×

เวเนซุเอลายังวิกฤต นักวิชาการไทยชี้ ความไม่ชอบธรรมกำลังสั่นคลอนเก้าอี้รัฐบาล

31.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 mins read
  • จากเหตุปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ฝ่ายสนับสนุนนายมาดูโรและกลุ่มฝ่ายค้าน ทำให้จำนวนยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุความรุนเเรง เนื่องจากออกมาเคลื่อนไหวเพื่อขับไล่นายมาดูโร ตลอด 4 เดือนที่ผ่านมาพุ่งสูงกว่า 120 คนแล้ว
  • นักวิชาการชี้ ‘หากปัญหาเรื่องปากท้องยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ตัวเลขเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ จะเกิดการลุกฮือขึ้น และถ้าหากรัฐบาลของนายมาดูโรยิ่งใช้กำลังความรุนแรงเข้าปราบปรามผู้เห็นต่าง อีกไม่นานจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการเมืองเวเนซุเอลา อันเป็นผลมาจากแรงกดดันทั้งจากภายในและภายนอกประเทศอยากหลีกเลี่ยงไม่ได้’

     ภายหลังจากที่ประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ (Hugo Chávez) ถึงแก่อสัญกรรม ในวันที่ 5 มีนาคม 2013 ภาพรวมของประเทศนี้ก็ส่อแววตั้งเค้ามาก่อนหน้านี้ว่า จะประสบปัญหาเรื้อรังในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่ตกต่ำลงเรื่อยๆ และค่อยๆ กัดกร่อนเสถียรภาพของประเทศ

     จากประเทศที่เรียกได้ว่า เป็นประเทศที่มีน้ำมันสำรองมากที่สุดติดอันดับต้นๆ ของโลก และมีรายได้จากการส่งออกน้ำมันมากที่สุดในภูมิภาคลาตินอเมริกา กลายมาเป็นประเทศที่ต้องนำเข้าพลังงานจากสหรัฐฯ และมีอัตราเงินเฟ้อสูงที่สุดในโลก (ถึง 808% เมื่อปี 2016)  ตลอดจนประชาชนถึงขั้นต้องคอยต่อคิวซื้ออาหารจนยาวเหยียด เนื่องจากเกิดภาวะขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างหนัก

 

Photo: Leo RAMIREZ/AFP

 

     เวเนซุเอลาจัดให้มีการเลือกตั้งครั้งพิเศษขึ้นเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2013 โดยนายนิโคลัส มาดูโร (Nicolás Maduro) รองประธานาธิบดีและรัฐมนตรีต่างประเทศในสมัยรัฐบาลของนายฮูโก ชนะการเลือกตั้ง ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของเวเนซุเอลา โดยชนะด้วยคะแนนเสียงไม่ทิ้งห่างพรรคคู่แข่งของเขามากนัก และถูกฝ่ายค้านตั้งคำถามถึงความชอบธรรมในการเข้ารับตำแหน่งมาโดยตลอด

     รัฐบาลของนายมาดูโร เผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจอย่างหนักและบริหารประเทศผิดพลาด อีกทั้งยังต้องเผชิญกับปัญหาราคาน้ำมันตกต่ำ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญที่สุดของประเทศ ส่งผลกระทบไปยังภาคส่วนต่างๆ ของสังคม เกิดการชุมนุมประท้วงไม่พอใจการทำงานของคณะะรัฐบาลเป็นระยะๆ

ชนวนเหตุที่สำคัญที่ทำให้ประชาชนลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลของนายมาดูโรคือ เมื่อ 29 มีนาคมที่ผ่านมา ศาลสูงสุดของเวเนซุเอลาประกาศยึดอำนาจนิติบัญญัติและถ่ายโอนอำนาจนั้นมาไว้กับศาลสูงสุด ซึ่งเต็มไปด้วยบุคคลที่สนับสนุนนายมาดูโรองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ รุมประณามการกระทำดังกล่าวว่า ไม่ต่างอะไรกับการทำรัฐประหาร

Photo: JAVIER SORIANO/AFP

 

มาดูโรหวังใช้สภาร่าง รธน. ชุดใหม่รวบอำนาจ หลังฝ่ายค้านกุมเสียงส่วนมากในสภาเกือบ 2 ปี

     ชนวนเหตุที่สำคัญที่ทำให้ประชาชนลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลของนายมาดูโรคือ เมื่อ 29 มีนาคมที่ผ่านมา ศาลสูงสุดของเวเนซุเอลาประกาศยึดอำนาจนิติบัญญัติและถ่ายโอนอำนาจนั้นมาไว้กับศาลสูงสุด ซึ่งเต็มไปด้วยบุคคลที่สนับสนุนนายมาดูโร

     คำสั่งดังกล่าวทำให้อำนาจทุกอย่างในการบริหารประเทศจะอยู่ภายใต้การควบคุมของนายมาดูโร ทำให้พรรคฝ่ายค้านและกลุ่มต่อต้าน รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ รุมประณามการกระทำดังกล่าวว่า ไม่ต่างอะไรกับการทำรัฐประหาร

     คำสั่งดังกล่าวทำให้รัฐบาลหลายประเทศในลาตินอเมริกาตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับเวเนซุเอลาในทันที รวมถึงมีมติที่จะอัปเปหิเวเนซุเอลาออกจากการเป็นสมาชิกขององค์การนานารัฐอเมริกัน (Organization of American States: OAS) และองค์กรทางด้านการค้าอย่าง Mercosur อีกด้วย ก่อนที่ศาลสูงสุดจะเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวในที่สุด หลังจากถูกต่อต้านอย่างหนัก เผชิญแรงกดดันจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ

 

Photo: Ronaldo SCHEMIDT/AFP

 

     สถานการณ์ภายในเวเนซุเอลายังคงไม่สงบอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่สภาพเศรษฐกิจของประเทศไม่ดีขึ้น ประชากรขาดแคลนอาหารและทุกข์ทรมานจากความหิว จึงรวมตัวกันประท้วงขับไล่รัฐบาลนายมาดูโร หลังจากที่ยังไม่สามารถแก้ไขวิกฤตการณ์ด้านต่างๆ ภายในประเทศได้ ก่อนที่เหตุการณ์จะลุกลามบานปลาย นำไปสู่การปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคฝ่ายค้านกับกลุ่มสนับสนุนนายมาดูโร จนเป็นเหตุให้เริ่มมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก

     ก่อนที่เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พรรคฝ่ายค้านได้จัดให้มีการลงประชามติอย่างไม่เป็นทางการขึ้น เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของนายมาดูโร โดยมีผู้ออกมาใช้สิทธิสูงถึง 7.2 ล้านคนและมากกว่า 95% ของผู้ที่มาลงคะแนนเสียงต่อต้านประเด็นดังกล่าวและไม่พอใจการทำงานของนายมาดูโร ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลก็ยังคงเร่งเดินหน้าผลักดันการเลือกตั้งสมัชชาร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวานนี้ (30 กรกฎาคม) โดยมองว่า นี่คือทางออกเดียวที่จะนำพาประเทศพ้นวิกฤตในครั้งนี้ได้

 

Photo: JUAN BARRETO/AFP

 

     การเลือกตั้งสมาชิกสมัชชาร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ของเวเนซุเอลาเมื่อวานที่ผ่านมา สร้างแรงปะทะภายในสังคมเวเนซุเอลาอีกครั้ง เกิดเหตุนองเลือดจากการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง กลุ่มผู้สนับสนุนนายมาดูโรและกลุ่มฝ่ายค้านในเมืองการากัส รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียง เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 10 คน หนึ่งในนั้นคือ ผู้สมัครชิงตำแหน่งสมาชิกสมัชชานี้ด้วย

     ประธานาธิบดีมาดูโรกำลังวางเดิมพันครั้งใหญ่โดยหวังพึ่งสภาร่างชุดใหม่นี้ ในการได้มาซึ่งอำนาจในการยุบสภา ซึ่งถูกฝ่ายค้านครองเสียงข้างมากในสภาเกือบ 2 ปี รวมถึงอำนาจในการตราและแก้ไขกฎหมายต่างๆ ของประเทศ จากเหตุปะทะกันครั้งล่าสุดนี้ ทำให้จำนวนยอดผู้เสียชีวิตจากการออกมาเคลื่อนไหวเพื่อขับไล่นายมาดูโร ตลอด 4 เดือนที่ผ่านมาพุ่งสูงกว่า 120 คนแล้ว

     อ.ดร. เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ ปรัชญาและวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคมลาตินอเมริกา รวมถึงประวัติศาสตร์โลกอเมริกัน คาดการณ์ถึงอนาคตการเมืองในเวเนซุเอลาว่า “ถึงแม้ว่าฝ่ายรัฐบาลจะออกมาอ้างว่า มีผู้มาใช้สิทธิในการเลือกตั้งสมัชชาร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่เมื่อวานนี้สูงถึง 41.53% แต่ตัวเลขดังกล่าว ก็ไม่เป็นที่ยอมรับของพรรคฝ่ายค้านที่ตนเชื่อว่า มีประชาชนที่ต่อต้านการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ รวมถึงไม่พอใจการทำงานของนายมาดูโร มากกว่า 88% ส่งผลให้การเมืองเวเนซุเอลายังคงติดหล่มและการปะทะกันจะยังคงดำเนินอยู่ต่อไป”

     อาจารย์กล่าวว่า “รัฐธรรมนูญฉบับเดิมที่ร่างขึ้นในปี 1999 สมัยฮูโกนั้น จะทำการลงประชามติเพื่อถามความเห็นของประชาชนก่อน ว่าเห็นควรที่จะมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่หรือไม่ ถึงจะจัดให้มีการเลือกตั้งขึ้น แต่นายมาดูโร กลับประกาศพระราชกำหนดออกมาเอง โดยให้จัดการเลือกตั้งขึ้นเลย นับว่าการกระทำดังกล่าวขาดความชอบธรรม (Legitimacy) การเลือกตั้งสมาชิกร่างครั้งที่ผ่านมาจึงถูกมองว่า เป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนและเป็นความพยายามในการเพิ่มอำนาจให้แก่ตนเองก่อนที่จะหมดวาระลงในปีหน้า”

 

Photo: JUAN BARRETO/AFP

 

     “การเลือกตั้งสมาชิกสมัชชาในครั้งนี้ถูกออกแบบเพื่อเพิ่มพลังให้กับกลุ่มคนจนในชนบทที่ยังคงสนับสนุนนายมาดูโร และพวกเขามองว่า นายมาดูโรยังดำเนินนโยบายประชานิยมเพื่อคนยากจนในชนบท อีกทั้งเขายังได้ดำเนินการปฏิวัติเงียบ (Silent Revolution) ดึงกองทัพมาเป็นพวกของตน นี่คือเหตุผลสำคัญที่นายมาดูโรยังคงได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายที่เห็นด้วยกับเขา”

     อาจารย์ยังกล่าวอีกว่า “หากปัญหาเรื่องปากท้องยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ตัวเลขเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ฐานเสียงที่สนับสนุนเขาเหล่านี้จะเริ่มเปลี่ยนความคิด และถ้าหากรัฐบาลของนายมาดูโรยิ่งใช้กำลังความรุนแรงเข้าปราบปรามผู้เห็นต่าง อีกไม่นานจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการเมืองเวเนซุเอลา อันเป็นผลมาจากแรงกดดันทั้งจากภายในและภายนอกประเทศอยากหลีกเลี่ยงไม่ได้”

 

Photo: Ronaldo SCHEMIDT/AFP

     อ.ดร. เชาวฤทธิ์ กล่าวทิ้งท้ายกับ THE STANDARD ถึงประเด็นความแตกต่างของการเมืองเวเนซุเอลาที่การเมืองไทยยังเดินทางไปไม่ถึงจุดวิกฤตจุดนั้นว่า “แนวทางในการดำเนินนโบายทางด้านการเงินและการคลังของไทย ที่พึ่งพาการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศน้อย ทำให้ไทยไม่เคยไปถึงจุดที่เงินเฟ้อสูงเกือบ 1,000% อย่างเวเนซุเอลา อีกทั้งลักษณะทางด้านเศรษฐกิจของเวเนซุเอลาเองที่เน้นเฉพาะการพัฒนาสินค้าส่งออกอย่างน้ำมันดิบแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ยอมพัฒนาภาคเศรษฐกิจอื่นๆ เลย (Dutch Disease) พอสินค้าชนิดนี้ราคาตก ก็ล้มทั้งประเทศ”

     “ตัวผู้นำของพรรคฝ่ายค้าน (ฝ่ายตรงข้าม) ไม่เด่นชัดอย่างในการเมืองไทย ทำให้การเมืองเวเนซุเอลาดูติดหล่ม เพราะขาดเสาหลักในการกำหนดทิศทางที่ชัดเจนของกลุ่ม นอกจากนี้ แรงกดดันจากต่างประเทศ (Pressure from abroad) ที่นายมาดูโรเจอ มีมากกว่าไทยทุกครั้งที่เกิดวิกฤต แม้ไทยอาจจะไม่ได้อยู่ในขั้นวิกฤตเท่ากับเวเนซุเอลาในปัจจุบัน แต่ประชาคมโลกก็กำลังรอคอยและเฝ้าจับตาการเลือกตั้งและช่วงเวลาที่ประชาธิปไตยจะงอกงามที่นี่อีกครั้ง”

 

Photo: Ronaldo SCHEMIDT/AFP

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising