×

Tokyo 2020 ทำเศรษฐกิจญี่ปุ่น ‘เจ็บ’ แค่ไหน? กับการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเกมส์ที่ขอบสนามโล่งที่สุดในประวัติศาสตร์

07.08.2021
  • LOADING...
Tokyo2020

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาระดับโลกอย่างโอลิมปิกเกมส์นั้นมีข้อดีทางเศรษฐกิจจริงหรือ? คำถามนี้ยังคาใจทุกคนที่ได้เห็นความรกร้างของสิ่งก่อสร้าง สนามกีฬา รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่ไม่ชวนมอง ยังมีวิกฤตหนี้ที่เกิดขึ้นในบางประเทศ ซึ่งถูกเชื่อมโยงเข้ากับการจัดโอลิมปิกเกมส์โดยตรง
  • ในเมื่อสถานการณ์ปกติ การเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเกมส์ยังไม่ทำกำไรที่ชัดเจน ภาวะโควิดเช่นนี้ โลกจึงจับตาเป็นพิเศษถึงความเสี่ยงของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ประเทศเจ้าภาพโอลิมปิกเกมส์ที่ขอบสนามโล่งที่สุดในประวัติศาสตร์
  • ตัวเลขล่าสุดที่มีการเปิดเผยขณะนี้คือ ญี่ปุ่นมีค่าใช้จ่ายโดยประมาณสำหรับจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกรอบนี้เกิน 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 6.6 แสนล้านบาท ซึ่งสูงกว่าที่คณะกรรมการจัดงานโอลิมปิกประเมินรายได้ไว้ 6.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 2.2 แสนล้านบาท

ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนจริงๆ สำหรับคำถามว่า การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาระดับโลกอย่างโอลิมปิกเกมส์นั้นมีข้อดีทางเศรษฐกิจจริงไหม? ยิ่งเมื่อได้เห็นความรกร้างของสิ่งก่อสร้าง สนามกีฬา รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในประเทศที่เคยเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกอย่างประเทศบราซิลและจีน

 

อีกตัวอย่างที่สำคัญคือวิกฤตหนี้ที่เกิดขึ้นในกรีซ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อมโยงประเด็นนี้เข้ากับการจัดโอลิมปิกเกมส์ปี 2004 ที่กรุงเอเธนส์แบบเต็มๆ 

 

นอกจากนี้ยังมี ‘แคนาดา’ ที่การเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเกมส์ปี 1976 นั้นทำให้ประเทศต้องใช้เวลา 30 ปี กว่าจะใช้ ‘หนี้ที่บานปลาย’ จากงบประมาณได้หมด 

 

จากการสำรวจพบว่ามีโอลิมปิกเกมส์เพียงครั้งเดียวที่สร้างผลกำไรได้ตั้งแต่การจัดงานมาต่อเนื่องจากปี 1932 นั่นคือที่ลอสแอนเจลิส ซึ่งจัดการแข่งขันในปี 1984

 

สถานการณ์ที่โลกปกติยังฝืดเคืองขนาดนี้ แล้วนับประสาอะไรกับมหกรรม Tokyo 2020 ที่โควิดยังระบาดอยู่ แน่นอนว่าญี่ปุ่นถูกจับตาว่าจะขาดทุนมหาศาล เป็นความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่หนักหนากว่าโอลิมปิกเกมส์ทุกรอบ เพราะจากการประเมินเบื้องต้น โตเกียวไม่มีรายได้หรือเงินสะพัดเป็นชิ้นเป็นอันเหมือนที่เจ้าภาพประเทศอื่นเคยได้รับ

 

Tokyo2020

ภาพ: Ezra Shaw / Getty Images

 

ต้นทุน Tokyo 2020 พุ่งเกินค่าเฉลี่ยเรียบร้อยแล้ว 

โอลิมปิกเกมส์รอบนี้ ต้องยอมรับว่าญี่ปุ่นไม่ได้เห็นการการันตีรายได้จากการสตรีมมิงถ่ายทอดสดกีฬา ขณะเดียวกันก็ไม่เห็นการจองห้องหรือยอดเข้าพักในโรงแรมของกลุ่มแฟนกีฬา รวมถึงภัตตาคาร เหล้าเบียร์ และสถานที่จับจ่ายซื้อของ ที่ล้วนไม่ได้รับความชุ่มฉ่ำของเงินสะพัดจากกระเป๋าแฟนกีฬา

 

ฟังแล้วน่าหนักใจ ต้นทุนจัดงานที่ญี่ปุ่นต้องแบกรับ ถือว่าแพงที่สุดเมื่อเทียบกับการจัดงานทุกครั้งในประวัติศาสตร์ไปแล้วเรียบร้อย 

 

จากการวิจัยของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด พบว่าค่าใช้จ่ายในการจัดงาน Tokyo 2020 นั้นเกินงบประมาณตั้งต้นไปแล้ว 2 เท่าตัว คือประมาณ 1.54 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 5.1 แสนล้านบาท

 

ออกซ์ฟอร์ดพบอีกว่า การจัดงานโอลิมปิกเกมส์ทุกครั้งตั้งแต่ปี 1960 มีการใช้งบบานปลายจากที่ประกาศไว้เฉลี่ย 172% แปลว่า Tokyo 2020 พุ่งเกินค่าเฉลี่ยไปเรียบร้อย และการตรวจสอบบัญชีอย่างเป็นทางการของประเทศ ก็ยังพบมูลค่าใช้จ่ายทั้งหมดพุ่งทยานไปอยู่ที่ราว 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 9.3 แสนล้านบาทแล้วด้วย

 

ตัวเลขนี้ชนะทุกการสำรวจของสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (Council of Foreign Relations) การสำรวจนี้พบว่า บราซิลที่ประกาศงบประมาณการจัดงานโอลิมปิกเกมส์ที่ 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2016 แต่แท้ที่จริงมีการใช้ไปมากกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ 

 

ขณะที่รัสเซียซึ่งประกาศงบ 1.03 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับการจัดงานโอลิมปิกเกมส์ฤดูหนาวปี 2014 ก็มีการใช้งานเกินถึง 5.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงอังกฤษที่เคยจัดโอลัมปิกเกมส์ที่ลอนดอนปี 2012 ก็ใช้เงินมากกว่า 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จากที่ประกาศไว้ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น

 

Tokyo2020

สถานที่สำคัญของกรุงลอนดอนถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงพิธีปิดการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ ลอนดอน 2012 – John Stillwell – WPA Pool / Getty Images

 

การทุ่มเงินจัดงานให้อลังการสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศเจ้าภาพได้จริง แต่เป็นผลระยะสั้นเท่านั้น การสำรวจพบว่าประเทศเจ้าภาพจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจประมาณ 3-4% จากการเป็นเจ้าภาพ แต่เป็นการเติบโตในระดับเฉพาะภูมิภาคในปีที่จัดงานและปีก่อนหน้า

 

ความล่าช้านำไปสู่ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

สำหรับญี่ปุ่น การล่าช้าในการจัดงาน 1 ปี ถูกประเมินว่านำไปสู่ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอีก 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น การเจรจาสัญญาใหม่ และมาตรการเพื่อต่อสู้กับโรคระบาด เป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากงบที่ประกาศไว้เดิมประมาณ 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่หมดไปแล้วตั้งแต่แรกกับการยกระดับสนามและสถานที่ต่างๆ สำหรับการแข่งขัน 

 

รายงานล่าสุดยังพบว่า ต้นทุนที่คาดกันว่าญี่ปุ่นต้องแบกรับเพิ่มขึ้นประมาณ 25% นั้นยังไม่ได้ให้ผลในการป้องกันโควิดเต็มร้อย เพราะล่าสุดมีรายงานว่าพบผู้ติดเชื้อที่เป็นเจ้าหน้าที่และนักกีฬาแล้วกว่า 90 ราย 

 

ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนั้นชัดเจนพอๆ กับการสูญเงินค่าตั๋วหรือบัตรเข้าชมกีฬามูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ การระบาดของโควิดทำให้ญี่ปุ่นต้องจำกัดจำนวนผู้สังเกตการณ์รอบสนาม เพื่อไม่ให้เกิดการแออัด โดยลดจำนวนผู้ชมลงเหลือสูงสุด 10,000 คนต่อสนาม หรือ 50% ของความจุ

 

Tokyo2020

ภาพ: Harry How / Getty Images

 

และที่พีกคือคณะกรรมการโอลิมปิกสากลยังมีข้อกำหนดว่า จะต้องแบ่งส่วนรายได้จากการแข่งขันตามตารางในสัดส่วน 70% นั่นหมายความว่า 70% ของเม็ดเงินที่ได้จากการถ่ายทอดนัดการแข่งขัน ก็จะต้องถูกส่งให้คณะกรรมการโอลิมปิกสากลด้วย

 

โตเกียวได้อะไรบ้าง? 

ดังนั้น ญี่ปุ่นจะทำเงินจากที่ไหนได้? เรื่องนี้หลายคนวิจารณ์ว่าแม้แต่ญี่ปุ่นเองก็ยังไม่เห็นช่องทางรับเงินโดยตรงจากดีลถ่ายทอด ซึ่งแม้เม็ดเงินสปอนเซอร์ที่สนับสนุนการแข่งขันภายในประเทศอาจจะเป็นเงินส่วนใหญ่ที่ถูกหมุนเวียนเข้ามาใช้จ่าย แต่ธุรกิจเหล่านี้ล้วนได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย จากการไม่มีผู้เข้าชมริมสนาม

 

ที่เห็นชัดคือสปอนเซอร์กลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ วันนี้น้ำมึนน้ำเมาถูกแบนในสถานที่จัดการแข่งขัน ถือเป็นฝันร้ายสำหรับผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่อย่าง Asahi Breweries, Ltd. ซึ่งจำใจยอมรับว่าการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องปกติท่ามกลางการระบาดใหญ่ และบริษัทก็ต้องพยายามสู้วิกฤตด้วยการกระตุ้นให้ลูกค้าซื้อเบียร์ไปบริโภคที่บ้านมากขึ้น

 

ที่สุดแล้ว ญี่ปุ่นออกมาเปิดเผยตัวเลขรายได้หลักที่ได้รับจากการจัดงาน Tokyo 2020 ว่ารายได้หลักมาจากการสนับสนุนของธุรกิจในประเทศ คิดเป็นมูลค่า 3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาเป็นเงินช่วยเหลือ 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐของคณะกรรมการโอลิมปิก ซึ่งเป็นมูลค่าเท่ากับยอดจำหน่ายตั๋วชมการแข่งขัน 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  

 

นอกนั้นเป็นรายได้เพิ่มเติมอื่น 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเงินสนับสนุนโอลิมปิก 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ค่าลิขสิทธิ์ทีวีคือ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

 

เบ็ดเสร็จแล้ว การสำรวจเบื้องต้นของศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยคันไซประเมินว่า ญี่ปุ่นจะต้องขาดทุนมากกว่า 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 7.6 แสนล้านบาท

 

Tokyo2020

ภาพ: Sean M. Haffey / Getty Images

 

เศรษฐกิจฟุบหรือฟื้น ขึ้นอยู่กับผู้ชม?

ย้อนไปเมื่อปี 2016 ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นเคยคาดการณ์ว่าประเทศจะเห็น GDP เพิ่มขึ้น 9.1 หมื่นล้านดอลลาดอลลาร์สหรัฐจากภาคการก่อสร้างเพียงอย่างเดียว 

 

ตัวเลขนี้สูงมากเมื่อเทียบกับการวิเคราะห์ของสถาบันวิจัยโนมูระ ที่ประมาณการว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจาก Tokyo 2020 จะอยู่ที่ 1.72 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 5.3 แสนล้านบาท หากผู้ชมได้รับอนุญาตเข้าชมในแต่ละสนามเต็มตามขีดที่กำหนดไว้  

 

ตัวเลข 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐนี้ ลดลง 4.9% จากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 1.81 ล้านล้านเยนสำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่จัดขึ้นโดยไม่จำกัดจำนวนผู้ชมในประเทศ ซึ่งไม่ได้รวมผู้ชมจากต่างประเทศที่ไม่อาจเข้าประเทศได้

 

ในเมื่อตัวเลขกระตุ้นเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงโดยตรงตามจำนวนผู้เข้าชมกีฬา นักเศรษฐศาสตร์แดนปลาดิบจึงแสดงความกังวลถึงความเสี่ยง โดยเฉพาะมีโอกาสเป็นไปได้ที่นายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูงะ อาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจากโควิดอีกครั้ง โดยเปลี่ยนไปจัดการแข่งขันแบบไม่มีผู้ชมเลย

 

ไม่ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะฟุบหรือฟื้น จะฝันดีหรือฝันร้าย แต่ชัดเจนว่า Tokyo 2020 ทำให้ญี่ปุ่นโดดเด่นมากที่สุดในประวัติศาสตร์เจ้าภาพโอลิมปิกเกมส์ทุกประเทศ แม้ความหวังให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตเหมือนเมื่อครั้งที่เคยจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ฤดูร้อนครั้งแรกในปี 1964 จะเป็นเป้าหมายที่หม่นหมองมากแค่ไหนก็ตาม

 

(หมายเหตุ: 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 33.08 บาท)

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising