×

“วงการไลฟ์โค้ชเหมือนฟองสบู่ที่รอวันระเบิด” ชำแหละไลฟ์โค้ชแบบวิสูตร แสงอรุณเลิศ

05.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • หลักการของไลฟ์โค้ชคือการใช้คำถามสะท้อนความเป็นตัวตนของอีกฝ่ายเพื่อให้เขาเห็นวิธีแก้ปัญหา หรือวิธีการจะไปให้ถึงสิ่งที่เขาต้องการด้วยตัวเอง โค้ชมีหน้าที่ในการตั้งคำถามและไกด์แนวทางเท่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่คอยบอกหรือตัดสินว่าผู้ถูกโค้ชควรกระทำอย่างไรต่อไป
  • สถานการณ์ของวงการโค้ชในประเทศไทยทุกวันนี้คล้ายคลึงกับฟองสบู่ที่รอวันระเบิด เพราะเป็นยุคที่เกิดโค้ชขึ้นมาประดับวงการต่างๆ เต็มไปหมด ทั้งโค้ชรู้จริงที่พร้อมจะเผยแพร่ความรู้ หรือโค้ชรู้เท่าไม่ถึงการณ์ที่อยากเข้ามาทำเพราะเรื่องเงิน
  • วิสูตรแบ่งไลฟ์โค้ชออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ‘ประทัด’ คือกลุ่มโค้ชที่เรียกร้องความสนใจเก่ง ชวนให้คนลุ่มหลงในอะไรบางอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความรวย และ ‘ประทีป’ ที่ไม่ได้เก่งด้านการเรียกร้องความสนใจ แต่หวังให้คนได้ยกระดับปัญญา โดยผู้ที่จะทำการตรวจสอบคุณภาพของไลฟ์โค้ชได้ดีที่สุดคือผู้บริโภคที่ถูกโค้ช โค้ชคนไหนดีไม่ดีก็ควรบอกต่อกัน

     ‘อกหัก ขึ้นคาน ตกงาน เป็นหนี้ พ่อแม่แยกทาง ทะเลาะกับเพื่อน เจ้านายไม่เห็นค่า ฯลฯ’ เชื่อว่าทุกช่วงชีวิตของมนุษย์ทุกคนต่างเคยประสบปัญหาเหล่านี้ บางครั้งบางคราวที่ปัญหาเรื้อรังขึ้นนานวันจนทำให้สุขภาพจิตเสื่อมลง อาชีพอย่างจิตแพทย์ ผู้ให้คำปรึกษา หรือไลฟ์โค้ช จึงเกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองความทุกข์ดังกล่าว

     สำหรับ บอย-วิสูตร แสงอรุณเลิศ นักเขียน นักพูด เจ้าของเพจ Boy’s Thought และผลงานหนังสือ งานไม่ประจำ ทำเงินกว่า และ หนังยางล้างใจ เขาก็เป็นหนึ่งในผู้ที่เคยประสบปัญหามรสุมชีวิตมาก่อน โดยยอมรับว่าศาสตร์ไลฟ์โค้ชมีส่วนช่วยพลิกชีวิตและเปลี่ยนแนวคิดของเขาไปไม่น้อย

     ก่อนจะด่วนตัดสินว่าไลฟ์โค้ชเป็นอาชีพที่ไม่น่าเชื่อถือหรือน่าหมั่นไส้จนพานกดปิดลิงก์ไปก่อน เราอยากให้คุณได้ลองเปิดใจฟังมุมมองอีกด้านของวิสูตรที่มีต่อวงการไลฟ์โค้ชผ่านบทสัมภาษณ์นี้ ที่แม้ว่าเขาจะเอ่ยปากบอกเราว่าเชื่อในศาสตร์ดังกล่าวเพียงใด แต่คำตอบที่ได้ส่วนใหญ่กลับสะท้อนให้เห็นมุมมองเชิงวิพากษ์แบบเป็นกลางที่เจ้าตัวมีต่อไลฟ์โค้ชได้เป็นอย่างดี

วงการโค้ชในประเทศไทยตอนนี้มีลักษณะคล้ายฟองสบู่ที่รอวันระเบิด

 

คุณเรียกสิ่งที่ทำทุกวันนี้ว่าอะไร

     นิยามยากมากครับ เป็นทั้งนักเขียน นักพูด จัดคอร์สอบรม และมีธุรกิจเป็นของตัวเอง แต่คนจะมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในสิ่งที่ผมทำ เพราะเนื้อหาที่ผมเขียนทั้งในหนังสือหรือเพจเป็นเรื่องการพัฒนาตัวเองเพื่อให้คนเก่งขึ้นด้วยทักษะต่างๆ หรือเรื่องการสร้างแรงบันดาลใจ ส่วนเวลาพูดบรรยายก็จะเน้นเรื่องการตั้งเป้าหมาย (goal setting) และการคิดบวก (positive mindset) คอร์สอบรมที่ดูแลก็สอนเรื่องการเขียนและการพูด คนเลยอาจจะสับสนกันว่าผมเป็นนักพูดปลุกแรงบันดาลใจ สร้างพลังคน หรือเป็นไลฟ์โค้ช ทั้งๆ ที่ผมไม่ได้โค้ชอะไรใครเลย

 

อยากให้คุณช่วยเล่าข้อมูลคร่าวๆ ที่ทราบเกี่ยวกับไลฟ์โค้ช

     จริงๆ แล้วคำว่าโค้ช (coach) มีรากศัพท์มาจากคำว่า ‘รถม้า’ โค้ชจึงไม่ได้หมายถึง การสั่งสอนคนให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่คือการพาคนจากจุดหนึ่งไปอีกจุดโดยที่ตัวเองเป็นเพียงพาหนะรับใช้เพื่อพาคนไปส่งยังปลายทาง ซึ่งตัวผู้โดยสารจะเป็นคนกำหนดเป้าหมายเอง ทีนี้พอใช้คำว่าโค้ชกันไปนานๆ ความหมายมันก็เพี้ยนไปเรื่อย

     ในประเทศไทยไม่เคยมียุคไหนที่ ‘โค้ช’ เกิดขึ้นเยอะขนาดนี้มาก่อน ผมเคยอยู่ในวงการเพลง พอมาเห็นสถานการณ์วงการโค้ช ณ ปัจจุบันก็ทำให้ย้อนคิดถึงวงการเพลงอินดี้เมื่อ 10 ปีที่แล้วที่เพลงอินดี้เกิดขึ้นมาเต็มไปหมด จนสุดท้ายก็ทำลายตัวเองเหลือแค่คนที่เป็นอินดี้ตัวจริงเท่านั้น ตอนนี้สถานการณ์ของโค้ชก็คล้ายๆ กัน พอเป็นอาชีพอะไรก็ตามที่ไม่ต้องมีการกำหนดกฎเกณฑ์ ไม่มีการสอบเพื่อรับใบรับรอง ใครๆ ก็เป็นได้ คนเลยมาทำอาชีพโค้ชเต็มไปหมด โดยเฉพาะในกรณีที่วงการกำลังบูมและส่งกลิ่นโชยของช่องทางการทำเงิน แต่ผมก็เคยให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อประมาณหนึ่งปีที่แล้วว่า วงการโค้ชในประเทศไทยตอนนี้มีลักษณะคล้ายฟองสบู่ที่รอวันระเบิด ปัจจุบันหลายๆ คนก็เริ่มรู้สึกหมั่นไส้กันแล้ว โค้ชอะไรก็ไม่รู้เกิดขึ้นมาเต็มไปหมด

 

พอจะอธิบายวิธีการโค้ชที่ไลฟ์โค้ชส่วนใหญ่เขาทำกันแบบเข้าใจง่ายได้ไหม

     การถูกโค้ชคือการที่คุณจะต้องนั่งคุยตัวต่อตัวกับโค้ช เขาจะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาชีวิตของคุณ เพราะบางเรื่องที่คุณติดกับจนนึกอย่างไรก็นึกไม่ออก มันจึงจำเป็นจะต้องมีคนมาคอยไกด์แนวทางให้ โดยใช้เทคนิคการสะท้อนตัวตน (reflective) เช่น สมมติว่าคุณมาคุยกับไลฟ์โค้ชว่าทุกข์ใจ อยากมีรายได้เพิ่ม โค้ชจะไม่บอกให้คุณไปลองขายของออนไลน์ แต่จะถามคุณกลับว่ามีความถนัดด้านใด ถ้าถนัดด้านการเขียนแล้วจะเอาความสามารถนี้ไปใช้ทำอะไรได้บ้าง มีความสามารถด้านการสัมภาษณ์ แล้วมีคอนเน็กชันกับใครหรือไม่ หลักการมันคือการถามคำถามเพื่อไกด์แนวทางไปเรื่อยๆ โดยที่ตัวคนถูกโค้ชจะเป็นคนตอบคำถามเหล่านั้นด้วยตัวเอง คนเป็นไลฟ์โค้ชจะไม่ได้ให้คำตอบ

คนไทยบางกลุ่มรู้สึกว่าการไปหาไลฟ์โค้ชย่อมโอเคกว่าการไปพบจิตแพทย์ เหมือนเราไปเข้าสัมมนา ไม่ได้เข้าไปรับการบำบัดรักษา

ทำไมอยู่ๆ อาชีพโค้ชถึงเข้าสู่ช่วงพีกได้ขนาดนี้

     ต้องบอกก่อนว่าคนที่เป็นโค้ชจริงๆ ก็มีนะ มีกันเป็นสมาคมโค้ชไทย ต้องสอบใบรับรองจากสถาบันโค้ชอเมริกากันเลย การจะเป็นโค้ชได้ต้องผ่านการอบรมและสนามทดสอบการโค้ชให้คนอื่นๆ หลายชั่วโมง ฉะนั้นช่วงนี้คนเป็นโค้ชที่มีใบรับรองจริงๆ และมีวิธีการโค้ชที่เป็นหลักการจึงเกิดอาการเซ็งไม่น้อย เพราะปัจจุบันการพูดว่าตัวเองเป็นโค้ชมันทำให้เกิดภาพลักษณ์ด้านลบมากกว่าเชิงบวก คนนอกจะรู้สึก ‘อี๋ ไม่มีอะไรทำแล้วเหรอวะ’ ผมมองว่าวงการไลฟ์โค้ชบูมเพราะมีการสอนคนให้เป็นโค้ชกันเยอะขึ้น หรือบางคนที่ได้ศึกษาศาสตร์นี้แล้วรู้สึกว่าดี เขาก็อยากทำ รวมไปถึงการที่โค้ชซื้อสปอนเซอร์ในโซเชียลมีเดีย ทำให้คนเห็นกันมากขึ้น

     มันคล้ายกับร้านสะดวกซื้อที่อยู่ๆ ก็เกิดการขยายสาขามากมาย ทีนี้พอมีจำนวนมาก การควบคุมคุณภาพก็เป็นเรื่องยาก ที่แย่ไปกว่านั้นคือไม่มีใครมาควบคุมด้วย ฉะนั้นการจะตรวจสอบโค้ชแต่ละคนก็ต้องอาศัยคนที่ได้ไปเรียนหรือได้รับการโค้ชมาบอกเล่า ถ้าดีก็บอกต่อ แต่ถ้าไม่ก็อาจจะกลายเป็นประเด็นดราม่าได้ จริงๆ แล้วอาชีพโค้ชหรือนักพูดสร้างแรงบันดาลใจไม่ว่าจะในไทยหรือประเทศไหนก็ตามมักจะถูกมองว่า ‘อะไรของมึงวะ’ ยิ่งคนที่ไม่เข้าใจศาสตร์นี้ก็จะสงสัยว่าเป็นการหลอกคน มากระตุ้นคนแล้วยังไง ตัวโค้ชจะรู้จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้

     นอกจากนี้ถ้าวิเคราะห์ในมุมของผม ผมรู้สึกว่าต่างประเทศเขามองการปรึกษาจิตแพทย์เป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องที่แย่ แต่สังคมไทยส่วนหนึ่งมักจะมองว่าคนที่พบจิตแพทย์เป็นคนบ้าและโรคจิต เมื่อประมาณสองอาทิตย์ที่แล้วผมมีโอกาสได้คุยกับจิตแพทย์ เขาบอกว่าคนที่จะเข้ามาปรึกษายังต้องกระมิดกระเมี้ยนแอบเข้ามาหาเลย ทั้งๆ ที่ตัวคุณหมอเองเวลาเกิดปัญหาชีวิตก็ยังต้องพบจิตแพทย์เหมือนกัน บางทีมันก็เหมือนนกไม่เห็นฟ้า ปลาไม่เห็นน้ำ คืออยู่ในสภาวะนั้นๆ จนเคยชินและมองไม่เห็นปัญหา แต่พอมีไลฟ์โค้ชมันเลยเติมเต็มให้คนไทยบางกลุ่มรู้สึกว่าการไปหาไลฟ์โค้ชย่อมโอเคกว่าการไปพบจิตแพทย์ เหมือนเราไปเข้าสัมมนา ไม่ได้เข้าไปรับการบำบัดรักษา

 

เวลาจิตแพทย์เกิดปัญหา เขาก็จะไปหาจิตแพทย์ด้วยกันให้ช่วยบำบัด แล้วเวลาที่ไลฟ์โค้ชเกิดปัญหาไม่สบายใจ เขาทำอย่างไร

     จริงๆ ไลฟ์โค้ชบางคนก็โค้ชตัวเองได้นะ เหมือนเป็นการคุยกับตัวเอง แต่ต้องเป็นรุ่นใหญ่ประมาณหนึ่ง ซึ่งต้องแยกเป็นสองร่าง ถามตอบกับจิตตัวเอง เช่น ถามตัวเองว่า

     ก: “วันนี้ทุกข์ใจใช่ไหม”

     ข: “ใช่”

     ก: “ทุกข์ใจเรื่องอะไร”

     ข: “แฟนทิ้ง”

     ก: “มีข้อเสียอะไรล่ะที่ทำให้แฟนทิ้ง”

 

แต่บางคนก็รู้สึกว่าทำไมต้องให้ใครที่ไหนก็ไม่รู้มาเปลี่ยนความคิดของเขาด้วย

     จริงๆ โดยหลักการแล้ว คนที่จะถูกโค้ชได้ก็ต้องเปิดใจยอมรับให้โค้ชมาโค้ชเขาก่อน ซึ่งทุกวันนี้การที่คนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ชอบหรือสนใจเรื่องพวกนี้แล้วเห็นโค้ชเต็มบ้านเต็มเมืองบนหน้านิวส์ฟีด หรือออกมาพูดตามพื้นที่ในโซเชียลมีเดีย คนก็จะรู้สึกหมั่นไส้ได้ง่ายๆ ขณะที่คนที่เชื่อหรือต้องการเขาก็จะเปิดรับ ต้องย้ำอีกครั้งว่าศาสตร์นี้มันมีอยู่จริง มีความเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ เพียงแต่ในประเทศไทยอาจจะเป็นมวยวัดกันเยอะหน่อย

ข้อแรกคือต้อง ‘รู้จริง’ ศึกษามาจากที่ไหน มีใบรับรองหรือเปล่า ข้อที่สองคือ ‘ประสบความสำเร็จได้จริงหรือไม่’ ไลฟ์โค้ชมีชีวิตที่แหลกเหลว แต่กลับไปเป็นไลฟ์โค้ชให้คนอื่น แค่นี้มันก็ไม่ถูกแล้ว ข้อสุดท้ายคือ ‘การยืนระยะ’

 

งั้นแสดงว่าประเทศไทยก็มีโค้ชปลอมเยอะ? มีวิธีสังเกตไหมว่าโค้ชแบบไหนที่เชื่อถือได้ แบบไหนไม่น่าเชื่อถือ

     อย่าเรียกว่าของปลอมเลยครับ เขาอาจจะเป็นคนที่สนใจศาสตร์นี้ แต่ไม่มีโอกาสได้ศึกษาเพื่อรับใบรับรองเป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งผมรู้สึกว่าการที่ใครสักคนจะเอายศอะไรสักอย่างมาเติมหน้าชื่อตัวเองก็ควรทำตัวให้สมกับตำแหน่ง อย่างไลฟ์โค้ช ผมนิยามว่าเป็นคนที่สามารถทำให้คนค้นพบว่าตัวเขาจะมีวิธีเดินไปหาสิ่งที่ต้องการได้อย่างไร โค้ชมีหน้าที่แค่ถามไกด์ไปเรื่อยๆ ไม่ได้บอกคำตอบหรือแนะนำวิธี

     แต่ถามว่าดูอย่างไรถึงจะเป็นตัวจริง ผมมีหลักอยู่ 3 ข้อง่ายๆ ข้อแรกคือต้อง ‘รู้จริง’ ศึกษามาจากที่ไหน มีใบรับรองหรือเปล่า หรือแค่อ่านมา ไปสัมมนาไม่กี่ครั้งก็มาสอน ข้อที่สองคือ ‘ประสบความสำเร็จได้จริงหรือไม่’ หลายๆ ครั้งโค้ชต่างๆ นานามักจะถูกค่อนขอดเสมอว่าดีแต่พูด ทำไม่ได้จริง ฉะนั้นเราต้องดูว่าสิ่งที่เขาพูดเป็นสิ่งที่เขาทำได้จริง สมมติว่าไลฟ์โค้ชมีชีวิตที่แหลกเหลว ครอบครัวแตกแยก ไม่ดูแลตัวเอง แต่กลับไปเป็นไลฟ์โค้ชให้คนอื่น แค่นี้มันก็ไม่ถูกแล้ว ส่วนข้อสุดท้ายคือ ‘การยืนระยะ’ เพราะบางคนอาจจะทำในสิ่งที่พูดได้จริง แต่เพิ่งทำได้เมื่อวานก็มาเป็นโค้ชสอนคนเเล้ว เราต้องดูว่าสิ่งที่เขาทำมันยืนระยะนานแค่ไหน

 

เงินเป็นปัจจัยที่ทำให้คนกระโจนเข้ามาในวงการนี้มากขึ้นด้วยหรือเปล่า ค่าคอร์สทั่วไปของไลฟ์โค้ชตกอยู่ที่ประมาณเท่าไร

     มันก็เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าวงการไหนก็ตามที่มีความบูมของรายได้ คนก็ย่อมจะสนใจเข้ามาร่วมวงมากขึ้น แต่ที่สุดแล้วธรรมชาติก็จะทำการคัดกรองเอง คนที่เข้ามาเพียงเพราะเรื่องเงิน ไม่นานหางก็จะโผล่ คนอื่นๆ เขาก็จะรับรู้ในที่สุด

     ส่วนเรื่องราคาค่าคอร์ส ผมตอบไม่ได้จริงๆ เพราะอยู่ที่แต่ละคนเขาจะตั้งราคากัน แต่สำหรับคนที่ผ่านการรับรองมาจริงๆ ชั่วโมงหนึ่งๆ ของการพบเพื่อพูดคุยและโค้ชกันก็จะมีราคาตกอยู่ที่หลักหมื่นบาท แต่ก็จะต้องซื้อเป็นแพ็กเกจระยะยาว เช่น 12 ครั้งในราคา 120,000 บาท แล้วคุยกันเดือนละครั้ง หรือความถี่เท่าไรก็ตามแต่จะตกลงกัน

 

ทำไมการพบไลฟ์โค้ชครั้งหนึ่งๆ ถึงมีราคาสูง อย่างนี้ประชาชนระดับรากหญ้าเขาก็ไม่มีสิทธิเข้าถึง?

     ผมว่ามันไม่ใช่เรื่องราคาว่าถูกหรือแพงหรอกครับ แต่ตัวโค้ชคิดว่าเขามีมูลค่าเท่านั้น แล้วคนที่จ่ายก็ต้องคิดว่ามันคุ้มค่าในการช่วยแก้ปัญหาของเขา ฉะนั้นผมว่ามันก็คงไม่ใช่เรื่องถูกหรือแพง ขึ้นอยู่กับว่าถ้าคุณแก้ปัญหาให้เขาได้ เขาก็จะมองว่าเงินที่จ่ายไปมันไม่แพง แต่ถ้ามันแก้ปัญหาให้เขาไม่ได้ จ่ายแค่หนึ่งร้อยบาทก็ยังแพงเลย

 

คุณคิดว่าวงการไลฟ์โค้ชควรมีการตรวจสอบและมีมาตรการเข้ามากำหนดอย่างเป็นเรื่องเป็นราวหรือไม่

     ทุกวงการก็ควรจะมีการตรวจสอบอยู่แล้ว แต่เอาเข้าจริงเมื่อมันเป็นการไลฟ์โค้ช คำถามคือการตรวจสอบจะทำได้อย่างไร ผมว่ายุคนี้การตรวจสอบที่ดีที่สุดคือเสียงจากผู้ใช้นั่นแหละ อย่างวงการสื่อสิ่งพิมพ์ก็มีสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ขึ้นมากำกับ แต่เวลาที่สื่อนำเสนอเนื้อหา สมาคมฯ ก็ไม่ได้เข้ามาตรวจสอบอะไรมาก ผู้อ่านต่างหากที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบเนื้อหา เช่นเดียวกับคนที่ถูกโค้ชจากไลฟ์โค้ช เขาก็จะเป็นคนที่ตรวจสอบว่าโค้ชคนนั้นมีคุณภาพจริงหรือไม่

     อย่างอาจารย์ที่ผมเคารพ รศ. ดร. เจมส์ นิธิศ เขาก็เคยพูดประเด็นเกี่ยวกับไลฟ์โค้ชที่น่าสนใจไว้ว่า ในยุคนี้เต็มไปด้วยใครก็ไม่รู้ที่ลุกขึ้นมาพูดในโซเชียลฯ ตั้งตนเป็นคนสอนอะไรก็ไม่รู้เต็มไปหมด เอาเข้าจริงๆ ไลฟ์โค้ชก็มีแค่ 2 กลุ่มเท่านั้นที่สามารถนิยามได้ กลุ่มแรกคือ ‘ประทัด’ คือเรียกร้องความสนใจเก่ง จุดประทัดให้คนสนใจ ชวนให้คนลุ่มหลงอะไรบางอย่าง สังเกตง่ายๆ ว่าจะเอา ‘ความรวย’ เข้ามาหลอกล่อ เรียนกับเขาแล้วรวย เพราะมันเรียกคนได้เยอะ ส่วนอีกฝั่งคือ ‘ประทีป’ หมายถึง ดวงไฟ ไลฟ์โค้ชประเภทนี้จะไม่ได้เก่งเรื่องการเรียกร้องความสนใจ แต่อยากจะให้คนได้ยกระดับปัญญา

 

ถ้าไลฟ์โค้ชพูดถึงเรื่องความรวย เรียนกับเขาแล้วฐานะดีขึ้นเมื่อไรก็อาจจะอนุมานได้ทันทีว่าไม่น่าเชื่อถือ?

     ถ้าคุณชอบอย่างนั้นแล้วอยากจะเป็นประทัดด้วยก็ได้นะ ซึ่งประทัดที่ว่าก็มีส่วนทำให้สังคมทุกวันนี้ไม่ชอบไลฟ์โค้ช จะเป็นเพราะความเอะอะมะเทิ่งหรือวิธีการดึงคนมาสนใจก็ตาม ซึ่งไลฟ์โค้ชประทัดก็จะแบ่งได้อีก 2 ส่วนเช่นกัน ส่วนแรกคือคนที่ร้อนวิชา เพิ่งศึกษามา แต่อยากปล่อยของทั้งๆ ที่ยังไม่มีคุณสมบัติ สุดท้ายเขาก็ทำได้ไม่ถึง ส่วนอีกฝั่งหนึ่งอาจจะเป็นไลฟ์โค้ชอยู่แล้ว แต่มีจริตในการเป็นประทัด ชวนคนมาร่ำรวย ไม่ได้ชวนให้คนในเชื่อหลักวิทยาศาสตร์ แค่คิดดี เดี๋ยวทุกอย่างก็ดีขึ้นเอง ไม่ต้องลงมือทำอะไรประมาณนั้น

ไลฟ์โค้ชมีแค่ 2 กลุ่มเท่านั้น กลุ่มแรกคือ ‘ประทัด’ คือเรียกร้องความสนใจเก่ง จุดประทัดให้คนสนใจ ส่วนอีกฝั่งคือ ‘ประทีป’ หมายถึง ดวงไฟ ไลฟ์โค้ชประเภทนี้จะไม่ได้เก่งเรื่องการเรียกร้องความสนใจ แต่อยากจะให้คนได้ยกระดับปัญญา  

คนทั่วไปจำเป็นจะต้องมีไลฟ์โค้ชเพื่อใช้ชีวิตได้อย่างเป็นสุขหรือเปล่า

     ก็ไม่ได้ถือว่าจำเป็น เพราะมันไม่ได้เป็นปัจจัย 4 แต่ในวันที่เรามีปัญหาจริงๆ บางครั้งเราก็อยากได้ใครสักคนคอยเป็นที่ปรึกษาให้ แต่ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่กลับอยากได้ที่ระบายมากกว่าที่ปรึกษา ซึ่งไลฟ์โค้ชที่เข้าใจเรื่องนี้จริงๆ ก็จะเป็นที่ปรึกษาได้ดีจริงๆ และย้ำอีกทีว่าเขาจะไม่ได้ให้คำตอบกับคุณ แต่เขาจะสะท้อนให้คุณเห็นตัวเองและได้สติกลับมาว่าสิ่งที่คุณควรทำเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่ต้องการคืออะไร หรือคุณจะปรึกษาพ่อแม่พี่น้อง เพื่อน หรือใครก็ได้ ถ้าคุณคิดว่าเขาจะไกด์แนวทางชีวิตให้คุณได้ และเป็นคนที่คุณยอมให้เขาสอน

     เพียงแต่ความต่างของไลฟ์โค้ชคือเขาจะมีหลักการเป็นขั้นตอนในการค่อยๆ พาคุณไปยังเป้าหมาย เหมือนกรณีหกล้มเป็นแผล เราก็ให้พ่อแม่ทำแผลได้ แต่ถ้าไปพบคุณหมอให้เขาดูแผล เขาก็จะมีขั้นตอนในการรักษาแผลในแบบของเขา มันก็คล้ายๆ กัน แต่ผลสุดท้ายแล้วทุกอย่างมันก็ขึ้นอยู่กับตัวของคุณ ถ้าคุณไปฟังโค้ชสอนเเล้วเชื่อเขาแบบไม่ลืมหูลืมตา มันก็คงจะไม่ใช่เรื่องดี

 

คิดเห็นอย่างไรกับการที่ไลฟ์โค้ชบางคนเอาตำแหน่งและหน้าที่มาสร้างมูลค่าให้ตัวเองเพื่อทำการค้ากับผู้ที่ได้รับการโค้ช

     พูดยากนะ ถ้าคนที่ถูกโค้ชตัดสินใจซื้อหรือสนับสนุนโค้ชคนนั้นด้วยสติ เราก็คงไปว่าอะไรเขาไม่ได้ เพราะถ้าเขาคิดว่ามันเป็นสิ่งที่เขาชอบก็คงไม่ใช่เรื่องผิด เราปฏิเสธไม่ได้ว่าไลฟ์โค้ชเขาต้องกินต้องใช้ ต้องมีรายได้ มันขึ้นอยู่กับคนที่จ่ายมากกว่าว่าเขาจ่ายด้วยความรู้สึกหรือเหตุผล บางคนจ่ายด้วยความรู้สึกอย่างเดียว สนับสนุนโดยไม่มีสติ แต่บางคนพิจารณาทุกอย่างแล้วรู้สึกว่ามันคุ้มค่า เหมาะสมกับตัวเขา เราก็ไปว่าเขาไม่ได้ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่าไลฟ์โค้ชจริงหรือไม่จริงคือคนเรียน มันจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า ‘seminar junkey’ เป็นพวกเสพติดการสัมมนา แต่กลับไม่ลงมือทำ เอาแต่นั่งฟังคนพูดแล้วทำให้ตัวเองรู้สึกว่าได้ทำบางอย่างกับชีวิตแล้ว ซึ่งก็กลายเป็นอีกเคสลูกโซ่ตัวอย่างที่ทำให้คนนอกมองว่าคนเหล่านี้เสียเงินไปฟังไลฟ์โค้ชแล้วถูกหลอก ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่ลงมือทำและสร้างความสำเร็จด้วยตัวเอง

 

ผิดไหมถ้าคนส่วนใหญ่จะมองว่าไลฟ์โค้ชเป็นเรื่องงมงาย

     มันก็ไม่ผิดหรอกครับ ถ้าคนไม่อินกับเรื่องนี้ เขาก็จะรู้สึกว่ามันไม่ใช่ จริงๆ ก็หมายถึงทุกเรื่องแหละครับ สมมติเปรียบเทียบกับวงการจักรยาน ถ้ามีคนซื้อจักรยานคันละ 300,000 กว่าบาท คนนอกก็อาจจะมองว่าบ้า ซื้อจักรยานราคาหลักแสนยังต้องมาตากแดดทุกวัน ทั้งๆ ที่ตัวคนซื้อหรือชอบจักรยานเขาอาจจะไม่ได้รู้สึกเช่นนั้น คนที่ไม่ได้อยู่ในวงการหรือสนใจในเรื่องนั้นๆ จึงมีสิทธิที่จะไม่เข้าใจ ประกอบกับทุกวันนี้วงการไลฟ์โค้ชมันโตเร็วเกินไปจากการขยายสาขาอย่างรวดเร็วจนใกล้จะเป็นฟองสบู่ มันจึงเป็นธรรมชาติสำหรับฟองสบู่ที่สุดท้ายก็จะทำลายตัวเอง

       ผมมีโอกาสได้คุยกับคนที่เรียนไลฟ์โค้ชระดับนานาชาติและผ่านการฝึกอบรมมามากมาย ซึ่งเขาก็เห็นวงการสัมมนาโค้ชมาหลากหลายประเทศที่เป็นลูปเหมือนกันหมด อย่างประเทศไทยในช่วงแรกก็ไม่มีใครรู้จักว่าไลฟ์โค้ชคืออะไร สักพักพอคนให้ความสนใจเยอะจนได้รับความนิยม อีกไม่นานคนก็จะหมดความสนใจกันเอง เพราะคนที่สนใจก็เรียนไปหมดทุกคอร์สจนไม่มีอะไรให้เรียนแล้ว ท้ายที่สุดมันก็จะได้รับความนิยมแค่ระดับปานกลาง ไม่ได้เฟื่องฟูมากมาย แต่ก็อย่างที่บอกว่าในปัจจุบันคนที่ทำอาชีพนี้หรืออยู่ในวงการนี้ดูน่าหมั่นไส้ เพราะเขาต้องทำให้คนเชื่อถือ เป็นที่พึ่งพาได้ และช่วยเหลือคนได้ ไลฟ์โค้ชจึงเป็นอาชีพที่พร้อมจะถูกหมั่นไส้ได้ตลอดเวลา

 

คนที่ไม่เชื่ออาจจะบอกว่าไลฟ์โค้ชมีลักษณะคล้ายคลึงกับลัทธิความเชื่ออะไรบางอย่าง คุณเห็นด้วยหรือเปล่า

     รูปแบบเดียวกันไหม ไม่น่าใช่ แต่สิ่งที่อาจจะทำให้คนรู้สึกว่าไลฟ์โค้ชและลัทธิมีความคล้ายคลึงกันคงเป็นเรื่องการเปลี่ยนความเชื่อคน ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทบกับมนุษย์ไม่น้อย เพราะเวลาที่มนุษย์เราปักใจเชื่อในสิ่งไหน เราจะเปลี่ยนความเชื่อของตัวเองยาก ถ้าเราไม่เห็นด้วยกับค่านิยมความเชื่อเหล่านั้น เราก็จะรู้สึกเป็นภัยกับความเชื่อดังกล่าวไม่ต่างจากไลฟ์โค้ช

     สมมติว่าคนรู้จักเราไปพบไลฟ์โค้ชแล้วได้รับการโค้ชด้วยวิธีการเปลี่ยนแนวคิด ซึ่งมันคือวิธีที่เรารู้สึกไม่ชอบใจ เพราะสงสัยว่าคนรู้จักของเราจะถูกล้างสมอง แต่ประเด็นก็คือถ้าเขาล้างสมองโดยเอาวิธีการคิดแก้ปัญหาด้วยมุมมองที่แย่ๆ ออกไป แล้วนำวิธีคิดและการแก้ปัญหาด้วยมุมมองที่ดีๆ กลับเข้ามาใส่แทน มันก็เป็นเรื่องที่ดีไม่ใช่เหรอ แต่สุดท้ายสิ่งนั้นจะดีหรือไม่ดี คนที่ถูกโค้ชก็จะเป็นคนตัดสินได้ด้วยตัวเอง สำคัญที่สุดคือตัวคุณเองต้องไม่หลงเชื่อใครง่ายๆ จนจิตอ่อนไปหมด

 

ในมุมมองของคุณเอง คุณเชื่อและศรัทธาในศาสตร์ไลฟ์โค้ชใช่ไหม

         เชื่อนะครับ ผมเชื่อว่ามันไม่ใช่ศาสตร์ที่หลอกหลวงคน ถ้าจะหลอกก็เป็นเพราะคนบางคน ไม่ใช่เพราะศาสตร์นี้ ไลฟ์โค้ชบางคนเขาอาจจะไม่ได้มีเจตนาหลอกลวงก็ได้ แต่อยากทำโดยที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เรื่องเงินก็อาจจะมีส่วน ทุกวงการ ทุกอาชีพก็มีคนที่เข้ามาเพราะเงินทั้งนั้นแหละ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising