×

เปรต พญานาค ชนกลุ่มน้อย ชนชั้น และภาพสะท้อนสังคมไทย ผ่านนวนิยายของ ปราปต์

17.01.2019
  • LOADING...

“ใครๆ ต่างพากันบอกว่าบรรณพิภพอัสดงน่ะ” คำแรกๆ ที่ ปราปต์ หรือ ชัยรัตน์ พิพิธพัฒนาปราปต์ เอ่ยขึ้น เมื่อเราถามถึงภาพรวมของวงการหนังสือในสายตาของนักเขียนที่ต้องร่วมอยู่ในธุรกิจนี้ในเวลาที่ใครๆ ต่างพากันบอกว่าคือช่วงขาลง ยอดพิมพ์ของ กาหลมหรทึก ทั้งหมด 19 ครั้ง ดูเหมือนจะเป็นเครื่องยืนยันถึงการประสบความสำเร็จ และเหมือนเป็นข้อชี้วัดว่าหนังสือยังมีทางไป

 

แต่นั่นยังไม่ใช่ทั้งหมด

 

เพราะหลังจากนวนิยายทำงานด้วยตัวหนังสือและในฐานะละคร การสร้างสรรค์งานเขียนเรื่องต่อๆ ไป จึงเป็นความท้าทายที่ยังต้องรักษามาตรฐานเชิงยอดขาย การทำงานตามโจทย์การตลาดของสำนักพิมพ์ รวมถึงการผสมสิ่งที่อยากถ่ายทอดในฐานะมนุษย์ผู้ร่วมสังคมคนหนึ่ง ที่อยากใช้นวนิยายเป็นเสียงสะท้อนความรู้สึก แม้ไม่ใช่สัดส่วนที่เป็นสูตรสำเร็จ แต่สำหรับ ‘ปราปต์’ ความพยายามระดับปัจเจกที่อยากสร้างสมดุลของการเป็นนักเขียนอาชีพ จึงเป็นอีกเรื่องที่ท้าทายไม่น้อยในเวลานี้

 

หลังจาก กาหลมหรทึก กลายเป็นละคร จนคุณเป็นที่รู้จักของนักอ่านวงกว้าง สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อคุณอย่างไร

มีนักอ่านรู้จักผมมากขึ้นครับ บางส่วนอ่านเพื่อคุยกันว่าสิ่งที่ผมซ่อนไว้ในนวนิยายคืออะไร อาจเป็นเพราะผมไปเล่นกับพวกเขาในทวิตเตอร์ด้วย ทุกคนก็เลยเหมือนเพื่อนกัน ซึ่งจริงๆ ผมก็ทรีตนักอ่านแบบนี้ตั้งแต่เป็นนักเขียนในเว็บ Dek-d.com แล้ว ล่าสุดผมเขียนนวนิยายผีในโปรเจกต์ ‘ผีมหานคร’ เรื่อง เปรต หน้าหนังภายนอกมันก็คือเรื่องเปรต แต่ข้างในมันมีทั้งเรื่องแหวนมารดา นาฬิกาเพื่อน นักอ่านเขาก็จะหยิบประเด็นที่ซ่อนไว้เหล่านี้มาคุยกันต่อ เพราะมันเป็นเรื่องที่เจอจริงๆ ในสังคม นักอ่านเขาก็เลยเหมือนได้ร่วมโมเมนต์เหล่านี้กับเรา ซึ่งมันก็เหมือนการทำการตลาดอีกแบบหนึ่ง

 

จำเป็นไหมที่นักเขียนยุคนี้ต้องทำการตลาด

สำหรับผม ผมว่ามันจำเป็นนะ เพราะงานเขียนของผมไม่ได้อ่านสนุก มีผีมาหลอกแฮ่แล้วจบ บางทีมันต้องคิดด้วยว่าผีที่มาหลอกมันกำลังจะสื่ออะไร ถ้าเราได้คุยกับคนที่เข้าใจ หนังสือมันก็จะสนุกไปอีกระดับหนึ่ง แต่ถ้านักอ่านบางคนที่อยากอ่านแค่ผีมาหลอกแฮ่ แล้วมาอ่านเจองานของผม มันก็ไม่สนุกสำหรับเขาแล้ว

 

แล้วเคยทำการตลาดจริงจังด้วยการวิเคราะห์นักอ่านว่าทาร์เก็ตประมาณนี้ เขียนเรื่องแบบนี้ดีกว่า

ไม่เชิงคิดวิเคราะห์ขนาดนั้นครับ แต่อย่างเรื่องล่าสุดคือ ลิงพาดกลอน ผมมีแอบแซวตัวเองไปนิดหนึ่งว่า นักเขียนมีนวนิยายไปทำละครแต่เรตติ้งแย่จังเลย คนอ่านก็หยิบตรงนี้ไปทวีต ผมก็รู้ว่าเขียนแบบนี้คนน่าจะชอบ หรือบางครั้งที่เราเขียนเสียดสีการเมือง คนอ่านก็จะรู้สึกโอเค เพราะสามารถหยิบประเด็นตรงนั้นมาต่อยอดได้

 

แต่ทุกเรื่องที่ผ่านมามันก็มีเป้าหมายหลักที่เราอยากบอกให้คนอ่านรู้

มีครับ ลิงพาดกลอน ใจความหลักกำลังพูดถึงเรื่องปัญหาชนกลุ่มน้อยในภาคใต้ คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่าปัญหานี้รากที่แท้จริงของมันคืออะไร เลยคิดอยู่อย่างเดียวว่าเขาเหล่านั้นรุกล้ำเข้ามาสร้างปัญหา แต่ไม่เคยมองอีกมุมเลยว่า ทุกอย่างมันเกิดจากอะไร แต่ไม่ได้บังคับนะครับว่าทุกคนต้องคิดแบบนี้ ไม่ได้ตัดสินด้วยซ้ำ แต่นำเสนอตั้งแต่ต้นว่าชนชาตินี้เป็นอย่างไร ประเทศรอบข้างอยู่กันอย่างไร ถ้ามองว่าประเทศเขาคิดอย่างที่คิดทุกวันนี้มันผิดไหม มันก็ไม่ผิดหรอก ขนาดผมอ่านข้อมูลเพื่อเขียนนวนิยายเรื่องนี้มาเยอะมาก ยังตั้งคำถามเลยว่า ชนกลุ่มน้อยเหล่านี้เขามาจากประเทศเพื่อนบ้านจริงหรือ ผมเลยเขียนให้คิดได้หลายทาง แต่ตั้งใจให้คนอ่านได้เห็นมากกว่ามุมเดิมๆ

 

แรงบันดาลใจในการเขียนถึงชนกลุ่มน้อยมาจากไหน

ส่วนใหญ่งานของผมมาจากการติดตามอ่านข่าวสารอยู่แล้วครับ ตอนที่เขียนเรื่อง ลิงพาดกลอน ก็มีข่าวเรื่องชนกลุ่มน้อยขึ้นมาพอดี ทั้งๆ ที่ตอนแรกผมกำลังเขียนเรื่องยันต์อุบากองของพม่าอยู่ แต่พอหาข้อมูลไปเรื่อยๆ ยันต์อุบากองเกิดขึ้นช่วงเดียวกับชนกลุ่มน้อยที่เริ่มแตกสานซ่านเซ็นอยู่พอดี กลายเป็นว่าเรื่องทั้งหมดมันโยงใยกันไปได้เรื่อยๆ เออว่ะ หยิบมาใส่ด้วยแล้วกัน แต่ทำไปทำมา ชนกลุ่มน้อยก็กลายเป็นเรื่องหลักในที่สุด เพราะว่างานสืบสวนสอบสวนของผม ช่วงหลังมันไม่ใช่การสืบแล้วจบ แต่มันมีสิ่งที่เราอยากพูดและอยากให้คนอ่านตระหนักด้วยมากกว่า การฆาตกรรมเลยเป็นเหมือนประตูสู่ความมุ่งหมายหลักของเรา ซึ่งก็มีคนด่าผมอยู่เหมือนกันว่าทำไมไม่โฟกัสกับวิธีการฆ่า ผมแก่ขึ้นด้วยมั้ง (หัวเราะ) เพราะตอนเด็กๆ ความสนใจของผมก็คือจะคิดทริกอย่างไรดีวะ ที่หลอกคนอ่านแล้วมันสนุก แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าความสนุกของเราคือ จะส่งสารเรื่องก้อนหลักอย่างไรให้ถึงคนอ่าน แต่เราจะมาตั้งท่าดราม่าตั้งแต่ต้นเรื่อง คนก็ไม่อ่าน มันเลยเป็นการพยายามบาลานซ์ระหว่างเรื่องสืบสวนสอบสวนที่ยังต้องสนุกอยู่ แต่มันไม่ใช่จุดประสงค์หลักของเราแล้ว

 

แล้วทำไมถึงยังเลือกการสืบสวนสอบสวนเป็นประตูไปสู่เมสเสจหลักของเรา

เพราะชอบมั้งครับ เมื่อก่อนผมชอบดูหนังทริลเลอร์ อ่านนวนิยายแปลเรื่อง Ring, คินดะอิจิ คือเราอ่านเยอะมากจนรู้สึกว่าก็คงเขียนได้ เพราะระหว่างที่อ่านก็เดาไปด้วยว่าคนร้ายจะทำแบบนี้หรือเปล่า ปรากฏว่าหนังสือไม่ได้เฉลยไปในทางนั้น แต่สิ่งที่เราเดาไว้ มันก็กลายอีกพล็อตที่เอามาเขียนได้ เราก็จดสิ่งที่คิดไว้ แล้วพอต้องเขียนจริงๆ ก็เอาสิ่งที่จดมาใช้ อย่างเรื่อง กาหลมหรทึก มันเกิดขึ้นมาจากกลโคลง มันก็สามารถแปลงมาใช้เป็นคำใบ้ได้ เพียงแต่ว่าตอนที่เขียนเราไม่เติบโตพอที่จะพูดถึงเรื่องอื่น แล้วช่วงเวลาที่เขียนเรื่องนี้มันสั้นด้วย เลยยังไม่ค่อยได้คิดอะไรเยอะ แต่พอหลังจากเขียน กาหลมหรทึก จบ ผมเริ่มโตขึ้น ตั้งคำถามกับสังคมเยอะขึ้น เลยรู้สึกว่าการสืบสวนสอบสวนกับสังคมไทยมันคือการล้อเลียนซึ่งกันและกัน

 

ล้อเลียนอย่างไร

ในสังคมไทย ถ้าสังเกตดูหลายครั้ง คนทั้งประเทศรู้อยู่แล้วว่าคนนี้คือคนทำผิด แต่สุดท้ายเขาก็รอด แต่การสืบสวนในนวนิยาย เราไม่รู้หรอกว่าใครเป็นคนทำ เลยต้องสืบไปเรื่อยๆ มันเลยกลายเป็นเรื่องที่คอนทราสต์และล้อเลียนกันไปในตัว ผมเคยคิดเหมือนกันว่า การที่เราอยู่ในประเทศแบบนี้ และหลายคนไม่เชื่อในกฎหมาย เราดูข่าวยังรู้เลยว่าคนนี้เป็นคนทำ แล้วทำไมถึงเอาผิดคนนี้ไม่ได้วะ มันเลยเป็นความท้าทาย ตอนเขียนนวนิยายว่าจะเขียนให้คนเชื่อได้ไหม เพราะงานสืบสวนของไทยมันกำลังอยู่ในบริบทประเทศที่ไม่เหมือนใครในโลก

 

อย่างเราอ่านนวนิยายของ แดน บราวน์ การสืบสวนในบริบทของประเทศอื่น ถ้าเราจับคนร้ายได้ คนร้ายก็โดนทำโทษ แต่อย่างบ้านเรา กระบวนการมันไม่ได้สืบเพื่อหาคนร้ายแบบนั้น มันเลยท้าทายเราว่าเขียนอย่างไรให้คนเชื่อภายใต้บริบทแบบนี้ อย่างใน ลิงพาดกลอน มันไม่ได้สืบเพื่อหาตัวคนร้าย เพราะตำรวจรู้ตัวคนร้ายตั้งแต่ต้น แต่ไม่เปิดเผยออกมา เพราะยังหาข้ออ้างจะช่วยคนร้ายไม่ได้ แต่ตัวละครเอกอีกตัวที่ไม่ยอม เพราะศพผู้ตายคือเพื่อน กูจะต้องเอาคนผิดมารับโทษให้ได้ แต่จะไปหาช่องทางที่ถูกต้องยุติธรรมมันก็ไม่มี เพราะคนที่รักษาความยุติธรรมก็ทำผิดไปแล้ว สุดท้ายเขาก็ต้องใช้เส้นสาย ซึ่งเป็นสิ่งเลวร้ายของสังคมนี้ให้เป็นประโยชน์ เพื่อจะหาความจริงให้ได้ ผมไม่รู้ว่าในประเทศอื่นมีไหม แต่ภายใต้บริบทประเทศไทย เลยท้าทายว่าทำอย่างไรถึงจะสมจริง เพราะตัวเราเองไม่เชื่อว่าความบริสุทธิ์ยุติธรรมมันมีอยู่

 

 

สิ่งที่คุณเขียนในนวนิยายเรื่องที่มาหลัง กาหลมหรทึก แทบทุกเรื่องมันหนัก สะท้อนสังคม ทำไมช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีคุณถึงเติบโตขึ้นได้มากขนาดนี้

มันเป็นช่วงที่ผมโตขึ้นแบบเร็วมากครับ ตอนเด็กๆ ผมถูกเลี้ยงมาแบบปกป้อง ที่บ้านไม่พูดคำหยาบ ทุกอย่างตามแบบแผนความดีงามที่สังคมยึดว่าดี การวิจารณ์รัฐบาลเป็นเรื่องต้องห้ามในบ้าน แม่จะพูดเสมอว่าเดี๋ยวมีคนได้ยิน แต่จริงๆ แล้วมันไม่มีใครได้ยินไง คือสังคมที่รัฐบาลไทยพยายามปลูกสร้าง มันใช้กับบ้านผมได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แถมเด็กๆ ผมเป็นคนที่เรียนหนังสือดี เหมือนไม่ต้องพยายามอะไร มันเลยกลายเป็นคนโลกสวยประมาณหนึ่ง จนกระทั่งเขียน กาหลมหรทึก มันก็ตั้งคำถามกับตัวเองเยอะมากว่า โลกมันไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดหรือเรียนรู้มานี่หว่า

 

คำถามเหล่านั้นมันมาได้อย่างไร

หลายทางครับ ทั้งการอยากเป็นนักเขียนแล้วเราพยายามอยู่ 10 ปี ปัญหาส่วนตัว ปัญหาในที่ทำงาน ผมรู้สึกว่าไม่ชอบที่ทำงานและอยากลาออก เขียนหนังสือมาหลายปีแล้ว ทำไมถึงหาหนทางไม่ได้เสียที จะออกไปทำงานที่อื่นที่เงินเดือนดีกว่านี้มันก็ไม่มี หรือทำงานที่ได้เงินมากกว่านี้ ชีวิตส่วนตัวก็หายไป ผมเลยกลับไปทำงานที่เดิมที่อยากลาออกตั้งแต่ปีที่ 3 ของการทำงาน แต่สุดท้ายต้องทนไปจนถึงปีที่ 7 แค่เรานอนกลางคืนหรือตื่นขึ้นมาตอนเช้าก็ไม่อยากเจอวันพรุ่งนี้แล้ว เราอยากร้องไห้ตลอดเวลา เลยถามตัวเองว่า เราไม่มีทางเลือกในชีวิตเลยเหรอ ขนาดเรามี กาหลมหรทึก ที่เหมือนประสบความสำเร็จแล้ว เรายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าลาออกมาเขียนหนังสืออย่างเดียวแล้วจะรอดไหม

 

มันไปเองครับ ไม่ได้ตั้งใจตั้งคำถาม แต่พอเรามีตรรกะให้ชีวิต เราจะเห็นเองว่า สังคมนี้มันไม่มีความยุติธรรมกับเราเลย ผมทำงานมาชั่วชีวิต แต่พอออกจากงานปุ๊บ ผมอยู่ไม่ได้ สังคมมันให้กับเราหรือ ขณะที่เราเปย์มันมาตลอด พอเราคิดอย่างนี้ได้ มันก็มีเรื่องอื่นๆ ตามมาเรื่อยๆ ซึ่งเราพบว่า มันไม่แฟร์กับคนที่ใช้ชีวิตในสังคมนี้ ผมมีภาวะซึมเศร้าที่ต้องดิ้นรนอยู่ในกรงอย่างนั้น แต่มันทำให้โตขึ้นเร็วมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ก็ทุกข์มากเหมือนกัน โชคดีที่มีโซเชียลมีเดีย ทำให้เริ่มเห็นความคิดความอ่านของคนอื่น มันเลยทำให้โลกของเรากว้างขวางขึ้น ทำให้เราเห็นโลกของความจริงมากขึ้น ว่าที่เราโตมาตั้งแต่เด็กน่ะ เราโดนหลอกนะ ละครที่บอกเราแบบนี้ ข่าวที่พูดแบบนี้ หรือที่พ่อแม่สอนเราแบบนี้มันไม่ใช่

 

เหมือนกับคุณตั้งคำถามกับแบบแผนที่ยึดถือมาทั้งชีวิต

ผมว่ามันไปไกลกว่าการตั้งคำถามน่ะ มันไม่เชื่อไปแล้ว

 

แล้วมันคลี่คลายไหม

สุดท้ายผมก็ลาออก แต่ไม่ได้ลาออกแล้วดีด้วยนะ เพราะหนีจากภาวะนั้นแล้ว ชีวิตเราน่าจะมีอิสระมากขึ้น แต่กลายเป็นว่าพอไม่ได้ทำงาน เราก็เครียดมากกว่าเดิม ตอนนั้นคิดถึงกับขนาดที่ว่า ถ้าคนเรารู้หรือกำหนดเวลาตายได้ มันคงง่ายกว่านี้ เราจะรู้ว่าปีนี้จะเก็บเงินให้ได้เท่าไร สมมติมีเงิน 1 ล้าน แล้วจะตายภายใน 3 วัน เราจะเป็นคนรวยถูกไหม แต่เราอายุถึง 60 แล้ว มีแค่ล้านเดียว เราโคตรยากจนเลย ตอนนั้นถ้าผมหาวิธีตายโดยไม่เจ็บปวดได้ ผมคงตายไปแล้ว สิ่งที่แย่มากอีกอย่างคือ รู้สึกว่า

ผมพัฒนาตัวเองมาตั้ง 10 ปี เพื่อจะเขียนหนังสือแบบ กาหลมหรทึก หรือ นิราศมหรรณพ ได้ แต่อีกเล่มหลังจากนั้นที่เขียนยาก อ่านก็ยากด้วย แต่ปรากฏว่า สำนักพิมพ์ไม่ให้ผ่าน เพราะรู้สึกว่ามันยากไป อยากให้กลับไปเขียนอะไรง่ายๆ เลยรู้สึกว่า อ้าว ไอ้ 10 ปีที่พยายามเขียนให้ได้แบบนี้ กูกลับไปเขียนแบบ 10 ปีที่แล้วไม่ดีกว่าเหรอ พอเราเควสชันกับตัวเองปุ๊บ มันเลยมะงุมมะงาหราว่าอะไรคือสิ่งที่ถูก อะไรคือสิ่งที่ไม่ถูก

 

ช่วงนั้นมันเลยมีคำถามกับตัวเองเยอะมากว่า วันนี้เราทำแบบนี้ เหมือนเราได้เลือกสิ่งที่ถูกแล้ว แต่พรุ่งนี้มันกลายเป็นผิดน่ะ เราเลยจะไม่ทำแบบเมื่อวานนี้ แต่พอมะรืน สิ่งที่ผิดมันกลับมาเป็นถูกอีกครั้ง อะไรคือถูก อะไรคือผิดกันแน่ แล้วเราควรจะทำอย่างไร สุดท้ายเราก็เหมือนคิดได้ว่าถ้าทำโมเมนต์นั้นๆ ให้ดีที่สุด ก็ปล่อยมันเถอะ ช่างมัน เราตอบคำถามตัวเองได้ก็พอ

 

แล้วคุณประคองตัวเองต่ออย่างไรในความสับสนแบบนี้

สำหรับผม ผมมองเป็น 2 อย่าง คือผมต้องรับผิดชอบตัวเองกับครอบครัว มีเงินมาเลี้ยงเขาได้ ในขณะเดียวกัน สิ่งที่เขียนก็ต้องเป็นสิ่งที่เราไม่รู้สึกเกลียดมัน มีช่วงหนึ่งที่ผมรับงานเขียนเป็นโจทย์แล้วไม่ชอบ เพราะเขาให้เขียนเรื่องความเชื่อ แต่รู้สึกว่าประเทศนี้ใช้ความเชื่อหลอกคนมาเยอะแล้ว มันเลยเป็นการต่อสู้กับตัวเองว่าทำอย่างไรที่เราจะอยู่กับมันได้โดยที่ไม่เกลียดตัวเอง เช่น ผมได้โจทย์ให้เขียนเรื่องเปรต จะเขียนอย่างไรให้ไม่กลายเป็นเปรตที่เราไม่ชอบ เลยไปอ่านข้อมูลว่าเปรตคืออะไร งานผมส่วนใหญ่จะเริ่มแบบนี้ว่าสิ่งที่เขาให้มาคืออะไรกันแน่ จนสุดท้ายจะอ่านไปจนเจอสิ่งที่เชื่อมโยงกับเรา หรือสิ่งที่เราตั้งคำถามว่าจริงหรือที่มันเป็นแบบนี้ และสุดท้ายพอบาลานซ์การทำงานแบบนี้ได้ผมก็รู้สึกดี ได้ทำในสิ่งที่อยากทำด้วย มันขายได้จากความเชื่อมาร์เก็ตติ้งของสำนักพิมพ์ด้วย มันเลยเป็นการรักษาสมดุลและปรับใจของเราให้ได้ มันเหมือนชีวิตน่ะ ที่สุดท้ายเราต้องหาทางให้มันจนเจอ เพราะถ้าหาทางไม่เจอ เราก็ทุกข์กับมันต่อไป

 

 

คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่า การเป็นนักเขียนรุ่นกลางนั้นยาก เพราะต้องทำงานให้สอดคล้องกับการตลาด สาเหตุมาจากตรงนั้นหรือเปล่า

จริงๆ ไม่ใช่แค่นักเขียน แต่ชีวิตของคนที่อยู่ในเจเนอเรชันนี้ ผมว่ายากทุกคน เพราะว่าเราเติบโตมาในโลกเก่า แต่ขณะเดียวกัน สิ่งที่เราเรียนรู้จากโลกเก่ามันพังไปแล้ว และเราต้องอยู่ในโลกใหม่ที่ทุกอย่างมันเปลี่ยนทุกวัน แต่ในขณะที่คนรุ่นใหม่เขาโตมาอย่างนั้น ผมเองแรกๆ ก็รู้สึกว่างานเขียนมันคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เขาไม่มานั่งโฆษณากัน มันเลยยากกับผมตรงที่จะโฆษณากับคนอ่านอย่างไร แต่สุดท้าย มันก็ต้องทำให้ได้ ไม่อย่างนั้นก็อยู่ไม่รอด แต่มันก็ดีนะ อย่างตอนนี้ผมมีอะไรให้เขียนเต็มไปหมด ถ้าเป็นเมื่อก่อนผมคงอยู่กับสิ่งที่เพ้อฝัน ไม่รู้จะเขียนอะไร แต่ตอนนี้เรามีวัตถุดิบเต็มไปหมด

 

ซึ่งวัตถุดิบของคุณคือ?

ข่าว เหตุการณ์ปัจจุบัน แล้วก็เอามาผสมกับเรื่องตัวเอง คือผมจะต้องเขียนเรื่องที่มันเชื่อมโยงกับตัวเองและรู้สึกไปด้วย แต่ผมจะเริ่มจากโจทย์ก่อนครับ ไม่ว่าจะเป็นโจทย์ของตัวเองหรือเป็นโจทย์ของคนอื่น เช่น ล่าสุดสำนักพิมพ์ให้ผมเขียนเรื่องโรแมนติกแฟนตาซี สิ่งที่เขาอยากได้ ผมรู้สึกว่ามันมีคนเขียนมาเป็นล้านเล่มแล้ว จะไปเขียนอีกทำไม มันขัดแย้งกัน เพราะความโรแมนติกของผมคือตายแล้วตายเล่าก็ยังรักกันอยู่ จนสุดท้ายสำนักพิมพ์เขากำหนดมาเลยว่า ต้องเขียนเรื่องพญานาค พญานาคก็พญานาค

 

ฉะนั้น สิ่งที่ผมต้องทำเป็นอันดับแรกคือ ไปหาก่อนว่าพญานาคคืออะไร ความเชื่อของคนไทยกับพญานาคมีอะไรบ้าง จนไปเจอสิ่งที่กระทบใจว่า พญานาคมี 4 ตระกูล มีสีดำ สีทอง สีรุ้ง สีเขียว มันมีระดับ ผมเลยรู้สึกว่ามันมีการแบ่งชนชั้นกันอยู่ พญานาคของผมเลยเป็นเหมือนคนธรรมดา แต่ไม่ใช่คนพันธุ์ปกติ เป็นคนที่รับมือกับอสรพิษได้ เพราะสัตว์อย่างงู แมงป่อง จะสื่อสารกันด้วยฟีโรโมน ผมเลยมาตีความว่า การที่เราเชื่อว่าพญานาคควบคุมงูได้ เพราะมีฟีโรโมนสั่งให้งูเลื้อยไปทางนั้นทางนี้ แล้วอย่างในตำนานที่พญานาคสามารถแปลงร่างจากคนเป็นงู ผมก็เลยตีความให้เป็นชนเผ่าหนึ่งที่เกิดในเอเชียอาคเนย์ ซึ่งสมัยก่อนนับถืองู เพราะเห็นว่างูเป็นสัตว์มีพิษฆ่าคนตาย เขาก็เลยถือเป็นเทพเจ้า และที่ดูเหมือนแปลงร่างเป็นงูได้ด้วย เพราะคนกลุ่มนี้ไปล่างูตัวที่ใหญ่มากๆ ซึ่งใครล่างูเก่งที่สุดก็ถือว่าเป็นอันดับ 1 ของชนเผ่า และที่บอกว่าพญานาคมีหลายสี เริ่มจากงูชนิดนั้นตอนเด็กเป็นสีดำ พัฒนาเป็นสีเขียว สีรุ้ง และจึงกลายเป็นสีทอง ซึ่งเป็นตัวเต็มวัยและเก่งที่สุด การจะฆ่างูสีทองได้แสดงว่าต้องเป็นคนกำยำที่สุดในเผ่า เป็นคนชั้นสูง คนที่ห่มงูสีดำกลายเป็นคนชั้นต่ำ มันเลยสามารถพูดเรื่องของชนชั้น ซึ่งไม่ต่างอะไรกับคนไทยที่ไปกำหนดว่าคนไหนสีอะไร มันเลยไม่ออกไปจากตรงนี้เสียที

 

แสดงว่าการอ่านข้อมูลเป็นเรื่องจำเป็น

มากๆ ครับ อย่างผมเอง ถ้าไม่มีการอ่านก็คงไม่มีวันนี้ เราอ่านตั้งแต่เด็กๆ แต่บ้านผมไม่ได้สนับสนุนการอ่าน คือเขาชอบให้อ่านครับ เพราะการอ่านทำให้รู้สึกว่าเป็นเด็กดี แต่เขาจะไม่ชอบให้ผมอ่านนอกเหนือจากหนังสือเรียน การอ่านหนังสือประโลมโลกจึงไม่ใช่สิ่งที่ดีในสายตาของเขา แต่ด้วยความที่ตอนนั้นผมเป็นเด็กเรียนดี เลยกลายเป็นว่าไม่ต้องรับผิดชอบเรื่องเรียนมากนัก ตอนนั้นที่บ้านผมเปิดร้านขายของ เลิกเรียนเสร็จ กลับมาบ้านผมก็ช่วยแม่เฝ้าหน้าร้าน การอ่านและการเขียนก็เลยเกิดขึ้นตรงนั้น

 

สำหรับคุณแล้ว การอ่านในฐานะที่เป็นนักอ่าน กับอ่านในฐานะที่เป็นนักเขียน สายตามันต่างกันอย่างไร

ผมรู้สึกว่าตัวเองอ่านแบบนักเขียนมาตลอด คือจะสังเกตว่าหนังสือเล่มนี้เขาใช้คำแบบนี้ เขาเว้นวรรคแบบนี้ ตอนที่เขียน กาหลมหรทึก มันเลยเหมือนกับการทำวิจัย เพราะก่อนหน้านั้นผมเขียนแต่เรื่องเด็กๆ แฟนตาซี ไม่ต้องใช้ข้อมูลมากมายอะไร แต่ กาหลมหรทึก มันต้องใช้ข้อมูลจริง แล้วเราก็ไม่รู้ว่าจะหลอกคนอ่านอย่างไรดี แม้ว่าเราจะอ่านหนังสือมาเยอะ ผมเลยไปเปิดดู จิตกาธาน หรือ คินดะอิจิ ว่ามีมุกไหนที่ชอบ ผมก็จะลิสต์มาว่าอันไหนที่เข้าท่า เช่น คินดะอิจิ จะมีมุกที่ใช้บ่อยๆ คือฆ่าคนตายแล้วเผาไฟที่หน้า หรือทุบหน้า ทุบมือ เพราะตำรวจสมัยก่อนจะพิสูจน์ดีเอ็นเอไม่ได้ ถ้าไม่มีลายนิ้วมือปุ๊บก็จะไม่รู้ว่าใคร หรืออย่าง แดน บราวน์ ที่ใช้สถานที่จริงในการเขียนเป็นฉาก ซึ่งอันไหนเข้าท่า ผมก็จะโน้ตไว้ กาหลมหรทึก จึงคือการรวมงานทริลเลอร์และสืบสวนทั้งชีวิตที่เราชอบ เอามาจนหมด ซึ่งจริงๆ ไม่จำเป็นต้องขนาดนั้นก็ได้ แต่เรารู้สึกสนุกที่ได้ทำ

 

 

มีหลายคนเรียกคุณว่า แดน บราวน์​ เมืองไทย จริงๆ แล้วงานเขียนของ แดน บราวน์​ มีอิทธิพลกับคุณแค่ไหน

งานของ แดน บราวน์ เล่มที่มีอิทธิพลกับผมคือ The Da Vinci Code ครับ ครั้งแรกที่ผมอ่านหนังสือเล่มนี้ คือตอนที่เรียนสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ ช่วงนั้นหนังสือเพิ่งออก และทุกคนก็บอกว่าต้องอ่านเล่มนี้ให้ได้ เพราะมันเกี่ยวกับศิลปะ ตอนอ่านครั้งแรกผมก็ยังไม่ได้ชอบ จนมันเป็นหนังออกมา แล้วรู้สึกว่าน่าสนใจ เลยกลับไปอ่านใหม่ เลยรู้สึกว่าโครงสร้างของหนังสือเล่มนี้ดี เพราะตอนเรียนสถาปัตย์ฯ เรายังเด็ก เลยยังไม่ได้มองเรื่องโครงสร้าง แต่หลังจากนั้นเราเข้าใจหมดเลยว่า แดน บราวน์ ต้องทำทรีตเมนต์ก่อน เพื่อเอาข้อมูลมาแทรกตรงนี้ ซีนนี้เขียนเพื่อหลอก ซีนนี้เขียนเพื่อเล่าเรื่อง เราเก็ตหมดเลย ทำให้เราสนุกกับมันมากขึ้น แต่ถ้าถามว่าชอบงานของ แดน บราวน์ ขนาดนั้นไหม เอาเป็นว่ามันไม่ได้เป็นงานที่ถูกอัธยาศัยผม เพราะอ่านไปก็จะสะดุดเป็นบางครั้ง แต่มันช่วยในเรื่องการศึกษางานและวิธีการทำโครงสร้าง ส่วนงานเขียน แดน บราวน์ เล่มที่ผมชอบที่สุดคือ Inferno สู่นรกภูมิ เพราะเป็นเล่มที่ผมไม่รู้อะไรมาก่อน คือผมอ่าน The Da Vinci Code แล้วก็ข้ามมา Inferno สู่นรกภูมิ เลย คนส่วนใหญ่อาจจะรู้สึกว่ามันซ้ำ แต่สำหรับผมที่อ่านเป็นเล่มที่ 2 เลยไม่รู้สึกว่ามันซ้ำอะไรขนาดนั้น ขนาดรู้แล้วว่ามันหลอกตรงนี้  แต่พอถึงจุดหักมุมจริงๆ ก็ยังตกใจว่าหลอกกันขนาดนี้เลยหรือ

 

อ่านด้วยสายตาของนักเขียนที่ถอดโครงสร้างแบบนี้มันจะสนุกหรือ

มีบางช่วงเหมือนกันที่รู้สึกมันก็แค่นี้เอง เมื่อก่อนผมคิดว่า คินดะอิจิ คือที่สุดแล้ว แต่พออ่านไปเรื่อยๆ ก็จะเป็นอย่างที่บอก เผาหน้า ทำลายหน้า หรืออย่าง ฮาร์ลาน โคเบน ที่จะมีมุกให้เราไม่แน่ใจว่าตัวละครนี้ตายไปหรือยัง คือทุกคนจะมีลายเซ็นเป็นของตัวเอง มีบางช่วงเหมือนกันที่รู้สึกว่างานเขียนสืบสวนสอบสวนมันขยับอะไรไม่ได้เลย จนพอหลังๆ เริ่มเปิดใจมากขึ้น ถอยห่างออกมาหน่อย เราก็เลยเจองานร่วมสมัยที่มันไม่ใช่แค่นั้น อย่างเรื่อง Before I Go to Sleep ของ S.J. Watson มันก็คือเรื่องสืบสวนสอบสวนนี่แหละ แต่เอามาใส่วิธีการใหม่ มันเลยทำให้ผมเปิดใจมากขึ้นว่าเรื่องอื่นๆ ก็อาจทำให้เราคิดไม่ถึงได้แบบนี้ ทำให้เราคิดได้ว่า เดี๋ยวนี้เขาไปถึงไหนกันแล้ว หรือแม้แต่เล่มล่าสุดอย่างเรื่อง แรกรัก พอมันมาเจองานเขียนที่ว้าวๆ แบบนี้ เราก็อยากคิดให้ได้แบบนั้นเหมือนกัน

 

แสดงว่าก็ยังเป็นนักอ่านที่ยังสนุกอยู่

สนุกครับ แต่เราไม่ได้อ่านแค่สนุกแล้ว แต่มันต้องมีประโยชน์กับเราด้วย

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

 

FYI
  • LIT Fest เทศกาลหนังสือสนุกไฟลุกพรึ่บ! ลงทะเบียนเข้างาน LIT Fest @LITFest2019 ได้ที่ www.zipeventapp.com/e/LIT-Fest-2019 หรือผ่านทางแอปพลิเคชัน ZipEvent โชว์ QR CODE ที่บูธ Registration เพื่อรับสายรัดข้อมือ สมุดโน้ต และโปสเตอร์ฟรี
  • LIT Fest คือเทศกาลหนังสือสุดสนุกครั้งแรกของเมืองไทย อารมณ์ประมาณงานสัปดาห์หนังสือแต่งงานกับเทศกาลดนตรี แล้วมีลูกเป็นงาน LIT Fest
  • เทศกาลหนังสือ ดนตรี ศิลปะ ในสวนที่คุณจะได้พบกับไอเดียบรรเจิดจากกว่า 30 สำนักพิมพ์ กระทบไหล่ชนแก้วปิกนิกกับนักเขียน นักแปล บรรณาธิการกว่า 100 คน เต้นรำชิลๆ กับ 15 วงดนตรี เอ็นจอยกับ Book Club ลับสมองจนไฟลุก สนุกกับหนัง ละครเวที แสงสีกลางแจ้งเคล้าลมหนาว ในบรรยากาศสบายๆ อิ่มอร่อยกับอาหารที่ได้แรงบันดาลใจจากหนังสือ
  • งานจัดวันที่ 18-20 มกราคม 2019 เวลา​: งานภายในอาคารเริ่ม​ 13.00​ น. / งานกลางสนามเริ่ม 16.00​-22.00 น. ที่มิวเซียมสยาม
  • ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ m.facebook.com/LITFest.th/
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising