×

เด็กรุ่นใหม่ควรกล้าตั้งคำถามหรือไม่? ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ และ ‘เนติวิทย์’ คิดอย่างไร

04.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ตอบคำถามว่าควรทำอย่างไร เมื่ออุดมคติของเด็กและผู้ใหญ่มักขัดกัน
  • เนติวิทย์ยอมรับว่าการแสดงความเห็นของคนรุ่นใหม่ทำได้ยาก และกรณีของอิมเมจ คือตัวอย่างของการทำลายอุดมการณ์
  • ปาถกฐามูลนิธิโกมลคีมทอง เมื่อปี 2517 สรุปนิยามของคนรุ่นใหม่ว่าจะต้องกล้าวิพากษ์วิจารณ์โดยใช้สติปัญญาอย่างสร้างสรรค์และอย่างอ่อนน้อมถ่อมตน

     ขณะที่กระแส #อิมเมจ กำลังปะทุ จากการแสดงความเห็นผ่านทวิตเตอร์จนเกิดกระแสวลีดัง #ประเทศเฮงซวย ภาพตัดไปที่พิธีการถวายราชสักการะและถวายสัตย์ปฏิญาณตนเข้าเป็นนิสิตใหม่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปี 2560

     เกิดเหตุการณ์ ‘ล็อกคอนิสิต’ ที่พยายามจะแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ไม่เห็นด้วยกับการหมอบกราบถวายบังคม และเรียกร้องให้ทางมหาวิทยาลัยเปิดพื้นที่ให้นิสิตได้ถวายความเคารพด้วยวิธีอื่นตามความสมัครใจ ซึ่งนำโดยนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ประธานสภานิสิตจุฬาฯ

     หลังเหตุการณ์ ‘ล็อกคอ’ เกิดกระแสโต้แย้งไปมากันอุตลุด

     ข้อเท็จจริงในวันนั้นเป็นอย่างไร?

     อาจารย์ที่ล็อกคอทำเกินกว่าเหตุ หรือบริบทในขณะนั้นเป็นอย่างไร ทำไมอาจารย์จึงต้องทำแบบนั้น?

     ในวันนั้นทีมข่าว THE STANDARD อยู่ในพิธีดังกล่าว แต่ก็ไม่อาจรายงานข้อเท็จจริงได้ทั้งหมด เนื่องจากไม่สามารถมองเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดจากจุดที่ยืนอยู่

     เราจึงเลือกที่จะถอยออกมามองภาพที่ใหญ่กว่านั้น แล้วพบว่าทั้งกรณีของ ‘อิมเมจ’ และ ‘เนติวิทย์’ มีจุดร่วมที่เหมือนกันคือ สะท้อนการแสดงความเห็นหรืออุดมคติของ ‘คนรุ่นใหม่’

     ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา สิ่งที่คนรุ่นใหม่อยากเห็นมักไม่ตรงกับสิ่งที่คนรุ่นเก่าอยากให้เป็น

     นอกเหนือจากความเห็นต่างและขัดแย้งระหว่างคนสองรุ่น คำถามที่สำคัญกว่านั้นคือ

     แท้จริงแล้ว ‘คนรุ่นใหม่’ ควรเป็นอย่างไร?

ในกรณีนี้ผมเห็นว่าเป็นความผิดของผู้ใหญ่มากกว่า ในเมื่อตนมีโอกาสได้เห็นโลกมากกว่า ควรจะรู้เรื่องการแปรผันของโลกมากกว่า ส่วนเด็กไม่เคยรู้เรื่องเลย หรือมีประสบการณ์น้อยกว่า

เมื่อ ‘คนรุ่นเก่า’ กับ ‘คนรุ่นใหม่’ เห็นต่างกัน ควรทำอย่างไร?

     อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เคยกล่าวปาฐกถาในงานมูลนิธิโกมลคีมทอง ประจำปี 2517 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2517 โดยสำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทองได้เรียบเรียงปาฐกถาครั้งนั้นรวมพิมพ์เป็นหนังสือ ‘อุดมคติสำหรับคนรุ่นใหม่’ ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2537

     ในช่วงถาม-ตอบ มีผู้ถามอาจารย์ป๋วยว่า

     “อุดมคติของเด็กและผู้ใหญ่มักขัดกัน ในกรณีนี้ควรหาทางประนีประนอมอย่างไร”

     อาจารย์ป๋วยตอบว่า “ในกรณีนี้บางอย่างก็ประนีประนอมได้ บางอย่างก็ประนีประนอมไม่ได้

     “สมมติว่าอุดมคติในทางการเมือง ในการเลือกตั้ง เด็กอย่างนักศึกษาเห็นว่าควรมีการเลือกตั้งโดยบริสุทธิ์ แต่นักการเมืองพยายามทำทุกอย่างเพื่อเป้าหมายที่จะได้อำนาจ เพราะฉะนั้นจะบริสุทธิ์หรือไม่นั้นไม่ได้อยู่ในสายตาของเขา ในกรณีนี้ผมเห็นว่าประนีประนอมกันไม่ได้

     “ในตัวอย่างของฤกษ์ยามการมงคลสมรส เด็กทั้งเจ้าบ่าว-เจ้าสาวอาจมีความคิดที่จะเป็นอิสระ ไม่ต้องการหาฤกษ์ยาม เอาเรื่องของการสมรสที่จะมีสุขได้จริงๆ แทนที่จะเอาเรื่องที่เป็นเปลือกมาคำนึงถึง เช่น เรื่องฤกษ์

     “ถ้าหากผู้ใหญ่หรือบิดามารดาฝ่ายบ่าวสาวยืนยันว่าต้องทำพิธีให้ถูกต้องตามขนบธรรมเนียมของไทย เรื่องอย่างนี้บางทีอาจประนีประนอมได้ แต่การประนีประนอมในฐานะที่ผมเป็นคนกลาง ผมก็ว่าต้องโน้มเข้าหากันทั้งสองฝ่าย

     “ถ้าพูดถึงสภาวะสังคมโดยทั่วไป ผู้ใหญ่และเด็กแตกแยกกันไปทุกที ฝ่ายผู้ใหญ่ก็ยึดมั่นอยู่ใน ร.ศ. ๑๑๒ ฝ่ายเด็กก็ไปคนละยุค

     “ในกรณีนี้ผมเห็นว่าเป็นความผิดของผู้ใหญ่มากกว่า ในเมื่อตนมีโอกาสได้เห็นโลกมากกว่า ควรจะรู้เรื่องการแปรผันของโลกมากกว่า ส่วนเด็กไม่เคยรู้เรื่องเลย หรือมีประสบการณ์น้อยกว่า

     “ถ้าจะดูถึงความเปลี่ยนแปลงของโลก เมื่อผมจากกรุงเทพฯ ไปเมื่อ 2 ปีก่อน นักศึกษาธรรมศาสตร์ไม่ได้แต่งตัวเหมือนเดี๋ยวนี้ โลกก็เปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นจะถือทัศนะเก่าไม่ได้ แต่แน่ล่ะ การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างไม่ใช่ของดี ถ้าหากมีวิธีประนีประนอมระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ก็ควรทำ แต่ความรับผิดชอบอยู่ที่ผู้ใหญ่”

คนรุ่นใหม่จะต้องกล้าสงสัย กล้าตั้งคำถามต่อระบบคุณค่าของสังคม กล้าแสวงหาและท้าทาย อย่างน้อยก็ต่อตนเอง คนรุ่นใหม่จะต้องกล้าวิพากษ์วิจารณ์โดยใช้สติปัญญาอย่างสร้างสรรค์ และอย่างอ่อนน้อมถ่อมตน

‘ต้องกล้าสงสัย’ คือคุณสมบัติของคนรุ่นใหม่

     พจน์ กริชไกรวรรณ บรรณาธิการหนังสือ อุดมคติของคนรุ่นใหม่ ได้สรุปนิยามคำว่า ‘คนรุ่นใหม่’ จากงานปาฐกถาดังกล่าวไว้ว่า

     “คนรุ่นใหม่จะต้องกล้าหาญทางจริยธรรม คือกล้าทำความดี กล้าสนับสนุนคนดี และกล้าปฏิเสธสิ่งที่ไม่ดี คนรุ่นใหม่จะต้องกล้าสงสัย กล้าตั้งคำถามต่อระบบคุณค่าของสังคม กล้าแสวงหาและท้าทาย อย่างน้อยก็ต่อตนเอง คนรุ่นใหม่จะต้องกล้าวิพากษ์วิจารณ์โดยใช้สติปัญญาอย่างสร้างสรรค์ และอย่างอ่อนน้อมถ่อมตน

คนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถจะต้องกล้าที่จะใช้ชีวิตนอกระบบอย่างคนธรรมดาสามัญ โดยดำรงความเป็นตัวของตัวเองแบบไม่เย่อหยิ่ง และใช้ชีวิตเรียบง่าย มีสาระประโยชน์ ไม่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม

     คนรุ่นใหม่จะต้องกล้าเทิดทูนเสรีภาพและศรัทธาต่ออนาคตที่ดีงาม คนรุ่นใหม่จะต้องพยายามเรียนรู้ภูมิธรรมดั้งเดิมของสังคมไทย โดยเฉพาะพุทธศาสนา รู้ถึงข้อเด่นข้อด้อยของวัฒนธรรมไทย ทั้งนี้ก็พร้อมที่จะเปิดกว้างในการเรียนรู้หลักคิดของศาสนาอื่นๆ อย่างพิจารณาไตร่ตรอง

     “นอกจากนี้ คนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถจะต้องกล้าที่จะใช้ชีวิตนอกระบบอย่างคนธรรมดาสามัญ โดยดำรงความเป็นตัวของตัวเองแบบไม่เย่อหยิ่ง และใช้ชีวิตเรียบง่าย มีสาระประโยชน์ ไม่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม คนรุ่นใหม่ในที่นี้จึงไม่ได้จำกัดเพียงแค่คนหนุ่มสาวเท่านั้น”

     ขอพาคุณผู้อ่านตัดกลับมาโลกปัจจุบันอีกครั้ง หลังเหตุการณ์ ‘ล็อกคอ’ ที่หน้าลานพระบรมรูปสองรัชกาล จุฬาฯ จบลงหมาดๆ THE STANDARD ชวน เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล มาคุยกันถึงเรื่องการแสดงความเห็นของคนรุ่นใหม่ โดยในขณะพูดคุย อารมณ์ของเนติวิทย์กำลังคุกรุ่นอยู่

     เนติวิทย์ยอมรับว่า การแสดงความเห็นของคนรุ่นใหม่ในช่วงเวลานี้ทำได้ยาก ต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีโครงสร้างทางการเมืองที่ไม่ดี เป็นโครงสร้างที่ไม่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่

     “ลองดู สนช. คนส่วนใหญ่อายุเท่าไร วัยจะเกษียณกันหมดแล้ว แล้วก็มาจากกลุ่มอาชีพเพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้น

     “คนรุ่นใหม่เวลาจะพูดอะไร แน่นอน ก็ต้องขัดใจคนรุ่นเก่าอยู่แล้ว เพราะคนรุ่นเก่ายังคงครองอำนาจ”

     เนติวิทย์บอกว่า ที่ผ่านมาคนรุ่นใหม่ในช่วงแรกๆ ยังไม่กล้าพูด แต่ว่าตอนนี้คนรุ่นใหม่กล้าที่จะพูดออกมา

     “เท่าที่ผมเห็น ความอัดอั้นตันใจมันออกมาเต็มไปหมดเลย บางทีก็อาจจะมีเหตุผล บางทีก็อาจจะไม่มีเหตุผล แต่เพราะว่าเขาถูกกดมานานมาก แต่ว่าตอนนี้เท่าที่เห็น เขาก็แสดงความเห็นอย่างมีเหตุมีผลมากขึ้น ใช้อารมณ์น้อยลง หรือถ้ามีข้อมูลมาแย้งว่าเขาผิด เขาก็ยอมรับผิด

     “อันนี้คือคนรุ่นใหม่ที่ผมเห็นจากเพื่อนๆ ผม เวลาเขาโพสต์ (เฟซบุ๊ก) บ่นด้วยความอัดอั้นตันใจ แต่ถ้ามีคนมาแย้ง เขาก็ยอมรับฟัง ยอมเปลี่ยนทัศนะ

     แต่คนรุ่นเก่าบางคน บางทีเชื่อแบบนี้ก็เชื่อแบบนี้ เพราะนี่คือประสบการณ์ของเรา แต่โลกเดี๋ยวนี้ อาจจะด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ทำให้การเชื่ออะไรอย่างเด็ดเดี่ยวเดียวดายมันไม่สามารถที่จะเรียกได้ว่าเป็นอะไรที่เราเชื่อได้จริงๆ เพราะมันมีอีกหลายมุมที่เราต้องเรียนรู้ และผมว่าคนรุ่นใหม่ยอมรับสิ่งนี้ว่าเป็นพื้นฐานของการทำความเข้าใจชีวิตในการอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ รอบข้าง”

     เนติวิทย์ บอกว่า กรณี #อิมเมจ เราเห็นการกลืน การทำลายอุดมการณ์ของคนอย่างชัดเจนที่สุด เหมือนที่เราเคยได้ยินว่าอยู่ไปนานๆ สุดท้ายเราก็จะไม่มีอุดมการณ์ เพราะประเทศนี้มันกลืนกินคนที่คิดต่าง

เราต้องเอาความรับผิดชอบในการเป็นพลเมืองกลับมาว่าเรามีอำนาจที่จะเปลี่ยนประเทศนี้ ไม่ใช่ให้คนกลุ่มหนึ่งที่คิดว่าฉลาดมาครอบครอง

     “ผมว่าคนรุ่นใหม่ต้องสร้างขึ้นมา อย่าไปเอาตามที่คนรุ่นเก่าเขาบอก เราสร้างด้วยตัวเราเอง เราเป็นมนุษย์ ต้องมีความรับผิดชอบ แต่ว่าสังคมไทยทำลายความรับผิดชอบ เราอยู่ที่โรงเรียน คุณไม่ต้องคิดมากเรื่องทรงผม เราตัดเกรียนให้หมด อยู่มหาวิทยาลัยก็ไม่ต้องคิดมาก ใส่เครื่องแบบเหมือนกัน ไปถวายสัตย์ก็อย่าแต่งผม อย่าทาเล็บ สิ่งเหล่านี้คือการทำลายความรับผิดชอบของเรา

     “พอเราโต เราก็กลายเป็นผู้ใหญ่ที่ติดกรอบ และนี่อาจเป็นส่วนหนึ่งด้วยที่ทำให้สังคมไทยล้มเหลว เราต้องเอาความรับผิดชอบกลับมา ประชาธิปไตยทหารก็เอาไป เราต้องเอาความรับผิดชอบในการเป็นพลเมืองกลับมาว่าเรามีอำนาจที่จะเปลี่ยนประเทศนี้ ไม่ใช่ให้คนกลุ่มหนึ่งที่คิดว่าฉลาดมาครอบครอง” เนติวิทย์ทิ้งท้าย

     เมื่อเกิดกรณีการปะทะกันระหว่าง ‘คนรุ่นเก่า’ และ ‘คนรุ่นใหม่’ การทุ่มเทมุ่งค้นหาว่าใครถูกใครผิดอาจไม่เกิดประโยชน์คุ้มค่า เมื่อเทียบกับเวลาที่เสียไป

     เพราะถึงอย่างไร คนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ก็ยังต้องอยู่ร่วมในสังคมเดียวกัน

     การหาวิธีและพื้นที่ที่จะอยู่ร่วมกันน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising