×

เสียเงินไม่ว่า เสียหน้าไม่ได้! เมื่อต้นทุนการจัดโอลิมปิกฤดูหนาว ‘ปักกิ่ง 2022’ อาจสูงกว่าที่จีนบอกไว้ถึง 10 เท่า ทะลุ 1.24 ล้านล้านบาท

17.02.2022
  • LOADING...
Olympic Games Beijing 2022

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ได้ประกาศต่อทุกคนถึงเป้าหมายของการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาว ‘ปักกิ่ง 2022’ คือ “เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปลอดภัย และเรียบง่าย”
  • การจัดการแข่งขัน ‘ปักกิ่ง 2008’ ใช้งบประมาณมหาศาลกว่า 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.4 ล้านล้านบาท แต่ครั้งนี้จีนบอกว่า พวกเขาใช้งบประมาณเพียงแค่ 3.9 พันล้านดอลลาร์ หรือ 1.4 แสนล้านบาทเท่านั้น
  • แต่จากการตรวจสอบพบว่า มีงบประมาณหลายรายการที่ไม่ถูกนำมารวมกับงบจัดการแข่งขันด้วย ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณที่ใช้กับการปรับปรุงสนามเดิม สร้างสนามใหม่ ระบบคมนาคมขนส่ง การจัดการสิ่งแวดล้อม หรือการจัดการเกี่ยวกับโควิด
  • นักวิเคราะห์มองว่า สุดท้ายสิ่งที่จีนพยายามทำมาทั้งหมดกับการเน้นย้ำให้เห็นภาพของเจ้าภาพที่จัดการแข่งขันอย่างเรียบง่ายและใช้งบประมาณน้อยนั้น มีเป้าหมายอยู่เพียงเรื่องเดียวคือ การบอกให้โลกรู้ว่า จีนคือชาติที่พัฒนาแล้ว ด้วยการบอกว่าเราเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเราก็มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

ขึ้นชื่อว่าการแข่งขันโอลิมปิก มีหรือที่ชาติเจ้าภาพจะไม่ยอมทุ่มทุนสร้างเพื่อเนรมิตทุกสิ่งทุกอย่างให้สมกับการเป็นมหกรรมกีฬาของมวลมนุษยชาติ เพราะนอกจากจะเป็นงานระดับโลกที่เป็นหน้าเป็นตาของประเทศแล้ว โอลิมปิกยังเคยถูกมองว่าเป็นโอกาสที่จะช่วยพัฒนาประเทศเจ้าภาพได้ด้วย

 

เพียงแต่ค่านิยมดังกล่าวเริ่มเปลี่ยนไป หลังเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกในหลายครั้งหลังประสบปัญหาเกี่ยวกับการลงทุน ทั้งด้านของสนามการแข่งขัน หมู่บ้านนักกีฬา ไปจนถึงสาธารณูปโภคต่างๆ ที่หลังจบการแข่งขันก็ไม่ได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างที่ควรจะเป็น เหมือนเช่น ริโอ 2016 ที่สนามที่สวยงามถูกทิ้งร้างอย่างน่าเศร้า

 

เหตุผลดังกล่าวทำให้การแข่งขันโอลิมปิกยุคสมัยใหม่ ไม่ว่าจะโอลิมปิกฤดูร้อนหรือฤดูหนาวจะตั้งอยู่บนคอนเซปต์ของ ‘ความยั่งยืน’ เป็นหลัก ซึ่งตัวอย่างที่ดีที่สุดคือ โอลิมปิกที่กรุงโตเกียวเมื่อปีกลาย ที่แม้จะน่าเศร้าเพราะไม่อาจเปิดให้ผู้ชมเข้าสนามแข่งขันได้ แต่เรื่องแนวคิดคอนเซปต์แล้วสอบผ่านฉลุย

 

นั่นทำให้การเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวของประเทศจีน ซึ่งกรุงปักกิ่งได้เป็นเมืองแรกของโลกที่เป็นเจ้าภาพของการแข่งขันโอลิมปิกทั้งฤดูร้อนและฤดูหนาว ทางด้านประธานาธิบดี สีจิ้นผิง จึงได้ประกาศต่อทุกคนถึงเป้าหมายของการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ของจีน

 

นี่คือโอลิมปิกที่จะ “เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปลอดภัย และเรียบง่าย”

 

Olympic Games Beijing 2022

สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ปรากฏตัวบนจอระหว่างพิธีเปิด ‘ปักกิ่ง 2022’ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2020 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน – ภาพ: Annice Lyn / Getty Images

 

ในขณะที่การจัดการแข่งขัน ‘ปักกิ่ง 2008’ ใช้งบประมาณมหาศาลกว่า 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.4 ล้านล้านบาท แต่ครั้งนี้จีนบอกว่า พวกเขาใช้งบประมาณเพียงแค่ 3.9 พันล้านดอลลาร์ หรือ 1.4 แสนล้านบาทเท่านั้น เป็นโอลิมปิกที่ใช้งบประมาณจัดการแข่งขันน้อยที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษเลยทีเดียว น้อยกว่าโอลิมปิกฤดูร้อน ‘แอตแลนตา 1996’ ที่ใช้งบ 4.2 พันล้านดอลลาร์เสียอีก

 

ว่าแต่ที่บอกน่ะเชื่อถือได้ใช่ไหม?

 

ความจริงแบบจีนที่น่าสงสัย

หากให้เปรียบเทียบตัวเลขงบประมาณ 3.9 พันล้านดอลลาร์ ที่เป็นข้อมูลอย่างเป็นทางการที่จีนเผยแพร่แล้ว อารมณ์น่าจะคล้ายในแอนิเมชันเรื่องดัง Mulan ที่ฮัวมู่หลาน วีรสตรียืนอยู่หน้ากระจกเงา และเห็นภาพของตัวเองแบ่งออกเป็น 2 ซีก (เสียงเพลง Reflection คลอขึ้นมา)

 

ด้านหนึ่งคือตัวตนที่แท้จริง ขณะที่อีกด้านคือสิ่งที่อยากให้โลกเห็น

 

ตัวเลขงบประมาณ 3.9 พันล้านดอลลาร์ ที่จีน ‘เคลม’ นั้นถูกมองว่าเป็นตัวเลขที่ถูกตกแต่งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงให้ชาวโลกได้เห็นถึงความแข็งแกร่งของประเทศที่มีความสามารถจัดการแข่งขันระดับมหกรรมกีฬาระดับโอลิมปิกโดยใช้งบประมาณเพียงเสี้ยวหนึ่งของที่ญี่ปุ่น (โตเกียว 2020) หรือรัสเซีย (โซชิ 2014) ยอมจ่าย

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

อย่างไรก็ดี เพราะนี่คือ ‘แดนมังกร’ ประเทศที่มีระบบการเซ็นเซอร์ที่เข้มงวดที่สุดชาติหนึ่งของโลก ดังนั้นสิ่งใดก็ตามที่โลกได้รับการบอกกล่าวก็ไม่ได้หมายความว่าจะเชื่อตามนั้นได้ทั้งหมด

 

“เพราะมันเป็นข้อมูลที่ออกมาจากจีน มันจึงเป็นเรื่องยากที่จะตรวจสอบรายละเอียดหรือเช็กความถูกต้องของข้อมูล” แอนดรูว์ ซิมบาลิสต์ นักเศรษฐศาสตร์การกีฬา เปิดเผยถึง Insider สำนักข่าวออนไลน์ชื่อดังระดับโลก “ผมคงไม่จำเป็นต้องบอกคุณว่าที่นี่มีการควบคุมและมีการรวมศูนย์กันมากแค่ไหน ดังนั้นจนถึงวันนี้ผมเองก็ยังไม่สามารถประเมินงบประมาณที่ใช้จริงๆ ได้”

 

ซิมบาสลิสต์ยังบอกต่อว่า ในสิ่งที่จีนบอก พวกเขาบอกไม่ครบ ไม่มีการพูดถึงงบประมาณที่ลงทุนปรับปรุงพัฒนาระบบคมนาคม ไม่มีการพูดถึงการลงทุนเกี่ยวกับระบบสาธารณูปโภคของเกมกีฬา ไม่มีการเอ่ยถึงมูลค่าในการก่อสร้างหมู่บ้านนักกีฬา (Olympic Village)

 

ดังนั้นตัวเลขอะไรก็ตามที่ออกมาจากทางการจีนจึงถือว่า ‘น่ากังขา’ ไว้ก่อน

 

ต้นทุนที่จีนไม่อยากบอกและเหตุผลที่ซ่อนอยู่

ในการสืบค้นของ Insider ยังพบว่า มีงบประมาณหลายรายการที่ไม่ถูกนำมารวมกับงบจัดการแข่งขันด้วย

 

ยกตัวอย่างเช่น การสร้างสนามสเกตความเร็ว หรือ National Speed Skating Oval หรือที่เรียกกันว่าสนาม ‘Ice Ribbon’ ซึ่งเพิ่งก่อสร้างเสร็จเมื่อปี 2020 และใช้สำหรับการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวที่กำลังแข่งขันอยู่ตอนนี้

 

หรือการปรับปรุงสนามแข่งขันหลายแห่งที่สร้างมารองรับการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนเมื่อปี 2008 ซึ่งรวมถึงสนามพระเอกอย่างสนามกีฬาแห่งชาติปักกิ่ง หรือ ‘สนามรังนก’ (Bird’s Nest) กับศูนย์กีฬาทางน้ำแห่งชาติ หรือที่เรียกว่า Water Cube

 

Olympic Games Beijing 2022

ดอกไม้ไฟในรูปวงแหวนโอลิมปิกส่องสว่างบนท้องฟ้าเหนือสนามกีฬาแห่งชาติ หรือ ‘สนามรังนก’ (Bird’s Nest) ระหว่างพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ปักกิ่ง 2022 – ภาพ: VCG / VCG via Getty Images

 

พวกนี้ไม่ได้ลงในบัญชีรายจ่าย และไม่มีใครรู้ด้วยว่าใช้งบประมาณเท่าไร

 

ขณะที่ยังมีอีกหลายรายการที่ถูกโยกออกจากส่วนของงบประมาณ ‘ปักกิ่ง 2022’ ไปอยู่ในงบประมาณส่วนอื่นของการพัฒนาประเทศแทน นั่นหมายถึงการที่คณะกรรมการโอลิมปิกสากลจะแยกส่วนนี้ออกจากรายจ่ายของการจัดการแข่งขัน

 

แหล่งข่าวของ IOC แง้มความลับเรื่องนี้ว่า “งบประมาณนั้นขึ้นอยู่กับว่าเป้าหมายระยะยาวของชาติเจ้าภาพที่ตั้งใจไว้สำหรับการจัดการแข่งขันเป็นอย่างไร เช่น สนามกีฬานั้นไม่ได้ถูกสร้างเพื่อใช้จัดการแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิกแค่ 4 สัปดาห์

 

“สนามเหล่านี้ถูกสร้างมาเพื่อใช้สำหรับชุมชนและสามารถใช้หารายได้ได้ ซึ่งจะมีผลประโยชน์ต่อเจ้าภาพในระยะยาว”

 

งบประมาณจำนวนมากได้ถูกใช้ไปกับการพัฒนาเมือง 2 แห่ง คือ เมืองเหยียนชิ่งและจางเจียโข่ว ที่อยู่ใกล้กับกรุงปักกิ่ง โดยจีนได้เนรมิตสนามแข่งสกีอัลไพน์ที่สวยงาม รวมถึงหมู่บ้านนักกีฬาอีกแห่งที่รองรับนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ได้ 1,400 คน ขณะที่หมู่บ้านนักกีฬาแห่งที่สองในกรุงปักกิ่งจะรองรับได้ 2,300 คน

 

เมืองอีกแห่งที่มีประชากร 1.5 ล้านคนที่ได้รับการเปรียบว่าเป็น ‘ประตูสู่ปักกิ่ง’ มีโครงการก่อสร้างหมู่บ้านนักกีฬาโอลิมปิกแห่งที่ 3 ที่จะรองรับนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ได้ 2,640 คนรวม ไม่นับสนามแข่งขันอย่าง Genting Snow Park, The National Biathlon Center, The National Ski Jumping Center และ The National Cross-Country Center

 

การกระจายสนามกีฬาและหมู่บ้านนักกีฬาไปรอบนอกปักกิ่งเช่นนี้หมายถึงการที่จีนจะต้องลงทุนสร้างระบบคมนาคมเพื่อรองรับนักกีฬา เจ้าหน้าที่ และแฟนๆ แม้จะไม่ได้มีจำนวนมากเนื่องจากสถานการณ์โควิดก็ตาม

 

ตามรายงานข่าวแล้วจีนลงทุนสร้างรถไฟหัวกระสุนที่จะช่วยร่นระยะเวลาการเดินทางจากเมืองจางเจียโข่วมายังกรุงปักกิ่ง จากเดิมที่ใช้เวลา 3 ชั่วโมง ให้เหลือเพียงแค่ 50 นาที ซึ่งเอาแค่งบส่วนนี้ก็ใช้ถึง 9.2 พันล้านดอลลาร์ หรือ 2.9 แสนล้านบาทแล้ว สูงกว่างบประมาณจัดการแข่งขันที่เปิดเผยเกือบ 3 เท่า

 

Olympic Games Beijing 2022

รถไฟหัวกระสุน Fuxing ที่ตกแต่งด้วยธีมโอลิมปิกฤดูหนาว โดยไม่เพียงแต่รองรับฟังก์ชันการปรับแสงอัจฉริยะและการเปิดประตูอัตโนมัติเท่านั้น แต่ยังติดตั้งสตูดิโอสตรีมมิงแบบสด 5G แห่งแรกของโลกอีกด้วย – ภาพ: Shi Jiamin / VCG via Getty Images

 

เมื่อปี 2015 รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของจีนเคยกล่าวว่า ทางการจีนหวังว่าจะแบ่งเบางบประมาณรายจ่ายที่ใช้สำหรับการสร้างหมู่บ้านนักกีฬาใน 2 เมืองนี้ เพื่อให้กลายเป็นที่อยู่อาศัยเชิงพาณิชย์ในอนาคต และจะใช้สนามแข่งขันที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งนี้เพื่อเป็น ‘สิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน’

 

ผลพลอยได้ที่คาดหวังไว้คือ การสร้างความนิยมของกีฬาฤดูหนาวภายในภูมิภาคนี้ด้วย เพื่อก้าวสู่ความเป็นเลิศในอนาคต

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

 

ราคาที่ต้องจ่ายด้านด้านอื่นๆ

นักเศรษฐศาสตร์การกีฬา แอนดรูว์ ซิมบาลิสต์ ยังชี้ให้เห็นถึงต้นทุนอื่นๆ ที่จีนต้องจ่าย อย่างเช่น เรื่องของการลงทุนเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เลวร้ายของปักกิ่ง และต้นทุนทางสังคมที่เชื่อมโยงกับการจัดการแข่งขัน งบประมาณส่วนนี้ย่อมไม่ถูกรวมอยู่ในงบประมาณจัดการแข่งขันอย่างเป็นทางการ

 

“ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ไม่ว่าจะเป็นปักกิ่งหรือเมืองที่อยู่ทางตอนเหนือขึ้นไป ซึ่งจะติดกับทะเลทรายโกบี เป็นพื้นที่ที่แห้งแล้งมาก นั่นหมายถึงการที่จีนจะต้องนำน้ำจำนวนมากจากทางตอนใต้ของประเทศขึ้นมาในภูมิภาคนี้เพื่อใช้สำหรับภาคกสิกรรม เพื่อพื้นที่ที่ผลิตอาหารหล่อเลี้ยงประเทศจีน” ซิมบาลิสต์อธิบายต่อ

 

“พวกเขายังต้องแบ่งน้ำที่เตรียมไว้สำหรับใช้ในภาคกสิกรรมเอามาสร้างหิมะเทียม งบประมาณที่ใช้ด้านสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ไม่ได้ถูกนำมาคิดรวมด้วย” แน่นอนว่าเรื่องของต้นทุนทางสังคมในการบริหารจัดการคนก็ไม่ได้นำมารวมด้วย

 

Olympic Games Beijing 2022

คนงานยืนอยู่ข้างเครื่องผลิตหิมะ ซึ่งทำหิมะเทียมนอกหมู่บ้านนักกีฬาแห่งหนึ่งสำหรับโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2022 – ภาพ: Kevin Frayer / Getty Images 

 

ต้นทุนซ่อนเร้นที่คาดว่าจะใช้งบประมาณมหาศาลไม่แพ้เรื่องอื่นคือ มาตรการเกี่ยวกับโควิด, การสร้าง Bubble เพื่อใช้จัดการแข่งขัน, ค่าตรวจหาเชื้อ, ค่าทำความสะอาด หรือแม้แต่การสร้างหุ่นยนต์เพื่อมาช่วยปฏิบัติหน้าที่แทนคน และส่วนของคนที่จะต้องถูกจ้างเพื่อมาดำเนินงาน ส่วนนี้ก็ไม่มีการเปิดเผยเช่นกัน

 

ด้าน Insider มีการคำนวณตัวเลขว่างบประมาณที่แท้จริงที่ทางการจีนใช้คาดว่าจะสูงถึง 3.85 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 1.24 ล้านล้านบาท) หรือมากกว่าที่มีการเปิดเผยเกือบ 10 เท่าด้วยกัน และมากกว่างบประมาณเบื้องต้นที่คาดไว้ที่ 1.6 พันล้านดอลลาร์ถึง 24 เท่า

 

ความปรารถนาที่แท้จริงของจีน

อย่างไรก็ดี ด้านตัวแทนจาก IOC ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า งบประมาณส่วนของการจัดการแข่งขันกับงบประมาณที่จะใช้เพื่อการพัฒนาประเทศของเจ้าภาพนั้นมีการแยกกัน ส่วนของการจัดการแข่งขันไม่ว่าจะเป็น งบจัดการแข่งขัน, งบจัดการสนาม, งบบุคลากร, เทคโนโลยี, ระบบคมนาคมนั้น จะเป็นงบที่มาจากการสนับสนุนจากรายได้จากสปอนเซอร์, การจำหน่ายตั๋วเข้าชม, การจำหน่ายสินค้า (Merchandise) และที่พัก

 

IOC ยังสนับสนุนทางการเงินให้อีกด้วย โดยการจัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งนี้แทบจะใช้งบประมาณสมดุลหลังได้รับการสนับสนุนทางการเงินจาก IOC จำนวน 880 ล้านดอลลาร์ หรือ 2.6 หมื่นล้านบาท

 

ด้านตัวแทนฝ่ายจัดการแข่งขันยืนยันว่า งบประมาณสำหรับการเตรียมการทั้งหมดใกล้เคียงกับงบที่มีการรายงานออกไป ‘โดยประมาณ’ เพียงแต่ด้วยสถานการณ์โควิดทำให้ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มสูงขึ้น แต่จีนยืนยันว่าพวกเขาต้องการทำตามความปรารถนาที่จะจัดการแข่งขันที่ ‘เรียบง่าย ปลอดภัย และตื่นเต้น’ และทำให้มีการตัดลดงบประมาณส่วนที่ไม่จำเป็นออกไป

 

กระนั้นเมื่อนำสิ่งที่ฝั่งรัฐบาลจีนได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนก่อนหน้านี้ว่า พวกเขาใช้งบประมาณจำนวน 1.5 พันล้านดอลลาร์สำหรับการจัดการสนาม, ระบบสาธารณสุข และการคมนาคมของนักกีฬากับสตาฟฟ์ และอีก 1.5 พันล้านดอลลาร์สำหรับการก่อสร้างและตกแต่งสนามแข่งขันหรือส่วนที่ไม่ใช่สนามแข่งขัน

 

Olympic Games Beijing 2022

เพื่อพยายามรักษาแนวทางปลอดโควิดของจีน ในระหว่างการแข่งขันปักกิ่ง 2022 พนักงานที่ประจำอยู่ที่ส่วนบุฟเฟต์ของห้องอาหารในโรงแรมแห่งหนึ่งจึงต้องใส่ชุดป้องกันอย่างเข้มงวดระหว่างตักอาหารสำหรับนักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขัน – ภาพ: Annice Lyn / Getty Images

 

นั่นหมายถึงจะเหลืองบประมาณอีก 900 ล้านดอลลาร์ที่จะใช้ในส่วนที่เหลือทั้งหมด ฟังดูแล้วแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

 

แต่ทางการจีนยืนยันว่าพวกเขาตั้งใจจะใช้งบประหยัดจริง “เรามีเงินและมีความเข้มแข็ง แต่เราจะใช้จ่ายอย่างเคร่งครัดโดยที่ยังจัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวได้อย่างมีคุณภาพสูง” โจว ชิง เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทางการที่เป็นคณะกรรมการจัดการแข่งขัน กล่าว

 

ขณะที่ สวีจี้เฉิง ที่ดูแลด้านข้อมูลและแผนงานของคณะกรรมการโอลิมปิกฤดูหนาว ย้ำว่า “เราจัดโอลิมปิกมาแล้วครั้งหนึ่ง ดังนั้นเรารู้วิธีว่าจะประหยัดเงินได้อย่างไร”

 

สุดท้ายสิ่งที่จีนพยายามทำมาทั้งหมดกับการเน้นย้ำให้เห็นภาพของเจ้าภาพที่จัดการแข่งขันอย่างเรียบง่ายและใช้งบประมาณน้อยนั้น เป้าหมายอยู่ที่เรื่องเดียว

 

“ระหว่างโตเกียวเกมส์กับครั้งนี้ระยะเวลาห่างกันแค่ 6 เดือน มันทำให้มีการเปรียบเทียบกันง่ายระหว่างการจัดการแข่งขันทั้งสองครั้ง” ไบรอัน ชิว ศาสตราจารย์ด้านการบริหารจัดการกีฬา กล่าว “จีนต้องการจะดีกว่าญี่ปุ่น และนี่คือหนทางที่ดีที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าจีนคือชาติที่พัฒนาแล้วด้วยการบอกว่า เราเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเราก็มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี”

 

Olympic Games Beijing 2022

นักกีฬาของจีนที่สามารถคว้าเหรียญทองจากการแข่งขันมาเป็นผลสำเร็จ – ภาพ: Li Jun / China News Service via Getty Images

 

ขณะที่ปักกิ่งเกมส์ในปี 2008 คือการประกาศศักดาของจีนให้โลกรู้ ‘ปักกิ่ง 2022’ ก็ไม่ได้แตกต่างกัน และอาจจะยิ่งสำคัญกว่าด้วย

 

ต่อให้ต้องจ่ายเท่าไรและต้องตกแต่งตัวเลขเท่าไรก็ยอม เข้าทำนองเสียเงินไม่ว่า เสียหน้าไม่ได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising