×

สสส. จับมือภาคีเครือข่าย ปรับแผนแรง เน้นตรงจุด ลด เจ็บ ตาย รับ 7 วันอันตราย 2563 หวังทุกคนกลับถึงบ้านอย่างปลอดภัย

โดย THE STANDARD TEAM
27.12.2019
  • LOADING...

เรื่องจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ตามรายงานเรื่อง ‘Global status report on road safety 2018’ ฉบับล่าสุด จากองค์การอนามัยโลก หรือ WHO จัดให้เราเป็นประเทศที่มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุสูงติดอันดับ 6 ของโลก และเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน ตำแหน่งที่ไม่น่าภูมิใจนัก และช่วงเทศกาลคือช่วงเวลาแห่งความสูญเสียมากที่สุด ที่ WHO ระบุชัด มียอดผู้เสียชีวิตเฉลี่ยสูงถึง 543 ราย ต่อหนึ่งเทศกาล

 

ขณะที่เมื่อเทียบกับช่วง 7 วันอันตราย ช่วงปีใหม่สามปีย้อนหลังระหว่างปี 2560-2562 มีจำนวน 1,364 ราย หรือวันละ 65 ราย ซึ่งถือเป็นความสูญเสียในระดับสูงและประเมินค่าไม่ได้ 

 

ดังนั้นปีนี้ 2563 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จับมือทั้ง สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ มูลนิธิเมาไม่ขับ และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน จัดหนักมาตรการเข้มข้น ตรงจุด จัดเต็ม เน้นบทลงโทษแรง ร่วมรณรงค์พร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อลดการสูญเสียที่เกิดขึ้นให้ได้มากกว่าอดีตที่ผ่านมา  

 

“สถานการณ์ในช่วงปีใหม่ 2 ปีที่ผ่านมา ปี 2561-2562 ตัวเลขการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น จาก 423 ราย เป็น 463 ราย แม้ว่าจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุของปี 2562 น้อยกว่า แต่กลับเสียชีวิตเยอะกว่า แสดงว่าความรุนแรงของการชนในแต่ละครั้งเพิ่มขึ้น คือชนแล้วทำให้เสียชีวิต เพราะฉะนั้นเราทำงานมาระดับหนึ่ง เราสามารถลดจำนวนครั้งได้ แต่เราลดความรุนแรงในการเกิดอุบัติเหตุไม่ได้ ทำให้ตัวเลขการตายเพิ่มขึ้น จากการวิเคราะห์สาเหตุหลักก็มาจากความเร็วมาเป็นอันดับหนึ่งเสมอ และตามมาด้วยเมาแล้วขับ 

 

เมื่อตรวจเลือดคู่กรณีในที่เกิดเหตุจะพบว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์เกินที่กฎหมายกำหนด มากกว่า 50 มิลลิกรัม พบถึง 53% ที่สำคัญกรณีการเสียชีวิตมักไม่ได้เกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งอย่างเดียวเท่านั้น แต่เกิดจากปัจจัยร่วมหลายอย่าง เช่น อาจเกิดจากการขับเร็ว ความเมา อ่อนเพลีย หรือขับเร็วแล้วทำให้เกิดทัศนวิสัยไม่ดีหรืออื่นๆ แล้วก็พบว่าเมื่อดื่มแอลกอฮอล์แล้ว มีการละเลยไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัยด้วย และมอเตอร์ไซค์ยังเป็นอันดับหนึ่งในการเกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากประเทศไทยเราใช้มอเตอร์ไซค์เยอะ

 

พอเราเห็นสาเหตุหลักๆ อย่างนี้ สสส. จึงเร่งทำงานกับกลุ่มหลักคือมอเตอร์ไซค์ และดูแลปัจจัยสำคัญหลัก 4 เรื่อง คือ การขับรถเร็ว การดื่มไม่ขับ การใช้หมวกนิรภัย และการคาดเข็มขัด ซึ่งเป็นที่มาของการพยายามแก้ไขให้ตรงกับเหตุที่เกิดขึ้นมากที่สุด” 

 

 

รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม (สำนัก 10) สสส. ให้ข้อมูลถึงสาเหตุสำคัญของการสูญเสียที่เกิดขึ้น ก่อนกล่าวต่อถึงแผนป้องกันอันเข้มงวดจากทุกภาคีเครือข่าย ที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกไม่กี่วันข้างหน้านับจากนี้

 

“จริงๆ เราทำงานมาตลอดทั้งปีกับภาคีเครือข่าย สสส. ทำงาน 3 พลัง ได้แก่ พลังแรก พลังวิชาการ ด้วยการสนับสนุนกรมควบคุมโรคให้เป็นเจ้าภาพหลักในการรวมฐานข้อมูลอัตราการเสียชีวิต มีทั้งข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ตำรวจ และข้อมูลจากบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ซึ่งในช่วง 7 วันอันตราย สามารถรายงานแบบเรียลไทม์ พอเช้าวันที่ 8 ก็สามารถสรุปผลได้เลย และมากไปกว่านั้น ยังสนับสนุนให้เก็บข้อมูลลงไปในทุกอำเภอด้วย

 

ส่วนพลังที่สอง เราสนับสนุนเครือข่ายในการทำงาน ให้เกิดอาสาที่เป็นลักษณะนักวิชาการ เรียกชื่อย่อเล่นๆ ว่า พี่เลี้ยง สอจร. ย่อมาจาก คณะทำงานสนับสนุนการป้องกันแก้ไขอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด จะมีอยู่ทุกจังหวัด โดยมีหน้าที่เข้าไปดูการทำงานตามนโยบายของศูนย์ป้องกันความปลอดภัยทางถนน ตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ ลงไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้กลไกทั้งสามมีกรรมการ มีแผนการดำเนินการ ว่าจะป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุตลอดทั้งปีได้อย่างไร แล้วนำมาประเมินผล และตอนนี้เราทำงานเข้าถึงระดับตำบลด้วย ทำให้เกิดนวัตกรรม อย่าง เริ่มจากครอบครัว เชื่อมไปด่านชุมชน แล้วก็ไปด่านตำรวจ หรือการมีกองร้อยน้ำหวาน ที่นำอาสาสมัครผู้หญิงที่เป็นแม่บ้านเข้ามาอบรม เรื่องกฎจราจร วินัยจราจร และออกไปช่วยอำนวยความสะดวก ร่วมกับตำรวจภาค 4 ของกลุ่มจังหวัดอีสานตอนบน 13 จังหวัด ในขณะเดียวก็สังเกตพฤติกรรมไปด้วย เนื่องด้วยความเป็นผู้หญิงจะทำให้ด่านดูไม่รุนแรง ไม่ปะทะ ช่วยทำให้ตำรวจทำงานได้ง่าย และมีประสิทธิภาพขึ้น”

 

 

นอกจากนี้ รุ่งอรุณ ยังกล่าวถึงการดำเนินงานของ สสส. ในเรื่องการช่วยสนับสนุนและเสนอแนะนโยบายป้องกันให้เข้มงวดกว่าที่เคยมีมาก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนมูลนิธิเมาไม่ขับ ในการประสานขอความร่วมมือกับคณะผู้พิพากษา อัยการ ศาล ตำรวจ ให้ดำเนินกฎหมายแยกชั้นโทษให้หนักขึ้น สำหรับกลุ่มที่เมาแล้วขับ สนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขให้มีการวิจัยตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ทุกพื้นที่ในเทศกาลสำคัญ เพื่อยืนยันว่าการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์เป็นมาตรการป้องปรามผู้ดื่มออกมาขับขี่บนท้องถนน 

 

ร่วมมือกับสถานศึกษาทั่วประเทศให้ดูแลเรื่องกลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มเสี่ยงหลัก ‘รถจักรยานยนต์’ เน้นมาตรการตรวจเข้มใบขับขี่ อุปกรณ์ไม่ชำรุด เยาวชนอายุต่ำกว่า 15 ปี ไม่ขี่นอกเขตชุมชน ตลอดจนการบังคับใช้พระราชบัญญัติให้ร้านค้าห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่ผู้มีอาการมึนเมา และเพิ่มเงื่อนไขเอาผิดกรณีขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี และนี่คือภาพรวมคร่าวๆ เท่านั้นที่ สสส. จับมือภาคีเครือข่าย เพื่อไม่ให้เทศกาลรื่นเริง เฉลิมฉลองปีใหม่ของคนไทย เป็น 7 วันสุดท้ายของตัวเอง ครอบครัว และคนที่เขารัก เพราะของขวัญที่ดีที่สุด คงจะไม่มีอะไรดีไปกว่าคุณได้กลับบ้านอย่างปลอดภัย 

 

สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด สังคมต้องตระหนักรู้ถึงความเสียหายต่ออุบัติเหตุบนท้องถนนอย่างจริงจังเสียที และช่วยกันทำหน้าที่ลดตำแหน่งอันดับหนึ่งของอาเซียน ในเรื่องจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ก่อนขยับออกไปสู่ระดับโลกต่อไป 

 

[IN PARTNERSHIP WITH สสส.]

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising