×

ผู้นำเยอรมนีได้อะไรจากการเยือนจีน

11.11.2022
  • LOADING...
Olaf Scholz

การที่ โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีของเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 1 ของสหภาพยุโรป และเป็นหนึ่งในกลุ่ม G7 ตัดสินใจเดินทางเยือนกรุงปักกิ่งของจีนอย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารจากบริษัทองค์กรธุรกิจเยอรมนี ทำให้หลายฝ่ายจับตามองและวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น 

 

แม้เป็นทริประยะเวลาสั้นๆ เพียง 12 ชั่วโมง แต่อาจกล่าวได้ว่าส่งผลอย่างมากต่อทั้งเยอรมนี จีน และสหภาพยุโรป ท่ามกลางคำถามจากทั้งในและนอกเยอรมนีว่า อะไรคือเหตุผลที่แท้จริงของการเดินทางไปจีน และเยอรมนีรวมถึงกลุ่มประเทศ EU จะได้อะไรจากการเยือนจีนในครั้งนี้ 

 

ในเยอรมนีมีเสียงต่อต้านไม่น้อย เพราะเวลานี้เยอรมนีและ EU กำลังหาทางลดการพึ่งพาจีนที่มากเกินไปในแง่ของเศรษฐกิจ เนื่องจากไม่อยากเจอปัญหาซ้ำรอยการขาดแคลนซัพพลายพลังงาน เฉกเช่นเดียวกับที่เผชิญปัญหานี้จากรัสเซีย หลังยุโรปพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียเป็นหลัก และเมื่อเกิดวิกฤตความขัดแย้งยูเครน-รัสเซียขึ้น ก็ส่งผลให้การจ่ายก๊าซจากรัสเซียหยุดชะงักด้วยเหตุผลทางการเมือง 

 

ที่สำคัญคือ โชลซ์เคยสัญญาก่อนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเยอรมนีว่า จะปรับแก้นโยบายในการพึ่งพาจีน แต่กลับกลายเป็นว่าเขาเริ่มออกห่างจากเป้าหมายที่เคยสัญญาเอาไว้ มิหนำซ้ำรัฐบาลของโชลซ์ยังอนุมัติให้บริษัท COSCO (China Ocean Shipping Group Corporation) บริษัทขนส่งสินค้าของรัฐบาลจีน เข้าซื้อหุ้น 24.9% ของท่าเรือบรรทุกสินค้า 1 ใน 3 แห่งของท่าเรือฮัมบูรก์ ซึ่งเป็นท่าเรือสำคัญของเยอรมนี ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์และความวิตกกังวลอย่างมาก ด้วยเกรงว่าจีนจะมีอิทธิพลเหนือเยอรมนีมากยิ่งขึ้น เพราะการอนุญาตให้บริษัทจีนเข้ามาถือครองหุ้นโครงสร้างพื้นฐานในประเทศและเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและการค้า ดูจะขัดแย้งกับนโยบายลดการพึ่งพาจีนอย่างสิ้นเชิง

 

ทำไมโชลซ์ตัดสินใจเยือนจีนโดยไม่สนเสียงทัดทาน แม้อาจเป็นชนวนสั่นคลอนเก้าอี้ของเขาได้?

 

แค่เรื่องของ ‘ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การค้า และตลาดจีน’ เท่านั้นหรือไม่?

 

สานสัมพันธ์เพื่อเศรษฐกิจและการค้า เป็นหนึ่งในเหตุผลและเป้าหมายพื้นฐานอย่างชัดแจ้ง

ย้อนไปเมื่อสมัยผู้นำหญิงแห่งเยอรมนีอย่าง อังเกลา แมร์เคิล ก็เคยเดินทางไปเยือนจีนอย่างเป็นทางการ ด้วยจุดมุ่งหมายสานสัมพันธ์กับจีน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยการค้า 

 

แน่นอนว่าการเดินทางเยือนของโชลซ์ พร้อมกับคณะนักธุรกิจเยอรมันจากบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น BioNTech, Volkswagen, BMW และ Deutsche Bank ย่อมสะท้อนว่า มีประเด็นของเศรษฐกิจและการค้าเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ต่างจากครั้งการเยือนของแมร์เคิล โดยโชลซ์น่าจะใช้การเยือนจีนนี้ช่วยสานสัมพันธ์และเจรจาทางการค้าและเศรษฐกิจกับจีน ด้วยเศรษฐกิจของเยอรมนีและยุโรปตอนนี้ชะลอตัวลงจากกรณีการระบาดของโควิด และยิ่งบอบช้ำหนักจากวิกฤตยูเครน-รัสเซีย (ไม่ใช่แค่เยอรมนีและยุโรปเท่านั้น ทั่วโลกต่างเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ ไม่เว้นแม้แต่สหรัฐอเมริกาและจีน) 

 

สำหรับเยอรมนีแล้ว จีนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งมานานแล้ว ซึ่งถ้าจีนแย่ เยอรมนีก็แย่ตามไปด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ พอเศรษฐกิจจีนชะงักจากโควิด เยอรมนีก็ได้รับผลกระทบไปด้วย ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่หลายฝ่ายต้องการให้โชลซ์รีบแก้ไขนโยบายที่พึ่งพาจีนมากเกินไป

 

อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์สามารถมองได้ว่า การที่โชลซ์ยังคงเดินหน้าเข้าหาจีนเป็นเพราะมองว่าตลาดจีนยังมีศักยภาพ เพราะรัฐบาลจีนยังอยู่ในเส้นทางปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญกับการบริโภคภายในประเทศ เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนหลักในอนาคต 

 

แม้เศรษฐกิจจีนอาจชะลอตัวไปบ้าง แต่ก็ยังเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ซึ่งสร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วทุกภูมิภาค รวมถึงเยอรมนีเอง โดยจีนพยายามพัฒนาเศรษฐกิจของตนเองแบบ ‘เศรษฐกิจวงจรคู่’ เน้นที่การพัฒนาตลาดและเศรษฐกิจภายในประเทศให้แข็งแกร่ง ลดการพึ่งพาการส่งออก เนื่องจากดีมานด์ลดลงอย่างมากในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิดและสงครามการค้าจีน-อเมริกา 

 

หากพิจารณาถึงโอกาสทางการค้า จีนพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ ไม่ใช่สร้างผลดีต่อจีนเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสสำหรับการลงทุนจากต่างประเทศในจีน จีนยังคงเปิดรับเม็ดเงินจากธุรกิจข้ามชาติ โดยเยอรมนีเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตขั้นสูง และเคมีภัณฑ์เป็นหลัก โชลซ์พากลุ่มนักธุรกิจสำคัญของเยอรมนีเข้าไป แม้เป็นธุรกิจที่ไม่ได้เจาะจงเซ็กเตอร์ใดเป็นพิเศษ แต่ก็นับว่าเป็นการส่งสารถึงจีนว่า “เยอรมนียังต้องการทำการค้าและร่วมมือทางเศรษฐกิจกับจีน” 

 

การเดินทางครั้งนี้ของโชลซ์ทำให้เกิดข้อตกลงทางการค้าที่เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจเยอรมนี อย่างดีลวัคซีนโควิดของ BioNTech ที่รอคอยมานานว่าจะเป็นเช่นไรนั้น โชลซ์เผยหลังการคุยกับผู้นำจีนว่า วัคซีนของ BioNTech จะได้รับอนุมัติให้ใช้สำหรับชาวต่างชาติในจีนได้ และอีกหนึ่งดีลใหญ่คือ ภาคธุรกิจการบินในจีนได้สั่งซื้อเครื่องบิน 140 ลำ มูลค่า 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐจาก Airbus

 

หยั่งเชิงท่าทีการเมืองระหว่างประเทศของผู้นำจีน หลังเปลี่ยนคณะผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดใหม่ 

การเดินทางเยือนจีนของโชลซ์อาจไม่ใช่ด้วยเหตุผลแค่เรื่องเศรษฐกิจและการค้าเท่านั้น แต่เป็นการเข้าไปสังเกตการณ์และหาคำตอบให้กับตนเอง ก่อนจะพิจารณานโยบายต่างๆ ที่มีต่อคู่ค้ารายใหญ่อย่างจีนว่าควรเป็นไปในแนวทางใด หลังจีนเพิ่งแสดงจุดยืนด้านนโยบายภายใต้การนำของผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์สมัยที่ 3 ว่าจะเปิดรับความร่วมมือกับต่างประเทศมากขึ้น

 

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นโอกาสเหมาะที่ผู้นำเยอรมนีจะรีบไปเยือน เพื่อดูท่าทีของผู้นำจีนว่าเปิดกว้างเพียงใด ซึ่งจะนำไปสู่การต่อรองผลประโยชน์ของเยอรมนีเอง ตามคำกล่าวของโซลช์ที่ว่า “หากจีนเปลี่ยนไป แนวปฏิบัติของเราที่มีต่อจีนก็ต้องเปลี่ยนตามไปด้วย”

 

จากข้างต้นจึงมองได้ว่า การไปเยือนปักกิ่งของโชลซ์อาจมีประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างประเทศด้วย

 

โชลซ์และทีมคงทำการบ้านมาค่อนข้างดี มองลึกลงไปถึงจุดประสงค์ทางการค้าที่จีนมักจะดีลกับประเทศอื่น ไม่ใช่แค่เรื่องการค้าและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่จีนมักใช้การสานสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าเชื่อมโยงไปถึงความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างประเทศ 

 

ข้อนี้ได้รับการยืนยันจากบางส่วนของการสนทนาระหว่าง หลี่เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน และโชลซ์ ณ กรุงปักกิ่ง โดยนายกฯ หลี่ กล่าวชัดว่า “พื้นฐานความสัมพันธ์ของความร่วมมือทวิภาคีของสองประเทศคือการค้าและเศรษฐกิจ” 

 

การเดินทางไปเยือนจีนครั้งนี้ของผู้นำเยอรมนีจึงหวังผลความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างประเทศด้วยผ่านฉากหน้าคือการค้า เพื่อเป็นใบเบิกทางให้มีการพูดคุยและต่อรองกัน

 

ต้องการดูท่าทีของจีนในวิกฤตยูเครน-รัสเซีย

เยอรมนีและ EU ประกาศคว่ำบาตรรัสเซียกรณีส่งทหารบุกยูเครนเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ โดยจีนเป็นประเทศที่แสดงจุดยืนคัดค้านการใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย (ไม่ใช่แค่รัสเซีย แต่จีนเน้นจุดยืนมาโดยตลอดว่าการใช้มาตรการคว่ำบาตรเป็นการกระทำแบบแบ่งฝักฝ่ายที่มีแต่ผลเสีย) โดยจีนเน้นเรื่องนี้มาเป็นหนึ่งในประเด็นต่อต้านอเมริกา เนื่องจากจีนเองก็เผชิญกับมาตรการนี้จากอเมริกาอยู่ไม่น้อย เช่น เรื่องการค้าและเทคโนโลยีขั้นสูง

 

นอกจากนี้ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีการลงมติประณามรัสเซียกรณีผนวกดินแดนของยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตน ซึ่งจีนก็เป็นหนึ่งในประเทศที่งดออกเสียง (ไทยก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย) 

 

ท่าทีของจีนทำให้สหรัฐฯ และพันธมิตร รวมถึง EU มองว่า จีนเป็นฝ่ายสนับสนุนรัสเซียหรือไม่? แม้จีนจะยืนยันบนเวทีโลกเสมอมาว่า จีนสนับสนุนการแก้ปัญหายูเครน-รัสเซียด้วยสันติวิธีผ่านการเจรจา แต่หลายประเทศก็ยังคงคลางแคลงใจจีน

 

โชลซ์เองก็อาจสงสัยในจุดยืนของจีนต่อวิกฤตยูเครน-รัสเซีย ดังนั้นการเดินทางไปจีนจึงเพื่อ ‘หยั่งเชิง’ ท่าทีของจีนในเรื่องนี้ด้วย

 

อาจกล่าวได้ว่า โชลซ์ประสบความสำเร็จในเป้าหมายข้อนี้ทีเดียว 

 

การสนทนาระหว่างโชลซ์และประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ที่มหาศาลาประชาคม กรุงปักกิ่ง มีประเด็น ‘การใช้อาวุธนิวเคลียร์’ เป็นหนึ่งในหัวข้อสนทนาสำคัญของผู้นำทั้งสอง และจากการเผยแพร่ผ่านสื่อของทางการจีนที่นำเสนอไปต่างประเทศ ก็ได้ยกประเด็นนี้เป็น Key Message สำคัญ ซึ่งสามารถพิจารณาได้ว่า จีนต้องการย้ำจุดยืนและลดแรงเสียดทาน รวมถึงลดความคลางแคลงใจของต่างประเทศ เพื่อให้นโยบายการร่วมมือกับโลกของจีนเป็นไปอย่างราบรื่น ซึ่งเยอรมนีกับ EU คือด่านสำคัญที่ต้องผ่านให้ได้ 

 

สีจิ้นผิง ยืนยันกับโชลซ์ระหว่างพบปะกันต่อหน้า มีใจความสำคัญว่า “ขอเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศสนับสนุนการยุติวิกฤตยูเครนด้วยสันติวิธี และขอต่อต้านการคุกคามหรือใช้อาวุธนิวเคลียร์ โดยจีนไม่สนับสนุนการทำสงครามนิวเคลียร์ และขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันป้องกันวิกฤตนิวเคลียร์ในยูเรเชีย” 

 

แม้ สีจิ้นผิง จะไม่ได้เอ่ยชื่อรัสเซียออกมาตรงๆ แต่จากคำขู่ของรัสเซียที่เคยเตือนถึงการใช้อาวุธทำลายล้างหลายชนิด รวมถึงอาวุธนิวเคลียร์ในสงครามยูเครน-รัสเซียนั้นก็อาจตีความได้ว่า จีนกำลังส่งสารไปยังประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซียด้วย

 

อย่างไรก็ตาม สีจิ้นผิง ไม่ได้แสดงท่าทีในหลายประเด็นที่ EU กังวล เช่น การขอให้รัสเซียถอนทัพจากยูเครน และการที่ปูตินไม่ยอมเปิดทางให้ยูเครนส่งออกธัญพืช 

 

เจรจาในประเด็นที่ EU และนานาประเทศสงสัยในจีน 

ข้อนี้นับว่าเป็นประโยชน์ของจีนที่จะแสดงจุดยืนและตอบข้อสงสัยของโลกผ่านทางเยอรมนีด้วย โดยเฉพาะประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนในซินเจียงอุยกูร์ ประเด็นโลกร้อน และขาดไม่ได้คือประเด็นไต้หวัน ซึ่งมีการพูดคุยในประเด็นเหล่านี้ระหว่างโชลซ์และผู้นำจีนด้วย โดยโชลซ์เปรียบเหมือนตัวแทนของโลกในการเข้าไปเจรจาและดูท่าทีของจีนต่อประเด็นต่างๆ เหล่านี้

 

ทริปเยือนจีน 12 ชั่วโมงของโชลซ์จบลงไปแล้ว ทีนี้ก็ต้องรอดูต่อไปว่า โชลซ์จะจัดการกับปัญหาที่บ้านอย่างไร รวมถึงไขข้อแคลงใจของ EU ที่มีต่อตัวโชลซ์ และที่น่าสนใจอีกเรื่องคือนโยบายของเยอรมนีที่มีต่อจีนหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร 

 

ภาพ: Kay Nietfeld / POOL / AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising