ณ ห้องแล็บ Phyto-Analysis ก่อนที่จะผลิต N°1 DE CHANEL ซึ่งเราได้ไปเยี่ยมชม Open-Sky Laboratory ด้วย โดยได้ Nicola Fuzzati ที่กล่าวถึงเบื้องต้นในบทความมาเป็นคนบรรยายให้ฟัง

 

การศึกษาดอกคามิลเลีย The Czar ที่ห้องแล็บ Phyto-Analysis แห่งนี้ ค้นพบว่ามีสรรพคุณมากมายที่ช่วยเรื่องความชราของผิว ซึ่งกับสกินแคร์ไลน์ N°1 DE CHANEL มีส่วนผสมของดอกคามิลเลียสีแดง The Czar สูงถึง 76% และจากการศึกษาก็เผยว่าช่วยลดริ้วรอยได้ 24% และเพิ่มความยืดหยุ่นของผิว 17%

 

นอกจากนี้ อีกหนึ่งความน่าสนใจก็คือ ในห้องแล็บ Phyto-Analysis ทาง Nicola Fuzzati และทีมของเขาพบว่าเปลือกเมล็ดของดอกคามิลเลีย The Czar สามารถนำมาแปรรูปเพื่อเป็นส่วนประกอบในการทำฝาปิดภาชนะสินค้าในไลน์ N°1 DE CHANEL ได้ด้วย ซึ่งถือว่ามีความ Eco-Friendly และทำให้เห็นว่า CHANEL Beauty คิดและศึกษาทุกมิติของดอกคามิลเลียอย่างถี่ถ้วนจริงๆ

 

จากซ้าย: Nicola Fuzzati และห้องแล็บ Phyto-Analysis

 

Lasting Impressions

 

พอเสร็จการทัวร์ฟาร์มคามิลเลียและ Open-Sky Laboratory ที่ Gaujacq ผมก็กลับมาทบทวนประสบการณ์ในครั้งนี้ ซึ่งถือว่า Overload ในระดับหนึ่ง เพราะต้องซึมซับอะไรเยอะมากๆ โดยเฉพาะกับผมเองที่มาสายนักเขียนแฟชั่นเป็นหลัก

 

แต่สิ่งที่ผมพูดได้เลยก็คือ CHANEL Beauty มีความ ‘จริงจัง’ กับทุกอย่างที่ทำ และถึงขั้นเป็นเนิร์ดก็ว่าได้ ซึ่งเปลือกนอกสิ่งที่เราเห็นบนภาพแคมเปญโฆษณาหรือหน้าเคาน์เตอร์ที่ห้างอาจดูสวยงามแล้ว แต่ข้างในเปี่ยมไปด้วยคุณค่าและคุณภาพที่อาจมากกว่าด้วยซ้ำ โดยหลายครั้งพอพูดถึงชื่อแบรนด์ หลายคนจะหยิบยกปัจจัยเรื่องราคามาพูด ซึ่งกับสกินแคร์ N°1 DE CHANEL แม้จะมีราคาหลักพัน แต่พอผมได้เห็นการปลูกคามิลเลีย การทำวิจัย และการที่ CHANEL Beauty ต้องทำงานกับหลายภาคส่วนแบบ 360 องศาแค่กับเพียงหนึ่งวัตุดิบ ส่วนนี้ทำให้ผมชื่นชมและเห็นความคุ้มค่าในการลงทุนซื้อ

 

อีกอย่างที่ผมชอบคือผมรู้สึกว่าแม้หลายอย่างในชีวิตของคนเรามักจะถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีไปหมด และกับวงการบิวตี้ผมเห็นหลายสินค้าที่ถูกผลิตจากการสังเคราะห์และใช้เคมี แต่กับ CHANEL Beauty กลับใส่ใจเรื่องความเป็นธรรมชาติมากขึ้นเรื่อยๆ และไม่อยากให้ขาดหายไปจากสินค้าของตัวเอง

 

ปิดท้ายสิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากทริปนี้คือ CHANEL Beauty ทำให้เห็นว่าพอเราชื่นชอบอะไรในชีวิต บางครั้งถ้าเราคลั่งมันสุดๆ และลงลึกไปศึกษาถึงแก่นแท้รากเหง้าของมัน เราอาจเจออะไรอีกมากมายที่ไม่เคยรู้มาก่อน อย่างเช่นกับดอกคามิลเลีย โดยผมเชื่อว่าย้อนกลับไปกว่า 100 ปีก่อน Gabrielle Chanelคงไม่คิดว่าดอกไม้ที่เธอรักมากที่สุด ที่จริงแล้วหากนำไปสกัดจะพบเจอสรรพคุณที่ช่วยเรื่องผิวพรรณได้ด้วย ซึ่งสิ่งที่ผมเฝ้ารอที่จะเห็นต่อไปคือ CHANEL Beauty จะศึกษาดอกคามิลเลียได้ถึงขั้นไหน และจะมีผลิตภัณฑ์อะไรออกมายกระดับวงการบิวตี้ได้อีก

 

 

 

ภาพ: Courtesy of Chanel, Getty Images, นฤเบศ วาดวารี, ภูมินทร์ วงษ์สิงห์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising