×

เมื่อวง OK GO ต้องทำงานกับกระดาษ A4 พวกเขาจะทำอะไร? [Advertorial]

13.12.2017
  • LOADING...

ในยุคออนไลน์ที่เวลาวิ่งเร็วเหมือนวันหนึ่งมีแค่ 12 ชั่วโมง ใครๆ อาจจะลืมไปแล้วว่างานมิวสิกวิดีโอของวงดนตรีที่ชื่อ OK GO นั้นเปรียบเสมือนดังต้นทางของยุคยูทูบ พวกเขาคือยุคแรกของสโลแกน Broadcast Yourself พวกเขาสร้างชิ้นงานที่ทำให้คนทั่วโลกสำนึกได้ว่า แค่เพียงกล้องโฮมวิดีโอหรือเว็บแคมหน้าคอมพิวเตอร์ก็ทำให้คุณเป็นที่รู้จักของชาวโลกได้หากคุณมีความสามารถ และนั่นคือปรัชญาแห่งการทำงานตลอด 10 กว่าปีของพวกเขา ชายหนุ่ม 4 คนที่เป็นนักดนตรี แต่ผมเชื่อว่าชาวโลกนั้นจดจำพวกเขาในฐานะนักสร้างสรรค์มากกว่า

 

 

จริงๆ แล้วไม่รู้ว่า OK GO จะดีใจหรือเสียใจที่ผู้คนต่างชื่นชอบพวกเขาจากงานมิวสิกวิดีโอหรือคลิปต่างๆ ที่พวกเขาทำมากเสียจนลืมบทเพลงที่พวกเขาทำไปด้วยซ้ำ (เวลาคนพูดถึงเพลงนั้นเพลงนี้ของวงดนตรี คนจะบอกว่าไอ้เอ็มวีที่ใช้เทคนิคนั้นเทคนิคนี้ มากกว่าจะจำได้ว่าเพลงร้องยังไง) แต่ผมคิดว่า OK GO น่าจะก้าวข้ามสิ่งนี้ไปแล้ว เพราะไม่ว่าใครจะว่ายังไง พวกเขาก็ยังคงเดินหน้าสร้างมิวสิกวิดีโอที่เน้นเทคนิคการถ่ายทำแบบเหนือโลก แรกๆ ผมคิดว่าการทำแบบนี้มันอาจจะกลายเป็นอุปสรรคของพวกเขาในอนาคต เพราะการทำมิวสิกวิดีโอที่เน้นเทคนิคพิสดารมาตลอดนั้นมันก็คล้ายๆ การขึ้นหลังเสือ คือเริ่มพิสดารครั้งที่ 1 ครั้งต่อไปต้องพิสดารกว่า และครั้งต่อๆ ไปก็ต้องยิ่งพิสดารยิ่งขึ้น แล้วก็จะต้องพิสดารไปตลอดชีวิต ลงไม่ได้แล้ว ทำอะไรธรรมดาๆ ไม่ได้แล้ว ซึ่งเราก็จะคิดว่าคนเรามันจะพิสดารไปตลอดชีวิตได้ยังไงวะ

 

แต่แล้วผ่านมา 10 ปี OK GO มันก็พิสดารมาได้ตลอดจริงๆ

 

มิวสิกวิดีโอ ‘Here It Goes Again’ 

มิวสิกวิดีโอ ‘I Won’t Let You Down’ 

 

จากแค่ทำมิวสิกวิดีโอของวงตัวเอง พวกเขาก็เริ่มรับงานจ้าง (หรือเรียกแบบงดงามว่า collab ก็ได้) เริ่มมีสินค้าต่างๆ มาขอร่วมงานกับพวกเขา แต่ไม่ว่าจะทำอะไร มันก็จะออกมาเป็นงานของพวกเขาอยู่ดี ซึ่งถือว่าเป็นความโชคดีและเก่งกาจของวงนี้ที่การสร้างงานพิสดารต่างๆ ที่ผ่านมากลายเป็นลายเซ็นอันแข็งแรง (แถมแมส และคนดูทุกคนก็ต่างชื่นชอบ) แม้หลายครั้งจะมีผู้กำกับคนอื่นๆ มาช่วยทำ แต่ไม่ว่าจะเป็นใคร ทุกคนก็โดนครอบด้วยคอนเซปต์มิวสิกวิดีโอของตัววงเองที่ยึดปรัชญาความบ้านๆ ด้วยการถ่ายทำอะไรที่มักจะเป็นเทคนิคง่ายๆ เช่น การเอาลู่วิ่งมาต่อๆ กันแล้วเต้นระบำบนนั้นในมิวสิกวิดีโอสร้างชื่อ Here It Goes Again, การใช้โดรนถ่ายเพอร์ฟอร์แมนซ์ที่เกิดจากการกางและหุบของร่ม ผสมการขี่จักรยานล้อเดียวในเอ็มวี I Won’t Let You Down (คือมึงจะผสมกันกี่อย่างเนี่ย) การสร้างงานมิวสิคัลแดนซ์กับหมา พร้อมกับให้มันเห่าแบบซิงก์กับเพลงในมิวสิกวิดีโอ White Knuckles

 

ว่าง่ายๆ คือเขาเอาของบ้านๆ มาเล่นใหญ่มากๆ จนกลายเป็นของไม่บ้านๆ นอกจากนั้น เทคนิคที่สำคัญมากๆ ของวง OK GO คือการลองเทกที่พวกเขาใช้มาตลอด ลองเทกของพวกเขาไม่ใช่ความยืดยาวที่เชื่องช้าน่าเบื่อ แต่มันคือความท้าทายในการเล่นท่าพิสดารของพวกเขา เป็นการโชว์ให้ผู้ชมดูว่าไอ้เทคนิคบ้าๆ พวกนี้ที่พวกเขาทำ ไม่มีการตัดต่อช่วยแต่อย่างใด โชว์กัน 4-5 นาทีรวดเดียวจบจริงๆ ต้องซ้อมมาเยอะมากๆ ไม่ใช่แค่นักแสดงในมิวสิกวิดีโอ แต่บรรดาฝ่ายเทคนิคที่ต้องทำให้สิ่งต่างๆ สมูทและไหลลื่นทั้งหมดขณะถ่ายทำ นี่เป็นสิ่งที่ทำให้ OK GO นั้นยืนหยัดมาได้หลาย 10 ปี จนรู้สึกว่าคำว่า OK GO เป็นแบรนด์แห่งความสร้างสรรค์ที่พร้อมจะทำอะไรก็ได้ กับใครก็ได้ และคิดว่าคนที่ชวนวงนี้มาร่วมทำงานก็พร้อมที่จะปล่อยให้วงสร้างสรรค์งานโดยอิสระ คือมันออกมาแจ๋วแน่ๆ ครีเอทีฟแน่ๆ โอเค, โก ปล่อยมันไปทำมา

 

ดังนั้นครั้งแรกที่เห็นว่า OK GO รอบใหม่นี้ทำงานกับกระดาษ Double A ผมก็คิดว่า อะ มึงจะมายังไงเนี่ย รอบที่แล้วทำงานกับสายการบินก็ได้เอ็มวีเต้นระบำไร้แรงโน้มถ่วงมาอันหนึ่งเลยเต็มๆ รอบนี้เป็นกระดาษ A4 ว่ะ มันจะทำอะไรอีก ซึ่งนี่ถือว่าเป็นความสนุกที่ได้เห็นชื่อของ OK GO ไปบวกกับสินค้าหรือโจทย์อะไรสักอย่าง ยิ่งสินค้าที่ดูห่างไกลจากวงเท่าไรก็ยิ่งทำให้อยากดูมากขึ้นกว่าเดิม

 

 

หลังจากได้โจทย์จากกระดาษ Double A พี่ๆ เขาคงนั่งคิดว่าจะเล่นอะไรกับมันดีวะ ไม่รู้พี่เขาไปเห็นร้านขายพรินเตอร์มือสองที่พันธุ์ทิพย์ที่ชอบวางพรินเตอร์เรียงๆ กันเป็นตับหรือเปล่า เลยได้แรงบันดาลใจว่าเวลามองเห็นพรินเตอร์เยอะๆ พวกนี้พรินต์กระดาษออกมาพร้อมๆ กัน กระดาษแต่ละแผ่นก็เหมือนเป็นพิกเซลสีจุดหนึ่งเหมือนกันนะ ดังนั้นมันก็เลยค่อยๆ กลายมาเป็นคอนเซปต์ที่พวกเขาเรียกว่า paper mapping ซึ่งก็เคลมกันไปเลยว่าเป็นครั้งแรกของโลกด้วยการที่เอาพรินเตอร์มาเรียงกันเป็นตับ และให้มันพรินต์ออกมาเป็นภาพต่างๆ ที่เกิดจากการรวมตัวของกระดาษ A4 เหล่านั้น แต่แน่นอนว่าแค่นั้นคงไม่พอ แค่พรินต์เป็นรูปหลายๆ รูปจะไปมันอะไร มันจะไม่ OK GO เพียงพอ ถ้าจะ OK GO ให้พอ มันต้องพรินต์แล้วซิงก์กับเพลงไปด้วย แล้วซิงก์กับเพลงไม่พอ ภาพมันจะต้องไม่ใช่แค่ภาพที่สวยๆ แต่ไม่มีความหมาย เราต้องพรินต์ออกมาเป็นภาพแบ็กกราวด์เหมือนฉากของหนังด้วย แล้วพอพรินต์ถี่ๆ ผสมเทคนิคแบบสต็อปโมชัน ไอ้ฉากหลังที่กระดาษ Double A ไหลออกมาเป็นสายน้ำจากพรินเตอร์ก็จะค่อยๆ กลายเป็นภาพที่ขยับได้ไปโดยปริยาย จนเรารู้สึกว่ากองพรินเตอร์และจุดกระดาษเหล่านั้นเป็นเหมือนจอภาพยนตร์ที่มีภาพเคลื่อนไหวจริงๆ เห็นไหม ต่อให้ต้อง collab กับกระดาษ A4 สุดท้ายพวกพี่เขาก็สร้างอะไรขึ้นมาสักอย่างได้จนได้

 

ภาพเบื้องหลังจาก twitter.com/okgo  

 

ในเชิงเทคนิค งานนี้พี่ๆ เขาร่วมมือกับทีมงานญี่ปุ่นที่เคยทำงานให้วงดังอย่าง Perfume และเป็นเจ้าของเดียวกับผู้คิดค้นอีเวนต์การเชื่อมต่อพิธีปิดโอลิมปิกที่บราซิล ไปสู่การรับไม้ต่อเป็นเจ้าภาพครั้งต่อไปของญี่ปุ่นด้วยการส่งมาริโอลงท่อข้ามประเทศจากโตเกียวมาสู่ริโอ เดอ จาเนโร ก็เล่นใหญ่กันไปครับ (แต่ก็ได้งานใหญ่ออกมานะ) กับตอนดูนั่งคิดว่าแล้วกระดาษพรินต์ออกมาแล้วนี่ยังไงเนี่ย ปรากฏว่าอ่านข้อมูลเจอเขาเขียนว่า เงินที่ได้จากการรีไซเคิลกระดาษที่ใช้ในเอ็มวีนี้จะนำไปบริจาคให้กับ Greenpeace

 

พี่ครับ เล็กๆ นี่ทำกันไม่เป็นใช่ไหม เล่นเบอร์ 200 กันตลอด

       

จากที่เคยคิดว่าวงนี้ขึ้นหลังเสือแล้วลงไม่ได้แล้วเนี่ย ตอนนี้ผมคิดว่าเขาคงไม่ลงมาแล้วล่ะครับ และผมก็ไม่คิดว่าพวกเขาควรจะลงมาอีกแล้ว อยู่บนหลังเสือนั่นไปแหละ ดี พวกเราจะรอดูสิ่งใหม่ๆ จากวงดนตรีวงนี้อีกครั้งในมิวสิกวิดีโอตัวต่อไป

 

(ว่าแต่ไอ้เอ็มวีกระดาษ Double A นี่เพลงมันชื่ออะไรนะ)

 

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising